MSN on August 09, 2019, 08:29:19 AM
กรรมการรัฐวิสาหกิจ สติขององค์กรที่ต้องมีความต่อเนื่อง

8 สิงหาคม 2562 – คณะกรรมการที่ดีเปรียบเหมือนสติที่ช่วยสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ช่วยเป็นแรงสำคัญในการลดปัญหาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และคอร์รัปชันของประเทศ สติจึงมีความสำคัญ ไม่ควรปล่อยให้ “สติ” หายไปแม้ชั่วขณะหนึ่ง

การสรรหากรรมการนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญ ในส่วนของการสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมานั้น มักถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสและความเหมาะสม จึงมีความพยายามจากหลายฝ่ายในการปฏิรูปเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีการออกหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นฉบับปรุงใหม่ มีการระบุถึงเรื่องการสรรหากรรมการไว้ โดยให้ความสำคัญกับโครงสร้างของคณะกรรมการที่ต้องมีความเป็นอิสระ มีความหลากหลายและเหมาะสม รวมถึงต้องมีกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการสรรหาที่ชัดเจน

ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรนำหลักการการกำกับดูแลที่ดีมาเป็นแนวทางในการตัดสินใจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นประสิทธิภาพในการทำงานของคณะกรรมการเช่น 1. การดำเนินงานจะขาดความต่อเนื่องหรือไม่ 2. หากต้องสรรหากรรมการเป็นจำนวนมาก จะสามารถดำเนินการได้ในระยะเวลาเท่าใด 3. คณะกรรมการชุดใหม่ที่สรรหาและแต่งตั้งเข้ามา จะสามารถปฏิบัติงานได้ทันทีหรือต้องใช้เวลาในการเรียนรู้งานเท่าใด และจะสามารถทำงานร่วมกับฝ่ายจัดการได้ดีเพียงใด

ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรใช้ความระมัดระวัง นอกจากนี้ ตลท. ยังมีข้อกำหนดให้การลาออกของคณะกรรมการทั้งชุดเป็นสารสนเทศที่ต้องเปิดเผยทันทีอีกด้วย ในมุมมองของ IOD ซึ่งเป็นสถาบันของกรรมการและมีบทบาทในการส่งเสริมด้านการกำกับดูแลกิจการมาโดยตลอด “IOD เห็นว่า คณะกรรมการเปรียบได้กับ “สติ” ส่วนฝ่ายจัดการเปรียบได้กับ “สมอง” ซึ่งสติและสมองจะต้องปฏิบัติงานร่วมกัน จึงจะส่งผลให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยสติหรือคณะกรรมการจะต้องเป็นผู้กำกับ เป็นผู้ดูแล เป็นผู้นำ คอยเตือนสมองหรือฝ่ายจัดการว่า คิดรอบด้านหรือยัง การจะได้ “สติ” มานั้น ต้องอาศัยการสรรหาที่มีประสิทธิภาพ อยู่บนพื้นฐานของการมีกระบวนการและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส มีคุณสมบัติที่เหมาะสม และการสรรหานั้นต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อพวกพ้อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ” นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าว

สำหรับที่มาของการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจกับกรรมการของบริษัททั่วไปมิได้มีความแตกต่างกัน บางครั้งก็มีกรรมการที่มาจากกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การสรรหานั้นต้องคำนึงถึงความหลากหลายในคณะกรรมการ เช่น เพศ อายุ ประสบการณ์การทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่ความหลากหลายทางความคิด สามารถตอบโจทย์ การดำเนินงานในยุคที่ Disruption ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการสรรหากรรมการโดยพิจารณาจากความรู้และทักษะ ความเชี่ยวชาญที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจและจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายหลักและพันธกิจของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการสามารถให้คำแนะนำหรือความรู้เพื่อสนับสนุนการทำงานของฝ่ายจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในกรณีที่จะเสนอชื่อบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการกลับเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการอีกครั้ง ควรพิจารณาผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของบุคคลดังกล่าวด้วย   

หากการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งได้มีมติรับทราบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ก็คาดว่า จะช่วยให้รัฐวิสาหกิจได้คณะกรรมการที่ดี เป็นสติที่นำพารัฐวิสาหกิจไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป 
« Last Edit: August 09, 2019, 08:31:50 AM by MSN »