MSN on December 08, 2015, 03:01:12 PM
นักการตลาดแนะมุมมองการตลาดแนวใหม่ในยุคดิจิทัลพร้อมจัดงานใหญ่ “Business Marketing Expo 2016”




รูปรวมบริเวณ backdrop


นางสาวบงจรรย์ กาญจนศาสตร์  ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


นายสินธุ์ เภตรารัตน์ กรรมการ ผู้จัดการธุรกิจมีเดีย เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย)จำกัด


นายชัยวัฒน์ ตั้งสุรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แกรนด์ เอ็กซิบิชั่น แมนเนจเม้นท์ จำกัด



บรรยากาศในห้องเสวนา


การตลาดนับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจในทุกๆ องค์กร  ที่จะช่วยในการสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ยังเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างยอดขาย ยิ่งในปัจจุบันที่โลกของเรามีเครื่องมือทางการตลาดที่มากขึ้น  ทั้งทางออฟไลน์ ออนไลน์ หรือจะเป็นสื่อผสมที่มีทั้งออฟไลน์ ออนไลน์รวมกัน ความหลากหลายตรงนี้ส่งผลให้นักการตลาดสามารถเลือกเครื่องมือทางการตลาดที่ต้องการ ตรงตามกับลักษณะของกลุ่มผู้บริโภคของ แบรนด์ได้มากขึ้น ถ้าหากมีการวางแผนในการทำการตลาดให้รอบด้าน รับรองว่าความสำเร็จของแบรนด์ก็อยู่ไม่ไกล ถ้านักการตลาดยุคใหม่รู้จักผสมผสานเครื่องมือทางการตลาดในแต่ละรูปแบบให้เข้าด้วยกันแบบลงตัวแล้ว จะยิ่งเป็นการตอกย้ำแบรนด์ให้ยังคงเป็นที่หนึ่งในใจของผู้บริโภคได้

ล่าสุดจากงานเสวนา Business Marketing Forum – Bangkok เวทีเสวนาเรื่องมุมมองทางการตลาดแนวใหม่ในยุคดิจิทัล โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับ บริษัท แกรนด์ เอ็กซิบิชั่น แมนเนจเม้นท์ จำกัด หรือ แกรนเด็กซ์ ที่ได้จัดขึ้นเพื่อเป็นการอุ่นเครื่อง ก่อนการจัดงานใหญ่ Business Marketing Expo 2016 กับงานแสดงนวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการตลาดครบวงจรระดับนานาชาติ โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนักการตลาดชั้นนำ มาร่วมเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองทางการตลาดแนวใหม่ในยุคดิจิทัลไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ภาครัฐพร้อมหนุนผู้ประกอบการเข้าสู่ยุคดิจิทัล

นางสาวบงจรรย์ กาญจนศาสตร์  ผู้อำนวยการสำนัก สำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวภายในงาน Business Marketing Forum – Bangkok ว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการให้การส่งเสริม และสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy หรือ DE) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ และสังคมอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

โดยเป้าหมายของ Digital Economy ประการแรกคือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนานวัตกรรมและสร้างสรรค์ธุรกิจแนวใหม่ รวมถึงภาคธุรกิจไทยโดยเฉพาะธุรกิจฐานรากและ SMEs ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างศักยภาพในการทำธุรกิจ ประการที่สองเป็นการสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม โดยประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัล และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล  ประการที่สามคือเปลี่ยนการทำงาน การบริการภาครัฐด้วยดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ และสุดท้ายเป็นการพัฒนาทุนมนุษย์สำหรับโลกยุคดิจิทัล โดยการพัฒนาพลเมืองที่มีความสามารถพัฒนา และใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ รู้เท่าทัน และพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลมีความเชี่ยวชาญระดับมาตรฐานสากล

โอกาสทางการตลาดยุคดิจิทัลมองในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัล ทำให้เกิดการหลอมรวมเทคโนโลยีที่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถออนไลน์ได้ในระบบเครือข่ายผ่านเครื่องมือต่างๆ (หรือที่เรียกว่า Internet of Thing: IoT) โดยที่จะต้องมีการพัฒนาเครือข่ายที่เชื่อมโยง การสื่อสารของอุปกรณ์ทุกสรรพสิ่ง ทำให้เกิดบริการอัจริยะที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลและควบคุม สั่งการสิ่งของต่าง ๆ ได้จากระยะไกลผ่านอินเทอร์เน็ต

กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ได้แก่ กลุ่มขนส่ง ภาคการผลิต  กลุ่มบริการสุขภาพ กลุ่มการเกษตร การตลาด  เป็นต้น รวมถึงการที่อุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราจะเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ ที่สามารถพูดคุยกันได้ เป็นการต่อยอดจาก IoT (ที่เรียกว่า Machine to Machine: M2M) ทำให้การติดต่อสื่อสารหรือการซื้อขายสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น  ผู้ซื้อและผู้ขายมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยสามารถพูดคุยผ่านทางแอพลิเคชั่น เลือกดูสินค้า และตกลงซื้อขายได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัย

การเชื่อมโยงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้เกิดโอกาสในการทำธุรกิจมากขึ้น รวมถึงการตลาดซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ ก็มีการพัฒนาทางด้านดิจิตอลของนักการตลาด โดยมีการปฏิรูปการดำเนินงาน รวมถึงทีมงาน เทคโนโลยี และกลยุทธ์ ซึ่งมีการผนวกรวมช่องทางดิจิตอล เพื่อนำเสนอประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าที่รอบด้านมากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะเป็นโอกาสให้การตลาดมีช่องทางในการติดต่อกับลูกค้าได้หลายหลายมากขึ้น มีการดำเนินการกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงการจัดการทางด้านองค์ความรู้ทางด้านการตลาด หากสามารถรวบรวมและพัฒนาให้เข้ามาสู่ระบบดิจิทัลจะทำให้สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ จะเกิดประโยชน์กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การขยายตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทั้งในส่วนของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้โอกาสในการทำธุรกิจในปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้น และเป็นโอกาสของนักการตลาดที่จะพัฒนาศักยภาพในการรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และใช้โอกาสนั้นในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ตลาดสื่อดิจิทัลคึกคักทำเม็ดเงินสะพัด

นายสินธุ์ เภตรารัตน์ กรรมการ ผู้จัดการธุรกิจมีเดีย เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า ในยุคดิจิทัลปัจจุบันคนมี 4 screen ทั้งดูทีวี คอมพิวเตอร์ แทปเล็ต และมือถือ แต่อาจจะลืมscreen ที่ 5 นั่นก็คือเฟรมที่เห็นอยู่ข้างถนน ตามทางเดิน เรียกว่าเป็น Out of Home ซึ่งเป็นสื่อที่ไม่เคยเปลี่ยนที่ แต่ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากภาพวาด ภาพถ่าย โปสเตอร์ จนมาถึงการทำเป็นภาพเคลื่อนไหว  ตำแหน่งที่ตั้งไม่เคยเปลี่ยนนอกจากเพิ่มขึ้นตลอดเวลาและมีเพิ่มทุนการผลิต  จากการสำรวจ ประเทศไทยมีการใช้เม็ดเงินในการซื้อสื่อโฆษณาต่อเดือนประมาณ  10,000 ล้านบาท ถ้าหนึ่งปีก็ 120,000 ล้านบาท และผู้บริโภคได้บริโภคสื่อทีวีมากที่สุด รองลงมาก็คือสื่อ out of home  หรือสื่อนอกบ้าน เพราะแค่ก้าวออกไปข้างนอกไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็จะเจอ out of home แน่นอน ในต่างจังหวัดก็เริ่มมีเข้ามาพอสมควร รวมถึงจุดที่พูดถึงกันมากก็คือสนามบินจะมีโฆษณาเยอะมาก นั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค นอกเหนือจากนั้น อินเตอร์เน็ต ก็เป็นส่วนที่ 3 ที่อยู่ มีการเติบโตในระดับเร็วพอสมควร เพราะในตลาดอินเตอร์เน็ตก็เป็นสิ่งที่เราสำรวจมากจากผู้บริโภค

อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีการใช้เม็ดเงินกับสื่อดิจิทัลมีอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลการสำรวจ ตั้งแต่ปี 2012 เริ่มใช้เม็ดเงิน 2.4% หรือประมาณ 116,164 ล้านบาท  และก็เพิ่มขึ้นทุกปี จนมาถึงปีนี้ มีการใช้งบโฆษณาในการซื่อสื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 7.6 % หรือ 130,422 ล้านบาท  ถ้าเทียบกับต่างประเทศสัดส่วนอาจจะยังไม่มากนักแต่ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นทุกปี

“สำหรับประเทศที่ใช้งบในสื่อดิจิทัลมากที่สุด ยังเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาที่ 31% ประเทศเยอรมนี 24% และประเทศญี่ปุ่น 23.9%  ทั้งนี้โดยเฉลี่ยทั่วโลกแล้วปัจจุบันใช้งบในสื่อดิจิทัลประมาณ 28.7% แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสื่อดิจิทัลในปัจจุบันที่นักการตลาดศึกษาข้อมูลให้มากขึ้นและไม่ควรมองข้าม จากตัวเลขจะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังมีโอกาสโตอีกมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะการเติบโตของดิจิทัลในไทยไปเร็วมาก"

กระแสดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมาแรง เตรียมจัดงานใหญ่ BMX 2016 งานแสดงนวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการตลาดครบวงจรระดับนานาชาติ

นายชัยวัฒน์ ตั้งสุรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แกรนด์ เอ็กซิบิชั่น แมนเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมภายในงานเสวนานี้ว่า จากกระแสดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งที่มาแรงมาก ทำให้ในฐานะผู้จัดงาน จึงต้องจัดเวทีขึ้นมาเพื่อเป็นรวมพล นักการตลาดในยุคดิจิทัล เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ทั้งนี้ในปัจจุบันนักการตลาดจะเจอปัญหาหลายอย่างเมื่อดิจิตอลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะมันเป็นอะไรที่ซับซ้อนแต่ก็ยังมีความโชคดีแฝงอยู่ เพราะจะมีเครื่องมือเพิ่มขึ้นในการใช้วางกลยุทธ์ทางการตลาด โดยในงานเสวนานี้นับเป็นการอุ่นเครื่องก่อนการจัดงานใหญ่ Business Marketing Expo 2016 หรือ BMX 2016 ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการตลาดครบวงจรระดับนานาชาติ ที่นอกจากจะเป็นเวทีกลางในการพบปะและพูดคุยสำหรับนักการตลาดแล้ว ยังเปิดโอกาสสำคัญให้กับนักการตลาดในการเลือกสรรเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการตลาดเพื่อใช้ในการวางแผนและพัฒนาแผนการตลาดแนวใหม่ที่มีประสิทธิภาพเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ ซึ่งจะได้พบกับกลุ่มผู้ให้บริการทางการตลาดมากกว่า 200 ราย  บนพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร พร้อมกิจกรรมและงานสัมมนาที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการและประชุมไบเทค สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-703-1991 หรืออีเมล์ info@grandex.co.th และสามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของงานได้ที่ www.bmxasia.com
« Last Edit: December 08, 2015, 03:09:19 PM by MSN »