happy on April 11, 2015, 07:01:54 PM
กรมโรงงานอุตสาหกรรม รุกเปิดมาตรการป้องกันอัคคีภัยโรงงานอุตสาหกรรม
พร้อมเตือน 5 กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มเสี่ยงสูงในช่วงหน้าร้อน

·       กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดตัว “DIW TEAM”  ทีมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินตรวจสอบมลพิษภาคสนามทันทีเมื่อเกิดอัคคีภัย


                กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รุกเปิด 3 มาตรการป้องกันอัคคีภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ดูแลเข้มการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับและแจ้งเหตุเพลิงไหม้ พร้อมระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ในโกดัง (Warehouse) จัดเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์หรือสถานที่จัดเก็บวัตถุไวไฟของโรงงาน  พร้อมแจกฟรีหนังสือคู่มือและวีดีทัศน์ที่ทันสมัยเข้าใจง่าย ทำได้จริง ตามประกาศกระทรวงเรื่อง “การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552” ทั่วประเทศร่วม 2,000 เล่ม   พร้อมเปิดตัว “DIW TEAM” ทีมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินตรวจสอบมลพิษภาคสนาม ที่คอยเฝ้าระวังเหตุอัคคีภัยอย่างใกล้ชิด ลงพื้นที่ที่เกิดเหตุทันทีภายใน 1-3 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบ ประมวลข้อมูล ประเมินผล อีกทั้งให้การช่วยเหลือด้านข้อมูลสารเคมีอันตราย อัคคีภัยรุนแรง และการรั่วไหลของมลภาวะสู่แหล่งธรรมชาติ ทั้งนี้ หลังจากเหตุเพลิงไหม้สงบแล้ว กรอ.จะสรุปและหาสาเหตุเพื่อป้องกันอัคคีภัยที่มีโอกาสเกิดซ้ำในอนาคต จากสถิติ ในปี 2556 เกิดอัคคีภัยในโรงงาน 50 ราย ปี 2557 เกิดอัคคีภัย 73 ราย เพิ่มขึ้นถึง 46% มูลค่าการสูญเสียไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท  และจากข้อมูล  3 ปี ย้อนหลัง พบว่า 5 ประเภทโรงงานที่เกิดอัคคีภัยสูงสุดได้แก่ โรงงานผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหาร สิ่งทอ และ คัดแยกวัสดุ ตามลำดับ โดย 5 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุอัคคีภัยบ่อยครั้งที่สุดคือกรุงเทพและปริมณฑลอันเป็นศูนย์กลางเขตเศรษฐกิจที่มีความเจริญที่สุด และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของประเทศ

                ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปสามารถดาวโหลดไฟล์คู่มือและ ไฟล์วีดีทัศน์ “การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552” ได้ในเวบไซค์กรมโรงงานโรงงานอุตสาหกรรม http://php.diw.go.th/safety/ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564


ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

                ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุบัติเหตุเพลิงไหม้มักก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์­สิน และสิ่งแวดล้อม หากเพลิงไหม้ลุกลาม แพร่กระจายในวงกว้างก็จะยิ่งเป็นอันตรายร้ายแรง ดังนั้น การมีระบบป้องกันอัคคีภัยและการดูแลรักษาที่ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยควบคุม และระงับเหตุเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อลดและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แสดงความเป็นห่วงและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการป้องกัน ดังนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จึงได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อัคคีภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ตามประกาศกระทรวงเรื่อง “การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552” จำนวน 28 ข้อ อาทิ ประกาศกระทรวงฯ ข้อ 1  การบังคับใช้กับโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ที่เป็นโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูงหรือปานกลาง โดยแบ่งเนื้อหาที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องปฏิบัติออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการระงับเหตุโดยการติดตั้งอุปกรณ์และระบบป้องกันอัคคีภัย  ส่วนที่สองคือการป้องกันอัคคีภัยและตรวจสอบ ทดสอบ บำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์  โดยสามารถสรุปสาระสำคัญเป็น  3 มาตรการ อันประกอบด้วย

                1.   อาคารโรงงานต้องจัดให้มีอุปกรณ์ตรวจจับและแจ้งเหตุเพลิงไหม้อัตโนมัติ ในพื้นที่ที่ไม่มีคนปฏิบัติงานประจำ และมีการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือจัดเก็บวัตถุไวไฟหรือวัตถุที่ติดไฟได้

                2. โรงงานที่มีโกดัง (Warehouse) จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ติดไฟได้ที่มีพื้นที่ต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ 1,000 ตร.ม. ขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ

                3.   สถานที่จัดเก็บวัตถุไวไฟ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 14 ตรม. ขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ

                อย่างไรก็ดี กรอ. ได้ตั้ง “DIW TEAM” ทีมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินตรวจสอบมลพิษภาคสนาม ที่คอยเฝ้าระวังเหตุอัคคีภัยอย่างใกล้ชิด เมื่อได้รับแจ้งเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉิน ในกรณีเกิดเหตุไฟไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรม ชุดปฏิบัติการจะลงพื้นที่ที่เกิดเหตุทันที ภายใน 1-3 ชั่วโมง ทำการเก็บตัวอย่างมลพิษ วัดและตรวจสอบ รวมถึงนำมาวิเคราะห์ เช่น มลพิษน้ำ มลพิษอากาศ ประมวลข้อมูลและประเมินผล อีกทั้งให้การช่วยเหลือด้านข้อมูลสารเคมีอันตราย การระเบิด อัคคีภัยรุนแรง และการรั่วไหลของมลภาวะสู่แหล่งธรรมชาติ โดยปัจจุบัน “DIW TEAM” มีเจ้าหน้าที่ทำงานครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยในส่วนภูมิภาค ชุดปฏิบัติการจะจัดเตรียมข้อมูลทั้งในด้านเครื่องจักรและการใช้สารเคมี เพื่อประเมินผลพร้อมดำเนินการให้การช่วยเหลือเมื่อได้รับการร้องขอจากสำนักอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งภายหลังจากเหตุเพลิงไหม้สงบแล้ว กรอ.จะสรุปและหาสาเหตุเพื่อป้องกันอัคคีภัยที่มีโอกาสเกิดซ้ำในอนาคต   ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่ผู้ประกอบโรงงานอุตสาหกรรมยังละเลยการติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เนื่องจากยังเข้าใจว่าการติดตั้งอุปกรณ์ระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่มีราคาแพง อาทิ เครื่องสูบน้ำ ถังดับเพลิง และ หัวกระจายน้ำดับเพลิง จะต้องติดตั้งทั่วทั้งโรงงาน ซึ่งในความเป็นจริง มาตรการได้ระบุให้ติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีคนปฏิบัติงานเท่านั้น เช่น โกดังสินค้า (Warehouse)  ขณะเดียวกันผู้ประกอบการโรงงานยังละเลยการตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์สำหรับการป้องกันและระงับอัคคีภัยรวมถึงการพัฒนาบุคลากรในโรงงานให้เตรียมความพร้อมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ดร. พสุ กล่าว


                ดร. พสุ กล่าวต่อว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นับเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความเจริญที่สุด และเป็นศูนย์กลางการปกครอง การบริหารราชการ พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นที่ที่เกิดอัคคีภัยสูงสุดเช่นกัน จากสถิติปี 2555-2557 พบว่าจังหวัดที่เกิดอัคคีภัยหลายครั้งอันดับหนึ่ง  ได้แก่ สมุทรสาคร 19 ราย อันดับสอง ได้แก่ สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และ ชลบุรี จังหวัดละ 15 ราย อันดับสามได้แก่ ปทุมธานี 14 ราย  หากเจาะลึกถึงประเภทโรงงานที่เกิดอัคคีภัยหลายครั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก็พบว่า อันดับหนึ่ง คือ ประเภทโรงงานผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหาร 23 ราย อันดับสอง คือ โรงงานสิ่งทอ 13 ราย อันดับสาม คือโรงงานคัดแยกวัสดุไม่ใช้แล้ว 10 ราย ส่วนอันดับสี่คือโรงงานเครื่องเรือนจากไม้ วงกบ ประตู หน้าต่างไม้ และโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ ประเภทละ 9 ราย  และอันดับห้าคือโรงงานผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพลาสติก 7 ราย ทั้งนี้หากนับจำนวนอัคคีภัยในโรงงาน 3 ปีย้อนหลังพบว่า ในปี 2555 เกิดขึ้น 30 ราย ปี 2556 เกิดขึ้น 50 ราย และในปี 2557 เกิดอัคคีภัย 73 ราย ซึ่งสถิติปี 2557 เกิดอัคคีภัยในโรงงานสูงกว่าปี 2556 ถึง  46%  โดยความเสียหายจากอัคคีภัยในแต่ละปีมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท

                อย่างไรก็ตาม กรอ. ได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง “การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552”   บรรจุเนื้อหาในประกาศกระทรวงครบ 28 ข้อ พร้อมกับวีดีทัศน์ความยาว 30 นาที  เพื่อแจกจ่ายฟรีสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม สำนักอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย   โดยผู้สนใจทั่วไปสามารถดาวโหลดไฟล์คู่มือและ ไฟล์วีดีทัศน์ได้ในเวบไซค์กรมโรงงานโรงงานอุตสาหกรรม www.php.diw.go.th/safety/  ดร. พสุ กล่าวสรุป

                ด้าน นายชาญณรงค์  ดิษยมาลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สแปนชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า บริษัท สแปนชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนหน่วยความจำ (Flash Memory) เพื่อส่งออก ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านคุณภาพ ISO/TS 16949  มาตรฐานด้านความปลอดภัย OHSAS 18001 และ มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 นอกจากนี้ยังได้รับ รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น  ด้านความปลอดภัย ปี พ.ศ. 2539 และ 2553 จากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับและแจ้งเหตุเพลิงไหม้ พร้อมระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ตามประกาศกระทรวงเรื่อง “การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552”  ครบทั้ง 28 ข้อ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีระบบสำคัญดังนี้

                1. ติดระบบดับเพลิงอัตโนมัติแบบ FM 200 เป็นสารสะอาดดับเพลิง ที่ใช้สำหรับห้องหม้อแปลง ห้องไฟฟ้า ห้องคอมพิวเตอร์ และห้องเก็บสินค้า เนื่องจากน้ำดับเพลิงอาจทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวเสียหายได้

                2.ห้องควบคุม (Facility Control Room) เป็นห้องควบคุมระบบแจ้งเหตุและระบบดับเพลิงอัตโนมัติ จะมีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง สัญญาณแจ้งเหตุอัคคีภัยจากจุดต่างๆ จะถูกส่งเข้ามายังห้องควบคุมนี้ และส่งสัญญาณคู่ขนานไปยังห้องควบคุมของฝ่ายรักษาความปลอดภัย (Security control Room) เพื่อคอยตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

                3. ปั๊มน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ เป็นระบบดับเพลิงหลักใช้ในพื้นที่ทั่วไปของบริษัท ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขับปั๊มน้ำดับเพลิงขนาด 9,462 ลิตร /นาที และมีถังเก็บน้ำดับเพลิงความจุ  900,000 ลิตร สามารถจ่ายน้ำดับเพลิงได้มากกว่า 90 นาที

                ในส่วนการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานนั้น บริษัทฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการตามนโยบายและเป้าหมายที่เน้นความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดทำกฏระเบียบที่มุ่งเน้นให้พนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น การเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานผ่านระบบที่เรียกว่า e-suggestion รวมถึงการนำเสนอโครงการปรับปรุงสภาพการทำงานที่เรียกว่า Kaizen plus  ทั้งนี้บริษัทฯให้ความสำคัญกับพนักงานถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่าสูงสุดขององค์กร  ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีการประเมินความเสี่ยง หาทางป้องกัน ติดตาม ตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยอยู่เสมอ

                บริษัท สแปนชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2533 ในพื้นที่ 44.5 ไร่ ด้วยทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท  ปัจจุบันมีพนักงาน 963 คน  บริษัทฯเป็นผู้นำด้านผลิตชิ้นส่วน หน่วยความจำประเภท Flash Memory  ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยในระดับสากล  ควบคุมโดยวิศวกรและทีมงานที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี  ปัจจุบันสแปนชั่นฯ คือศูนย์กลางอุตสาหกรรม Flash Memory ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยมีกำลังการผลิตมากกว่า 10 ล้านหน่วยต่อสัปดาห์ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทถูกส่งออกและนำไปใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆมากมายทั่วโลก และเนื่องจากที่ตั้งโรงงานอยู่ในย่านใจกลางเมืองบนถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ที่รายรอบด้วยศูนย์การค้า หมู่บ้านจัดสรร ตลาดนัด อาคารสำนักงาน และส่วนราชการ จึงให้ความสำคัญสูงสุดในการจัดสรรงบประมาณด้านความปลอดภัยโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดูแลความปลอดภัยทั้งหมดของโรงงานก็เพื่อให้มั่นใจว่า “อุบัติเหตุเท่ากับศูนย์” นายชาญณรงค์  กล่าวสรุป


เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำ


เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำ


ทีมปฏิบัติการ DIW-team


ทีมระงับอัคคี spansion


ทีมระงับอัคคี spansion
« Last Edit: April 11, 2015, 07:08:39 PM by happy »