happy on September 29, 2018, 08:43:08 PM
ไขปัญหา (หลอดเลือด) หัวใจ (ตีบ)
รู้อาการ รู้ปัจจัย ป้องกันไว้ ก่อนสาย!!


                          โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเรียกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคที่พบบ่อยมากในปัจจุบัน สาเหตุเกิดจากการมีภาวะแข็งตัวของผนังหลอดเลือดแดงจากการสะสมของไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือดแดงหัวใจ ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและตีบแคบลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลง โดยอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น บางรายอาจไม่พบอาการอะไรเลย แต่โดยทั่วไปจะพบว่ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอก (angina) และอาจเจ็บลามไปขากรรไกรหรือไหล่ซ้าย มักเป็นมากขณะออกกำลังกายหรือทำงาน อาจเจ็บครั้งละ 2-3 นาที ความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น เจ็บกลางหน้าอกบริเวณเหนือลิ้นปี่ เจ็บแบบจุกแน่นคล้ายมีอะไรมาบีบหรือกดทับไว้ หายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่าย หากเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) อาจทำให้เสียชีวิตกะทันหัน เช่น เล่นกีฬาแล้วเสียชีวิต เป็นต้น เราสามารถสังเกตปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ จากข้อมูลดีๆ โดย ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ดังนี้

                          ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มี 2 ปัจจัย คือ 1.ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ  อายุมากขึ้น และ 2. ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย ไลฟ์สไตล์แบบนั่งอยู่กับที่ (Sedentary Lifestyle) ซึ่งเราสามารถรักษาได้โดยใช้กระบวนการทาง Cath Lab หรือห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ซึ่งเป็นทางเลือกของการตรวจรักษาหัวใจแบบไม่ผ่าตัด โดยห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ หรือห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac Catheterization : Cath Lab) เป็นการตรวจวินิจฉัยที่ได้มาตรฐาน ให้ผลแม่นยำสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ




                          จุดเด่นของการสวนหัวใจคือ สามารถรักษาควบคู่กับการตรวจวินิจฉัย ไม่ต้องทำผ่าตัดใหญ่ ขนาดแผลเล็ก เจ็บตัวน้อย นอนโรงพยาบาลระยะสั้น ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว มีความเสี่ยงน้อย โดยก่อนทำการสวนหัวใจแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะจุด แล้วใส่สายสวนขนาดเล็กผ่านทางหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบไปยังหลอดเลือดหัวใจ สามารถทราบผลการวินิจฉัยทันทีหลังการตรวจ ถ้าตรวจพบว่ามีการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ แพทย์สามารถให้การรักษาโดยขยายหลอดเลือดควบคู่ได้เลยหลังจากตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจเสร็จแล้ว

                          ดังนั้น หากมีอาการเจ็บหน้าอก และสงสัยว่าเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์จะตรวจเบื้องต้นถึงโอกาสเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบตันจากอาการเจ็บหน้าอกว่าใช่หรือไม่ และมีความรุนแรงเพียงใด แล้วตรวจเพิ่มเติมด้วยการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือด วิ่งสายพาน และอัลตร้าซาวด์หัวใจ เมื่อผลการตรวจมีข้อบ่งชี้ของหลอดเลือดหัวใจตีบตัน จึงวินิจฉัยขั้นสุดท้ายด้วยการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ เพื่อวางแผนการรักษาขั้นต่อไป

                          เพียงเท่านี้  เราก็สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของการเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ หรือสามารถขอคำปรึกษาได้จากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (จังหวัดสมุทรปราการ) โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ (จังหวัดนครสวรรค์) โรงพยาบาลพิษณุเวช (จังหวัดพิษณุโลก) และโรงพยาบาลสหเวช (จังหวัดพิจิตร)) และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่ www.princhealth.com