ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจประกันภัยทั่วโลก แซงหน้ากฎระเบียบข้อบังคับ
ผลสำรวจล่าสุดของ CSFI และ PwC ชี้ปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมประกันภัย
กรุงเทพฯ, 8 มิถุนายน 2560 – PwC เผยผลสำรวจล่าสุดชี้ความสามารถในการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกำลังเป็นความเสี่ยงที่น่ากังวลที่สุดที่อุตสาหกรรมประกันภัยทั่วโลกกำลังเผชิญ
ผลสำรวจ Insurance Banana Skins 2017 ซึ่ง The Centre for the Study of Financial Innovation (CSFI) ร่วมกับ PwC จัดทำขึ้น เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยจำนวน 836 ราย ใน 52 ประเทศทั่วโลก โดยศึกษาถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจประกันภัยมากที่สุดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ผลสำรวจระบุว่า การบริหารความเปลี่ยนแปลง (Change management) ถูกจัดอันดับให้เป็นความท้าทายลำดับแรกของกลุ่มความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ (Operating risks) โดยกระโดดขึ้นมาเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่หนึ่งของธุรกิจประกันภัยในปีนี้ ทั้งนี้ รายงานได้ชี้ให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digitisation) ของอุตสาหกรรมประกันภัย การแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆ การควบรวม และการลดต้นทุน ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าตลาดประกันภัย เช่น รถยนต์ไร้คนขับ (Driverless cars) เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (The internet of things) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence)
ทั้งนี้ ความเสี่ยงลำดับที่สอง คือ ภัยคุกคามไซเบอร์ (Cyber risks) ซึ่งมาจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นจากการถูกโจมตีของบริษัทประกันภัยและต้นทุนที่เกิดจากการรับประกันภัยจากอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ส่วนความกังวลลำดับถัดมา ได้แก่ ความพร้อมของระบบเทคโนโลยีภายในของบริษัทประกันภัย และผู้แข่งขันรายใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เล่นจากกลุ่มบริษัทที่เป็น ‘InsurTech’
นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงสูงอื่นๆ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย (Interest rates) ผลการดำเนินงานจากการลงทุน (Investment performance) และเศรษฐกิจมหภาค (Macro-economy) ซึ่งทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูง และแม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แต่ความเชื่อมั่นกลับมีไม่มากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีน ความเสี่ยงจากนโยบายปกป้องทางการค้าในยุคของประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ (Trump-era protectionism) ของสหรัฐอเมริกา และลัทธิประชานิยมในยุโรป
นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการแทรกแซงทางการเมือง (Political interference) ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย ขณะที่การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ถูกมองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อบริษัทประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีกิจการอยู่ในสหราชอาณาจักร
สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงด้านกฎระเบียบข้อบังคับ (Regulatory risk) ซึ่งเคยติดอันดับต้นๆ ในการสำรวจ 3 ครั้งที่ผ่านมา ในปีนี้กลับไม่ติด 1 ใน 5 เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถตั้งหลักและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ (เช่น Solvency 2 ซึ่งเป็นแนวทางสากลเพื่อการบริหารความเสี่ยงบริษัทประกันภัย) ที่ผ่านมาได้ แต่ประเด็นเรื่องต้นทุน และความซับซ้อนของกฎระเบียบข้อบังคับก็ยังคงเป็นความกังวลอย่างต่อเนื่องของบริษัทประกันภัย
สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงด้านกฎระเบียบข้อบังคับ (Regulatory risk) ซึ่งเคยติดอันดับต้นๆ ในการสำรวจ 3 ครั้งที่ผ่านมา ในปีนี้กลับไม่ติด 1 ใน 5 เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถตั้งหลักและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ (เช่น Solvency 2 ซึ่งเป็นแนวทางสากลเพื่อการบริหารความเสี่ยงบริษัทประกันภัย) ที่ผ่านมาได้ แต่ประเด็นเรื่องต้นทุน และความซับซ้อนของกฎระเบียบข้อบังคับก็ยังคงเป็นความกังวลอย่างต่อเนื่องของบริษัทประกันภัย
รายงานยังแสดงให้เห็นอีกว่า ความสามารถในการดึงดูดและรักษาบุคลากรของอุตสาหกรรมประกันภัยเป็นความกังวลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับความท้าทายในยุคดิจิทัล ในทางตรงกันข้าม ความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล และการบริหารจัดการของบริษัทประกันภัยกลับมีทิศทางที่ลดลง โดยความเสี่ยงเหล่านี้ถูกจัดให้อยู่ในระดับสูงในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน แต่หลังจากนั้น ความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้ลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากความร่วมมือกันในด้านต่างๆ ของบริษัทในอุตสาหกรรมประกันภัยรวมทั้งแรงกดดันด้านกฎระเบียบด้วย
ทั้งนี้ หากพิจารณาในภาพรวมจะเห็นได้ว่า ตลาดธุรกิจประกันภัยทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากดัชนี Banana Skins Index ที่ใช้วัดระดับความกังวลของอุตสาหกรรม พบว่าดัชนีอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ความพร้อมในการจัดการปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ปรับตัวลดลงจากปี 2558
นาย เดวิด ลาสเซลส์ บรรณาธิการของผลสำรวจ กล่าวว่า “ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ครั้งของผลสำรวจ ที่ปัจจัยเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ กลายเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดสำหรับบริษัทประกันภัย โดยมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างและเทคโนโลยีมีโอกาสที่จะเข้ามาปฏิวัติการทำธุรกิจประกันภัยในรูปแบบเดิมๆ ในขณะที่บริษัทประกันภัยก็กำลังเผชิญกับภาวะทางเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ซึ่งช่วยอธิบายว่า ทำไมความกังวลของอุตสาหกรรมโดยรวมถึงได้อยู่ในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์”
สำหรับประเทศไทย นาง อโนทัย ลีกิจวัฒนะ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และหัวหน้าสายงานธุรกิจประกันภัย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมประกันภัยของไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากอัตราการทำประกันภัยยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ผู้ประกอบการมองว่า 3 ปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัยของไทย ได้แก่ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ไทยยังคงต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะที่จำเป็น รวมไปถึงภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไร นอกจากนี้ ผู้ประกอบการหลายรายยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับที่อาจส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนสูงขึ้น รวมทั้งการบริหารชื่อเสียงของกิจการที่นับวันจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หลังการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียขยายวงกว้างมากขึ้นทุกขณะ”
เกี่ยวกับ PwC
PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก มีเครือข่ายไปใน 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 223,000 คน สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 58 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 1,600 คนในประเทศไทย
©2017 PwC. All rights reserved.