news on March 24, 2017, 06:51:01 PM
รพ.เลิดสิน จับมือ เอ็มเทค สวทช. เปิดตัว “กระดูกต้นแขนเทียมส่วนบน” เพื่อผู้ป่วยมะเร็งกระดูกครั้งแรกในไทย




แถลงข่าวความสำเร็จกระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน โดยความร่วมมือของ ศูนย์เอ็มเทค สวทช. กระทรวงวิทย์ฯ และ รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์ ก.สธ


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช.


ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เอ็มเทค สวทช. ก.วิทย์ฯ


ดร.กฤษณ์ไกรพ์ และ นพ.ปิยะ เกียรติเสวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน แถลงข่าวความสำเร็จกระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน


ทีมผู้ออกแบบและพัฒนา แถลงข่าวความสำเร็จของ กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน โดยความร่วมมือของ ศูนย์เอ็มเทค สวทช. กระทรวงวิทย์ฯ และ รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์ ก.สธ.


Pic A กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน โดยความร่วมมือของ ศูนย์เอ็มเทค สวทช. กระทรวงวิทย์ฯ และ รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์ ก.สธ


Pic B กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน ขนาดต่างๆ  โดยความร่วมมือของ ศูนย์เอ็มเทค สวทช. กระทรวงวิทย์ฯ และ รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์ ก.สธ


Pic C กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน โดยความร่วมมือของ ศูนย์เอ็มเทค สวทช. กระทรวงวิทย์ฯ และ รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์ ก.สธ


ภาพเอ็กซเรย์มะเร็งกระดูก


ภาพเอ็กซเรย์การใช้กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน ทดแทน



(วันที่ 24 มีนาคม) ที่ห้องประชุมกาญจนาภิเษก ชั้น 25 อาคารกาญจนาภิเษก โรงพยาบาลเลิดสิน : หน่วยเนื้องอกกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่ออ่อน กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน จัดกิจกรรม “Lerdsin Sarcoma Day” เพื่อสร้างกลุ่มเครือข่ายให้กับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกได้ทำความรู้จักแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินชีวิตภายหลังการรักษา ทั้งนี้ในงานได้มีการแถลงข่าวเปิดตัว “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” ซึ่งออกแบบและผลิตได้เองเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมงาน

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ขอแสดงความยินดีกับ นพ.ปิยะ เกียรติเสวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน และคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยชั้นนำ 3 แห่ง ได้แก่ รพ.เลิดสิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และบริษัท คอสโม เมดิเทค จำกัด ที่ได้ร่วมกันพัฒนากระดูกต้นแขนเทียม เพื่อช่วยในการผ่าตัดรักษาคนไข้มะเร็งกระดูก ตั้งแต่ขั้นตอนการระดมสมองจากกลุ่มศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์   อนุสาขาเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย จำนวน 35-40 คน เพื่อร่วมกันพัฒนาต้นแบบกระดูกต้นแขนเทียมส่วนบนสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกในประเทศไทยจนสำเร็จลุล่วง และผ่านการทดสอบการใช้งานทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งกระดูกจำนวน 10 ราย ใน 3 โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ของทั้ง 3 แห่ง มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ไม่มีโรคแทรกซ้อนแต่ประการใด

สวทช. ในฐานะองค์กรวิจัยและพัฒนาที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของไทยให้เข้มแข็ง ด้วยนวัตกรรมของไทย เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับบริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล ในราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ความสำเร็จในการพัฒนากระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบนนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนานวัตกรรม

ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งจากกลุ่มศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ นักวิจัย และผู้ผลิต ร่วมกันผลิตผลงานวิจัยให้เป็นสินค้านวัตกรรมที่นำไปสู่การใช้งานอย่างแท้จริง ซึ่งหวังว่านวัตกรรวิจัยนี้จะนำไปสู่การขึ้นเป็นบัญชีนวัตกรรม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ วงการแพทย์และผู้ป่วยต่อไป     
   
ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ หน่วยวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์  ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า การเปิดตัว “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” ครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “ผลิตโลหะทดแทนกระดูก” โดย นพ.ปิยะ เกียรติเสวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน และกลุ่มศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ อนุสาขาเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ทำโครงการนำร่อง (TMSTS-MTEC Proximal Humerus Endoprosthesis) ออกแบบและผลิตกระดูกต้นแขน ด้วยโลหะแทนกระดูกแขน สำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระดูก เพื่อทดแทนกระดูกและข้อที่มีราคาแพงมาก เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีทุนทรัพย์น้อยได้ใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงรอเก็บข้อมูลหลังการใช้งานจริง

ซึ่งในส่วนนี้ ดร.กวิน การุณรัตนกุล นักวิจัยห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ หน่วยวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการ เป็นผู้วิจัย โดยนวัตกรรม “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” เหมาะกับคนไข้กลุ่มปฐมภูมิ ที่พบว่าเป็นมะเร็งกระดูกแขนเหนือข้อศอก ซึ่งจะพบมากในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยหากตรวจพบแล้วสามารถรักษาก่อนที่จะลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้  จะใช้วิธีการเปลี่ยนเอา“กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” ไปใส่แทนกระดูกแขนที่เป็นมะเร็ง ซึ่งต้องตัดกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งออก วิธีการนี้จะช่วยให้คนไข้อยู่ได้นานขึ้น ลดการเสียชีวิต และสามารถกลับมาเรียนจนจบได้ มีอาชีพการงานที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสังคม

อย่างไรก็ตามตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ศูนย์เอ็มเทค และ รพ. เลิดสิน ร่วมกันออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวขึ้นมา และกำลังหาผู้ผลิตตามสเปกที่ต้องการ และได้บริษัท คอสโม เมดิเทค จำกัด ที่มีความสนใจอยากผลิตอุปกรณ์ดังกล่าว จึงมาร่วมผลิตตามที่ทีมวิจัยต้องการ ใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ จึงสามารถขึ้นรูปต้นแบบอุปกรณ์ “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” ได้ ซึ่งสามารถผลิตออกมาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกต้นแขนส่วนบนได้ในที่สุด

“เราตั้งใจว่าเราทำขึ้นมา เพราะว่าชิ้นส่วนกระดูกเทียมท่อนแขนส่วนบนนี้ เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่คนไข้ไม่สามารถเบิกได้จาก สปสช. ซึ่งการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นดังกล่าวนั้น ส่วนใหญ่มีราคาแพงเพราะนำเข้าจากต่างประเทศราคาเริ่มต้นประมาณ 150,000-400,000 บาท ดังนั้นจะมีคนไข้จำนวนมากที่ไม่สามารถจ่ายได้ ดังนั้นหากเราสามารถผลิตเองได้ภายในประเทศและมีต้นทุนต่ำ ก็จะช่วยเหลือคนไข้ได้มาก โดยเฉพาะคนไข้เด็กที่มีโอกาสผ่าตัดใส่ กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน แล้วรักษาหาย เขาจะสามารถมีชีวิตต่อไปได้ โตเป็นเป็นผู้ใหญ่ในวัยทำงานและไม่เป็นภาระกับสังคม ที่สำคัญยังมีแขน ที่แม้ว่าจะขยับได้ไม่ 100 %  แต่ก็ยังมีแขนที่ขยับแล้วใช้งานได้  ช่วยเสริมบุคลิกภาพการใช้ชีวิตของคนไข้หลังการรักษาได้”

สำหรับวัสดุที่ใช้ทำ “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน”  มีทั้งโคบอล โคเมียม อัลลอย์ ส่วนแกนกลางของอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมกับกระดูกจริงของผู้ป่วยมะเร็งกระดูก ทำจากวัสดุไททาเนียม มีคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน แต่เบา และเข้ากับร่างกายได้ดี ไม่เกิดการต่อต้าน ซึ่งขณะนี้ได้ทดลองนำไปใช้กับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกแล้ว 10 ราย พบว่าไม่มีการติดเชื้อ หรือปัญหาการหลุดของชิ้นส่วนแต่อย่างใด เป็นที่พอใจของแพทย์และผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง

หัวหน้าห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ ศูนย์เอ็มเทค กล่าวด้วยว่า สำหรับในแง่ของการวิจัย ถือเป็นการสะสมองค์ความรู้เรื่องวัสดุทางการแพทย์ โดยเฉพาะเรื่องการทำชิ้นส่วนเทียมที่ใช้กับร่างกายมนุษย์ ซึ่งหากทำชิ้นนี้ ใช้ได้ ผลเป็นที่พอใจ ในอนาคตเมื่อมีองค์ความรู้มากขึ้น ก็สามารถทำชิ้นส่วนอื่นๆ เช่น ข้อเข่า สะโพก ที่มีความยากขึ้นมาอีกระดับหนึ่งได้ ซึ่งปริมาณการใช้ของผู้ป่วยก็จะเยอะขึ้น

อย่างไรก็ตามนวัตกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างที่ บริษัท คอสโม เมดิเทค จำกัด กำลังขออนุญาตสิทธิ จากเอ็มเทค สวทช. เมื่ออนุญาตสิทธิผลิต บริษัท คอสโม ฯ สามารถนำนวัตกรรมดังกล่าวไปขึ้นบัญชีนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการที่ภาครัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลต่างๆ สามารถได้สินค้าที่มีคุณภาพ ราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศเพราะเป็นนวัตกรรมที่ผลิตได้ในประเทศโดยคนไทย น่าจะช่วยให้การเบิกจ่ายได้ในกองทุนหลักของประเทศ ซึ่งจะเปิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก ขณะเดียวกันก็เป็นราคาที่เหมาะสม ที่ทำให้บริษัท สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง

“เมื่อทำนวัตกรรมขึ้นมาแล้ว คนไข้ได้ใช้ และได้ของในราคาที่คนไข้เข้าถึงก็จะเป็นประโยชน์กับคนไทย เพราะการนำเข้าจากต่างประเทศยังมีราคาแพงอยู่ เมื่อต่างประเทศรู้ว่าประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง ทำได้เองแล้ว ราคาของต่างประเทศก็อาจจะปรับลดลงมาได้อีก คนไข้ก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น”

ทั้งนี้ ในส่วนของ สวทช. เป็นองค์การวิจัยและพัฒนาส่งเสริมนวัตกรรม ในประเทศไทย ซึ่งงานวิจัยดังกล่าว ตอบโจทย์การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม 1ใน 10 อุตสาหกรรม New S Curve ที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่ง สวทช. โดย ศูนย์เอ็มเทค สามารถทำงานวิจัยได้ตอบโจทย์ประเทศด้วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ใช้ประโยชน์ได้จริงและ สามารถลดการพึ่งพาเทคโนโลยีการนำเข้าจากต่างประเทศได้
« Last Edit: March 24, 2017, 07:03:21 PM by news »