sianbun on August 27, 2009, 04:01:53 PM
NIDA Business School-SCRI ประเมินศก.โลกพ้นก้นเหว เปิดโมเดลใหม่เฟ้น 8 หุ้นเด่นสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุด

NIDA Business School ผนึกความร่วมมือสถาบันวิจัยนครหลวงไทย ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลกพ้นจุดต่ำสุดตั้งแต่ครึ่งแรกปี 52 มั่นใจครึ่งหลังแนวโน้มมีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมเปิดโมเดลใหม่ เฟ้นหุ้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้ผู้ลงทุน ทั้งมูลค่าเพิ่มทางตลาด (Market Value Added : MVA) และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Value Added : EVA) เผยหลังเก็บสถิติ 6 ปี พบ 8 หุ้นเด่น PTT, PTTEP, ADVANC, SCC, SCCC, RATCH, BEC และ BH  สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุด

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา NIDA Business School ร่วมกับสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนาวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงิน Crisis Watch series 9 “Investment @ Risk Rating Map” และ “บริษัทใดสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้กับนักลงทุน”

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI)  เปิดเผยว่า จากการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ พบว่า เศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำที่สุดในครึ่งปีแรก 2552 และคาดว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2552 แต่อัตราการฟื้นตัวยังคงขึ้นกับความต่อเนื่องของนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศต่างๆ เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และการว่างงานที่ยังคงเพิ่มขึ้น แต่มีความรุนแรงลดลง โดยตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ของประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีเดียวกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวหลุดพ้นจากภาวะถดถอยเป็นไตรมาสแรก

สำหรับเศรษฐกิจของประเทศในแถบเอเชียหลายประเทศ ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีเดียวกัน อาทิเช่น สิงคโปร์ ขยายตัว 20.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 12.2 % ขณะที่เกาหลีใต้ ขยายตัว 2.3% ซึ่งถือว่าขยายตัวอย่างแข็งแกร่งจากไตรมาสแรก ซึ่งอยู่ที่ 0.1% และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ -5.1% เช่นเดียวกับตลาดที่อยู่อาศัยทั่วโลกต่างก็ส่งสัญญาณมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป

ในขณะที่สินทรัพย์ทางการเงินและโภคภัณฑ์บางประเภทมีระดับราคาที่สูงขึ้น อาทิเช่น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก และราคาน้ำมัน เป็นต้น  ขณะที่ความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คือ การเปลี่ยนนโยบายโดยยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Exit Strategy) ก่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและการกลายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

ด้านรศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA Business School) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการลงทุนในตลาดทุน แนวทางที่สามารถใช้วัดผลตอบแทนจากการลงทุนและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนได้ นอกเหนือจากตัวเลขทางบัญชี ก็คือ วิธีการวัดมูลค่าเพิ่มทางตลาด (Market Value Added : MVA) และวิธีการวัดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Value Added : EVA)

“ในการลงทุนในหุ้นนั้น นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนหรือผลกำไรก็ต่อเมื่อราคาหุ้นของบริษัทสูงขึ้น หรือบริษัทสามารถที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนได้ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งการที่บริษัทจะทำเช่นนั้นได้ บริษัทย่อมต้องมีผลการดำเนินงานที่ดี จนสามารถที่จะทำให้มูลค่าของกิจการสูงขึ้น และส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทสูงขึ้นตามไปด้วย การที่บริษัทใดสามารถดำเนินการจนบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จะถือได้ว่าบริษัทมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว

ทั้งนี้ จากการศึกษาและจัดอันดับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ดัชนีชี้วัดด้านมูลค่าเพิ่ม ย้อนหลังเป็นระยะเวลา 7 ปี (ระหว่างปี 2545 ถึงปี 2551) ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจคือ เมื่อทำการจัดอันดับหุ้นของบริษัทจดทะเบียนด้วยมูลค่าเพิ่มทางการตลาด (MVA) จะพบว่าหุ้นที่มี MVA สูงสุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น มี MVA ที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยตลอด 7 ปีที่จัดอันดับนั้น หุ้นที่สามารถติดใน 10 อันดับแรกในทุกปีของการจัดอันดับ ได้แก่หุ้น PTT, PTTEP, ADVANC, SCC, SHIN, LH และ RATCH ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังเชิงบวก ที่นักลงทุนมีให้กับหุ้นของบริษัทเหล่านี้

และเมื่อจัดอันดับหุ้นของบริษัทจดทะเบียนฯ ด้วยมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ (EVA) จะพบว่าหุ้นที่มี EVA สูงสุดนั้น ก็มักจะมี EVA ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยหุ้นที่สามารถติดใน 10 อันดับแรกในทุกปีของการจัดอันดับได้แก่หุ้น PTT, ADVANC, PTTEP และ SCCC และหุ้นที่ติดอันดับถึง 6 ปี ของการจัดอันดับ ได้แก่ SCC, RATCH และ BEC ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสม่ำเสมอในการสร้างกำไรทางเศรษฐศาสตร์ของบริษัทเหล่านี้

คณบดี NIDA Business School กล่าวด้วยว่า จากการจัดอันดับดังกล่าว พบว่า หุ้นของบริษัทที่มีมูลค่าเพิ่มในทั้งสองมิติในระดับที่สูงอย่างสม่ำเสมอนั้น ได้แก่ หุ้น PTT, PTTEP, ADVANC, SCC, SCCC, RATCH, BEC และ BH ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว นักลงทุนที่แสวงหาโอกาสในการลงทุนระยะยาวในหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดี และมีความสม่ำเสมอทั้งในด้านราคาหุ้น และผลการดำเนินงานนั้น อาจให้ความสนใจศึกษาเพิ่มเติมในหุ้นเหล่านี้ได้
« Last Edit: August 28, 2009, 09:59:20 AM by sianbun »