sianbun on September 06, 2009, 10:23:42 AM
ราทะเล ความหวังใหม่ของวงการยา





โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT)
...
นักวิจัย BRT วิจัยราทะเล เผยประเทศไทยมีความหลากหลายของราทะเลมากกว่า 180 ชนิด พร้อมศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากราทะเล พบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย แบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์ หวังพัฒนาสู่การนำไปใช้ประโยชน์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์
ความสามารถของเชื้อโรคในการปรับตัว และกลายพันธุ์ ทำให้เกิดปัญหาเชื้อโรคดื้อยา ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในวงการสาธารณสุขทั่วโลก ปัจจุบันจึงมีความพยายามที่จะค้นหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีศักยภาพในการพัฒนาไปเป็นยาชนิดใหม่ๆ ในอนาคต ราทะเลเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่นับว่ามีศักยภาพในการสร้างสารต้านจุลินทรีย์ ที่เป็นทางเลือกในการศึกษาค้นคว้าสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพชนิดใหม่

   ดร. จริยา สากยโรจน์ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผู้ทำการศึกษาและเก็บตัวอย่างราทะเลในประเทศไทย อธิบายว่าราทะเลเป็นเชื้อราประเภทหนึ่งที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะที่มีความเค็มสูงได้ ซึ่งเราสามารถพบราทะเลได้ในระบบนิเวศป่าชายเลน ป่าชายหาด หรืออยู่ในทะเลโดยจะเกาะอยู่ตามหญ้าทะเล หรือ สาหร่ายทะเล ซึ่งระบบนิเวศเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางกายภาพอยู่ตลอดเวลา จึงมีการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดในระบบนิเวศสูง ราทะเลจึงต้องสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพขึ้นเพื่อป้องกันตัวเองสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และเพื่อความอยู่รอด

   ข้อมูลการศึกษาจากโครงการวิจัยราทะเลที่สัมพันธ์กับหญ้าทะเล สาหร่ายทะเล และปะการัง บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) บริษัท โททาล อีแอนด์พี ประเทศไทย จำกัด และมูลนิธิโททาล ประเทศฝรั่งเศส โดยมี ดร.จริยา สากยโรจน์ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย พบว่าเฉพาะบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ราทะเลถึง 174 ชนิด ซึ่งถือว่าประเทศไทยยังมีความหลากหลายของราทะเลในระดับที่ดี

 “จากตัวอย่างราทะเลที่พบในบริเวณดังกล่าว ได้มีการคัดเลือกราทะเลบางส่วนมาตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อค้นหาฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ก่อโรค ได้แก่ แบคทีเรียกรัมบวก แบคทีเรียกรัมลบ และยีสต์ก่อโรค  ผลการทดสอบน้ำเลี้ยงเบื้องต้นปรากฎว่า ราทะเลที่เลือกมาทดสอบ 132 สายพันธุ์ มีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ก่อโรคทั้งสิ้นประมาณ 19% ทั้งนี้ราที่คัดแยกได้ทั้งหมดได้เก็บรักษาไว้ที่ห้องปฏิบัติการเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์หรือธนาคารจุลินทรีย์ ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมและปลอดภัย และยังส่งตัวอย่างราทะเลไปสกัดด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ เพื่อทดสอบหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเชิงลึกในห้องปฏิบัติการอื่นๆ ต่อไป” ดร.จริยา กล่าว

 นอกจากนี้ จากการสำรวจและเก็บตัวอย่างราทะเลทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยทีมวิจัยโครงการความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของราทะเลแอสโคไมโคตากลุ่มโดทิดิโอมัยสีสและชนิดใกล้เคียง ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ BRT นำทีมโดย ศ. อีวาน เบนจามิน กาเร็ธ โจนส์ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สามารถจำแนกราทะเลได้จำนวนไม่น้อยกว่า 80 สกุล และจำนวนมากกว่า 800 สายพันธุ์ ในจำนวนนั้นพบราทะเลกลุ่มไบทูนิเคทที่ผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจหลายชนิด เช่น รา  Aigialus parvus ผลิตสารที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย รา Helicascus kanaloanus ผลิตสารที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย เป็นต้น ซึ่งสารต่างๆ ที่พบในราทะเลอาจพัฒนาไปเป็นยาต้านจุลินทรีย์ชนิดใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนยาเดิมที่รักษาไม่ได้ผล

อย่างไรก็ดี ดร.จริยา ได้กล่าวอีกว่า ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ที่มากขึ้น กำลังคุกคามทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล เกี่ยวพันกับอนาคตของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การหาความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับระบบนิเวศนี้ และสิ่งมีชีวิตอย่างราทะเล จึงเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ อย่างกลมกลืนและยั่งยืนมากที่สุด หากเราไม่รีบช่วยกันศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราก็จะสูญเสียราทะเลที่มีประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน
« Last Edit: September 06, 2009, 12:11:38 PM by sianbun »