MSN on October 21, 2015, 11:37:39 PM
“4 เมกเกอร์ไทย” ตะลุย “เมกเกอร์แฟร์ เบอร์ลิน”ต่อยอดไอเดีย สร้างนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)


4 เมกเกอร์ไทย ผู้ชนะโครงการประกวด Enjoy Science: Let’s print the world เข้าชมงานเมกเกอร์แฟร์ เบอร์ลิน ที่ประเทศเยอรมนี


ผู้ชนะโครงการประกวด Enjoy Science: Let’s print the world เข้าชมงานเมกเกอร์แฟร์ เบอร์ลิน ที่ประเทศเยอรมนี


ผลงานเจ๋งๆ จากถ้วยเซรามิก


อุปกรณ์ที่ชื่อ Okinesio


โรบอต ซู หุ่นยนต์แมลงที่ทำจากกระดาษแข็ง


ตัวอย่างหุ่นยนต์ที่นำมาโชว์ในงาน


น้องสุพัฒกับเมกเกอร์เจ้าของผลงาน เครื่องสแกน 3 มิติ


น้องสุพัฒทดลองกับเครื่องสแกน 3 มิติ


เครื่องพิมพ์ 3 มิติที่นำมาทดลองพิมพ์งานจริงในงาน


ตัวอย่างงานพิมพ์ 3 มิติ จากวัสดุประเภทต่างๆ เช่น ทอง ทองแดง เงิน ไม้


เคลวิน หุ่นยนต์พ่นไฟ


เปียโนองุ่น


"What do you think I am" ประโยคคำถามของ สเตฟาน ออฟริชเชอร์ (Stefan Aufrichter) เมกเกอร์ชาวเยอรมัน ที่ติดไว้กับถ้วยเซรามิกสีขาว เพื่อเชื้อเชิญให้เหล่าเมกเกอร์ไทย ผู้ชนะจากโครงการประกวด Enjoy Science: Let’s print the world ลองคิดว่าผลงานชิ้นนี้คืออะไรได้บ้าง?

ลำโพง นาฬิกา ที่ปลูกต้นไม้ ที่แขวนของใช้ต่างๆ ถูกวางโชว์เป็นคำตอบและเป็นเพียงตัวอย่างไอเดียในการดัดแปลงถ้วยเซรามิกสีขาวแสนธรรมดาให้กลายเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของแต่ละบุคคลตามแบบฉบับ “วัฒนธรรมเมกเกอร์” เท่านั้น และนี่เป็นเพียง 1 ใน 120 ผลงานเจ๋งๆ ของเมกเกอร์เยอรมันที่นำมาประชันกันในงานเมกเกอร์แฟร์ เบอร์ลิน (Maker Faire Berlin) ประเทศเยอรมนี

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สวทช. กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนเด็กไทยให้มีความคิดสร้างสรรค์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทริปพา 4 เมกเกอร์ไทย ผู้ชนะโครงการประกวด Enjoy Science: Let’s print the world เข้าชมงานเมกเกอร์แฟร์ เบอร์ลิน ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3-4 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้เมกเกอร์ไทยได้เรียนรู้ถึงแนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับใช้ต่อยอดไอเดีย สร้างสรรค์นวัตกรรมไทยเพื่อคนไทยในอนาคต

“การไปดูผลงานของเมกเกอร์ชาวเยอรมันในงานเมกเกอร์แฟร์ เบอร์ลิน ทำให้เมกเกอร์ไทยได้เห็นแนวคิดและความนิยมของเมกเกอร์ในแถบยุโรป ซึ่งจะเห็นว่ามีผลงานที่เป็นหุ่นยนต์จำนวนมากและมีรูปแบบที่หลากหลาย งานอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ และพอลิเมอร์ที่ใช้ในการพิมพ์ ซึ่งมีหลายแบบน่าตื่นตาตื่นใจ เช่น พลาสติกรูปแบบใหม่ๆ ที่มีสีสันหลากหลายและยืดหยุ่นสูง เมื่อพิมพ์ออกมาแล้วสามารถบิดและเปลี่ยนกลับเป็นรูปแบบเดิมได้ไม่เสียหาย น่าจะนำมาประยุกต์กับงานต่างๆ ได้มาก

นอกจากนี้แล้ว คณะเมกเกอร์ยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการประดิษฐกรรม (Fabrication Laboratory) หรือ FAB LAB สถานที่ที่ให้เมกเกอร์มาสร้างชิ้นงานโดยมีเครื่องมือที่ทันสมัยและผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ อีกทั้งยังได้เยี่ยมชมออตโต บ๊อก (OTTOBOCK) บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ รวมถึงพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์สเปกตรัม (Science Center Spectrum) และ ศูนย์วิทยาศาสตร์เกม (Game Science Center) ด้วย” ดร.นำชัย กล่าว

นางสาวศิริลักษณ์ สังวาลย์วรวุฒิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของรางวัลชนะเลิศประเภทนักเรียน นักศึกษา จากผลงานปะการังเทียม กล่าวว่า การได้มางานเมกเกอร์แฟร์ เบอร์ลิน ทำให้ได้แรงบันดาลใจและไอเดียใหม่ๆ มาปรับไปใช้กับงานค่อนข้างเยอะ เช่น ถ้วยเซรามิกที่นำไปใช้ทำนาฬิกา ลำโพง วิธีคิดเขาน่าสนใจมากในการทำผลิตภัณฑ์ และที่ชอบมากคือ อุปกรณ์ที่ชื่อ Okinesio ซึ่งใช้เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว เวลาที่เราดึงโดยใช้แรงหรือน้ำหนักที่ต่างกัน แสงที่ฉายลงบนฉากก็จะมีรูปแบบที่ต่างกันด้วย เป็นงานแบบ interactive น่าสนใจ และคิดว่าจะลองมาปรับใช้กับงานที่ทำอยู่

นางสาวเสาวคนธ์ ภุมมาลี เจ้าของรางวัลชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไป จากผลงานทศกัณฑ์ กล่าวว่า ผลงานที่ประทับใจ คือ โรบอต ซู (Robot zoo) หุ่นยนต์แมลงที่ตัวโครงหลักทำจากกระดาษแข็ง เด็กๆ เห็นก็จะรู้สึกว่าน่าจะทำได้นะ แค่เอากระดาษแข็งมาใส่อิเล็กทรอนิกส์เข้าไป และผลงาน Avakai ตุ๊กตาไม้ที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและวิธีการเล่นแบบดั้งเดิมของเด็กๆ เช่น การเล่นซ่อนหา นอกจากนี้ยังได้เห็นเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ก้าวหน้าไปมาก สามารถพิมพ์ออกมาได้หลายวัสดุ เช่น ไม้ เงิน ทอง ทองแดง เซรามิก ทำให้ได้สัมผัสชิ้นงานจริงในงานนี้ เห็นแล้วก็มีแรงกระตุ้น อยากทำงานพิมพ์ 3 มิติจากวัสดุเหล่านี้บ้าง มันช่วยเปิดกรอบการคิดงาน ต่อยอดไอเดียได้เยอะเลยทีเดียว

นายสุพัฒ สังวรวงษ์พนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ช่วยพัฒนาผลงานปะการังเทียม กล่าวว่า โครงการนี้ช่วยเปิดกว้างให้เราได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเห็นนวัตกรรมมากมายที่หาดูไม่ได้ในเมืองไทยครับ ในงานมีหุ่นยนต์ ผลงานพิมพ์ 3 มิติเยอะมาก ผมชอบเครื่องสแกน 3 มิติ ซึ่งเขาประดิษฐ์ตัวสแกนขึ้นเอง โดยพัฒนาให้ฐานหมุนได้ แล้วใช้กล้องคิเนคจับภาพสแกน 3 มิติ และแปลงเป็นไฟล์ที่พร้อมพิมพ์เป็นชิ้นงาน 3 มิติได้เลย เห็นแล้วก็อยากศึกษาเพิ่มเติม เพื่อกลับไปพัฒนาต่อเป็นผลงานเจ๋งๆ สักชิ้นไปโชว์ในงานเมกเกอร์แฟร์ของประเทศไทยในปีหน้าครับ

นางสาวทิพย์สิริ ฤทธิกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ช่วยพัฒนาผลงานเครื่องนวดเท้า กล่าวว่า ที่ชอบมากคือ คือ "หุ่นยนต์พ่นไฟ" ที่ชื่อว่า "เคลวิน" มีความสูง 9 เมตร กว้าง 5 เมตร สร้างขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์ และใช้ไฮโดรลิกในการควบคุมให้ขยับได้ ก่อนโชว์จะเห็นเหมือนตู้คอนเทนเนอร์สี่เหลี่ยมธรรมดา จากนั้นก็ค่อยๆ แปลงร่างจนกลายเป็นหุ่นยนต์ และพ่นไฟออกจากมือได้ ตื่นตาตื่นใจมาก นอกจากนี้ยังมีเปียโนหุ่นยนต์ เครื่องทอผ้า ที่สำคัญเลย คือ การได้ไปเยี่ยมชม FAB LAB หน่วยงาน OTTOBOCK และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทำให้เราได้เห็นนวัตกรรมมากมาย ซึ่งช่วยต่อยอดสานฝันเราได้มาก ได้เห็นเทคโนโลยี ได้แนวคิด ได้มุมมองใหม่ๆ ที่จะนำกลับมาใช้พัฒนาตัวเองต่อไปค่ะ
« Last Edit: October 21, 2015, 11:45:59 PM by MSN »