happy on June 30, 2017, 03:27:53 PM
บทความประชาสัมพันธ์ จากเจนเนอราลี่ ไทยแลนด์

6 วิธีดูแลสมองก่อนจะความจำเสื่อม


หากใครยังคิดว่า โรคอัลไซเมอร์ หรืออาการสมองเสื่อมยังเป็นอาการเจ็บป่วยที่ไกลตัวอยู่ละก็ อาจจะต้องคิดเสียใหม่ เพราะกระทรวงสาธารณสุขเผยถึงจำนวนผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทยปี 2558 ว่ามีจำนวนมากถึง 600,000 ราย และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นถึง1,117,000 คนในปี 2573 ซึ่งหากมองในภาพรวมของทั้งโลกนั้น ในปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีมากกว่า 50 ล้านราย และในทุก ๆ 68 วินาที จะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 1 ราย

จากเทคโนโลยีในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าโรคอัลไซเมอร์เกิดได้จากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ทั้งจากพันธุกรรม จากความผิดปกติทางชีววิทยาในสมอง ที่ส่งผลให้การทำงานของโครงสร้างเครือข่ายเซลล์ประสาทที่ติดต่อระหว่างกันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติอีกต่อไป ผู้ป่วยจะเกิดความบกพร่องทางสมองในส่วนของสติปัญญา เช่น ความคิด ความจำ และการตัดสินใจ ในขณะที่สมองส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวยังใช้การได้ดี โดยความเสี่ยงจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ทันทีที่อายุเข้าสู่วัย 65 ปีเป็นต้นไป

อาการของอัลไซเมอร์อาจเริ่มจากการสูญเสียความทรงจำระยะสั้น จนไม่สามารถจำอะไรใหม่ ๆ ได้ นานวันเข้าอาจจำเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้ไปด้วย หรือแม้แต่จำไม่ได้ว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคืออะไร เหมือนอย่างที่เราได้ยินข่าวอยู่บ่อย ๆ ว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ออกจากบ้านแล้วหายตัวไปเพราะหาทางกลับบ้านไม่ถูก ความน่ากลัวของอัลไซเมอร์อาจเพิ่มทวีคูณไปกระทั่งเห็นภาพหลอน หูแว่ว ก้าวร้าว ในท้ายที่สุดสมองจะถูกทำลายจนไม่สามารถควบคุมการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายให้ดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งทั้งหมดนั้นอาจกินเวลา 3 – 20 ปี โดยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 8 ปีนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ

สำหรับใครที่ไม่อยากข้องเกี่ยวโรคอัลไซเมอร์ในตอนแก่ละก็ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ก็ตาม แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะคุณเองสามารถชะลอความเสื่อมของสมองได้ตั้งแต่วันนี้ด้วยวิธีการง่าย ๆ เพียง 6 วิธี

1.   หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ ควบคู่ไปกับการออกกำลังสมอง เช่น เล่นเกมลับสมองฝึกความจำ ฝึกคำนวณตัวเลข รวมถึงการเล่นดนตรีประเภทต่าง ๆ ก็ช่วยได้
2.   ออกกำลังกาย มีประโยชน์เรื่องการคลายเครียดและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือด โดยการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอหรือการบำรุงหัวใจ เพียงวันละ 20 – 30 นาที อย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์
3.   รับประทานอาหารบำรุงสมอง โดยเฉพาะอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 เอ ซี อี และซีลีเนียม รวมถึงผลิตภัณฑ์จากใบแปะก๊วย
4.   การเข้าสังคม เราไม่ได้พูดถึงงานสังคมหรูหราฟุ่มเฟือยใด ๆ แต่สิ่งที่กำลังกล่าวถึงคือ การพบปะผู้คน พูดคุย โต้ตอบบทสนทนาอย่างสม่ำเสมอ ไม่เก็บตัวเงียบอยู่คนเดียว สามารถช่วยยืดอายุสมองได้
5.   หมั่นตรวจสอบความดันโลหิตอยู่เสมอ เพราะส่งผลกระทบถึงสมองโดยตรง และให้ลด ละ เลิกกิจกรรม        ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความดันโลหิตได้ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด
6.   นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรเข้านอนเกินสี่ทุ่มถึงห้าทุ่ม และควรนอนให้ได้อย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวันในสถานที่เงียบสงบ เพื่อให้การนอนมีคุณภาพมากที่สุด


ข้อมูลจาก
บริษัท เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์,  กระทรวงสาธารณสุข
เว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) www.thaihealth.or.th