MSN on October 12, 2017, 08:58:08 AM


เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจนยื่นเสียงสนับสนุนจากประชาชนผ่านแคมเปญ“ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” เสนอคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน จัดแถลงข่าวพร้อมเปิดเวทีเสวนาวิชาการ“ปฏิรูปการประกันตัวเพื่อความเสมอภาคในสังคม: ร่วมกันแสวงหามาตรการทดแทนการขังระหว่างพิจารณา" ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการฝากขังและปล่อยชั่วคราวในประเทศไทยหวังลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมพร้อมเตรียมนำเสียงสนับสนุนจากแคมเปญ“ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ที่จัดขึ้นผ่านช่องทางChange.org/BailReformไปยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้บรรจุการใช้ระบบประเมินความเสี่ยงช่วยให้ศาลใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาเพื่อการประกันตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องใช้เงินเป็นตัวตัดสินให้เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ




ผศ.ดร. ปริญญาเทวานฤมิตรกุลตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน กล่าวถึงที่มาของเครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจนว่า  เครือข่ายฯเกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่ต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการฝากขังและปล่อยชั่วคราวในประเทศไทยจากเดิมที่ใช้เงินเป็นตัวตัดสินไปสู่ระบบใหม่ที่ทำการวิจัยมาแล้วว่ามีความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมด้วย "ระบบประเมินความเสี่ยง" ที่ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือจนก็ต้องใช้แบบตรวจวัดเดียวกันโดยเครือข่ายฯต้องการผลักดันประเด็นนี้ยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมเพื่อบรรจุเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ


มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์


เฮนนิ่ง กลาซเซอร์


"จากเดิมที่ระบบการประกันตัวของไทยในปัจจุบันนั้นใช้เงินเป็นตัวติดสินว่าใครจะต้องรอในคุกระหว่างที่รอการพิจารณาคดีซึ่งเฉลี่ยเวลาประมาณ6 เดือนถึง1 ปีทำให้คนจนหรือผู้มีรายได้น้อยไม่มีโอกาสในการซื้ออิสรภาพทั้งที่ตัวเองอาจจะไม่ได้ผิดเลยนี่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่เห็นได้ชัดเจนทำให้มีวลีติดปากที่คนนำมาใช้กันบ่อยๆว่า“คุกมีไว้ขังคนจน” จากการวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์สำนักงานศาลยุติธรรมพบว่าที่ผ่านมาระบบการใช้เงินเพื่อประกันตัวนี้ทำลายชีวิตและโอกาสของคนจนกว่า60,000คนต่อปีคิดเป็นตัวเลขความเสียหายราว8,500ล้านต่อปีเนื่องจากเรือนจำจะมีค่าใช้จ่ายเช่นผู้คุมอาหารค่าใช้จ่ายต่างๆกว่า2,500ล้านบาทต่อปีรวมถึงคนที่ต้องเสียโอกาสในการทำงานสร้างรายได้คำนวณแล้วมากถึง6,000ล้านบาทต่อปีและที่สำคัญการเรียกหลักประกันเป็นเงินไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการวัดความเสี่ยงในการหลบหนีหรือกระทำผิดซ้ำได้อีก" ผศ.ดร. ปริญญากล่าว

จากการศึกษาและวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์สำนักงานศาลยุติธรรมในเรื่อง“วิธีประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว" โดยนำแนวคิดมาจากหน่วยงานศาลในต่างประเทศได้แก่การศึกษาจากศาลในกรุงวอชิงตันดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใช้แบบตรวจวัดความเสี่ยงดังกล่าวในการพิจารณาปล่อยชั่วคราวตัวนี้ซึ่งเปลี่ยนจากการใช้เงินเพื่อประกันตัวเป็นการใช้ความเสี่ยงในการหลบหนีโดยจะมีขั้นตอนในการประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลดังนี้หนึ่งสอบถามข้อมูลตามแบบฟอร์มในการสอบประวัตินั้นทำโดยกรอกข้อมูลลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งจะปรินท์ออกมาเป็นกระดาษอีกทีเพื่อให้ผู้ต้องหา/จำเลยลงชื่อไว้เป็นหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่บันทึกถูกต้องจากการทดลองใช้ระบบมาระยะหนึ่งการสอบประวัติต่อคนใช้เวลาคนละไม่เกิน20 นาที สองตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลเช่นประวัติอาชญากรรมประวัติยาเสพติดคดีค้างพิจารณามาวัดความเสี่ยงในหารหลบหนีซึ่งด้วยวัตถุประสงค์ของการประเมินความเสี่ยงคือพิจารณาว่ามีความเสี่ยงจะหนีหรือกระทำความผิดซ้ำมิใช่การแก้ไขบำบัดฟื้นฟูหรือกำหนดอัตราโทษที่เหมาะสมการตรวจสอบจึงไม่จำเป็นต้องละเอียดถึงขนาดลงพื้นที่ไปตรวจสอบอย่างคุมประพฤติและด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของศาลที่ต้องสั่งปล่อยชั่วคราวโดยเร็ว

และสามประเมินความเสี่ยงและทำรายงานเสนอศาลข้อเท็จจริงทั้งหมดที่กรอกลงในโปรแกรมจะถูกนำมาคำนวณคะแนนความเสี่ยงที่สังเคราะห์จากงานวิจัยเชิงสถิติและพฤติกรรมศาสตร์ โดยมีมาตรการกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยงถ้ามีความเสี่ยงต่ำให้สาบานตัวแล้วปล่อยเสี่ยงปานกลางรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่หรือผ่านแอปพลิเคชันเสี่ยงสูงจำกัดบริเวณผ่านกำไลข้อมือ/ข้อเท้าติดตามตัวหรือถ้าหากมีความเสี่ยงสูงมากจะขังทันทีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว  ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเองได้นำระบบนี้มาทดลองใช้แล้วใน13 ศาลได้แก่ศาลอาญากรุงเทพใต้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ศาลจังหวัดจันทบุรีศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชศาลจังหวัดขอนแก่นศาลอาญาธนบุรีศาลจังหวัดสุรินทร์ศาลจังหวัดชัยภูมิศาลจังหวัดเชียงรายศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาศาลจังหวัดสงขลาและศาลจังหวัดฮอด (เชียงใหม่)

ผศ.ดร. ปริญญายังได้กล่าวเสริมว่า "เพื่อให้เกิดการใช้แบบประเมินความเสี่ยงดังกล่าวในทุกศาลทั่วประเทศเครือข่ายฯได้จัดทำแคมเปญ“ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ผ่านช่องทาง Change.org/BailReformโดยได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่เห็นด้วยในการนำแบบประเมินความเสี่ยงไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจำนวนกว่า10,000 รายชื่อแต่การผลักดันครั้งนี้ยังต้องการผู้สนับสนุนอีกมากทางเครือข่ายฯตั้งเป้าจะไปให้ถึง66,000 รายชื่อเท่ากับจำนวนผู้ต้องขังระหว่างดำเนินคดีต่อปีของประเทศไทยโดยจะนำเอาผลสำเร็จที่ได้รับการสนับสนุนในครั้งนี้ไปยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม“บรรจุอยู่ในแผนปฎิรูปแห่งชาติด้านกระบวนการยุติธรรมซึ่งทางเครือข่ายฯหวังว่าวลี "คุกมีไว้ขังคนจน" จะไม่มีอีกต่อไปในบ้านเรา"

ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการการประกันตัวแบบเก่าสู่การใช้แบบประเมินความเสี่ยงในอนาคตเครือข่ายฯจึงได้เสวนาวิชาการ“ปฏิรูปการประกันตัวเพื่อความเสมอภาคในสังคม: ร่วมกันแสวงหามาตรการทดแทนการขังระหว่างพิจารณา" โดยการแบ่งปันประสบการณ์จากกรณีระบบประกันตัวแบบเก่าระหว่างนักวิชาการด้านกฎหมายและผู้อาวุโสของศาลที่จะมาหาวิธีการที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมร่วมด้วยผศ.ดร. ปริญญาเทวานฤมิตรกุลตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจนศ.ดร.สุรศักดิ์ลิขสิทธิ์วัฒนกุลคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นายเฮนนิ่งกลาซเซอร์ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาลเยอรมัน-อุษาคเนย์ (CPG) นายบุญรอดตันประเสริฐผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค1 และนายมุขเมธินกลั่นนุรักษ์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกาและดำเนินรายการโดยรศ.ดร. ปกป้องศรีสนิทคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจนยังต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชนผ่านช่องทางwww.Change.org/BailReform ให้ถึง66,000เสียงเท่ากับจำนวนผู้ต้องขังระหว่างดำเนินคดีต่อปีของประเทศไทยและหลังจากนี้เครือข่ายฯจะนำเอารายชื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากแคมเปญดังกล่าวไปยื่นกับตัวแทนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมเป็นลำดับถัดไป








« Last Edit: October 12, 2017, 10:39:42 PM by MSN »