happy on August 24, 2020, 05:30:05 PM
บทความให้ความรู้

ปวดข้อ-ปวดเข่าเรื้อรัง ไม่หายเสียที
มา Checklist กันหน่อย ปวดแบบไหนเสี่ยงเป็นโรค “ข้อเข่าเสื่อม”

                เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความเสื่อมของร่างกายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โรคภัยเริ่มถามหา โดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหลายคนจะเข้าใจว่า เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ แต่ความเป็นจริงแล้ว กลุ่มวัยรุ่น ก็เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องข้อเข่าเสื่อมด้วยเช่นกัน 


                มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี โรงพยาบาลในเครือ “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” โดยเปิดเผยจาก นพ.ปิยวัฒน์ จิรัปปภา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาล พริ้นซ์ อุบลราชธานี เกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งจากสถิติแล้วพบว่า เป็น 1 ใน 5 ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุไทยเลยทีเดียว

รู้จักโรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อมนั้น เกิดจากการที่กระดูกอ่อน ผิวข้อมีการสึกหรอ หลุดร่อน ทำให้กระดูกมีการเสียดสีกัน และร่างกายพยายามที่จะซ่อมแซมตัวเอง โดยการสร้างกระดูกขึ้นมาใหม่ แต่จะเป็นการสร้างในตำแหน่งที่ไม่ควรจะสร้าง ทำให้เกิดอาการอักเสบของข้อ ปวดเรื้อรัง บวม กดเจ็บ เคลื่อนไหวลำบาก และข้อผิดรูป


สาเหตุของข้อเข่าเสื่อม

●   อายุที่มากขึ้น
●   น้ำหนักตัวที่มากเกินไป
●   พฤติกรรมการใช้ข้อผิดวิธี เช่น การนั่งยอง นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิเป็นเวลานาน
●   เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณเข่า เช่น กระดูกหัก เข่าแตก เอ็นฉีก เป็นต้น
●   โรคที่เคยเป็น เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์
●   การไม่ออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าไม่แข็งแรง
●   การใช้ยา โดยมีการใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน


Checklist อาการแบบไหนเข้าข่ายเสี่ยงเป็นข้อเข่าเสื่อม

             มาสังเกตุอาการเบื้องต้นกันหน่อย ว่าปวดแบบไหน ถึงจะเข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ส่วนใหญ่แล้ว มักจะมีอาการดังนี้


●   ปวดหรือเจ็บข้อเข่าเวลาเดิน นั่ง หรือขึ้นลงบันได
●   ปวดเรื้อรังหลายปี
●   เข่าโตขึ้น ข้อเข่าบวม
●   ขาโก่ง


Checklist ใครเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมบ้าง

              สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม มีหลายกลุ่ม


●   น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
●   ผู้ที่ปวดเข่าเรื้อรังหลายปี
●   อายุมากกว่า 40 ปี
●   เคยป่วยด้วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคพุ่มพวง (SLE) โรคเก๊าท์
●   เคยเกิดอุบัติเหตุทำให้มีกระดูกหักบริเวณข้อเข่า


แนวทางการรักษา

แนวทางการรักษา จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1.การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยให้เข่าเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น โดยมีหลากหลายวิธี ดังนี้

•   ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ได้แก่ รับประทานอาหารที่เหมาะสมเพื่อควบคุมน้ำหนักตัว
•   ออกกำลังกายชนิดส่งแรงกระแทกข้อเข่าน้อยเป็นประจำ เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดิน เพื่อส่งเสริมให้ข้อเข่าแข็งแรงขึ้น
•   ลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เพื่อลดแรงกดบนข้อเข่า
•   รักษาด้วยยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และยากลุ่มสารอาหารเสริมสร้างกระดูก
•   ฉีดสารน้ำเลี้ยงไขข้อ ในกรณีที่มีอาการปวดไม่มาก และการทำลายของกระดูกอ่อนยังไม่รุนแรง
•   ฉีดยาสเตียรอยด์ ในกรณีที่มีอาการปวดเฉียบพลันที่รุนแรงและเป็นครั้งคราว
•   ทำกายภาพบำบัด เช่น บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า

2.   การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
•   ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จำเป็นในกรณี รักษาด้วยยาและปรับวิธีดำเนินชีวิตแล้วไม่ได้ผล



              ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็ว หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอื่น ๆ สามารถขอคำปรึกษาจาก ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด  ได้ทั้ง 10 แห่ง ใน 9 จังหวัด จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ  จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1  และโรงพยาบาล พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร จังหวัดพิจิตร โรงพยาบาล ศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน  และโรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร และ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และสามารถติดตามสาระดี ๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่ เฟซบุ๊ก : Principal Healthcare Company