หลงรักแดนมังกรกับสำนักพิมพ์ปริ๊นเซส
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 สำนักพิมพ์ปริ๊นเซสในเครือบริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด จัดกิจกรรม "หลงรักแดนมังกร" ณ ร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ สาขา สยามพารากอน โดยมี เจติยา โลกิตสถาพร ผู้ช่วยกรรมการบริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด, ชลันตี เจ้าของผลงานเรื่อง สองชาติภพหกคู่ครอง และ กัญฉัตร เจ้าของผลงาน ยุทธการครองรัก มาร่วมพูดคุยกันในงาน
เจติยากล่าวว่า สำนักพิมพ์ Princess ผลิตนวนิยายจีนที่เขียนโดยคนไทย เมื่อพูดถึงนวนิยายจีนในตลาดเราก็จะนึกถึงกำลังภายในแต่ Princess จะเน้นในเรื่องความรักมากกว่า ส่วนโพรเจ็กต์ต่อไปจะเริ่มขยายตลาดโดยหานวนิยายจีนที่เขียนโดยคนจีนเขียนจริงๆ แต่ยังเน้นเรื่องของความรัก เช่น เรื่องทรราชย์ตื๊อรัก ที่ค่อนข้างดังในอินเทอร์เน็ต
ด้านชลันตีเล่าว่า แรงบันดาลใจในการเริ่มต้นเขียนนิยายคือการได้นั่งรถไฟจากมองโกลกลับมาประเทศจีน และได้เห็นคู่บ่าวสาวกำลังถ่ายรูปพรีเวดดิง โดยเจ้าสาวใส่ชุดมองโกลส่วนเจ้าชุดเจ้าบ่าวใส่ชุดชาวฮั่นจีนจึงทำให้เกิดพลอตนวนิยายเรื่องสองชาติภพหกคู่ครองขึ้นมา และด้วยความโชคดีที่ได้ทำงานร่วมกับชาวมองโกลจึงได้รับฟังเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาบ้าง เช่น เรื่องพิธีแต่งงานของชาวมองโกล คือให้เจ้าสาวเดินวนรอบกองไฟ 3 ครั้งเพื่อเป็นการเคารพเทพเจ้าโดยเชื่อว่าจะทำให้กองไฟเผาผลาญสิ่งชั่วร้ายที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และเรื่องนี้ยังสอดแทรกความแตกต่างของสองวัฒนธรรมไว้ด้วย
นักเขียนสาวอีกคน กัญฉัตร กล่าวว่าปัจจุบันคนไทยดูซีรีส์จีนมากขึ้น ซึ่งตัวเองคิดว่าเมื่อคนไทยเริ่มให้การยอมรับแล้วทำไมคนไทยจะเริ่มแต่งนวนิยายจีนเองไม่ได้ โดยกัญฉัตรมีความสนใจเรื่องตำราพิชัยสงครามจึงได้นำเอาไปใส่ในเนื่องยุทธการครองรักด้วย ส่วนความเชื่อที่ว่าหญิงสาวชาวจีนที่แต่งเข้าบ้านไปแล้วต้องอยู่แต่ในบ้านแต่ว่าเบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชายหลายๆ คนก็มาจากผู้หญิง หนังสือของเธอจึงเป็นกำลังใจให้ผู้หญิงต่อสู้แล้วก็ทำให้ตัวเองเก่งขึ้นและสามารถยืนเคียงข้างกับคนที่รักได้
ส่วนผลงานต่อไปของชลันตี ชื่อว่าเรื่อง ธารดอกท้อ ซึ่งนำเอาความเชื่อของชนเผ่าเผ่าหนึ่งในจีนที่ว่าสตรีอายุ 18 ปีที่ยังไม่แต่งงานต้องนำไปเผา เผ่านี้มีผู้ปกครองเป็นผู้หญิงที่เรียกกันว่า ธิดาสวรรค์ ซึ่งชาวบ้านชนเผ่านี้จะแต่งงานในช่วงอายุ 13-17 ปี โดยหากอายุ 18 ปีแล้วเส้นวาสนาจะถูกทำนายลงและต้องนำไปรับใช้เจ้าแม่ที่สวรรค์ แต่ความเชื่อนี้ถูกทำลายในราชวงศ์ชิง
นวนิยายจีนนั้นสามารถนำเอานำเอาเรื่องราวต่างๆ มาแต่งได้มากมายไม่รู้จบเพราะความที่ชาวจีนชอบบันทึก มีเรื่องเล่าเยอะ ทำให้มีบทกลอนมากมาย วรรณกรรมค่อนข้างแตกต่างตามยุคสมัย แต่ละอย่างทำให้เห็นถึงความเชื่อ สังคม ประเพณี วัฒนธรรมค่อนข้างชัดเจนผ่านวรรณกรรม