pooklook on September 13, 2009, 10:16:40 AM
ในทีสุด อินเทล (Intel) ก็ได้ฤกษ์เปิดตัว Core i5 โพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ปฏิวัติโลกพีซีให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง โดยเฉพาะการทำงานด้วย 4 แกนหลักที่มากกว่าโพรเซสเซอร์ปัจจุบันถึง 2 เท่า ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีการผลิตโพรเซสเซอร์ระดับเซิร์ฟเวอร์กับชิปตัวนี้ ยิ่งทำให้ผู้ใช้พีซีทั้งเดสก์ทอป และแลปทอปได้มีโอกาสใช้พลังประมวลผลอันทรงประสิทธิภาพ (แรง เร็ว มัลติทาสก์ ไม่ร้อน และประหยัดพลังงาน) สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม ถึงเวลาแล้วที่คุณผู้อ่านควรจะได้ทำความรู้จักกับ Core i5 มากกว่าแค่ชื่อของมันเท่านั้น

ไม่น่าเชื่อว่า เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เทคโนโลยีในสมัยนั้นจะสามารถบีบอัดทรานซิสเตอร์กว่า 3 ล้านตัวให้เข้าไปอยู่ในชิปขนาดเล็ก เพื่อให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทำงานได้อย่างน่าอัศจรรย์ (จากตู้เมนเฟรมขึ้นมาอยู่บนโต๊ะทำงาน) โดย "ทรานซิสเตอร์" ที่อยู่ภายในจะทำหน้าที่เหมือนสวิทช์ขนาดจิ๋วสามารถเปิดปิด เพื่อสร้างสัญญาณไฟฟ้า 1 และ 0 แทนข้อมูลที่ใช้ในการประมวลผล และยิ่งนานวันพวกมันจะถูกบีบอัดให้มีขนาดเล็กลงไปเรื่อยๆ เพราะยิ่งเล็กลงได้มากเท่าไร นั่นหมายถึง ชิปประมวลผลก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการประมวลผลมากขึ้นเท่านั้น และนั่นคือ ก้าวแรกของโพรเซสเซอร์ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหลายล้านเครื่องทั่วโลก



แต่สำหรับ Core i5 โพรเซสเซอร์รุ่นล่าสุดที่อินเทลได้เปิดตัววันนี้ ภายในของมันมีทรานซิสเตอร์อยู่มากถึง 731 ล้านตัว (ประมาณ 244 เท่า เทียบกับสี่สิบปีที่แล้ว) ที่วางเรียงชิดติดกันอยู่ภายในชิปที่มีขนาดแค่ครึ่งหนึ่งของสแตมป์ และด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ในการออกแบบและพัฒนาชิปตัวนี้ อาจถือได้ว่า Core i5 เป็นตัวแทนของเดส์กทอปพีซียุคใหม่ก็ว่าได้ แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อินเทลได้พัฒนาโพรเซสเซอร์ให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น ฉลาดขึ้น และประหยัดพลังงานมากขึ้น แต่ Core i5 จะมีพัฒนาการที่ถือว่า เป็นการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการออกแบบโพรเซสเซอร์ เนื่องจากมันมีการเปลี่ยนแปลงในการออกแบบถึง 9 ส่วนสำคัญๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ใช้ใน Core i5 ซึ่งปกติจะพบได้ในเซิร์ฟเว่อร์ระดับไฮเอ็นด์เท่านั้น แต่วันนี้มันได้มาอยู่บนโต๊ะ (desktop) หรือบนตัก (laptop) ของผู้ใช้แล้ว

ในส่วนของสถาปัตยกรรมทีใช้ในการพัฒนาโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่นี้ วิศวกรของอินเทลใช้โค้ดเนมว่า "Lynnfield" (อยู่ในตระกูลเดียวกันกับ Nehalem) ซึ่งได้รับการพัฒนาครั้งแรกเพื่อใช้กับโพรเซสเซอร์ Core i7 โพรเซสเซอร์รุ่นพี่ที่มีพลังประมวลผลระดับไฮเอ็นด์ (พอๆ กับราคา) สำหรับเซิร์ฟเวอร์ และเดสก์ทอปเวิร์กสเตชั่นอันทรงพลัง โดย Core i5 ได้ใช้โครงสร้างของสถาปัตยกรรมภายในที่สำคัญๆ จากโพรเซสเซอร์ Core i7 การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ 45nm (จากเดิม 65nm) ทำให้สามารถเพิ่มทรานซิสเตอร์เข้าไปในชิปได้อย่างมหาศาล และผลจากการลดขนาดของทรานซิสเตอร์ลงได้อีก ทำให้การเชื่อมต่อการทำงานระหว่างทรานซิสเตอร์สั้นลง และเร็วขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้สามารถประมวลผลข้อมูลต่อวินาทีได้มากขึ้น นอกจากนี้ การเชื่อมต่อที่สั้นลง เร็วขึ้น ของการทำงานระหว่างทรานซิสเตอร์ ยังช่วยประหยัดพลังงานลงได้มากอีกด้วย

สำหรับระบบการทำงานของ Core i5 จะมาพร้อมกับโพรเซสเซอร์ 4 แกน (เปรียบเทียบกับรถยนต์ทีมี 4 เครื่องยนต์ก็ได้) ต่อชิป ซึ่งมากกว่าถึงสองเท่าของชิปเดสก์ทอปในปัจจุบัน (dual-core) อย่างไรก็ตาม Core i5 จะไม่มีไฮเปอร์เธรดดิ้งแบบ Core i7 โดยโครงสร้างของ Core i5 จะเป็น Quad-Core 4-thread 



คอมพิวเตอร์ที่ใช้โพรเซสเซอร์ Core i5 จะสามารถทำงานอย่างเช่น การแก้ไขวิดีโอไฮเดฟฯ บริการวิดีโอแชตผ่านสไกป์ที่สามารถเห็นภาพเคลื่อนไหวที่นุ่มนวล (ไม่กระตุก) แม้ว่ากำลังเพิ่มเพลงเข้าไปในไลบรารี่ของไอจูนส์อยู่ในขณะนั้นก็ตาม นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ และระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ๆ ก็ยังได้รับการปรับแต่งการทำงานให้ใช้ข้อได้เปรียบของ ความสามารถของมัลติคอร์ และมัลติเธรดดิ้งอีกด้วย แอ๊ปเปิ้ลเพิ่งออก Snow Leopard Mac OS X 10.6 ส่วนไมโครซอฟท์ก็เตรียมเข็น Windows 7 ออกมา ซึ่งทั่งคู่สามารถทำงานร่วมกับ Core i5 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ภายใน Core i5 ยังมีโหมดเทอร์โบที่สามารถเร่งการทำงานได้เร็วขึ้นอย่างไม่น่าเชื่ออีกด้วย โดยสามารถเรียกใช้กับการประมวลผลงานหนักๆ ได้ แถมยังสามารถตัดสินใจเลือกใช้จำนวนคอร์ทีเหมาะสมกับงานได้อีกต่างหาก ซึ่งทำให้มันไม่ต้องใช้เอ็นจิ้นทั้งสี่แกนตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อใช้งานทั่วไปอาจจะเหลือแค่ Core เดียวก็ได้ (นับเป็นโพรเซสเซอร์ที่สามารถบริหาร Core ได้ราวกับเปลี่ยนเกียร์คันเร่งของรถยนต์) ผลจากความฉลาดในการประมวลผลดังกล่าว ทำให้มันสามารถเร่งเครื่องจากความถี่ในการทำงานที่ 2.8GHz เป็น 3.2GHz ได้ เมื่อระบบต้องการในขณะที่ระบบยังคงทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพ



จากพี่ใหญ่ Core i7 มาสู่น้องคนรองอย่าง Core i5 ในต้นปีหน้า ผู้ใช้ยังจะได้พบกับน้องคนเล็กอย่าง Core i3 ที่จะตามออกมา ซึ่งผู้บริหารอินเทลกล่าวว่า มันเหมาะกับผู้ใช้ในกลุ่ม entry level แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังทรงพลังด้วยสถาปัตยกรรม ใหม่นั่นเอง การใช้ชื่อเรียกโพรเซอร์ด้วย Core ในลักษณะนี้ (ทั้ง Core i7, Core i5 และ Core i3) ก็เพื่อแก้ปัญหาความสับสนในโลโก และผลิตภัณฑ์ Core 2 ที่ออกมามากมายก่อนหน้านี้ สำหรับโพรเซสเซอร์ Atom ที่ใช้กับเน็ตบุ๊กก็จะยังคงได้รับการพัฒนาต่อไป ตามด้วย Celeron และ Pentium ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่รองรับตลาดผู้ใช้ในวงกว้าง


ข้อมูลจาก Sydney Morning Herald