sianbun on November 18, 2009, 05:19:21 PM
ASTRO BOY

เจ้าหนูพลังปรมาญู

สุดยอดภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3 D ฟอร์มยักษ์ส่งท้ายปี

พร้อมระเบิดพลังเหนือจักรวาลอย่างเป็นทางการ

 3 ธันวาคม 2552

ทุกโรงภาพยนตร์  SF เท่านั้น











ASTRO BOY

เจ้าหนูพลังปรมาญู


      บริษัทโรส มีเดีย แอนด์  เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ภูมิใจเสนอ สุดยอดภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3D เรื่องเยี่มแห่งปี ระเบิดพลังล้ำจินตนาการ ให้คนทั้งโลกตื่นตา ตื่นใจ บนแผ่นฟิล์มเป็นครั้งแรก จากผลงานการ์ตูนญี่ปุ่นสุดอมตะ       ท้าทายความมันอลังการระดับฮอลลีวู้ด สุดยอดภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3D ฟอร์มยักษ์ส่งท้ายปี ASTRO BOY    เจ้าหนูพลังปรมาณู   

       

      การ์ตูนเรื่องนี้สร้างขึ้นตั้งแต่  ปี 1950 ซึ่งโด่งดังมากในยุคนั้น และปัจจุบันก็ยังคงความเป็นอมตะ มีผู้ชมชื่นชอบทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ วัยรุ่นอยู่ทั่วโลก จึงได้มีการนำการ์ตูน Astro Boy มาทำใหม่ แต่ทำทั้งทีต้องไม่ธรรมดา จึงมาในรูปแบบของการ์ตูน 3 มิติ หรือ 3D Animation 


      Astro Boy ซึ่งวางเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นในอนาคต คือเรื่องราวเกี่ยวกับซูเปอร์ฮีโร่สุดคลาสสิก ภาพยนตร์ที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของหุ่นยนต์เด็กที่มาพร้อมพลังสุดมหัศจรรย์ และการเดินทางของเขาที่อัดแน่นไปด้วยการผจญภัย ทั้งนี้เพื่อตามหาตัวตนและโชคชะตาของเขา


      Astro Boy ผลงานอันภาคภูมิใจของซัมมิท เอนเตอร์เทนเม้นต์ และอิเมจิ สตูดิโอส์ เป็นผลงานการกำกับของ เดวิด โบเวอร์ส (Flushed Away) และนำแสดงโดย เฟร็ดดี้ ไฮมอร์ (The Spiderwick Chronicles, Charlie and the Chocolate Factory), คริสเตน เบลล์ (“Heroes,” “Veronica Mars,” Forgetting Sarah Marshall), นาธาน เลน (The Lion King, The Birdcage), ยูจีน เลวี่ย์ (Over the Hedge, American Pie), แม็ตต์ ลูคัส (Shaun of the Dead), บิลล์ ไนฮีย์ (Flushed Away, Pirates of the Caribbean), โดนัลด์ ซุทเธอร์แลนด์  (Fool’s Gold, The Italian Job), ซามวล แอล แจ็คสัน (Lakeview Terrace, Unthinkable) และนิโคลัส เคจ (G-Force, National Treasure, The Ant Bully) ในบท “ดร. เท็นมะ”


      ด้วยบทภาพยนตร์ที่เป็นฝีมือการเขียนบทของทิโมธี่  แฮร์ริส (Kindergarten Cop, Space Jam, Trading Places) และเดวิด โบเวอร์ส จากเรื่องที่คิดสร้างสรรค์ขึ้นโดยโบเวอร์ส ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเค้าโครงเรื่องมาจาก “Astro Boy” ซึ่งเป็นมังงะที่สร้างสรรค์โดยเท็ตสึกะ โอซามุ ผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แก่ แมเรี่ยนน์ การ์เกอร์ (Flushed Away) โดยมีเซซิล เครเมอร์ (Wallace & Gromit The Curse of the Were-Rabbit), เคน สึมูระ (Curious George), พอล หวัง (TMNT) และฟรานซิส เกา (TMNT) ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างบริหาร ดนตรีประกอบเป็นฝีมือการประพันธ์ของจอห์น อ็อตต์แมน (Valkyrie)


      ในโลกอนาคตของนครเมโทรซิตี้ เมืองฟ้าอมรบนท้องฟ้า ดร.เท็นมะ นักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่อง ได้สร้างเจ้าหนูปรมาณูขึ้นมาเพื่อแทนที่ลูกชายที่เขาสูญเสียไป โดยเขาได้ใส่โปรแกรมลักษณะและความคิดที่ดีที่สุดของมนุษย์เข้าไปในตัวเจ้าหนูปรมาณู รวมไปถึงยังได้ประสิทธิ์ประสาทพลังพิเศษเหนือมนุษย์ให้กับเขาด้วย แต่แล้วเมื่อเจ้าหนูปรมาณูไม่สามารถสนองตอบได้ตามความคาดหวังของพ่อผู้เศร้าโศกได้ เจ้าหนูปรมานูโดนไล่ออกจากบ้าน ทำให้เขาต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอันโหดร้ายซ้ำซ้อน เขาต้องหัวใจสลายเมื่อรู้ว่าตัวเขาเองคือหุ่นยนต์ ไม่ใช่มนุษย์จริงๆ


      เจ้าหนูปรมาณู ซึ่งใช้พลังงานจากบลูคอร์ที่อยู่ภายในตัวของเขา ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่เกิดจากพลังงาน “สีน้ำเงิน” ถูกกองทัพของประธานาธิบดีสโตน ตามล่าตัว โดยประธานาธิบดีสโตน ต้องการจะครอบครอง เดอะคอร์ เพื่อนำมาใช้กับหุ่นยนต์ “พิทักษ์ความสงบ” ซึ่งอันที่จริงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นอาวุธสำหรับการยึดครองโลก


      ขณะกำลังหลบหนีให้พ้นจากพวกทหาร  เจ้าหนูปรมาณูพุ่งเข้าชนผิวโลก  และที่นี่เองที่เจ้าหนูปรมาณูพยายามหาที่ที่เหมาะกับตัวเขา แม้ว่าเขาจะรู้สึกเหมือนหลงทางและไม่แน่ใจในตัวตนของตัวเอง เจ้าหนูปรมาณูที่ไม่ยอมรับในธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเอง พยายามจะทำตัวให้เหมือนมนุษย์ด้วยการไปเข้ากับแก๊งค์เด็กจรจัด ทำให้เขาตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำของแก๊งค์อย่าง ฮาเม็กก์ ซึ่งเจ้าหนูปรมาณูเทิดทูนเสมือนเป็นพ่อของเขา แต่แล้ว เจ้าหนูปรมาณูก็ต้องพบกับความหวาดกลัว เมื่อฮาเม็กก์เปิดเผยว่าเขาคือหุ่นยนต์ และพยายามเปลี่ยนเจ้าหนูปรมาณูให้กลายเป็นหุ่นยนต์นักรบ


      ในสนามแบ็ทเทิลบ็อท  เจ้าหนูปรมาณูถูกบีบให้ต้องเผชิญหน้ากับหุ่นยนต์ตัวแล้วตัวเล่า เมื่อเจ้าหนูปรมาณูปฏิเสธที่จะต่อสู้  เขาทำให้คู่ต่อสู้ได้รับความเสียหายไปบ้างเมื่อคู่ต่อสู้ทำให้กลุ่มคนดูเกือบได้รับอันตราย ความดีของเจ้าหนูปรมาณูจึงสามารถชนะใจคนดูได้ เพราะได้รับคลื่นพลังงานจากเดอะคอร์ ทางทหารจึงโฉบลงมาและจับตัวเจ้าหนูปรมาณู ที่ดูจะยอมรับในชะตากรรมของตนแต่โดยดี เมื่อ ดร.เท็นมะ ผู้สร้างเจ้าหนูปรมาณูขึ้นมา ถอดแหล่งพลังงานในตัวออกไป เจ้าหนูปรมาณูพร้อมให้อภัยในสิ่งที่ดร.เท็นมะทำไป ในที่สุด ความดีของเจ้าหนูปรมาณูก็สามารถชนะใจดร.เท็นมะ ทำให้เขามองเห็นถึงความผิดพลาดอันใหญ่หลวงที่เขาได้ทำไป ดร.เท็นมะจึงเกิดความรักในตัวลูกชายที่เขาเคยปฏิเสธ เขาจึงปล่อยให้เจ้าหนูปรมาณูหนีไปได้


      เจ้าหุ่นพิทักษ์ความสงบ ซึ่งได้รับพลังงานเร็ดคอร์ที่มีอันตรายอย่างมหันต์ตามคำสั่งของประธานาธิบดี เกิดไม่สามารถควบคุมได้ และสร้างความเสียหายให้กับเมืองเมโทรซิตี้ เจ้าหนูปรมาณูจึงต้องกลับมาช่วยเหลือประชาชน โดยต่อสู้กับหุ่นพิทักษ์ความสงบ และช่วยเมืองเมโทรซิตี้ให้พ้นจากการพุ่งชนโลก ในการต่อสู้ที่เป็นไคลแม็กซ์ของเรื่อง เรื่องราวต่างๆ ได้กลับมาบรรจบกันเมื่อเจ้าหนูปรมาณูยอมรับในความเป็นหุ่นยนต์หัวใจมนุษย์ของตัวเอง และค้นหาโชคชะตาของเขาในฐานะผู้คอยกอบกู้มนุษยชาติ

sianbun on November 18, 2009, 05:20:37 PM
เบื้องหลังงานสร้าง


      มีตัวการ์ตูนอยู่เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่จะสร้างความประทับใจอันทรงพลังและยืนยงคงนานอยู่ในใจผู้คนทั่วโลกได้เท่ากับเจ้าหนูปรมาณู (หรือแอสโตร บอย หรือเจ้าหนูอะตอม) หุ่นยนต์น้อยปรากฏตัวครั้งแรกในปี 1951 โดยเป็นตัวการ์ตูนอยู่ในหนังสือการ์ตูนมังงะ (หนังสือการ์ตูนของญี่ปุ่น) ของเท็ตสึกะ โอซามุ และในฉับพลันทันใดนั้น เขาได้กลายมาเป็นตัวการ์ตูนที่ทุกคนชื่นชอบ ในปี 1963 เจ้าหนูปรมาณูมีบทนำอยู่ในหนังการ์ตูนขาวดำที่สร้างสำหรับฉายทางทีวีในประเทศญี่ปุ่น


      ด้วยดวงตากลมโตที่เปี่ยมไปด้วยความรู้สึก เจ้าหนูปรมาณูได้กลายมาเป็นมาตรฐานให้กับรูปแบบใหม่ของหนังการ์ตูนที่เริ่มมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในชื่อที่รู้จักกันว่า อะนิเมะ


      หนังการ์ตูนต้นฉบับมีแฟนที่ติดตามอยู่จำนวนหนึ่งเมื่อเปิดตัวฉายในสหรัฐอเมริกาในปีเดียวกันนั้น เจ้าหนูปรมาณูยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับแฟนๆ ต่อมาในหนังการ์ตูนในปี 1982 หลังจากนั้น หนังการ์ตูนเรื่องนี้ที่เป็นผลงานการสร้างของชาวอเมริกัน ซึ่งเปิดตัวฉายในปี 2003 ก็ยังสร้างความประทับใจให้กับแฟนๆ แบบไม่รู้ลืม โดยหนังการ์ตูนชุดนี้ได้ถูกนำไปออกอากาศใน 40 ประเทศ รวมถึงในญี่ปุ่นและอเมริกา โดยหนังการ์ตูนซีรีส์ที่ 3 นี้ ได้ออกอากาศทางช่องของวอร์เนอร์ และการ์ตูน เน็ทเวิร์ก และคว้าตำแหน่งอันดับ 1 หนังการ์ตูนที่มีผู้ชมสูงสุดในช่วงเวลาสองปีที่ออกอากาศ


      เท็ตสึกะได้รับการยกย่องให้เป็นทั้ง  “เทพแห่งมังงะ” และ “บิดาแห่งอะนิเมะ” เจ้าหนูปรมาณูและผู้สร้างสรรค์ตัวการ์ตูนตัวนี้ขึ้นมาได้กลายมาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิด จนถึงขนาดมีรูปปรากฏในแสตมป์ และในปี 2004 เจ้าหนูปรมาณูได้รับเกียรติให้เข้าไปอยู่ในหอเกียรติยศหุ่นยนต์ เคียงข้างกับหุ่นซี-ทรีพีโอ จากภาพยนตร์เรื่อง Star Wars และหุ่นยนต์ร็อบบี้ จากภาพยนตร์เรื่อง Forbidden Planet


      เรื่องราวของเจ้าหนูปรมาณู ซึ่งมาพร้อมกับธีมที่ว่าด้วยการแทนที่และความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้กำกับ เดวิด โบเวอร์ส “Astro Boy คือเรื่องราวที่ไร้กาลเวลาในแบบเดียวกับ Pinocchio หรือ Oliver Twist” โบเวอร์สกล่าว “มันมีลักษณะแบบนิยายของดิ๊คเก้น แต่ขณะเดียวกัน มันก็มีความทันสมัยอย่างมาก เขาเป็นเด็กที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแทนที่ลูกชายที่พ่อรายหนึ่งสูญเสียไป แล้วพ่อคนนี้ก็ได้สำนึกว่าเด็กชายคนนี้ไม่สามารถแทนที่ลูกชายที่เขาสูญเสียไปได้จริงๆ เด็กชายที่คิดว่าเขาเป็นเด็กจริงๆ พบว่าเขาคือหุ่นยนต์ นับจากนั้นเป็นต้นมา ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปและพบแต่ความวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด


      “เมื่อลองย้อนคิดกลับไปถึงภาพยนตร์ที่ผมชอบ และภาพยนตร์ที่ส่งอิทธิพลต่อตัวผมในช่วงหลายปีมานี้ ผมรู้ว่าภาพยนตร์เรื่องแรกที่ผมได้ดูในโรงภาพยนตร์ ก็คือ Pinocchio” โบเวอร์ส ผู้เชี่ยวชาญในงานแอนนิเมชั่น ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Flushed Away ผลงานจากค่ายดรีมเวิร์กส์ และอาร์ดแมน ฟีเจอร์ส เล่า “พ่อเป็นคนพาผมไปดูภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนั้น และมันได้ส่งผลต่อตัวผมอย่างมหาศาล  ‘เมื่อเจ้าขอพรต่อดวงดาว’ ทำให้ผมร้องไห้ออกมาเลย”

      จากนั้น เมื่อโบเวอร์สได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่อง Astro Boy โบเวอร์สได้เรียนรู้ว่าเท็ตสึกะ โอซามุ ได้รับอิทธิพลจากผลงานของวอลท์ ดิสนีย์ “มองเห็นได้ง่ายมากว่าเจ้าหนูปรมาณูถือกำเนิดมาจากไหน มีความคล้ายคลึงกันเยอะมากระหว่างเจ้าหนูปรมาณูกับพิน็อคคิโอ เว้นแต่เขาได้ถูกพัฒนาให้ล้ำยุคขึ้น และต้องมาเจอกับพวกหุ่นยนต์ต่อสู้ตัวใหญ่ยักษ์!”


      ด้วยความศรัทธาที่มีต่อเรื่องราว “Astro Boy” ต้นฉบับ ขณะที่ทำการปรับอารมณ์ของเรื่องให้เหมาะกับคนดูในศตวรรษที่ 21 นั่นคือสิ่งที่ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ความสำคัญเป็นหลัก แมเรี่ยนน์ การ์เกอร์ ผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กล่าวเอาไว้ว่า “เจ้าหนูปรมาณูคือสมบัติอันล้ำค่าประจำชาติของญี่ปุ่น เขาคือมิคกี้เม้าส์ของญี่ปุ่น เราอยากจะสร้างความตื่นเต้นและความรักแบบเดียวกันกับที่คนญี่ปุ่นมีให้กับตัวละครตัวนี้ให้เกิดขึ้นกับคนดูชาวตะวันตกบ้าง”


      “ฉันคิดว่าคนดูที่รู้จักเจ้าหนูปรมาณูดีอยู่แล้ว จะได้เห็นเรื่องราวของเจ้าหนูปรมาณูในแบบที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน” การ์เกอร์กล่าวต่อ “ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณไม่เคยรู้จักเจ้าหนูปรมาณูมาก่อน มันก็จะเป็นเรื่องที่กระตุ้นอารมณ์อย่างมาก มันเป็นเรื่องราวแบบเดียวกับ Pinocchio แต่ยังมีลักษณะแบบ Star Wars ด้วย และนี่ก็ไม่ใช่แค่เรื่องที่เด็กดูสนุกเท่านั้น แต่เป็นเรื่องสำหรับพวกผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน หวังว่าคนดูทั่วโลกคงจะค้นพบว่ามันเป็นเช่นนั้น”


      โบเวอร์สเชื่อมั่นว่าแฟนๆ  ของเจ้าหนูปรมาณูน่าจะพอใจกับภาพยนตร์ Astro Boy ที่มีการปรับเรื่องราวให้ทันสมัยขึ้นแล้ว “เขายังคงเป็นเจ้าหนูปรมาณูแบบที่พวกเรารู้จักและรัก เว้นแต่นี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้ขึ้นจอใหญ่ ดังนั้น เรื่องราวจึงต้องยิ่งใหญ่ขึ้น ขอบเขตก็ต้องยิ่งใหญ่ขึ้น ขนาดงานสร้างก็ต้องใหญ่ขึ้น แม้กระทั่งในเรื่องต่างๆ อย่างเช่นแง่มุมทางด้านอารมณ์ในการเดินทางผจญภัยของเจ้าหนูปรมาณู”


      แต่ขณะที่ Astro Boy มีด้านที่สะเทือนใจ ทางทีมผู้สร้างก็ใส่เรื่องของแอ็กชั่นหรืออารมณ์ขันเข้ามาอย่างเต็มที่ โบเวอร์สกล่าวว่า “เราให้เจ้าหนูปรมาณูบินไปตามถนน รถระเบิดปลิวว่อน ตึกต่างๆ พังพินาศ เรามีเมืองลอยฟ้าที่ตกลงกระแทกพื้น มันเป็นเรื่องที่ทำให้อบอุ่นหัวใจ แต่ขณะเดียวกันมันก็ตื่นเต้นและตลกมาก”


      ขณะที่การ์เกอร์ยอมรับว่าเธอไม่ได้เติบโตมากับเจ้าหนูปรมาณู แต่เธอบอกว่านี่คือเรื่องที่เธอตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ  “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่งดงามสมบูรณ์อย่างมาก เป็นการเดินทางทางอารมณ์ที่น่าอัศจรรย์ และเป็นตัวละครที่ดี ง่ายมากที่จะเข้าใจว่าเขากลายมาเป็นที่ชื่นชอบไปทั่วโลกได้ยังไง”


      นักแสดงเด็ก เฟร็ดดี้ ไฮมอร์ ผู้ให้เสียงพากย์เป็นเจ้าหนูปรมาณูตัวจ้อย บอกว่าลักษณะนิสัยที่ไม่เคยเห็นแก่ตัวของเจ้าหนูปรมาณูคือเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับความนิยมมายาวนานเช่นนี้ “เขาคือซูเปอร์ฮีโร่ตัวจริงในแง่ที่ว่าเขาใช้พลังพิเศษของเขาเพื่อทำความดี” ไฮมอร์กล่าว “มีผู้คนมากมายในโลกใบนี้ที่เป็นคนฉลาด หรือมีความสามารถในทางใดทางหนึ่ง พวกเขามักจะใช้พรสวรรค์ของพวกเขาเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง แต่เจ้าหนูปรมาณูไม่เคยเอาเรื่องตัวเองมาก่อนเรื่องคนอื่น เขาตั้งใจจะช่วยโลกใบนี้”

      “เจ้าหนูปรมาณูคือคนที่ตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงสังคม” ไฮมอร์กล่าวต่อ “ในโลกของเรา ซึ่งก็เหมือนในโลกของเขานั่นแหละ  มีกฎเกณฑ์และข้อห้ามมากมายที่ทำให้เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่ใครสักคนจะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่นั่นคือสิ่งที่เจ้าหนูปรมาณูพยายามทำเสมอมา”


      โอกาสที่จะได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง  Astro Boy เป็นโอกาสที่ดีเกินกว่าโบเวอร์สจะปล่อยให้ผ่านไปได้ โบเวอร์สกล่าวว่า “หน้าที่แรกของผมและที่จะต้องมาก่อนหน้าที่อื่นก็คือการเป็นนักเล่าเรื่อง ผมได้ช่วยควบคุมพลังสร้างสรรค์ของทีมงานที่มีฝีมือน่าทึ่งกลุ่มนี้ที่อยู่รอบๆ ตัวผม เพื่อสร้างเรื่องราวนี้ออกมาในแบบที่ผู้คนสามารถดูได้อย่างเพลิดเพลิน ผมหวังว่ามันคือสิ่งที่จะอยู่ยงคงนานไปสักระยะ ถ้าเราสามารถสร้างความประทับใจให้กับคนดูได้ ถ้าเราสามารถทำให้คนดูหัวเราะและร้องไห้ได้ ผมว่าเราก็ทำหน้าที่ของเราได้สำเร็จแล้ว ถ้าเราสามารถทำให้พวกเขาตื่นเต้นได้ ทำให้พวกเขาลุ้นจนแทบตกเก้าอี้ได้ นั่นแสดงว่าเราทำหน้าที่ของเราได้ดีมาก”


      การสร้างสรรค์ผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ หมายถึงการรวบรวมทีมสร้างสรรค์ที่ล้วนแต่เป็นดาวดัง      ผู้กำกับโบเวอร์สบอก “เราจัดการรวบรวมคนที่มีความสามารถระดับน่าทึ่งเหล่านี้ให้มาทำงานกับภาพยนตร์ของเรา ทุกคนต่างทุ่มเทที่จะทำให้ Astro Boy เป็นภาพยนตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด วิเศษที่สุด น่าตื่นเต้นที่สุด และตลกที่สุดเท่าที่เราจะทำได้”


      ภาพยนตร์เรื่องนี้อำนวยการสร้างโดยอิเมจิ สตูดิโอส์ บริษัทสร้างภาพยนตร์การ์ตูนที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง ที่มีสำนักงานพัฒนาและผลิตผลงานอยู่ในลอสแอนเจลิส และมีสำนักงานอยู่ในกรุงโตเกียว ผลงานภาพยนตร์การ์ตูนซีจีเรื่องแรกของบริษัทแห่งนี้อย่าง TMNT ได้เปิดตัวฉายไปทั่วอเมริกาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปี 2007 โดยบริษัทวอร์เนอร์ บราเธอร์ส และเปิดตัวที่อันดับ 1 ในตารางบ็อกซ์ออฟฟิศ


      “อิเมจิมีศิลปินเก่งๆ จากทั่วโลก ผู้มีความกระตือรือร้นอย่างมาก” ผู้กำกับโบเวอร์สกล่าวเสริม “ทีมงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ระดับแถวหน้าของวงการมากมายหลายคนที่ผมเคยร่วมงานด้วยตอนทำงานอยู่กับสตูดิโออื่นๆ มาทำงานกันอยู่ที่นั่น ดังนั้น การทำงานครั้งนี้จึงให้ความรู้สึกราวกับว่าเราได้สมาชิกในวงกลับมาร่วมงานกัน ผมตื่นเต้นมากที่ได้กลับมาร่วมงานกับแมเรี่ยนน์ การ์เกอร์ ผู้เคยเป็นผู้อำนวยการสร้างร่วมของภาพยนตร์เรื่อง Flushed Away”


      การ์เกอร์สะท้อนความกระตือรือร้นของโบเวอร์ส “อิเมจิดูน่าตื่นเต้นสำหรับฉันมาก เพราะเรามีโอกาสได้ช่วยกันสร้างสตูดิโอแห่งนี้ขึ้นมา” การ์เกอร์กล่าว “นั่นคือสิ่งที่ฉันชอบทำมากตอนฉันอยู่ที่ดรีมเวิร์กส์ เพราะอิเมจิคือสตูดิโอที่เพิ่งเริ่มต้น มีพลังในการสร้างสรรค์อยู่สูงมากที่ถูกส่งผ่านไปยังจอภาพยนตร์ เราได้สร้างภาพยนตร์ที่พวกเราภาคภูมิใจ ที่จะส่งมันเข้าไปแข่งขันในตลาดโลกในปัจจุบัน”


      บทภาพยนตร์เป็นฝีมือการเขียนบทของโบเวอร์ส  และทิโมธี่ แฮร์ริส ซึ่งเป็นมือเขียนบทผู้มีประสบการณ์เจ้าของผลงานฮิตอย่าง  Trading Places และ Kindergarten Cop รวมไปถึงภาพยตร์แอ็กชั่นแนวตลกระดับบล็อกบัสเตอร์เรื่อง Space Jam

      โบเวอร์สกล่าวว่า  ในฐานะพ่อคน เขารู้สึกตื่นเต้นมากเป็นพิเศษที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่อง  Astro Boy “ลูกสาวผมเพิ่งจะอายุสองขวบเท่านั้น แต่เมื่อผมเริ่มร่างภาพขึ้นที่บ้าน และคิดไอเดียต่างๆ ให้กับ Astro Boy ลูกสาวถามผมว่ามันคืออะไร ผมบอกเธอ และตอนนี้ เวลาที่ผมกลับถึงบ้านในตอนกลางคืน ผมต้องวาดรูปเจ้าหนูปรมาณูให้กับลูกสาวผม”


      “เมื่อเด็กๆ ไปถึงโรงภาพยนตร์เพื่อดู Astro Boy ผมหวังว่ามันคงจะเป็นประสบการณ์ที่น่าทึ่งสำหรับพวกเขา” ผู้กำกับโบเวอร์สบอก “แต่เมื่อพวกเขาเดินออกมาจากโรงภาพยนตร์แล้ว ผมอยากให้ประสบการณ์นั้นขยายตัวไปสู่ชีวิตประจำวันของพวกเขาด้วย นั่นคืออิทธิพลที่เจ้าหนูปรมาณูมีต่อเด็กๆ ในญี่ปุ่น ผมอยากให้เป็นแบบนั้นบ้างในสหรัฐอเมริกา”