มาร่วมสร้างสีสัน...นันทนาการอาเซียน ในงานมหกรรมนันทนาการอาเซียน มหกรรมแห่งการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนด้านนันทนาการที่ให้ทั้งความสุข สนุกสนานและมิตรภาพ ที่ยกทัพกิจกรรมนันทนาการอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ สู่ประเทศไทย
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย สำนักนันทนาการ กรมพลศึกษา ได้กำหนดจัดงานมหกรรมนันทนาการอาเซียน ภายใต้แนวคิด สีสัน…นันทนาการอาเซียน : Colors Of ASEAN มหกรรมแห่งความสุขและสนุก ที่ได้ยกทัพอัตลักษณ์ต่างๆ ของกิจกรรมนันทนาการอาเซียน ทั้ง ๑๐ ประเทศ สู่ประเทศไทย
โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง ๑๐ ประเทศ บรูไนดารุสซาลาม (Brunei Darussalam), ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia), สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People’s Democratic Republic), มาเลเซีย (Malaysia), สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า (Republic of the Union of Myanmar), สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines), สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore), สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam) รวมถึงราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand) ซึ่งได้จัดงานมหกรรมนันทนาการอาเซียนในครั้งนี้ เพื่อสร้างความสมานฉันท์กับชาติต่างๆ ในกลุ่มสมาชิกประชาคมอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม ให้เด็กเยาวชน และประชาชน ได้มีความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าของกิจกรรม นันทนาการและนำไป ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม เกิดความรู้ ความเข้าใจอันดีในเอกลักษณ์ทางนันทนาการของสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นการ เผยแพร่และปลูกจิต สำนึกในการร่วมอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางนันทนาการของชาติ ในกลุ่มประชาคมอาเซียนต่อไปในอนาคต โดยมีกิจกรรมหลัก ๓ กิจกรรม ด้วยกันคือ
๑. เรียนรู้ และเผยตัวตน....แห่งอัตลักษณ์นันทนาการแห่งประเทศอาเซียน กับรายการสีสัน... นันทนาการอาเซียน ๑๐ ตอน โดยทูตนันทนาการในหลากหลายด้าน อาทิ แอน ธิติมา, ซีแนม สุนทร, เจฟฟรี่ ณัฐกรกฤตย์, โด่ง ศิระ, นุ้ย เกศริน, เบลล์-หว่าหวา ไชน่าดอลล์ ที่ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านกิจกรรมนันทนาการต่างๆ รวมถึงเรื่องราวด้านอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศอาเซียนกลับมาเผยแพร่ในประเทศไทย
๒. กิจกรรมการเสวนาด้านนันทนาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความร่วมมือ “Colors Of ASEAN : สีสัน...นันทนาการอาเซียน”ด้านนันทนาการระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ในวันจันทร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพ เปิดเวทีเสวนาสาธารณะให้ทุกคนได้ออกความคิดเห็น พบกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนันทนาการจากหลากหลายสาขา ทั้งของประเทศไทย และอีก ๙ ประเทศอาเซียน มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสาธิตกิจกรรมนันทนาการ
๓. การจัดงานมหกรรมนันทนาการอาเซียน “Colors Of ASEAN : สีสัน...นันทนาการอาเซียน” ซึ่งกำหนดกจัดงาน ๒ จังหวัดด้วยกัน ระหว่างเวลา ๑๕.๐๐ - ๒๑.๐๐ น.
• จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ ตะวันนาไนท์พลาซ่า ถนนเลียบหาดพัทยา
• จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค อยุธยา
โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย
- โซนที่ ๑ : ASEAN Pavillion ร่วมถวายพระพรและสดุดี ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช และร่วมเรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ด้านนันทนาการ กับนิทรรศการด้านนันทนาการ ของ ๑๐ ประเทศอาเซียน
- โซนที่ ๒ : ASEAN On Stage พบการแสดงด้านนันทนาการในประเภทต่างๆ จาก 10 ประเทศอาเซียน อาทิ
• การวงดนตรี Harana จากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
• การแสดง Lotus Dance จากประเทศเวียดนาม
• การแสดงบารองแดนซ์ จากประเทศอินโดนีเซีย
• การแสดงมวยลายลาว และ ฟรีรันนิ่ง จากประเทศลาว
• การแสดงวงดนตรีกันตรึม จากประเทศกัมพูชา
- โซนที่ ๓ : ASEAN Play & Culture ชมและร่วมสนุกกับการละเล่นพื้นบ้านประจำชาติของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งก็จะนำเอาการละเล่นที่โดดเด่นของทั้ง 10 ประเทศ มารวมไว้ที่นี่
- โซนที่ ๔ : ASEAN Showcase
ชมงานสาธิตและการแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ จาก ๑๐ ประเทศอาเซียน เช่น
• สาธิตการทำว่าว จากประเทศมาเลเซีย
• สาธิตการปักลวดลายต่างๆ บนผ้าใยสับปะรด จากประเทศฟิลิปปินส์
• สาธิตการทำเรือ และหมวกใบปาล์ม จากประเทศเวียดนาม
• สาธิตการแกะสลักไม้ จากประเทศพม่า
• สาธิตการทำเครื่องเงิน จากประเทศกัมพูชา
นันทนาการแบ่งออกเป็น ๑๑ ประเภท
๑. ศิลปหัตถกรรม
กิจกรรมที่ทำขึ้นด้วยมือในเวลาว่าง และมิได้เป็นอาชีพหรือหวังผลกำไรใดๆ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะ ความสามารถในการใช้มือสร้างงานฝีมือ เพื่อพัฒนาอารมณ์ สังคม และสติปัญญา
๒. การเล่นเกมและกีฬา
กิจกรรมที่ต้องการความสัมพันธ์กันระหว่างทักษะการเคลื่อนไหว สติปัญญา ความทนทาน และพละกำลังของร่างกายในการประกอบกิจกรรม ในการเล่น หรือการแข่งขันจะมีกฎกติกาในการเล่นแต่ละชนิดเกม กีฬา เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสมอภาค สนุกสนาน ตื่นเต้น ทั้งยังมีหลากหลายกิจกรรม สามารถเลือกเข้าร่วมได้เหมาะสม ทั้งวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ วัยสูงอายุ หญิง ชาย รวมทั้งคนพิการ
๓. การเต้นรำ และฟ้อนรำ
การเคลื่อนไหวร่างกายโดยให้เข้ากับจังหวะดนตรี มีจุดประสงค์เพื่อความสนุกสนาน ส่งเสริมมนุษยสัมพันธ์ แสดงออกถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรม และส่งเสริมการฝึกทักษะการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน การเต้นรำ และฟ้อนรำ ซึ่งมีหลายรูปแบบ
๔. ละครและการแสดง
กิจกรรมการแสดงออก เป็นการระบายอารมณ์หรือกิจกรรมของชีวิตประจำวัน การสร้างความรู้สึก การแสดงอัตลักษณ์แห่งตน การแสดงต่าง ๆ ที่เป็นไปในแบบของการละครจะบนเวทีหรือไม่ก็ตาม ละครมีหลายรูปแบบ เช่น ละครในลักษณะการเลียนแบบของคน สัตว์ หรือธรรมชาติ ละครแบบสร้างสรรค์ ละครร้อง ละครรำ ละครชาตรี ละครพูด มโนราห์ โขน หนังตะลุง หุ่นกระบอก อุปรากร เป็นต้น
๕. งานอดิเรก
กิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณค่าชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่วัยเด็ก เยาวชน วัยหนุ่มสาว และวัยสูงอายุ เป็นการส่งเสริมการสร้างประสบการณ์ชีวิต การบำบัดทางกายและจิตใจ สมัครใจและกระทำด้วยความเต็มใจ ในช่วงเวลาอิสระ เวลาว่าง เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคล สังคมโดยงานอดิเรกแยกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ งานอดิเรกประเภทสะสม, งานอดิเรกประเภทสร้างสรรค์, งานอดิเรกประเภทงานปฏิบัติ, งานอดิเรกประเภทศึกษาหาความรู้
๖. ดนตรีและร้องเพลง
ดนตรีและการร้องเพลงเป็นการสื่อสารและถ่ายทอดความรู้สึกต่างๆ ของผู้เล่นและผู้ฟังพัฒนาจากการ เลียนเสียงธรรมชาติจนกลายมาเป็นโน้ตดนตรี เกิดเป็นเพลงคลาสสิก เพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง หรือเพลงบรรเลงต่างๆ
๗. กิจกรรมกลางแจ้ง/นอกเมือง
กิจกรรมเพื่อการพักผ่อน การเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้บุคคลได้มีโอกาสใกล้ชิดธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ของบุคคลและสังคม เช่น สวนสาธารณะ สวนสัตว์ โบราณสถาน เดินป่า ขี่จักยานเสือภูเขา พายเรือ ล่องเรือ เป็นต้น
๘. วรรณกรรม (อ่าน เขียน พูด)
กิจกรรมที่ส่งเสริมให้บุคคลพัฒนาทักษะความรู้ ความสามารถและสามารถจัดได้ทุกระดับวัยและเพศ เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน การแสดงอัตลักษณ์แห่งตนอย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดการ พัฒนาจินตนาการสามารถเข้าร่วมกิจกรรมแบบประหยัดได้ และเป็นกิจกรรมที่เก่าแก่ของมนุษยชาติ
๙. กิจกรรมทางสังคม
กิจกรรมที่เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในสังคมของบุคคล และกลุ่มที่ยังไม่รู้จักกันให้รู้จักกัน หรือบุคคล และกลุ่มที่รู้จักกันแล้วให้มีความสัมพันธ์อันดีมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดแสดงศิลปหัตถกรรม กิจกรรมทางศาสนา เป็นต้น
๑๐. กิจกรรมพิเศษ
กิจกรรมที่จัดขึ้นในโอกาสพิเศษตามเทศกาล เพื่อให้บุคคลและกลุ่มเข้ามาร่วมด้วยความสมัครใจ เพื่อความสนุกสนาน เช่น งานสงกรานต์ งานลอยกระทง เทศกาลดนตรี เป็นต้น
๑๑. กิจกรรมอาสาสมัคร
การอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลืองานสังคมหรือองค์กร หน่วยงานต่างๆ ในยามว่างโดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นกิจกรรมอาสาสมัครที่ส่งเสริมในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม การให้และการรับ การร่วมมือของชุมชนอันก่อให้เกิดความพึงพอใจ และการพัฒนาจิตใจของบุคคล และสังคมอาสาสมัครเป็นการให้บริการโดยปราศจากสินจ้างรางวัล เป็นการเสริมทักษะและคุณภาพชีวิต การให้บริการอาสาสมัคร เป็นการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ โดยอาศัยแรงงาน ความร่วมมือของกลุ่มหน่วยงานเอกชน ชุมชน และองค์กรธุรกิจการค้าที่จะต้องจัดบริการชุมชน
ติดตามชมเทปการเผยแพร่นันทนาการ ที่เรียนรู้ และเผยตัวตน....แห่งอัตลักษณ์นันทนาการ แห่งประเทศ อาเซียนทั้ง๑๐ประเทศ กับรายการสีสัน...นันทนาการอาเซียน (๑๐ ตอน) ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕
เริ่มเผยแพร่ออกอากาศ ในวันพุธที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ระหว่างเวลา ๑๑.๐๐-๑๒.๐๐ น. เป็นต้นไป
๑. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines) ประเภทการฝีมือและศิลปหัตถกรรม (การทำผ้าใยสับปะรด)
๒. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) ประเภทละครภาพยนตร์ (การแสดงหุ่นเงา วายังกุลิต)
๓. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam) ประเภทอ่าน พูด เขียน วรรณกรรม (วิหารวรรณกรรมวันเหมี่ยว)
๔. ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia) ประเภทการเต้นรำ (การเต้นแอโรบิค, cover dance)
๕. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People’s Democratic Republic) ประเภทนอกสถานที่ (ปั่นจักรยานนอกเมือง)
๖. สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า (Republic of the Union of Myanmar) ประเภทงานอดิเรก (การทำหุ่นสายยอกเท)
๗. บรูไน ดารุสซาลาม (Brunei Darussalam) ประเภทดนตรีและการร้องเพลง (วงดนตรีกุลิงตังกัน)
๘. มาเลเซีย (Malaysia) ประเภทกิจกรรมพิเศษ (ย้อนรอยเทศกาลโคมไฟ)
๙. สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore) ประเภทกิจกรรมทางสังคม (น้ำกับการเชื่อมโยงด้านนันทนาการ)
๑๐. รวมถึงราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand) ประเภทเกม กีฬา กรีฑา (กีฬาทางน้ำ X-Treme)