enjoyjam.net » news & activity » news & activity (Moderators: happy, sianbun) » เมื่อ “การศึกษา” ไม่ใช่เรื่องเสี่ยงทายที่เราต้อง “ลุ้น” เยือนโรงเรียน “ร้อยพลัง « previous next » Print Pages: [1] Go Down MSN on June 13, 2018, 09:22:21 AM เมื่อ “การศึกษา” ไม่ใช่เรื่องเสี่ยงทายที่เราต้อง “ลุ้น” เยือนโรงเรียน “ร้อยพลังการศึกษา” และเรื่องราวของ “โอกาส” จากน้ำใจของ “คนไทย” เราทุกคนต้องการ “โอกาส” โดยเฉพาะโอกาสทาง “การศึกษา” มีเด็กจำนวนนับแสนคนที่เลิกเรียนกลางคันในแต่ละปีสาเหตุหลักมาจากความ “ยากจน” ซึ่งมีเด็กกลุ่มเสี่ยงมากถึง 4.8 ล้านคนสุดท้าย “ความเหลื่อมล้ำ” จึงเกิดขึ้น “ร้อยพลังการศึกษา” จึงมุ่งสร้างโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้”ปลายพฤษภาคมที่ผ่านมา ณ จังหวัดนครสวรรค์ !ข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2559 โดยสำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า จังหวัดนครสวรรค์ มีสัดส่วนความจนอยู่ที่ 8.47 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในลำดับที่ 42 เปรียบเทียบกับ 77 จังหวัดทั่วประเทศ แน่นอนว่าโรงเรียนพยุหะพิทยาคม ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรีและโรงเรียนวังข่อยพิทยาคม ตำบลวังข่อย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ย่อมอยู่ในเกณฑ์ของโรงเรียนที่ขาดโอกาส ขณะที่ประชากรของสองอำเภอนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักทำไร่ ทำนา ทำสวน และรับจ้าง สำหรับคนที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง เด็กๆ ที่ลืมตาในครอบครัวเหล่านี้ จึงหนีไม่พ้นปัญหาความยากจน และจำนวนหนึ่งเผชิญกับปัญหาพ่อแม่หย่าร้าง ครอบครัวแหว่งกลาง ต้องอาศัยผู้สูงวัยรุ่นคุณตาคุณยายช่วยเลี้ยงดู ซึ่งไม่ต้องเดาเลยว่าจะลำบากยากจนขนาดไหนแม้แต่ “ระยะทาง” จะไปโรงเรียนของเด็กในต่างจังหวัดหลายแห่ง ก็กลายเป็นอุปสรรค ผลักไสให้เด็ก “หลุด” จากระบบการศึกษา นอกจากจะไกลแล้ว ยังหารถประจำทางแทบไม่มี ค่ารถรับส่งเดือนละ700- 800 บาทจากบ้านมาโรงเรียน สำหรับใครหลายคนคงไม่ได้เป็นภาระมากมาย แต่สำหรับ “ครอบครัวแก่นด้วง” พวกเขายอมรับว่าเป็นปัญหา “ผมทำงานรับจ้างทั่วไป ตอนยังไม่ได้รับทุนเดือดร้อนเรื่องค่ารถและอุปกรณ์การเรียน แต่ตอนนี้ดีขึ้นมาก ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ต้องเครียดว่าจะหาเงินไหนให้น้องไปเรียน” คุณปรีชา แก่นด้วง ชาวอำเภอพยุหะคีรี คุณพ่อของ “น้องน้ำ” นักเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษากล่าวและว่า รู้สึกเครียดมาตลอด แต่เมื่อได้ทุนการศึกษาจากมูลนิธิยุวพัฒน์ทุกอย่างก็ทุเลาลง “การได้รับทุนทำให้หนูกระตือรือร้นที่จะตั้งใจเรียนมากขึ้น ประพฤติตัวให้เป็นคนดีช่วยเหลือสังคม เพื่อตอบแทนคนที่ช่วยเหลือ” เป็นสิ่งที่ “น้องน้ำ-เด็กหญิงประภัสสรา แก่นด้วง” ตั้งใจตอบแทนผู้ให้โอกาสความแข็งแกร่ง อดทน และมีวินัย เป็นสิ่งที่น้ำถูกปลูกฝัง ทุกวันหลังเลิกเรียนจะต้องฝึก“ชกมวย” เธอทำแบบนี้มาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เคยขึ้นชกทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกอายุ 10 ขวบ พิกัดน้ำหนัก 27 กิโลกรัม บนเวทีภูธร ชนะได้เงินรางวัล 500 บาท 2 ครั้งที่เหลือ เธอแพ้มาตลอด แต่นั่นไม่ได้ทำให้เธอหยุดฝึกซ้อมแต่ยังสลับกับการลงแข่งวิ่งมินิมาราธอน 8 กิโลเมตร จนชนะทั้งหมด 5 ครั้ง โตขึ้น หนูอยากเป็นอะไร ? เด็กหลายคนคงเจอคำถามเดียวกันกับน้องน้ำ เธอตอบ ว่า “หมอทหาร” “เพราะได้ช่วยเหลือคนอื่นและทำเพื่อประเทศ” ดูเหมือนว่าเธอได้แรงบันดาลใจจากคุณพ่อที่เคยเป็นทหารเกณฑ์รับใช้ชาติ “น้องโนนิ-เด็กหญิงภัทรจาริน มูลอินทร์” นักเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษามีความฝันจะเป็นวิศวกรรมอุตสาหการ เพราะเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี “หนูอยากเป็นวิศวกรรมอุตสาหการ เพราะคิดว่าได้เงินเยอะ อีกอย่างก็ถนัดสายวิทย์ โดยเฉพาะวิชาคณิต ซึ่งพอได้เรียนหลักสูตรเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นทำให้เข้าใจและมีสมาธิมากขึ้น” “ที่จริงแม่ต้องการให้โนนิเรียนเทคนิคการแพทย์ แต่ตามใจว่าชอบอะไรและต้องเป็นอาชีพที่เรียนจบแล้วมีงานรอ ไม่ใช่รองาน” คุณรัชฎาภรณ์ สมบุญนา คุณแม่ของน้องโนนิกล่าวเสริม การที่เด็กคนหนึ่งจะมีเป้าหมายชีวิตว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร สำคัญคือ เด็กจะต้องค้นพบตัวเอง เข้าใจตัวเองว่า ถนัดอะไร และมีความสุขกับการทำสิ่งใด สิ่งนี้โรงเรียนมีส่วนช่วยได้ผ่านหลักสูตร “แนะแนว” หากพูดถึงวิชาแนะแนวสมัยก่อน ภาพจำที่หลายคนนึกถึงน่าจะเป็นบรรยากาศที่ต่างคนต่างได้เล่นสนุกราวกับว่านี่คือ “วิชาอิสระ” ที่ไม่ต้องมีแผนการเรียนการสอน แต่สำหรับโครงการร้อยพลังการศึกษาได้สนับสนุนให้ครูแนะแนวมีโอกาสได้รับการบ่มเพาะประสบการณ์เข้าอบรมโครงการ “ครูแนะแนวรุ่นใหม่ สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตนเองได้” กับบริษัท อาชีฟ โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด “วนิดา เกตุทอง” ครูสอนคณิตศาสตร์และแนะแนว โรงเรียนวังข่อยพิทยาคม ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวตั้งใจจะเปลี่ยนวิชาแนะแนวให้เป็นวิชาที่ได้คะแนน “ประสบการณ์” และเปลี่ยนชีวิตของเด็กๆ “เด็กที่นี่ไม่รู้ข้อมูลอาชีพ ไม่รู้ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ต้องเรียนอะไร แต่หลังจากอบรมเราเริ่มเห็นความสำคัญ รู้จักวิธีทำให้เด็กเปิดใจ กล้าพูดว่าอยากเป็นอะไร เพราะที่สอนอยู่ยังไม่ถูกวิธี จึงพยายามหากิจกรรม เด็กเริ่มสนใจ” “ครูรุ่นใหม่” ยังมีความหวังกับการศึกษาไทย ความเป็นคนเจเนอเรชั่นใหม่ทำให้พวกเขาอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เมื่อ “กุ๊กกิ๊ก-ตุลลิยา สาริบุตร” ครูทีชฟอร์ไทยแลนด์ รุ่นที่ 5 ผู้จบปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาสอนวิชาคณิตศาสตร์ ที่โรงเรียนพยุหะพิทยาคมนอกเหนือจากใบดีกรีแล้ว เธอยังเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่โรงเรียน Gymnasium Grootmoor เมือง Hamburg ประเทศ เยอรมนี 1 ปี ทำให้ได้เรียนรู้ว่าห้องเรียนไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยม ที่ให้เด็กๆ นั่งฟังครูสอน และไม่ใช่แค่การท่องจำ “ได้เห็นระบบการศึกษาที่ให้เด็กเรียนคณิตแบบคิดวิเคราะห์ จึงสนใจนำมาใช้กับเด็กไทย เราเน้นสอนแบบแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง ให้เด็กสนุกกับการเรียน ให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของวิชา แต่ก่อนที่จะใช้กิจกรรมเราต้องปรับทัศนคติว่าเขามีศักยภาพเพราะเด็กที่นี่เชื่อว่ามันยากและทำไม่ได้”บางทีการลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเอง อ้าแขนรับนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับผู้นำโรงเรียน อาจทำให้ทัศนคติแห่งการศึกษาแบบเดิมไปสู่การศึกษา “ยุคใหม่” “การเรียนแบบ 4.0 ทุกคนได้แต่คิดแต่ลงมือทำยาก เมื่อเข้าร่วมโครงการร้อยพลังการศึกษาเหมือนมีพลังเกิดขึ้น เราได้นำเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นและวินเนอร์ อิงลิชเข้ามาใช้ เพราะเป็นการเรียนการสอนยุคใหม่ เป็นผลดีทั้งครูและนักเรียน” อาจารย์รังสิวุฒิ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการโรงเรียนวังข่อยพิทยา โรงเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษากล่าวเช่นเดียวกับ อาจารย์พงษ์เทพ เจริญไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนพยุหะพิทยาคม โรงเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษา เชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามามีส่วนช่วยให้การศึกษาของไทยดีขึ้น “ไทยแลนด์ 4.0 คงหมดยุคครูสอนบนกระดานดำ จึงต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เราตระหนักถึงเรื่องนี้ ดังนั้น โรงเรียนเราจึงเปิดรับตัวช่วยของร้อยพลังการศึกษา ทั้งเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นและครูทีชฟอร์ไทยแลนด์” อาจารย์พงษ์เทพ เจริญไทย กล่าวแม้แต่ครูสอนคณิตศาสตร์ของโรงเรียนก็ยังเปิดรับนวัตกรรมการเรียนแบบใหม่ “ระบบเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นช่วยเพิ่มความสนใจ ความรู้ การคิดวิเคราะห์ให้เด็กมากขึ้น เป็นตัวช่วยเสริมทักษะครู หวังว่าเด็กน่าจะมีความรู้และนำไปต่อยอดในอนาคตได้” “ครูสุรชัย บัวหลวง” ครูชำนาญการพิเศษ กล่าว การศึกษาเป็นเป้าหมายในการพัฒนา แต่การจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงกลับใช้เวลาดำเนินการช้า กลายเป็นปัจจัยที่ชะลอความก้าวหน้าด้านการศึกษา “ชุมชน” จึงกลายเป็นทางร่วมของโรงเรียน คุณสุรพงษ์ ม่วงมา ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน อบต.วังข่อย เล่าว่า เด็กชาวตำบลวังข่อยหยุดเรียนต่อมากถึงร้อยละ 20 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) พยายามผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้เรียนต่อ ขณะที่อบต.ได้พยายามปลุกนักเรียนที่เรียนจบแล้วกลับมาทำงานที่บ้านเกิด ชื่อโครงการ “วัยรุ่นคืนถิ่น” ซึ่งใช้สภาเด็กและเยาวชนตำบลเป็นตัวขับเคลื่อน ให้กรรมการแต่ละหมู่บ้านเข้าไปค้นหาเด็กที่สนใจเรียนและกลับมาทำงานที่บ้าน โดยมีการประสานงานกับแรงงานจังหวัด ปัจจุบันที่ในท้องถิ่นมีกลุ่มอาชีพกว่า 10 กลุ่ม เช่น ปลูกเห็ดฟาง เลี้ยงไก่พื้นบ้าน ไก่ชน ไก่ดำ ปศุสัตว์ ฯลฯ ให้เยาวชนคนวังข่อยได้มีทางเลือกในการทำมาหาเลี้ยงชีพ“ความต้องการที่จะให้ภาคธุรกิจเข้ามาช่วยเหลือทางการศึกษาเป็นเรื่องที่ดีและยังต้องการอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องค่าพาหนะรับส่งของโรงเรียน ทำอย่างไรจึงจะแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองเพราะส่วนใหญ่รับจ้างและเกษตรกรรม และปัญหาหลักของโรงเรียนคือ งบประมาณมีจำกัดและ อบต.ไม่มีงบสนับสนุนที่เพียงพอ” คุณสุรพงษ์กล่าวแม้แต่ผู้นำการศึกษาก็พยายามหาเรียนรู้วิธีการ “พึ่งตนเอง”เป็น“เป้าหมาย”“ผมได้เข้าร่วมกับกลุ่มกัลยาณมิตรจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้บริหารโรงเรียนเพื่อจะพัฒนา และยกระดับผลสัมฤทธิ์คุณภาพของโรงเรียน เพราะมีความเชื่อว่าการจะทำอะไรต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน ทั้งงบประมาณ บุคลากร เทคโนโลยี ถ้ารอจากส่วนกลางก็ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ขาดแคลนครู งบประมาณน้อย” อาจารย์รังสิวุฒิ พุ่มเกิด กล่าวทิ้งท้ายกรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่สะท้อนแนวคิดและแนวปฏิบัติของชุมชนพึ่งตนเองในเรื่องการศึกษา แต่การจะสร้างความ “ยั่งยืน” ได้นั้น ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคสังคมและชุมชน รวมถึงทุกคนในสังคมก็สามารถมีส่วนร่วมได้ ความยั่งยืนของการหยิบยื่นโอกาสให้กับเด็กขาดโอกาสที่มีอยู่ทั่วประเทศจะเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจำเป็นที่คนในท้องถิ่นจะต้องช่วยเหลือเกื้อกูลลูกหลานของชุมชนนี่คือเป้าหมายของ “ร้อยพลังการศึกษา” ซึ่งยังรอการสนับสนุนจากคนไทยร่วมกันบริจาคเงินเข้า “โครงการผ้าป่าร้อยพลังการศึกษา” ที่ www.tcfe.or.th ภายใน 17 มิ.ย.นี้ เพื่อช่วยโรงเรียนและนักเรียนขาดโอกาสเหมือนกับที่นครสวรรค์ให้ครบ 100 โรงเรียน ภายในปีการศึกษา 2562 โครงการ “ร้อยพลังการศึกษา” เป็นโครงการความร่วมมือเชื่อมร้อยพลังผู้คนในสังคมไทยมีเป้าหมายสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมให้แก่เด็กไทย และร่วมลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ในโรงเรียนเป้าหมาย 100 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กที่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพราะไม่มีทุนเรียน และกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ “โอกาส” สำหรับ “ร้อยพลังการศึกษา” มุ่งเน้นช่วยเด็ก 3 ด้าน ได้แก่ โอกาสเข้าถึงการศึกษา – ด้วยทุนยุวพัฒน์ต่อเนื่อง 6 ปี ตั้งแต่ ม.1-ม.6 พร้อมพี่เลี้ยงอาสา โดยมูลนิธิยุวพัฒน์โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ – ด้วยห้องเรียนดิจิทัลวิชาวิทย์-คณิตที่เรียนรู้ง่าย โดยบริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ห้องเรียนดิจิทัลวิชาภาษาอังกฤษ โดย บริษัทเอ็ดดูเทค อินโนเวชั่น จำกัด และครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยโครงการ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์โอกาสเข้าถึงเส้นทางอาชีพและทักษะชีวิต – ด้วยหลักสูตรแนะแนวอาชีพโดย บริษัท อาชีฟ โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และโครงการวัยรุ่นอุ่นใจ โดยเครือข่ายจิตอาสาติดตามรายละเอียดโครงการได้ที่ www.tcfe.or.th หรือเฟซบุ๊ค “ร้อยพลังการศึกษา” « Last Edit: June 13, 2018, 03:31:10 PM by MSN » Logged MSN on June 13, 2018, 03:26:18 PM คุณปรีชา แก่นด้วง คุณพ่อน้องน้ำ นักเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษาน้องน้ำ-เด็กหญิงประภัสสรา แก่นด้วง น นักเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษา กล่าวถึงความตั้งใจตอบแทนผู้ให้โอกาสน้องโนนิ-เด็กหญิงภัทรจาริน มูลอินทร์ นักเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษา เด็กหญิงผู้มีความฝันที่จะเป็นวิศวกรรมอุตสาหการคุณรัชฎาภรณ์ สมบุญนา คุณแม่ของน้องโนนิคุณวนิดา เกตุทอง ครูสอนคณิตศาสตร์และแนะแนว โรงเรียนวังข่อยพิทยาคม ผู้ผ่านการอบรมโครงการ ครูแนะแนวรุ่นใหม่ สร้างเด็กไทยให้ออกแบบชีวิตตนเองได้ครูกุ๊กกิ๊ก-ตุลลิยา สาริบุตร ครูทีชฟอร์ไทยแลนด์ รุ่นที่ 5 ครูรุ่นใหม่ ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอาจารย์รังสิวุฒิ พุ่มเกิด ผู้อำนวยการโรงเรียนวังข่อยพิทยา โรงเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษา กล่าวถึงโครงการร้อยพลังการศึกษาเป็นผลดีต่อครูและนักเรียนอาจารย์พงษ์เทพ เจริญไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนพยุหะพิทยาคม โรงเรียนในโครงการร้อยพลังการศึกษา เชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามามีส่วนช่วยให้การศึกษาไทยดีขึ้นคุณสุรพงษ์ ม่วงมา ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน อบต.วังข่อย กล่าวถึงโครงการ “วัยรุ่นคืนถิ่น” ที่ได้ผลักดันให้เด็กที่สนใจเรียน เมื่อเรียนจบแล้วกลับมาทำงานที่บ้านเกิดบรรยากาศโรงเรียนพยุหะพิทยาคม ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์บรรยากาศโรงเรียนวังข่อยพิทยาคม ตำบลวังข่อย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ « Last Edit: June 13, 2018, 03:30:58 PM by MSN » Logged Print Pages: [1] Go Up « previous next » enjoyjam.net » news & activity » news & activity (Moderators: happy, sianbun) » เมื่อ “การศึกษา” ไม่ใช่เรื่องเสี่ยงทายที่เราต้อง “ลุ้น” เยือนโรงเรียน “ร้อยพลัง