MSN on March 11, 2014, 09:35:45 PM
ภาพข่าว: วันวัณโรคสากล









          เมื่อเร็วๆนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการ เวิลด์ ทีบี เดย์ 2014 เฉลิมพระเกียรติ 86 พรรษา สืบสานพระเมตตาเพื่อเมืองไทยปลอดวัณโรค เนื่องในโอกาสวันวัณโรคสากล ประจำปี 2014 โดยมี ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์, พญ.ดารณี วิริยะกิจจา, ดร.โยนาส เทคเกิ้น, ยุวลักษณ์ เหมะวิบูลย์ และ นพ.เฉวตสรร นามวาท พร้อมเปิดตัวฑูตประจำโครงการ เกียรติกมล ล่าทา ขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์และเพลงประจำโครงการ โดยงานแถลงข่าวจัดขึ้นที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
« Last Edit: March 18, 2014, 11:18:39 PM by MSN »

MSN on March 11, 2014, 09:39:26 PM
 งานต่อต้านวัณโรคในประเทศไทย "พระราชภารกิจสืบเนื่องของสมเด็จพระบรมราชชนกและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระมหิตลิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลงสงขลานครินทร์ได้ทรงสนพระทัยในทุกข์สุขของพสกนิกรด้านสุขภาพการสาธารณสุข และการแพทย์เป็นอันมาก เนื่องจากทรงเห็นว่าโรคภัยไข้เจ็บนานาชนิด เป็นสิ่งบั่นทอนกำลังของชาติ ทำให้พสกนิกรได้รับความทุกข์ทรมานเสียชีวิต และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศสมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เดินทางไปศึกษาวิชาสาธารณสุขและวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วารด ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีพระประสงค์เพื่อปรับปรุงการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทยให้เจริญขึ้นทัดเทียมอารยประเทศ ทรงตั้งใจศึกษาเล่าเรียนวิทยาการต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ทั้งด้านทฤษฎี และการปฏิบัติอย่างจริงจัง ครั้นในปี พ.ศ. 2463 ระหว่างที่พระองค์ทรงศึกษาในชั้นปีที่สาม ของโรคเรียนวิชาการสาธารณสุขมหาวิทยาลับฮาร์วารด ทรงมีเหตุจำเป็นต้องเสร็จกลับประเทศไทยเนื่องในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชชนนีพันปีหลวง หลังจากเสร็จพระราชพิธีถวายพระเพลิงแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปทรงงานในห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา ของโรงพยาบาลศิริราชเป็นประจำ ทรงศึกษาถึงสาเหตุต่างๆ ที่เป็นโรคภัยคุกคามประชาชนและประสบการณ์ที่พบโดยตรงทำให้พระองค์ทราบว่า วัณโรคมีแพร่หลายมากมายในหมู่ประชาชนชาวไทยทั่วไป แต่ในครั้งนั้นวงการแพทย์และประชาชนยังไม่มีความรู้แพร่หลาย ประชาชนไม่ทราบวิธีรักษาพยาบาล และการป้องกัน พระองค์จึงได้ทรงเรียบเรียงเอกสารการสาธารณสุข และนิพนธ์เรื่อง “โรคทุเบอร์คุโลสิส” และจัดพิมพ์ช่วยในงานถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาทกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถพระนิพนธ์เรื่อง “โรคทุเบอร์คุโลสิส” นับได้ว่าเป็นเอกสารสาธารณสุขวัณโรค ฉบับแรกในประเทศไทยที่สมบูรณ์ มีเนื้อหาความรู้เรื่องวัณโรคซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และวงการแพทย์เป็นอย่างยิ่ง ทรงได้กล่าวถึงต้นเหตุ อาการ วิธีการการติดต่อ โรคทุเบอร์คุโลสิสที่ปรากฏในอวัยวะอื่นๆ วิธีการบำบัด อาการหาย ความประพฤติเป็ดเตล็ด และวิธีปฏิบัติตัวโดยละเอียด ข้อแนะนำในเอกสารนี้ยังคงใช้ป้องกันวัณโรค ซึ่งยังคงให้ได้ดีในปัจจุบัน นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงชี้แนะ หลักการในเชิงนโยบายและความสำคัญในการกำจัดโรคนี้ในข้อความตอนท้ายในเอกสาร “โรคทุเบอร์คุโลสิส” ว่า “ท่านผู้ใดอุตส่าห์เสียเวลา อ่านหนังสือฉบับนี้มาจนถึงที่นี้ก็คงจะเห็นด้วยว่า เราควรจะกำจัดโรคอันร้ายนี้เสีย เพราะเป็นโรคที่ร้ายสำหรับบ้าน

หรือไม่ก็กำลังเป็นหนุ่ม เป็นสาวเอางานเอาการ เป็นข้าศึกที่ตัดกำลังราษฎรของเรามาก ถ้าท่านมีน้ำใจจะช่วยแล้วขอให้ลงมือช่วยทันที” ข้อชี้นำของพระองค์ท่าน ทำให้กรมสาธารณสุขในสมัยนั้นตระหนักถึงความสำคัญ และประโยชน์ของบทพระนิพนธ์ จึงได้นำไปพิมพ์ในเอกสารสาธารณสุขฉบับพิเศษ เมื่อ 24 กันยายน 2463 ต่อมาได้มีการนำไปพิมพ์เผยแพร่ เป็นวิทยาทาน แก่ประชาชนทั่วไปอีกหลายครั้ง เอกสารเรื่อง “ทุเบอร์คุโลสิส” เป็นหลักฐานอันเป็นคุโณปการสำคัญที่นับได้ว่า สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเป็นผู้ริเริ่มการต่อต้านวัณโรคในประเทศไทยอย่างแท้จริง
ด้วยความสนพระทัยอันแรงกล้าต่อการแพทย์ และการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เมื่อเสร็จพระราชกรณียกิจ ที่สำคัญต่างๆ แล้ว พระองค์ได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาวิชาแพทย์ต่อ ณ มหาวิทยาลัย ฮาร์วารด และทรงสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม

ในปี พ.ศ. 2471 พระองค์เสด็จนิวัติกลับประเทศไทย ต่อมาได้เสด็จไปทรงงานเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2472 ขณะที่ทูลกระหม่อมสมเด็จพระบรมราชชนก ทรงปฏิบัติหน้าที่แพทย์ ที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่นั้น ทรงได้มีพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2472 ถึงคุณหลวงนิตย์ เวชช์วิศิษฐ์ มีใจความตอนหนึ่งว่า “TB มีมากเต็มที และไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่มีโรงพยาบาลพิเศษ หรือ Sanatorium สำหรับรักษารายที่ไม่หนักนัก การเรื่อง TB นี่ทำให้ฉันสนใจมาก อยากให้มี Anti-TB Society”

พระราชปรารภ ในเรื่องวัณโรคนี้ ก่อให้เกิดแรงดลใจ แก่คณะกรรมการแพทยสมาคมแห่งกรุงสยามในพระบรมราชูปถัมป์ในครั้งนั้น เป็นอันมาก คุณหลวงเฉลิมคัมภีร์เวชช์ ซึ่งดำรงตำแหน่งสภานายกของสมาคมได้ตระหนักถึงปัญหา และความร้ายแรงของวัณโรค ที่บั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน เป็นจำนวนมารก และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณคำปรารภของพระองค์ จึงได้จัดให้มีการประชุมกรรมการแพทย์สมาคมแห่งกรุงสยาม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2477 เพื่อหารือการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรคและป้องกันวัณโรคมิให้ระบาดแพร่หลายต่อไป คณะกรรมการได้มีมติให้ตั้งกองการปราบวัณโรคขึ้น เป็นงานส่วนหนึ่งของแพทยสมาคมฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการปราบวัณโรคในประเทศสยาม และแสวงหาความร่วมมือ กับองค์การ มูลนิธิต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน ช่วยกันแก้ไขปัญหาวัณโรค กองการปราบวัณโรค ของแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกองการปราบวัณโรคแห่งสยามโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2478 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2482 นับได้ว่าเป็นองค์การต่อต้านวัณโรคแห่งแรกในประเทศไทย ที่เกิดสืบเนื่องจากพระราชปรารภ ของทูลกระหม่อม สมเด็จพระบรมราชชนกทูลกระหม่อมสมเด็จพระบรมราชชนก ทรงอุทิศพระวรกาย และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนมากมาย ในการปรับปรุงพัฒนา และจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในประเทศไทย ได้แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปัจจุบันนี้ ทรงเป็นผู้เจรจามูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เข้ามาช่วยงบพัฒนาวิชาการแพทย์และโรงเรียนแพทย์ของไทย สร้างรากฐานของวิชาแพทย์ศาสตร์แผนปัจจุบัน ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นที่รับรองของนานาประเทศ มีศักยภาพในการพัฒนาคน และการศึกษาวิจัย มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงมีพระคุณแก่การแพทย์ไทยแผนปัจจุบัน ดังที่มีการกล่าวไว้โดยละเอียด ในหนังสือ “ชุมนุมพระนิพนธ์และบทความเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระราชธิดา” จัดพิมพ์โดยคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาลในวันมหิดล 24 กันยายน 2508

ในภาวะที่ประชาชนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีความยากจน และการศึกษาทั่วไปด้อย กอปรกับพื้นที่กว้างใหญ่ ห่างไกล ปัญหาสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และวัณโรค ยังคงเป็นปัญหาที่คุกคามต่อประชาชนไทยอยู่เรื่อยมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ และทรงเป็นพระอนุชาธิราชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงติดตามเสด็จไปในที่ต่างๆ พระองค์ท่านทรงทราบความเดือดร้อนของพสกนิกร และทราบว่าชาวไทยเป็นวัณโรคกันมาก อีกทั้งไม่มีความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพอนามัย และขาดแคลนยารักษาโรคจึงได้พระราชทานพระบรม ราชานุญาตให้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” ซึ่งเป็นเพลงที่สองที่ทรงพระราชนิพนธ์ แต่เป็นเพลงแรกที่พระราชทานให้วงดนตรีนำไปบรรเลงในงานแสดงดนตรีการกุศลเพื่อหารายได้สบทบทุนช่วยเหลือโครงการรณรงค์ต่อต้านวัณโรคแห่งชาติของสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมกับพระราชทานแบบจำลองเรือรบหลวงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นผลงานฝีพระหัตถ์ออกประมูลในงานเดียวกัน เพื่อนำรายได้สมทบทุนในการต่อต้านโรคร้ายดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือกิจกรรมต่อต้านวัณโรคเสมอมา

ในปี พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์พระราชทานให้สภากาชาดไทยเพื่อสำหรับใช้เป็นห้องปฏิบัติการผลิตวัคซีนป้องกัน วัณโรคซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองคุณภาพวัคซีนบีซีจี ที่ผลิตในประเทศไทยพร้อมกันนี้ กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ได้นำวัคซีนดังกล่าวไปใช้ในต่างประเทศด้วย และขณะเสด็จฯ ไปประทับในสวิสเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแสวงหาตัวยาใหม่ๆ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยวัณโรค โดยทรงสั่งซื้อพาราแอมมิไนซาลิไซลิกแอซิด หรือ พีเอสเอส ซึ่งเป็นยารักษาวัณโรคขนานที่สอง แต่ในขณะนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก และทรงส่งยาดังกล่าวมารักษาผู้ป่วยในประเทศไทย ในเวลาต่อมาได้มีการค้นพบว่าเมื่อนำยาขนานนี้ไปใช้ร่วมกับสเต็พโตมัยซิน ซึ่งเป็นยารักษาวัณโรคขนานแรกที่ค้นพบสามารถช่วยป้องกันหรือชะลอการดื้อยาของเชื้อวัณโรคได้

ในส่วนของการขยายการสาธารณสุขสู่ชนบทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรถพยาบาลเคลื่อนที่คันแรกให้กระทรวงสาธารณสุขเมื่อปีพ.ศ. 2495 สำหรับใช้ในงานรักษาพยาบาลผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งในขณะนั้น การคมนาคมไม่สะดวกเช่นสมัยนี้ และในปี พ.ศ. 2498 ได้พระราชทานเรือพยาบาลเคลื่อนที่ “เวชพาห์” พร้อมเวชภัณฑ์ให้สภากาชาดไทยสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมแม่น้ำลำคลอง นอกจากนี้พระองค์ท่านยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรในพื้นที่ทุรกันดารด้วยพระองค์เอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีถึงความสำคัญของการปรับปรุงสภาพแวดล้อม เพื่อสุขภาพที่ดีของพสกนิกร จึงได้ทรงริเริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น รวมทั้งการก่อสร้างสวนสาธารณะ เช่น สวนจตุจักร, สวนหลวง ร. 9 เพื่อเป็นสถานที่ออกกำลังกาย และสร้างบรรยากาศที่ดีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เพื่อจุดประสงค์ในการรักษาสภาพแวดล้อม และบรรเทาสภาพน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ เช่น บึงมักกะสัน การปรับปรุงสภาพแวดล้อม รวมถึงโครงการบรรเทาปัญหาจราจรมลภาวะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการปลูกป่าทดแทนเพื่อรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ ในทุกภูมิภาคของประเทศ การขยายและปรับปรุงการจราจร การก่อสร้างทางยกระดับเพื่อให้การจราจรคล่องตัวลดมลพิษจากยานยนต์เป็นต้น

พระองค์ท่านได้พระราชทานทุนอานันทมหิดลสนับสนุนด้านการแพทย์ และการสาธารณสุขให้แก่ผู้ที่เรียนดีเยี่ยม ซึ่งสำเร็จการศึกษาแพทย์ศาสตร์ให้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศเพื่อให้ได้รับความรู้ความชำนาญมากขึ้น เพื่อกลับมาเป็นครู และอาจารย์แพทย์ต่อไป ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แพทย์นำพระอาการประชวรไปศึกษาค้นคว้า เพื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ ดังจะเห็นได้จากในปี พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรด้วยโรคพระปับผาสะอักเสบ จากเชื่อมัยโคพลาสมาซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อชนิดหนึ่ง และเป็นคนไทยรายแรกที่ตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบว่าเป็นการตรวจพบโรคนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย พระองค์จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รายงานให้วงการแพทย์ได้ทราบ และเพื่อประชาชนจะได้ทราบด้วย ดังนั้นจึงได้มีการนำเรื่องการประชวรของพระองค์ท่านตีพิมพ์โดยไม่ได้กล่าวถึงชื่อผู้ป่วย ซึ่งเป็นวิธีการรายงานทางการแพทย์ในวารสารของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์และวารสารฉบับนี้ได้ถูกส่งไปที่หอสมุดทางการแพทย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา และได้เผยแพร่ไปยังหอสมุดการแพทย์ทั่วโลก เพื่อเป็นเอกสารที่แพทย์นานาชาติได้ใช้ศึกษาและอ้างอิงต่อไป
พระราชกรณียกิจที่ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ ในการส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัยป้องกัน และรักษาโรคปอดแก่ประชาชนทั่วไป ทั่งชาวไทย และชาวโลกนี้ วิทยาลัยแพทย์ทรวงอกแห่งสหรัฐอเมริกา (American College of Chest Physicians) จึงได้ทูลเกล้าถวายรางวัล Partnering for World Health เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงสนพระราชหฤทัย และมีบทบาทสำคัญยิ่งต่องานสาธารณสุขของชาติ ตลอดจนงานป้องกันรักษาโรคปอด อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานานกว่า 60 ปี ตั้งแต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ และยังทรงปฏิบัติต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทรงมีพระวิริยะ อุตสาหะ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาติ บ้านเมืองและพสกนิกร ในทุกด้าน รวมทั้งด้านสุขภาพอนามัย ช่วยงานต่อต้านวัณโรค และโรคปอด พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ สมควรที่เราชาวไทยทุกหมู่เหล่า น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมใจกัน แก้ไข ดูแลกำกับการรักษาผู้ป่วยวัณโรค อย่างจริงจัง ให้ประเทศชาติรอดพ้นจากภัยคุกคามจากวัณโรคที่เพิ่มขึ้นตลอดจนปัญหาสาธารณสุขต่างๆ ที่ซับซ้อนขึ้นในปัจจุบัน
« Last Edit: March 11, 2014, 09:41:08 PM by MSN »

MSN on March 11, 2014, 09:42:42 PM
Fact Sheet
วันวัณโรคสากล ปี 2557
 “วัณโรค ค้นให้พบ จบด้วยหาย”

วัณโรค เป็นปัญหา ด้านสาธารณสุขที่สำคัญของโลก และเป็นหนึ่งในสามโรค ซึ่งได้แก่ โรคเอดส์ วัณโรค และ มาลาเรียที่ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งจากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2555 พบว่าประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มยี่สิบสองประเทศ ที่มีปัญหาด้านวัณโรคสูง และคาดว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่ทุกประเภทประมาณ 80,000 คน หรือ 119 ต่อแสน ประชากร  ซึ่งผลสำเร็จของการรักษา(รักษาครบถ้วนและหาย)   คิดเป็นร้อยละ 84 และ อัตราการตายคิดเป็นร้อยละ 7  และผู้ป่วยวัณโรค ที่ติดเชื้อ เอช ไอ วีร่วมด้วยร้อยละ 14 จากผลกระทบของการระบาดของเชื้อ HIV ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคมีมากขึ้น อัตราการตายสูงขึ้นและมีปัญหาวัณโรคดื้อยาเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคที่ดื้อยาหลายขนาน 2,190 ราย

ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการควบคุมวัณโรคตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก โดยนำยุทธศาสตร์ DOTS มาดำเนินการทั่วประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และบรรลุเป้าหมาย การค้นหาผู้ป่วยวัณโรค มาตั้งแต่ปี 2546 ในขณะที่ผลการรักษาของผู้ป่วยที่เสมหะพบเชื้อ เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จากร้อยละ  75  ในปี 2548  เป็นร้อยละ 83 ในปี พ.ศ. 2550 ถึงแม้ว่าในภาพรวมปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาระบบสาธารณสุขขึ้นอย่างมาก ตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมวัณโรคของไทย เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ 2558 และก้าวสู่เมืองไทยปลอดวัณโรค โดยให้ความสำคัญด้านการค้นหาและ การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่จากข้อมูลข้างต้น   ผู้ป่วยวัณโรคทุกประเภทรายใหม่นั้นยังมีสูงมาก โดยเฉลี่ยในแต่ละปีประมาณ 80,000 คน และหนึ่งในสาม หรือ 26,000 คน ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการเท่าที่ควร  ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ผู้ให้บริการขับรถสาธารณะ แรงงานข้ามชาติ ผู้ต้องขังในเรือนจำ  เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้คือประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคมากที่สุด นอกจากนี้ในกลุ่มเสี่ยงของแรงงานข้ามชาติทุกประเภทซึ่งมีจำนวนประชากรประมาณ 3,000,000 – 3,500,000 คน แต่มีรายงานจำนวนของผู้ป่วยวัณโรคจากคนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการรักษาเพียง 2,000 รายเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบของการระบาดของเชื้อ HIV ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคมีมากขึ้น อัตราการตายสูงขึ้นและมีปัญหาวัณโรคดื้อยาเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

    ดังจะเห็นได้ว่าปัญหาเกี่ยวกับวัณโรค ยังคงเรื้อรังและต้องการการควบคุมและสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคม โดยวันที่ 24 มีนาคมของทุก ๆ ปี ทั่วโลกจะมีการจัดวันรณรงค์วัณโรคสากล เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาการระบาดของวัณโรค ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของประชากรโลก โดยปีนี้มีคำขวัญระดับสากลในวันจัดงานภายใต้ Stop TB Partnership คือ “Reach the three million: A TB test, Treatment and cure for all”  แปลได้ว่า “นำประชากรทั้งสามล้านคนเหล่านั้น มาตรวจ มารักษาให้หายขาดทุก ๆ ราย” โดยมาจากแนวความคิดที่ว่า มีประชากรเก้าล้านคนต่อปีทั่วโลกที่ป่วยเป็นวัณโรค โดยหนึ่งในสามหรือประมาณสามล้านคนมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการการตรวจรักษาและบางรายไม่ได้รับการบริการตามสมควร    ซึ่งทางกลุ่มงานภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านวัณโรค ได้เสนอคำขวัญที่สอดคล้องกับสากลและสถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย จึงมีแนวคิดการจัดงานในระดับสากลในภาษาไทยว่า  “วัณโรค ค้นให้พบ จบด้วยหาย”
โดยงานรณรงค์จะมีขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 11 .00 – 20.00 น. ณ ลาน feel fit ศูนย์การค้า ฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิต ซึ่งก่อนถึงวันงานได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ย่อยก่อนถึงวันงาน ตามสถาบันการศึกษา ช่องทางสื่อ ช่องทางของโซเซียลเน็ตเวิร์ค ติดโปสเตอร์และสื่อรณรงค์ตามสถานที่ หรือขนส่งสาธารณะ  ในกรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

แหล่งที่มาของข้อมูล
WHO (2013). Thailand TB country profile. https://extranet.who.int
Bureau of Tuberculosis (2014). Slide Presentation. National Strategic Plan for TB Control in Thailand, 2015-2019
WHO, Thai Ministry of Public Health and European Union (2013). Final report of TB Reviewing. Forum on international migration and health in Thailand: status and challenges to controlling TB. Bangkok, 4‐6 June 2013.
สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค (2555). คู่มือการดำเนินโครงการ “การส่งเสริมให้เข้าถึงการดูแลรักษาและควบคุมวัณโรคอย่างมีคุณภาพ และการเสริมสร้างพลังชุมชนเพื่องานวัณโรคในประเทศไทย. เจริญมั่นคงการพิมพ์.

MSN on March 18, 2014, 10:39:58 PM
งาน “เวิลด์ ทีบี เดย์ 2014: เฉลิมพระเกียรติ 86 พรรษา สืบสานพระเมตตาเพื่อเมืองไทยปลอดวัณโรค”



          มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดงาน “เวิลด์ ทีบี เดย์ 2014: เฉลิมพระเกียรติ 86 พรรษา สืบสานพระเมตตาเพื่อเมืองไทยปลอดวัณโรค” เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฯ มีพระชนมายุ 86 พรรษา และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและรับทราบพระราชกรณียกิจด้านวัณโรค ภายในงานพบกับกิจกรรมมากมาย อาทิ Mini Concert จาก ตู่-ภพธร สุนทรญาณกิจ และตุ้ย-เกียรติกมล ล่าทา การแสดงหน้าม่านโดยน้าโย่ง เชิญยิ้ม การแสดงโปงลาง พร้อมร่วมเล่นเกมส์และรับของรางวัลมากมาย รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์จากภาครัฐและเอกชน อีกทั้งร่วมชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระราชกรณียกิจ ในวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2557 ณ ชั้น 3 โซน Feel fit ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.raksthai.org

MSN on March 18, 2014, 11:22:13 PM
เปิดงานวัน วัณโรคสากล



          มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับ กรมควบคุมโรค รณรงค์ขจัดวัณโรคหมดจากไทย หลังพบข้อมูลองค์การอนามัยโลก สถานการณ์วัณโรคในไทยยังน่าห่วง ติดอันดับ 18 ใน22ประเทศที่มีผู้ป่วยสูงที่สูงถึงปีละ80,000 คน มีกลุ่มเสี่ยงสุดเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีกว่า3.5ล้านคน เตรียมจัดงาน เวิลด์ ทีบี เดย์ 2014 : เฉลิมพระเกียรติ 86 พรรษา สืบสานพระเมตตา เพื่อเมืองไทย ปลอดวัณโรค" ชูคอนเซ็ปท์ "วัณโรคค้นให้พบ จบด้วยหาย"ในวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2557 ที่ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต โซน Feel fit

          วัณโรค เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของโลก และเป็นหนึ่งใน3โรค เอดส์ มาเลเรีย และวัณโรคที่ทำใหประชากรโลกเสียชีวิตมากที่สุด จากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2555 พบไทยอยู่อันดับ18 จาก22 ประเทศ ที่มีปัญหาด้านวัณโรคสูง และมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นสูงถึงปีละ80,000 คนและ1ใน3ประมาณ26,000 คน ที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษา การบริการ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่ม ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ติดเชื่อ HIV ผู้ให้บริการขับรถสาธารณะ แรงงานข้ามชาติ ผู้ต้องขังในเรือนจำ

          และกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่ไทยเปิดประตูสู่เออีซีคือ กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเขมร พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฯ ที่จะนำพาเชื้อมาแพร่สู่ประชากรไทย ซึ่งปัจจุบันไทยมีแรงงานข้ามชาติประมาณ3-3.5 ล้านคน แต่มีรายงานมีผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ารับการรักษาเพียง2,000รายเท่านั้น

          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์วัณโรค ทั่วโลก โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยประมาณ9ล้านคน และมีถึง3ล้านที่ไม่เข้ารับการรักษา และประเทศไทยมีถึง30,000 คนที่ไม่เข้ารักษาเสี่ยงมากต่อการแพร่เชื้อวัณโรคติดต่อได้อย่างไร? วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อโดยผู้ป่วยไอ จาม ไม่ปิดปาก ไม่ปิดจมูก ผู้อยู่ใกล้หายใจที่มีเชื้อเข้าสู่ร่างกาย วัณโรคพบได้ทุกส่วนของร่างกายแต่ที่พบมากคือวัณโรคปอดอาการสำคัญของวัณโรคปอด ไอติดต่อเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่นไอแห้งๆหรือมีเสมหะน้ำหนักลดเจ็บหน้าอกไข้ต่ำๆ

          การตรวจวินิจฉัยโรคตรวจเสมหะหาเชื้อวัณโรคเอ็กซเรย์ปอดวัณโรครักษาหายได้มียารักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เวลารักษา 6-8 เดือน กินยาครบทุกเม็ด ทุกมื้อ ไม่ดื้อยา ไม่หยุดยาเอง ค่าใช่จ่ายในการรักษา 6เดือนจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทแต่หากรักษาไม่ต่อเนื่อง หยุดยาเอง เกิดอาการดื้อยา ต้องรักษาเป็นปี จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง100,000บาท และหากดื้อยาระยะสองก็จะใช้เงินเป็นล้านบาทในการรักษาถึง2ปีทุกภาคส่วนต้องหันมาให้ความสำคัญขจัดโรควัณโรคให้หมดจากประเทศไทยอย่างจริงจัง

          ในปีนี้ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย องค์กรภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์วันวัณโรคสากลขึ้น ในวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2557 ที่ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต โซน Feel fit ใช้ชื่องานว่า " เฉลิมพระเกียรติ 86 พรรษา สืบสานพระเมตตา เพื่อเมืองไทย ปลอดวัณโรค" ชูคอนเซ็ปท์ "วัณโรคค้นให้พบ จบด้วยหาย"

          ด้าน ศ.นพ.ดร. กระแส ชนะวงศ์ ประธานมูลนิธิรักษ์ไทย พูดถึงการจัดงานในวันวัณโรคสากล ในวันที่ 22 มีนาคมนี้ว่า “หลายท่านคงไม่เคยทราบว่า เป็นระยะเวลากว่า 60 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบันทรงให้ความสำคัญและมีพระเมตตาในการให้ความช่วยเหลืองานด้านวัณโรคในหลายๆ ด้าน เช่น การบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือกิจกรรมต่อต้านวัณโรค การสร้างตึกมหิดลวรศานุสรณ์สําหรับผลิตวัคซีนป้องกันวัณโรค รวมถึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อันเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” บรรเลงเพื่อหารายได้ช่วยเหลือโครงการรณรงค์ต่อต้านวัณโรค เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจึงให้มีการจัดงานเพื่อเทิดพระเกียรติและเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบพระราชกรณียกิจด้านวัณโรค”

          ทั้งนี้งานรณรงค์วันวัณโรคสากลนั้นในงาน ได้มีกิจกรรมมากมาย อาทิ การบรรยายให้ความรู้ การเล่นเกมแจกของรางวัล โปรแกรมการให้บริการทางการแพทย์จากภาครัฐและเอกชน การลงทะเบียนและเขียนถ้อยคำเทิดพระเกียรติ และร่วมชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระราชกรณียกิจ พร้อมทั้งกิจกรรมบันเทิงจากศิลปินตลอดงาน รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.facebook.com/raksthaifoundation?ref=hl หรือ www.raksthai.org