news on August 22, 2018, 07:43:32 AM

ผู้บริหาร กรระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงศึกษาธิการ และผู้สนับสนุนการประชุม APCG2108 ร่วมถ่ายภาพ


ผู้เชี่ยวชาญไต้หวัน แนะใช้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต กระตุ้นการเรียนรู้ “เด็กความสามารถพิเศษ”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้แบบก้าวหน้าจากไต้หวัน แนะใช้พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ในการสร้างความอยากรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในการเรียนรู้



เยาวชนจากต่างประเทศ ร่วมสนุกกับการทดลองของ prof.Wei-Hsin Sun ในการประชุมค่าย APCG2018


เยาวชนที่มาร่วมประชุม APCG2018 จากประเทศต่างๆ


prof.Wei-Hsin Sun จาก Institute of Astrophysics, National Taiwan University, Taiwan


prof.Wei-Hsin Sun จาก Institute of Astrophysics, National Taiwan University, Taiwan สาธิตการทดลองจากธรรมชาติ เช่นผลต้นมะฮอกกานี ปลิวลมเพื่อเติบโตแพร่พันธุ์ได้ไกลขึ้น


prof.Wei-Hsin Sun สาธิตการเติมน้ำในแก้วแชมเปญให้เต็ม แล้วเอานามบัตรปิดไว้ ค่ำแล้วแล้วปล่อยมือน้ำไม่หกออกจากแก้วอธิบายได้ด้วยหลักการแรงดันของอากาศมีทุกทิศทุกทาง รวมถึงแรงตึงผิวของน้ำ


เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ เว่ย ชิน ซุน (Wei-Hsin Sun) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งไต้หวัน ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความท้าทายของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในการสร้างความสัมพันธ์และดึงความสนใจของเด็กอัจฉริยะและเด็กที่มีความสามารถในการเรียนรู้สูง” ใน “การประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ ครั้งที่ 15 (The 15th Asia-Pacific Conference on Giftedness 2018: APCG2018)” จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 20-24 สิงหาคม 2561 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศาสตราจารย์ซุน กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์นั้น เกิดจากการมองเห็นวิทยาศาสตร์ในธรรมชาติและการเข้าใจธรรมชาติโดยการใช้วิทยาศาสตร์ จึงทำให้พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นสถานที่ที่สร้างความอยากรู้และสร้างแรงบันดาลใจสำหรับการเรียนรู้แบบก้าวหน้าสำหรับเด็ก โดยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ควรมีหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ การสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้แบบก้าวหน้า การสร้างแบบจำลองและความท้าทายในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และการให้ความใส่ใจในธรรมชาติและชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ นอกจากนั้นแล้ว การเกิดขึ้นของความสนใจใคร่รู้คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างแรงบันดาลใจด้วยตนเอง ซึ่งเด็กที่มีความสามารถพิเศษจะชื่นชอบการเรียนรู้ที่ท้าทายความสามารถทางสติปัญญา เพราะจะกระตุ้นและจุดพลังแห่งความกระหายในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ซุน ได้ยกตัวอย่างถึงการบริหารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งไต้หวัน ว่า มีการจัดกิจกรรมที่น่ามหัศจรรย์ ที่ไม่เพียงแต่มีความสนุกสนาน แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมต่อไปยังธรรมชาติ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ฯ มีพนักงานเป็นนักวิจัยและศาสตราจารย์ระดับดอกเตอร์มากกว่า 60 คน ช่วยกันคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ในการเรียนรู้ให้กับคนที่เข้ามาเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ฯ โดยนำเสนอความคิดและหัวข้อเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ให้น่าสนใจอยู่อย่างสม่ำเสมอ อาทิ เรื่องของเมล็ดพืช ดอกไม้ ต้นไม้ พฤติกรรมสัตว์ หรือฟอสซิลไดโนเสาร์ เป็นต้น

“ตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ฯ เรามีพนักงานด้านวิชาการที่สามารถสร้างกิจกรรมการเรียนวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้ อาทิ การขุดซากกระดูก หรือฟอสซิลไดโนเสาร์ขึ้นมาจากดินให้นักเรียนช่วยกันขุดและทำความสะอาด เรามองว่าประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบนี้ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์สามารถมอบให้เด็กนักเรียนได้ตลอดมากว่า 30 ปี เราได้พัฒนาการทดลองในลักษณะนี้มาโดยตลอด ทีมการศึกษาวิทยาศาสตร์ได้ทำการคิดและนำเสนอรูปแบบการเรียนวิทยาศาสตร์ในหลากหลายรูปแบบสำหรับเด็กนักเรียนที่มาพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เพื่อมาเล่นและเรียนรู้การทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนาน”

ศาสตราจารย์ซุน กล่าวต่อว่า การเรียนรู้วิทยาศาสตร์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักเรียนจะต้องได้รับประสบการณ์จากการทดลอง ดังนั้น พิพิธภันฑ์วิทยาศาสตร์จึงไม่ใช่สถานที่ที่เอาไว้สอนเหมือนโรงเรียน แต่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จะต้องมีสภาพแวดล้อมที่นำเสนอและมอบประสบการณ์ให้กับนักเรียน และสิ่งที่สำคัญมากคือ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยงานวิจัย แทนที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จะเป็นสถานที่ที่แสดงผลงานนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ควรออกแบบให้เหมือนเป็นโรงเรียนที่มีโต๊ะนักเรียน มีเก้าอี้นักเรียน และต้องมีครูผู้สอน ซึ่งครูผู้สอนในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์คือ  นักวิจัยผู้ที่จะต้องแนะนำหัวข้อทางวิชาการผ่านการนำเสนอในรูปแบบของกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ หรือเกม

“ประสบการณ์ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ไต้หวันเราค้นพบว่าเด็กนักเรียนสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในรูปแบบที่มีความสนุกสนาน เมื่อเด็กมีความสนุกในการเรียนรู้ เขาจะแสดงออกซึ่งความสนใจของเขาต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะสามารถค้นพบได้ว่าความสามารถพิเศษใดๆ ที่เด็กเหล่านั้นมีและซุกซ่อนอยู่ เด็กนักเรียนจะกลายเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และมีบทบาทในการเรียนรู้ ในขณะที่ความรับผิดชอบของคุณครูคือ การทำให้เด็กนักเรียนมีความสนใจและอยากที่จะเรียนรู้โดยต้องมีการออกแบบการเรียนรู้ที่มีความท้าทายอย่างต่อเนื่อง”
« Last Edit: August 22, 2018, 04:03:03 PM by news »