sianbun on January 21, 2010, 05:14:33 PM
ไอบีเอ็มเผยนโยบายปี 2553 มุ่งผลักดันองค์กรในไทยสู่การตัดสินใจอย่างชาญฉลาด
มั่นใจเป็นผู้นำการแข่งขันในด้าน “การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ” และ “การบริหารงานธุรกิจภายในองค์กร”



กรุงเทพฯ – 21 มกราคม 2553 – ไอบีเอ็มเผยวิสัยทัศน์ปี 2553 มุ่งให้ธุรกิจตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด (Smarter Decisions) มั่นใจเป็นผู้นำการแข่งขันด้วย “การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ” (Business Analytics) และ “การบริหารงานธุรกิจภายในองค์กร” (Managed Business Process Services) พร้อมประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนนโยบายรัฐ สร้างเศรษฐกิจไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thailand) และมุ่งมั่นสร้างไอบีเอ็มให้เป็น “องค์กรชั้นเลิศ” (Employer of Choice) อย่างต่อเนื่อง
นายธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า “ในปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มสามารถขยายฐานธุรกิจไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ด้วยบริการที่ครบวงจร ภายใต้แนวคิดการทำให้โลกนี้ฉลาดขึ้น (Building a Smarter Planet) ที่โลกเชื่อมโยงกันอย่าง เพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดมากขึ้น”

สำหรับนโยบายหลักในปี 2553 ไอบีเอ็มมองว่าการตัดสินใจที่แม่นยำและรวดเร็ว (making smarter decision) จะมีบทบาทมากขึ้นต่อทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้นในปีนี้ไอบีเอ็มจึงจะมุ่งพัฒนาความยั่งยืนของประเทศไทยด้วยการสนับสนุนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนตัดสินใจอย่างชาญฉลาด โดยมุ่งเน้นการเป็นผู้นำการแข่งขันด้วย การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ (Business Analytics) และการบริหารงานธุรกิจภายในองค์กร (Managed Business Process Services) เพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว

“วันนี้ไอบีเอ็มมองว่า ความเชี่ยวชาญส่วนบุคคลของผู้บริหารหรือพนักงานไม่เพียงพออีกต่อไป โดยเฉพาะในขณะนี้ที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังฟื้นตัว และการแข่งขันทางธุรกิจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทยอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงการแข่งขันในเวทีระดับโลกปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จของธุรกิจในวันนี้ได้แก่การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกเพื่อการตัดสินใจอย่างแม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งโซลูชั่นด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจของไอบีเอ็มจะทำให้ผู้บริหารมีข้อมูลและเครื่องมือชี้วัดที่เหมาะสม ทำให้ทราบข้อมูลเชิงลึกอย่างครบถ้วน สามารถเข้าใจผลกระทบของการตัดสินใจ และสามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น นี่คือจุดเปลี่ยนที่องค์กรสามารถใช้ประโยชน์เทคโนโลยีได้มากกว่า Business Intelligence ทั่วไป

การที่ไอบีเอ็มมีพร้อมทั้งเทคโนโลยีด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ (Business Analytics) ประกอบกับการมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เราจึงมั่นใจว่าจะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจทางธุรกิจได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งทุกภาคอุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์ อาทิเช่น ธุรกิจการเงิน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจจะช่วยประเมินแนวโน้มการใช้บริการของลูกค้า และจะช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำ Up-sell หรือ Cross-sell หรือธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งแต่ละปีจะมีข้อมูลจำนวนการใช้งานของลูกค้านับล้านๆรายการ การวิเคราะห์เข้อมูลชิงธุรกิจสามารถเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยคาดการณ์ช่วงเวลาในการออกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาดได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีรายได้ต่อลูกค้าต่อรายมากขึ้น เป็นต้น”

นอกจากนี้ไอบีเอ็มได้นำเสนอบริการ “การบริหารงานธุรกิจภายในองค์กร” (Managed Business Process Services) หรือ MBPS เพื่อช่วยองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดค่าใช้จ่ายโดยรวมในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยให้องค์กรได้ใช้โอกาสไปทุ่มเทเวลาและทรัพยากรกับธุรกิจหลักของตน โดยปัจจุบันไอบีเอ็มมีบริการการบริหารงานธุรกิจภายในองค์กรครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management), การจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management), การจัดการด้านการเงินและงานธุรการ (Financial and Administration) และการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management)

“ในปีนี้ ถึงแม้จะมีคู่แข่งหันมาให้บริการการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจและการบริหารงานธุรกิจภายในองค์กรมากขึ้น แต่ด้วยความเป็นผู้นำทางด้านไอทีครบวงจรของไอบีเอ็ม ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการที่ครบครัน อีกทั้งมีการลงทุนการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง และมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก เรามั่นใจว่าไอบีเอ็มจะครองความเป็นผู้นำในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจและการบริหารงานธุรกิจภายในองค์กรในประเทศไทย” นายธันวากล่าวเสริม

ทั้งนี้ อีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญของไอบีเอ็ม ประเทศไทย ในปีนี้คือ การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการสร้างเศรษฐกิจไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์” (Creative Thailand) โดยไอบีเอ็มพร้อมสนับสนุนภาครัฐและเอกชนใน 3 ด้านหลัก ทั้งการผสานเอาจุดแข็งทางวัฒนธรรมมาแปลงเป็นผลงานที่สามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาเยาวชนไทยให้มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษ และการพัฒนาสภาวะแวดล้อมของเมืองที่เอื้อต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้ ไอบีเอ็มจะมุ่งนำประสบการณ์ที่เราเคยทำในระดับโลก สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ดังกล่าว

นโยบายสำคัญสุดท้ายที่ไอบีเอ็มจะยังคงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2553 คือการมุ่งเป็น “องค์กรในฝัน” (Employer of Choice) ด้วยการดำเนินธุรกิจในโลกที่ไร้พรมแดน (Globally Integrated Enterprise) ไอบีเอ็มให้โอกาสและสนับสนุนให้พนักงานทุกระดับเป็นกำลังสำคัญสำหรับธุรกิจในศตวรรษที่ 21 (Workforce for 21st Century) ด้วยการพัฒนาทักษะของตนเองอย่างมีแนวทางที่ชัดเจน และพร้อมที่จะเป็นทรัพยากรสำคัญของไอบีเอ็มทั่วโลกอย่างไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของไอบีเอ็ม ประเทศไทย ได้ที่ www.facebook.com/IBMThailand
« Last Edit: January 21, 2010, 05:18:28 PM by sianbun »