happy on July 12, 2020, 12:37:50 PM
“สุวิทย์ เมษินทรีย์" รมว.การอุดมศึกษาฯ เผยข่าวดีหลังทดสอบวัคซีนเข็มที่สอง สร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด – 19 ได้ระดับสูง เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ เปิดรับอาสาสมัคร เดือน ส.ค. – ก.ย.นี้ ก่อนทดสอบเข็มแรก เดือน ต.ค.นี้


เมื่อวันที่ 11 ก.ค.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่าผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยโดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อ “ชนิด mRNA” ในลิง หลังจากเข็มที่สอง ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันจงต่อเชื้อได้ในระดับสูงเป็นที่น่าพอใจ และลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผลข้างเคียงจากวัคซีน โดยหลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็มที่สองไปเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไปแล้วสองสัปดาห์ นักวิจัยได้เจาะเลือดมาทำการทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีชนิดที่ยับยั้งเชื้อหรือ Neutralizing antibody นั้น ถือเป็นข่าวดีมากที่พบว่าลิงที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก   ดังนั้นจึงได้ตกลงเดินหน้าต่อไปตามแผนที่จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ในเดือน ต.ค.นี้


รมว.อว. กล่าวต่อว่า ขอแสดงความยินดี ทีมนักวิจัยของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯสำหรับการดำเนินการต่อไปนั้น จะดำเนินการคู่ขนานไปพร้อมกันเพื่อให้ได้วัคซีนอย่างรวดเร็ว โดยการทดสอบในมนุษย์ ซึ่งจะเริ่มสั่งการผลิตวัคซีนในสัปดาห์หน้าเพื่อจะใช้ในการทดสอบในมนุษย์ โดยจะเริ่มรับอาสาสมัครในเดือน ส.ค. –ก.ย. และจะฉีดเข็มแรกในมนุษย์ในเดือน ต.ค.นี้ การทดสอบนั้นจะทำทั้งหมด 3 ระยะ รวมทั้งจะเตรียมการผลิตให้เพียงพอและเตรียมขึ้นทะเบียนวัคซีน โดยประสานกับผู้ผลิตวัคซีนทั้งในภาครัฐและเอกชนเพื่อให้มีความพร้อมที่จะผลิตให้พร้อมใช้ รวมทั้งร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีกับต่างประเทศด้วย


รมว.อว.กล่าวต่อว่า “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องวัคซีนอย่างมากและได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ท่านได้มอบนโยบายเพื่อให้คนไทยสามารถมีวัคซีนอย่างรวดเร็วเป็นลำดับแรกๆ เมื่อสามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ โดยมอบให้ อว. และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันดำเนินงานในเชิงรุก ทั้งโดยการวิจัยและพัฒนาในประเทศ และร่วมมือกับต่างประเทศ รวมทั้งเตรียมการผลิตให้ทันท่วงทีและเพียงพอ ในขณะนี้ ยังได้เจรจาหารือกับต่างประเทศในการร่วมวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีและเตรียมการผลิตไว้ด้วยแล้ว” นายสุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ และ ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผอ.ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แจ้งว่าผลการทดสอบที่น่าพอใจนี้เป็นกำลังใจให้ทีมวิจัยว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนได้และแสดงศักยภาพการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย ที่นับว่าเป็นการวิจัยที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้ โดยก้าวต่อไปและรายละเอียดการวางแผนในการผลิต เพื่อทดสอบในอาสาสมัคร รวมทั้งการวางแผนในการผลิตในประเทศเพื่อใช้ให้เพียงพอในประเทศ จะมีการแถลงโดยละเอียดในวันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม 2563 เวลา 9.00 น ที่ตึกภูมิสิริ ชั้น 12 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย