ดีป้าผนึกท่าเรือใช้ดิจิทัล พลิกแหลมฉบังเป็นท่าเรืออัจฉริยะ นำร่องสู่การเป็นสมาร์ทอีอีซี
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) รับนโยบายเมืองน่าอยู่จากคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่ง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เข้าจับมือการท่าเรือแห่งประเทศไทย พัฒนาแหลมฉบังเป็นท่าเรืออัจฉริยะ นำร่องสู่การเป็นสมาร์ทอีอีซี ผอ.ดีป้าเผยคาดสามารถลดใช้พลังงานได้ไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท และสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ถึง 1,000 ล้านบาท ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า จากที่ดีป้า ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ สมาร์ทซิตี้อีอีซีนั้น ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ดีป้า ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจและต้องการเป็นส่วนหนึ่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ร่วมลงพื้นที่เพื่อศึกษาและเข้าใจพื้นที่และสถานการณ์ที่แท้จริง เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดได้ และนำไปสู่การพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น พบว่าในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบับ จังหวัดชลบุรี ประสบปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณถนนทางเข้าบริเวณหน้าด่านตรวจสอบสินค้าและถนนภายในท่าเรือแหลมฉบัง ในช่วงเวลาที่เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่เข้าเทียบท่า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบต่อเนื่องในหลายๆด้าน ทั้งในแง่ของปัญหาการจราจรติดขัดต่อเนื่องจากภายในท่าเรือออกไปภายนอก ปัญหาความสูญเสียทางด้านเศรษฐศาสตร์ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ “จากปัญหาดังกล่าว ทางดีป้าจึงได้หารือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนภาคเอกชน ผ่านกองทุนดีป้าเพื่อร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะ ที่ประกอบด้วยระบบต่างๆ เช่น ระบบรถบรรทุกอัจฉริยะ และกระบวนการจัดการรถขนส่งตู้สินค้า การเชื่อมโยงระบบปฏิบัติการเทอร์มินัล ของท่าเรือต่าง ๆ ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง การเชื่อมต่อระบบตารางเรือกับระบบ National Single Window (NSW) ของกรมศุลกากร ซึ่งหาก โครงการพัฒนายกระดับท่าเรือแหลมฉบัง สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาการจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบังได้ รวมถึงลดการใช้พลังงาน เนื่องจากการรอคิวของรถบรรทุกได้มากกว่า 700 ล้านบาทต่อปี ลดปริมาณรถหัวลากเที่ยวเปล่า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการนำเข้า-ส่งออก ของท่าเรือแหลมฉบังได้อีกด้วย รวมถึงยังก่อให้เกิดมูลค่าที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท” ดร.ณัฐพลกล่าว อย่างไรก็ตาม ผอ.ดีป้าเสริมว่า การใช้ดิจิทัลพัฒนาสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะในครั้งนี้ เป็นโครงการนำร่อง เพื่อขยายศักยภาพพื้นอีอีซี ถือเป็นการการส่งเสริมการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การส่งออกนำเข้าให้กับท่าเรืออื่น ๆ ด้วย