happy on January 27, 2013, 08:47:47 PM
สถาบันอาหาร ปรับทัพเร่งผลักดันอุตสาหกรรมอาหารไทย...สู่เป้าหมายส่งออกทะลุ 1 ล้านล้านบาท

               สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม แจงผลงานในรอบปี 2555 ที่ผ่านมา หลังปรับโครงสร้าง องค์กรด้วยการทำ Right Sizing จัดตั้งศูนย์พัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร และศูนย์บริการห้องปฏิบัติการอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับการให้บริการ และส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนับสนุนนโยบาย ครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาล และร่วมผลักดันภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยสู่เวทีการค้าโลกอย่างต่อเนื่อง เผยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร 317 แห่ง ได้รับการยกระดับมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัย(Food Safety)ได้รับความรู้ด้านการลดต้นทุนด้วยการเพิ่มผลิตภาพ(Productivity)และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า  ที่สำคัญร่วมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ 84 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เป็นนวัตกรรมอาหารพร้อมรับประทานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารไทย ทั้งปั้นศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร(Food Intelligence Center) ให้ใช้ระบบ Virtual ที่ทันสมัย ใช้งานง่าย และเพิ่มความถี่ในการนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บไซต์สถาบันอาหาร ย้ำห้องแล็บสถาบันอาหารมีศักยภาพ เป็นแห่งเดียวในไทยด้านการทดสอบความชำนาญ สาขาเคมีและจุลชีววิทยา ที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO/IEC 17043 และให้บริการด้วยระบบ online คาดปีนี้ความร่วมมือกับสหกรณ์ผู้บริโภคญี่ปุ่น(JCCU) ในการสร้างระบบการทดสอบอาหารและคุณภาพของผู้ผลิตสินค้าอาหารในไทยก่อนส่งออกไปญี่ปุ่นจะสำเร็จลุล่วง......ปี 2556 พร้อมเดินหน้าหนุน 3 เรื่องหลักต่อเนื่อง ทั้ง Food Safety, Value Creation และ Environmental เพื่อพิชิตเป้าส่งออก 1 ล้านล้านบาท


ผอ.เพ็ชร ชินบุตร

               นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการสำคัญๆ ที่สถาบันอาหารได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการนั้นมีผลสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายด้วยดีทั้งยังเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางมีศักยภาพการแข่งขันทัดเทียมกับนานาประเทศในเวทีการค้าโลกได้อย่างน่าพอใจ  ซึ่งหลังการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ส่งผลให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวและตอบโจทย์การให้บริการได้ดียิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นให้ทุกหน่วยงานภายในองค์กรได้แสดงขีดความสามารถในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศเป็นหลัก

               สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญๆ ของสถาบันอาหาร ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร ในรอบปีที่ผ่านมานั้นได้พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารเป็นจำนวนทั้งสิ้น 317 โรงงานได้แก่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก  201 โรงงาน  ขนาดกลาง  90 โรงงาน และขนาดใหญ่ 26 โรงงาน แบ่งเป็น กลุ่มประมงและผลิตภัณฑ์ 46 โรงงาน กลุ่มผักผลไม้ และผลิตภัณฑ์ 88 โรงงาน  กลุ่มนม และผลิตภัณฑ์ 16 โรงงานกลุ่มธัญพืชและผลิตภัณฑ์ 55 โรงงาน กลุ่มเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ 12 โรงงาน กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม 21 โรงงาน และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส 79 โรงงาน โดยมีการดำเนินงานด้านระบบคุณภาพความปลอดภัยในการผลิตอาหาร(Food Safety) ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ด้านการลดต้นทุนด้วยการเพิ่มผลิตภาพ(Productivity)และงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยการ ลดใช้พลังงาน หรือใช้พลังงานเพื่อการผลิตอย่างคุ้มค่า ทั้งนี้จากผลการดำเนินงานดังกล่าว โรงงานที่เข้าร่วมโครงการ Green Productivity จำนวน 35 โรงงาน สามารถลดต้นทุนด้านการผลิตได้ประมาณ  85 ล้านบาทต่อปี  นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ Carbon Labelจำนวน 30 โรงงานสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 5,026,562 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีเทียบกับการสร้างสวนสาธารณะเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 14 เท่าของสวนลุมพินี (สวนลุมพินีมีพื้นที่ทั้งหมด 360 ไร่)






               โดยการส่งเสริมการสร้างคุณค่าโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร หรือ Value Creation นั้น ในปี 2555 ได้ร่วมกับผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จำนวน 84 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวคุณภาพของโลก 13 ผลิตภัณฑ์,โครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหาร 18 ผลิตภัณฑ์, กิจกรรมพัฒนาครัวฮาลาลไทย ก้าวไกล เชื่อมั่นสู่สากล 10 ผลิตภัณฑ์ กิจกรรมพัฒนาเชื่อมโยงนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสู่เชิงพาณิชย์ จำนวน 20 ผลิตภัณฑ์ และยังได้ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาลเพื่อเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง (ปัตตานี) 5 ผลิตภัณฑ์,โครงการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์กล้วยหินและทุเรียนโอทอป 5 ดาว (ยะลา) จำนวน 8 ผลิตภัณฑ์ และโครงการสร้างนวัตกรรมในการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมฮาลาล (สงขลา) 10 ผลิตภัณฑ์

               ด้านศูนย์บริการห้องปฏิบัติการอุตสาหกรรมอาหาร พบว่าผลงานด้านบริการในปี 2555 ได้ให้บริการโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและหน่วยงานภาครัฐ จำนวนกว่า 1,500  แห่ง(รวมประมาณกว่า 50,000 รายการบริการ) “ห้องปฏิบัติการของสถาบันอาหาร เป็นแห่งเดียวที่มีบริการด้านการทดสอบความชำนาญ สาขาเคมีและจุลชีววิทยา ที่ได้รับรองระบบคุณภาพ ISO/IEC 17043 และเป็นแห่งเดียวในประเทศที่ให้บริการด้วยระบบ online จึงเป็นหน่วยบริการที่มีผู้มาใช้บริการสูงสุดจำนวนกว่า  300 แห่ง   โดยกลุ่มอุตสาหกรรมประมงมาใช้บริการสูงสุดถึง 100 แห่ง ขณะเดียวกันเรายังเป็นหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยด้านจุลชีววิทยาและสารเคมีอันตรายที่ปนเปื้อนในอาหารพร้อมบริโภคให้แก่ กรุงเทพมหานคร ทุกเขต  (50เขต, 169 ตำบล) รวมทั้งยังมีส่วนช่วยในการพัฒนา และปรับปรุง เรื่องการสุขาภิบาลให้กับผู้ประกอบการ จำนวน  1,950 ราย คิดเป็นร้อยละ  8 ของจำนวนร้านค้าใน กทม. และเรายังมีความสัมพันธ์อันดีระดับสากลกับสหกรณ์ผู้บริโภคญี่ปุ่น(Japan Co-operative Custom Union หรือ JCCU) ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ทดสอบคุณภาพอาหารของลูกค้า JCCU ก่อนส่งออกไปญี่ปุ่น”




               สำหรับกลุ่มงานวิจัยและบริการข้อมูลอัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ในปี 2555 นี้ ได้ริเริ่มดำเนินกิจกรรมโปรแกรมความช่วยเหลือ Max Utilization Intelligence Unit  ขึ้นเป็นปีแรก โดยนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของนักวิจัยช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ตลอดจนผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ จำนวน 35 ราย และปรับโฉมศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center)ให้มีความทันสมัย ใช้งานง่าย และเพิ่มความถี่ในการนำเสนอข่าว รายงาน บทวิเคราะห์ต่างๆ โดยในปีที่ผ่านมามีการเผยแพร่บทวิเคราะห์ บทความ รายงาน ข่าว รวมทั้งสิ้น 425 เรื่อง พัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้สะดวกในการใช้งานรวม 12 ฐานข้อมูล มีจำนวนสมาชิกในปัจจุบัน 10,868 ราย  ที่สำคัญกลุ่มงานวิจัยได้จัดทำโครงการวิจัยเชิงนโยบายยุทธศาสตร์และระบบสนับสนุนการตัดสินใจแผนวิจัยด้านอาหารและความมั่นคงแห่งชาติปี 2555 - 2559 ซึ่ งนับเป็นแนวทางในการกำหนดกรอบงานวิจัยด้านอาหารของประเทศ

               ขณะที่ฝ่ายพัฒนาและฝึกอบรมอุตสาหกรรมอาหารก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเป็นเพียงหน่วยงานเดียวในประเทศไทย ที่มีการพัฒนาหลักสูตรและดำเนินการฝึกอบรมได้ครอบคลุมทุกมิติของภาคอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มหลักสูตร ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต กลุ่มหลักสูตรด้านกฎหมายและกฎระเบียบ กลุ่มหลักสูตรด้านความปลอดภัยอาหาร กลุ่มหลักสูตรด้านห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ กลุ่มหลักสูตรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต กลุ่มหลักสูตรด้านการจัดการ การตลาด และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำการให้บริการฝึกอบรมทางด้านวิชาการ ทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน โดยปีที่ผ่านมาฝ่ายพัฒนาและฝึกอบรมฯได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอาหารรวมทั้งสิ้น 3,489 คน จาก 536 บริษัท แบ่งเป็นกิจการขนาดเล็ก 34 คน ขนาดกลาง 1,837 คน และขนาดใหญ่ 1,037 คน และหน่วยงานราชการ วิสาหกิจ จำนวน 581 คน

               ส่วนภาคสังคมได้กระตุ้นให้มีการนำระบบคุณภาพ GMP in Mass Catering มาประยุกต์ใช้ ทั้งครัวโรงพยาบาล ครัวโรงแรม และร้านอาหาร มีโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองจากสถาบันอาหาร เช่น โรงพยายาลศิริราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลต้นแบบในการนำระบบคุณภาพนี้ นำไปปฏิบัติในผ่ายโภชนาการของโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีในโรงพยาบาล และยังมีอีก 22 ร้านอาหารชื่อดังในการนำระบบมาตรฐานสู่ผู้บริโภค

               “ในปี 2556 นี้ สถาบันอาหารยังคงมุ่งเน้นภารกิจหลัก 3  เรื่องใหญ่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ Food Safety,  Value Creation และ Environmental เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอุตสาหกรรมอาหารส่งออกให้ทะลุ 1 ล้านล้านบาท โดยเรื่อง Food safety จะมุ่งยกระดับ พัฒนากระบวนการผลิตเข้าสู่ระบบคุณภาพความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น  GMP, HACCP, BRC, ISO 22000, ISO 17025, IFS, FSSC  ซึ่งในปัจจุบันโรงงานที่ดำเนินการเข้าสู่ระบบ HACCP ทั่วประเทศยังมีการดำเนินการไม่มากนัก ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

               ส่วนเรื่อง Value Creation จะเน้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลก ผ่านกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาผลิตภัณฑ์อาหารขณะที่เรื่อง Environmental จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Carbon Footprint, Water Footprint รวมไปถึงการลดพลังงาน การใช้พลังงานให้เกิดความคุ้มค่า หรือ Green Productivity ที่สำคัญในปีนี้สถาบันอาหารได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้ดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการดำเนินการโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก (Thailand Food Quality to the World) และโครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย(Thailand Food Forward) นอกจากนี้ยังดำเนินงานโครงการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลการดำเนินการร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการกำหนดกรอบยุทธศาตร์สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องตามแนวทางยุทธศาสตร์ประเทศ” นายเพ็ชร กล่าว