อ้อมกอดเขมราฐ .....อ้อมกอดที่ไหน ก็ไม่อบอุ่นเท่า “ที่นี่”.....
ผลงานสุดโรแมนติคของ 6 นักแสดงรุ่นใหม่มาแรง
“กอล์ฟ-อนุวัฒน์” (จากละครทีวีเรื่อง ทอง 10 ทางช่อง 7),
“หมอเพื่อน-กอบกุลยา” (รองนางสาวไทยอันดับ 1 ปี 2552),
“เต๋า-ภูศิลป์” (ศิลปินหนุ่มสังกัด แกรมมี่ โกลด์),
“ฟลุค-ธีรภัทร” (นักแสดงหนุ่มฮอตฮิตจาก พี่ชาย My Bromance),
“น้อง-พุดทะสอน” (สาวน้อยจากเพื่อนบ้านริมฝั่งโขง),
“ปาล์มมี่-นันทริยา” (สาวสวยผู้เต็มเปี่ยมด้วยความฝัน)
“อ้อมกอดเขมราฐ”
โอบกอดหัวใจให้อุ่นไอรัก
12 พฤษภาคมในโรงภาพยนตร์
เกี่ยวกับภาพยนตร์ เรื่องราวความรักอันแสนงดงามของหนุ่มสาว 3 คู่ซึ่งก่อเกิดขึ้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง เริ่มด้วยการเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อมาทำหน้าที่แพทย์ในจังหวัดอุบลราชธานีของ “แพรขวัญ” ผู้เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นอันมาจากแรงบันดาลใจที่มีต่อแม่น้ำโขง และต้องต่อสู้กับความกดดันกับความปรารถนาให้ชาวบ้านทุกคนได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน ที่นี่เองเธอได้พบกับ “ก้อง” หนุ่มหล่อเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟ และ รีสอร์ทเชิงเกษตรที่มีชื่อว่า ภูห่มดาวรีสอร์ท เธอหลงรักเขาเข้าอย่างจัง ในขณะที่ก้องเองกลับไม่กล้าที่จะตอบรับความรักจากเธอ เพราะยังเจ็บปวดไม่หายกับรักครั้งก่อน ทางด้านของ “เก้า” น้องชายของก้องเองก็มี “ปราย” เด็กสาวที่เรียนอยู่ชั้นเดียวกันแอบหมายปองอยู่เช่นเดียวกัน และเก้าก็มักจะแสดงความรำคาญใจทุกครั้งเมื่อต้องพบหน้าเธอก็ว่าได้ ส่วน “เป้ง” ผู้จัดการรีสอร์ทของก้องเองก็นึกชอบ “พิมมะณี” เด็กสาวชาวลาวที่เข้ามาหางานทำที่เขมราฐเพื่อส่งเงินกลับบ้านอย่างหมดหัวใจ จากความผูกพัน ค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเป็นความรัก ทั้งหมดเกิดขึ้น ณ อำเภอเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงแห่งนี้ ที่มีชื่อว่า...”เขมราฐ”*****โอบกอดหัวใจให้อุ่นไอรัก 12 พฤษภาคมนี้ในโรงภาพยนตร์*****
เกี่ยวกับ _ งานสร้างและเบื้องหลังการถ่ายทำ จุดเริ่มต้นของ อ้อมกอดเขมราฐ มาจากการที่ ผู้อำนวยการสร้าง และ ผู้กำกับการแสดง นายแพทย์ฤทธ ปกกฤตหริบุญ ต้องการที่จะนำเสนอมุมมองของตน “มันเป็นเรื่องที่ค่อย ๆ สะสมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาแพทย์ เรื่อยมาจนกระทั่งเรียนจบแล้วเข้าทำงานทั้งในส่วนของสถานที่ราชการและของเอกชนในหลายพื้นที่ จนกระทั่งได้มาปักหลักอยู่ที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งตั้งอยู่ริมริมฝั่งแม่น้ำโขง ใกล้ ๆ กับ สปป.ลาว ซึ่งทำให้เราได้พบเห็นทั้งในเรื่องของความงดงามตามธรรมชาติ,วิถีชีวิตของผู้คน ตลอดจนศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ จึงได้นำเอาสิ่งที่ได้พบเห็น และสภาพชีวิตที่ต้องถูกบีบคั้นจากสังคมสมัยใหม่มาร้อยเรียงให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงของชาวบ้านที่นี่ในสังคมยุคปัจจุบัน” “ตอนแรกก็เขียนขึ้นมาในรูปแบบของนวนิยายก่อน โดยได้นำเอาชีวิตจริงของคนที่เราพบเจอมาสร้างเป็นตัวละครขึ้น รวมไปถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เราได้เห็นมาแต่งขึ้นเป็นเรื่องราวที่บอกเล่าถึงชีวิตของผู้คนที่อำเภอเขมราฐแห่งนี้ที่มีทั้งความสุข,ความเศร้า,ความสมหวัง และความผิดหวังปะปนกันไป รวมไปถึง ความรัก ที่ไร้พรมแดนปิดกั้น หรือแม้แต่กระทั่งความตายอันเป็นความจริงที่เราทุกคนต้องเผชิญและอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่สวยงามอีกอย่างหนึ่ง” ในเรื่องความสัมพันธ์ทั้งหมดตัวละครนั้น ผู้กำกับฯ บอกว่า “ก็มาจากการที่เราต้องการสื่อให้เห็นถึงตัวละครแต่ละคู่ที่มีสถานะทางสังคมที่แตกต่างกัน รวมไปถึงโอกาส,การศึกษา และฐานะ โดยจุดเด่นในเรื่องของความสัมพันธ์ของตัวละครแต่ละคู่นอกเหนือจากเรื่องราวของความรักแล้ว ยังได้สอดแทรกแง่คิดในการดำรงชีวิต,แก่นแท้,การสู้ชีวิต และการใช้ชีวิตของแต่ละคนเอาไว้อีกด้วย ทำให้ได้อรรถรสที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น,ซาบซึ้ง,ศิลปะในการดำเนินชีวิต,ความงดงามของธรรมชาติในอำเภอเขมราฐ และของพี่น้องริมฝั่งโขง” และเมื่อหนังมีชื่อว่า “อ้อมกอดเขมราฐ” ดังนั้นโลเกชั่นส่วนใหญ่จึงถ่ายทำกันที่นี่ โดยหลังจากใช้เวลาในการเตรียมเขียนบทภาพยนตร์มากกว่า 1 ปี จึงได้เริ่มต้นลงมือถ่ายทำกันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 จนกระทั่งถึงเดือนมกราคม 2559 ที่เพิ่งผ่านมาได้ไม่นาน และใช้เวลาทั้งสิ้นในการถ่ายทำถึง 40 คิว “ตลอดระยะเวลาในการถ่ายทำไม่ว่าจะเป็นทีมงานเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังต่างก็ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่ต้องเจอไม่ว่าจะเป็น ฝนตก,อากาศร้อนจัด หรือบางทีก็หนาวจัด ทำเอาบางคนแทบล้มป่วย แต่ก็ไม่มีใครปริปากบ่นแม้แต่คนเดียว นั่นเพราะทีมงานทุกคนต่างก็มีความเห็นเหมือนกันว่า หนังเรื่องนี้จะทำให้คนที่ได้ดูมีความสุข และคุ้มค่ากับเวลาและเงินที่เสียไป” ผู้กำกับฯ กล่าว ในด้านของการคัดเลือกตัวนักแสดงนั้นผู้กำกับฯ บอกว่าทำการคัดเลือกจากคาแรคเตอร์ที่มีความใกล้เคียงกับตัวนวนิยายเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นในด้านความเหมาะสมของอายุ,หน้าตา รวมไปถึงบุคลิกภาพ “อย่างเช่น บทของ แพทย์หญิงแพรขวัญ เราได้ หมอเพื่อน – แพทย์หญิงกอบกุลยา อดีตรองนางสาวไทยมาร่วมงาน ซึ่งมีคาแรคเตอร์ที่ตรงกับตัวละครสุด ๆ นอกนั้นคนอื่น ๆ อย่างบทสาวน้อยจากสปป.ลาว เราก็ได้ น้องน้อง – พุดทะสอน สีดาวัน มาสวมบท ส่วน เป้ง ก็ได้ เต๋า – ภูศิลป์ นักร้องในสังกัดของ แกรมมี่ โกลด์ ซึ่งมีบุคลิกตรงกับตัวละครมาก ๆ ที่สำคัญสุด ๆ ก็คือบทของพระเอกคือ ก้อง เราก็ได้ น้องกอล์ฟ – อนุวัฒน์ นักแสดงของช่อง 7 สี มาทำหน้าที่ได้อย่างลงตัว พอ ๆ กันกับบท เก้า ของ น้องฟลุค – ธีรภัทร เองก็มีหน้าตา และบุคลิกตรงกับตัวละครเป็นอย่างมาก และคนสุดท้ายคือบทของ ปราย เด็กสาวชั้นมัธยมปลาย เราก็ได้ น้องปาล์มมี่ – นันทริยา ที่มีความสดใหม่และน่ารักน่าเอ็นดูมาร่วมงานด้วย” แต่ขณะเดียวกัน “ความลงตัว” ของนักแสดงก็กลายเป็นปัญหาในการถ่ายทำเช่นเดียวกัน “อย่างในเรื่องของคิวนักแสดงเนี่ยค่อนข้างจะมีปัญหาพอสมควร เพราะความที่แต่ละคนจะไม่ค่อยมีเวลาตรงกัน แถมยังมีนักแสดงนำถึง 3 คู่อีกด้วย เลยทำให้การที่จะจับทุกคนมาร่วมซีนเดียวกันจึงกลายเป็นความลำบากอยู่ไม่น้อย” คุณหมอผู้กำกับฯ กล่าว และความยากลำบากอีกเรื่องหนึ่งของทีมงานก็คือ อุปสรรคในเรื่องของลมฟ้าอากาศ “อย่างฉากที่เราต้องไปถ่ายกันบนยอดภู วันนั้นเราต้องเจอกับความหนาวเย็นถึง 8 องศา แต่ทีมงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังก็กัดฟันสู้กันตั้งแต่ 6 โมงเย็น ไปจนกระทั่งถึง 9 โมงเช้าของอีกวัน ซึ่งยอมรับเลยว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยที่ทุกคนต้องมาเจอกับสภาพอากาศแบบนี้” ท้ายที่สุดสิ่งที่คุณหมอผู้กำกับฯ บอกว่าสิ่งที่ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายคือบรรดาเยาวชนรุ่นใหม่,คนวัยทำงาน และบุคคลทั่วไปจะได้รับจาก “อ้อมกอดเขมราฐ” ก็คือ “อย่างแรกเลยก็คือในเรื่องของอรรถรส,ความสนุกสนาน และความซาบซึ้งประทับใจกับชีวิต รวมทั้งความเป็นไปของตัวละครที่มีที่มา-ที่ไป นอกเหนือไปจากการได้แง่คิดใหม่ ๆ ของการดำเนินชีวิต,มุมมองของวิถีคนเมืองและคนชนบท ตลอดจนความหลากหลายของอารมณ์ในชีวิตของคนเราทั้งสมหวัง ผิดหวัง อดทน ย่อท้อ ฯลฯ รวมไปถึงความงดงามตามธรรมชาติของอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานีที่หาชมไม่ได้จากหนังเรื่องอื่น”ประวัติและความน่าสนใจของอำเภอเขมราฐ
เขมราฐ เป็นหัวเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมา ตั้งแต่ สมัยรัชกาล ที่ 2 และมีเจ้าเมืองทำหน้าที่ปกครองเมืองมาโดยตลอด นอกเหนือจากความเก่าแก่แล้ว เขมราฐ ยังเป็นที่รวมของคนหลากหลายเชื้อชาติทั้งไทย,ลาว และคนเชื้อชาติอื่นที่เข้ามาดำรงชีวิตอยู่ที่นี่ จึงก่อให้เกิดวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ทั้งมีความงดงาม และน่าศรัทธาในเวลาเดียวกัน และเพราะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง จึงทำให้มีประเพณีและวัฒนธรรมหลายอย่างเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขง รวมไปถึงในเรื่องของความเชื่อที่เกี่ยวกับ “พญานาค” ดังนั้นคนที่มาท่องเที่ยวที่นี่ จึงมักจะได้พบเห็นประติมากรรมที่เป็นรูปของพญานาคอยู่ทั่วไป ตลอดจนการเคารพบูชาพญานาคที่แฝงอยู่ในประเพณีและวัฒนธรรมอยู่ตลอดทั้งปีอาทิการไหล เรือไฟ เป็นต้น ในด้านของทิวทัศน์นั้น อำเภอเขมราฐ ได้ชื่อว่ามีทัศนียภาพอันงดงามในความโค้งเว้าของแม่น้ำ,เกาะแก่ง รวมไปถึงหาดทรายที่รายรอบอยู่บริเวณภูเขาหิน ทำให้หลายคนที่เคยมาเที่ยวที่นี่ต่างก็พากันประทับใจในสถานที่ท่องเที่ยวพอ ๆ กันกับความเรียบง่ายของวิถีชุมชนที่ดำเนินชีวิตในรูปแบบการทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ อาทิ การปลูกพืชผัก และการทำการประมงน้ำจืด และนั่นจึงทำให้เขมราฐกลายเป็นอำเภอที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดอำเภอหนึ่งของเมืองไทย