Facebook on October 31, 2013, 07:28:54 AM
“แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน”











   “แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน” เรื่องเล่าผ่านจดหมายของหญิงสาวที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ อนาคตของเธอคงจะไปได้ไกล และคงจะมีอาชีพการงานในเมืองหลวงอันศิวิไลซ์ แต่เธอกลับเลือกที่จะไปทำงานเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ที่ชุมชนชาวไทยภูเขาในชนบทห่างไกลและทุรกันดารบริเวณลุ่มน้ำแม่จัน ทางตอนเหนือของประเทศไทย ใกล้ชายแดนติดต่อกับประเทศพม่า

ก่อนหน้านั้น เมื่อสมัยยังเป็นนักศึกษา เธอเคยเข้าร่วมโครงการบัณฑิตอาสา เข้าไปทำงานในชุมชนชาวไทยภูเขาที่หมู่บ้านลีซู ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนกลุ่มน้อยที่อพยพมาจากพม่า เข้ามาอยู่ฝั่งไทย จากการทำงานในฐานะบัณฑิตอาสานี่เอง ทำให้เธอเกิดความประทับใจและกลับเข้ามาทำงานอีกครั้งหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ชาวบ้านที่นี่นิยมถางป่าเพื่อทำไร่ทำสวน เมื่อสภาพดินเสื่อมแล้วก็ละทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าและลงมือถางป่าต่อไป ทั้งยังมีการปลูกฝิ่นไว้สูบอีกด้วย

การทำงานตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ในฐานะครูสอนหนังสือ นอกจากสอนให้แก่ผู้ใหญ่ในช่วงกลางคืนแล้ว เธอยังสอนให้กับเด็กเล็กในเวลากลางวันอีกด้วย คนในหมู่บ้านเรียกเธอว่า “ครูแดง” ไม่เพียงหน้าที่การงานเท่านั้น เธอยังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวเขาอย่างกลมกลืน สร้างครอบครัวกับสามีผู้ร่วมอุดมการณ์และสร้างหลักปักฐานอยู่ที่นั่น

ต่อมา เธอได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวเขา เพิ่มทักษะอาชีพด้านเกษตรกรรมแลปศุสัตว์ ให้ชาวชุมชนมีโอกาสทำอาชีพเพิ่มขึ้น สนับสนุนให้มีธนาคารสำหรับยืมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ควาย เพื่อใช้สำหรับเป็นแรงงานภาคเกษตร ติดต่อกรมประมง ให้เข้ามาแนะนำความรู้วิธีเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา และในที่สุด เธอก็ได้มีส่วนร่วมก่อตั้งมูลนิธิชุมชนและเขตภูเขา เพื่อเป็นหน่วยประสานงานระหว่างชาวเขากับภาครัฐ เธอทำงานในหน้าที่นี้อยู่นานถึง 10 กว่าปี

เรื่องราวของเธอชี้ให้เห็นว่าเธอมีความเข้าใจต่อวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชนกลุ่มน้อยเพียงไร เราจะเห็นได้ว่าเธอมิได้พยายามยัดเยียดทัศนคติคนเมืองให้แก่พวกเขาเลย ตรงกันข้าม เธอยังมีมุมมองที่ลึกซึ้งต่อวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของพวกเขาอีกด้วย

ปัจจุบัน เธอได้ชื่อว่าเป็นสตรีนักสู้เพื่อสิทธิของชนกลุ่มน้อยอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และยังเคยได้รับรางวัล 1 ใน 25 นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่นของโลก โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Environment Program: UNEP) ทั้งยังได้รับตำแหน่งในฐานะสมาชิกวุฒิสภา และเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งยังผลักดันเพื่อเรียกร้องให้ชาวไทยภูเขาได้รับสัญชาติและสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายอีกด้วย
« Last Edit: October 31, 2013, 07:31:50 AM by Facebook »

Facebook on October 31, 2013, 07:32:26 AM