ผลการศึกษาล่าสุดของไอบีเอ็มระบุซีไอโอปัจจุบันมอง “ระบบวิเคราะห์ข้อมูล” สำคัญสุด
ผลสำรวจชี้ซีไอโอในอาเซียนล้วนมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมและการเติบโตในรูปแบบใหม่ๆ และยังมีบทบาทมากขึ้นในฐานะผู้บริหารระดับสูงขององค์กร
กรุงเทพฯ – 27 ตุลาคม 2552 – ไอบีเอ็มได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง หรือซีไอโอ (Chief Information Officer - CIO) กว่า 2,500 คนทั่วโลก รวมถึงซีไอโอ 86 คนจากภูมิภาคอาเซียน พบว่าเทคโนโลยีที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับซีไอโอคือ “การจัดการธุรกิจอัจฉริยะ” (Business Intelligence) และ “การวิเคราะห์ข้อมูล” (Analytics) ทั้งนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันและปรับปรุงการตัดสินใจทางด้านธุรกิจ โดย 83% ของซีไอโอทั่วโลก หรือ 87% ของซีไอโอในระดับอาเซียนที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า ระบบจัดการธุรกิจและวิเคราะห์ข้อมูลจะช่วยให้องค์กรมองเห็นรูปแบบของข้อมูลจำนวนมหาศาล สามารถกลั่นกรองข้อมูลดังกล่าวในเชิงลึกและนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร
ทั้งนี้รายละเอียดของผลการสำรวจดังกล่าว ได้ถูกนำมาเผยแพร่ในผลการศึกษาซีไอโอทั่วโลกประจำปี 2009 (IBM Global CIO Study 2009) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับซีไอโอครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยได้ทำการสัมภาษณ์ซีไอโอแบบตัวต่อตัว และรายงานผลการศึกษาดังกล่าวมีชื่อว่า “The New Voice of the CIO” ซึ่งในรายงานจะมีข้อมูลเชิงลึกและวิสัยทัศน์ของซีไอโอจาก 78 ประเทศใน 19 กลุ่มอุตสาหกรรม และจากองค์กรทุกขนาดในทุกระดับของการเติบโต โดยผลการศึกษาฉบับนี้เน้นย้ำถึงบทบาทเชิงกลยุทธ์ที่เพิ่มมากขึ้นของซีไอโอ ในฐานะผู้นำทางด้านวิสัยทัศน์และเผู้ผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการขยายธุรกิจให้เติบโต
นอกเหนือจากการมุ่งเน้นระบบวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) เพิ่มมากขึ้น ผลการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ยังเปิดเผยอีกด้วยว่า เสถียรภาพและความปลอดภัยของข้อมูล (Data Reliability and Security) เป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนมากขึ้น โดย 71% ของซีไอโอทั่วโลก (อาเซียน: 76%) มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมในด้านการบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฏระเบียบ (Risk Management and Compliance)
ประเด็นสำคัญอื่นๆ จากการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ได้แก่:
• ผู้บริหารระดับซีไอโอทั่วโลกยังคงเดินหน้าลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดย 76% (อาเซียน: 63%) กำลังดำเนินการหรือวางแผนเกี่ยวกับโครงการทางด้านการแบ่งปันทรัพยากร หรือเวอร์ช่วลไลเซชั่น (Virtualization)
• 76% ของซีไอโอทั่วโลก (อาเซียน: 74%) คาดการณ์ว่าจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบรวมศูนย์ที่แข็งแกร่งในช่วง 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของซีไอโอมีแผนที่จะปรับใช้ระบบจัดการขั้นตอนธุรกิจ (Business Process) ที่เป็นมาตรฐานและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง
• แม้จะมีต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบมาตรฐานดังกล่าว แต่ซีไอโอทั่วโลกก็ยังสามารถใช้เวลา 55% ไปกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการขยายธุรกิจให้เติบโต ส่วนงานทางด้านไอทีทั่วไป เช่น การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงาน ซีไอโอใช้เวลาเพียงแค่ 45 % เท่านั้น
“บรรดาซีไอโอหันมาลงทุนในระบบวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ เพื่อช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจในทุกระดับ” มร. เจฟฟรีย์ วิครีย์ รองประธานฝ่ายโกลบอล บิสซิเนส เซอร์วิส จาก ไอบีเอ็ม โกรธ มารเก็ตส์ ยูนิต ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลธุรกิจไอบีเอ็มในประเทศที่อยู่ในกลุ่มตลาดที่กำลังเติบโต (Growth Markets) กล่าว “นอกจากนี้ ในสภาวะเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทายนี้ ผู้บริหารระดับซีไอโอเข้าใจว่า การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการขยายธุรกิจในตลาดใหม่ๆ การจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลโดยอาศัยระบบวิเคราะห์ข้อมูล จึงเป็นสิ่งที่ซีไอโอกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน”
จากผลการศึกษาดังกล่าว ซีไอโอยังระบุถึงโครงการสำคัญๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ หรือมีแผนที่จะดำเนินการในอนาคต ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การปรับปรุงระบบงานไปจนถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มสถานะทางการเงินขององค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การจัดการธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence), ระบบวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) ระบบเวอร์ช่วลไลเซชั่น (Virtualization) และกรีนไอที (Green IT) สถาปัตยกรรมการบริการ (Service Oriented Architecture - SOA) การจัดการบริการ (Service Management) และระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) นอกจากนั้น ซีไอโอยังมุ่งเน้นโซลูชั่นแบบเคลื่อนที่ (Mobility) และระบบสื่อสารแบบครบวงจร (Communications) เครื่องมือสำหรับการทำงานร่วมกัน (Collaboration) และเครือข่ายทางสังคม (Social Networking) และโครงการเว็บ 2.0 (Web 2.0) เพื่อรองรับการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้า
ซีไอโอในอาเซียนได้รับการยอมรับในฐานะผู้บริหารระดับสูงที่มีบทบาทในการกำหนดกลยุทธ์ทางด้านธุรกิจ
นาง เมเรอร์ดิต อัควิน ผู้จัดการประจำประเทศไทย ไอบีเอ็ม โกลบอล บิสิเนส เซอร์วิสเซส เปิดเผยว่า ผู้บริหารระดับซีไอโอในอาเซียนมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกับซีไอโอจากภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของบทบาทในการกำหนดวิสัยทัศน์ การสร้างมูลค่า การชี้นำธุรกิจ การลงมือปฏิบัติ และการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ในขณะที่ซีไอโอในอาเซียนได้รับความสำคัญและไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียง “ผู้จัดการฝ่ายไอที” เท่านั้น “ซีไอโอในภูมิภาคอาเซียนต่างมุ่งเน้นในการวางแผนเกี่ยวกับวิสัยทัศน์สำคัญๆ ในอนาคต ซึ่งส่วนที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับซีไอโอจากอาเซียนและทั่วโลกคือการจัดการธุรกิจและการวิเคราะห์ข้อมูล ตามมาด้วยประเด็นเรื่องการบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฏระเบียบ โดยซีไอโอจากอาเซียนและทั่วโลกพยายามเข้าไปดูแลธุรกิจมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสามารถผสานรวมธุรกิจและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างจริงจัง เพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมให้องค์กร”
อย่างไรก็ตาม ซีไอโอในภูมิภาคอาเซียนได้รับการยอมรับในฐานะผู้บริหารระดับสูงในสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับซีไอโอจากทั่วโลก และมีส่วนร่วมในทุกด้านของการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร และมีบทบาทในการประสานงานร่วมกับผู้บริหารจากผ่ายอื่นๆ รวมถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และในฐานะผู้ประสานงานทางธุรกิจนี้เองทำให้ซีไอโอในอาเซียนสามารถกำหนดรูปแบบธุรกิจได้ดีกว่า และได้รับคำชื่นชมจากคณะผู้บริหารระดับสูงมากกว่าเมื่อเทียบกับซีไอโอจากทั่วโลก
นอกจากนี้ ซีไอโอขององค์กรในอาเซียนที่มีการเติบโตสูง เมื่อเทียบกับองค์กรที่มีการเติบโตต่ำ จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพของบริการทางด้านธุรกิจและไอทีจากองค์กรภายนอกเพื่อเพิ่มความคล่องตัวของธุรกิจได้ดีกว่า และยังเข้าใจความต้องการของพนักงานและลูกค้าอย่างลึกซึ้ง โดยซีไอโอเหล่านี้มีแผนที่จะพัฒนาช่องทางใหม่ๆ ภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า และมีแนวโน้มที่จะใช้เวลามากขึ้นไปกับการพัฒนาวิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจขององค์กร ในขณะที่ซีไอโอขององค์กรในอาเซียนที่มีการเติบโตต่ำจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย กล่าวคือ จะใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นในการจัดหาบริการด้านเทคนิค และเชื่อมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบรวมศูนย์มากกว่า
“ผลการสำรวจชี้ชัดว่าบทบาทของซีไอโอกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก” นางเมเรอร์ดิต กล่าวเพิ่มเติม “ซีไอโอกำลังพยายามไปให้ถึงเป้าหมายในสามด้าน คือ การสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง การเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนด้านไอที และการขยายบทบาททางธุรกิจ หรือกล่าวได้ว่า ซีไอโอพยายามที่จะปรับเปลี่ยนระบบงานต่างๆ ให้สอดคล้องตามมาตรฐาน และลดความซับซ้อนของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเพื่อลดค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงมีความสนใจเพิ่มมากขึ้นในเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง และซีไอโอเหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นในการผลักดันรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เช่น ระบบกริด ระบบขนส่งอัจฉริยะ หรือระบบซัพพลายเชนด้านอาหารที่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ซีไอโอเหล่านี้ใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นในการกระตุ้นการเติบโตขององค์กรในรูปแบบใหม่ๆ”
หนึ่งในซีไอโอของไทยที่ร่วมตอบแบบสอบถามในครั้งนี้ นายจรัมพร โชติกเสถียร รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จากผลสำรวจจะเห็นได้ชัดว่า ปัจจุบันไอทีได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจธนาคาร โดยซีไอโอที่ประสบความสำเร็จจะมีส่วนร่วมอย่างมากในการกำหนดกลยุทธ์ การสร้างความยืดหยุ่นและความเปลี่ยนแปลงให้องค์กร รวมถึงการแก้ไขปัญหาทางด้านธุรกิจ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้แก้ปัญหาทางด้านไอทีเท่านั้น ปัจจุบันซีไอโอทั่วโลก รวมถึงซีไอโอในภาคธุรกิจธนาคารในประเทศต่างๆ ต่างใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้องค์กร เช่น การจัดทำแผนจัดซื้อเทคโนโลยีเพื่อรองรับนวัตกรรม การปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และการเชื่อมโยงไอทีเข้ากับธุรกิจ”
ทั้งนี้ นายจรัมพรกล่าวเสริมว่า จากผลการสำรวจความคิดเห็นของซีไอโอทั่วโลก สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ธนาคารไทยพาณิชย์กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน “กลยุทธ์หลักของเราคือ การเพิ่มผลกำไรด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาดในช่วงเวลาที่เหมาะสมและการให้บริการอย่างไร้ที่ติ และการบริหารความเสี่ยงอย่างแข็งแกร่ง เพื่อการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องสำหรับอนาคต ทั้งหมดนี้เพื่อตอบโจทย์ของธนาคารไทยพาณิชย์ในการเป็นธนาคารชั้นนำที่ให้บริการอย่างครบวงจร หรือเป็น The Premier Universal Bank ของไทยในปัจจุบัน”
เกี่ยวกับผลการศึกษาซีไอโอประจำปี 2009 ของไอบีเอ็ม
ผลการศึกษาซีไอโอประจำปี 2009 (2009 CIO Study) เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาเกี่ยวกับผู้บริหารระดับสูง (C-Suite Study Series) ของไอบีเอ็ม ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดย IBM Institute for Business Value ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รายการผลการศึกษาเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกต่างๆ แก่ผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร ได้แก่ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เป็นต้น โดยผลการศึกษาซีไอโอครอบคลุมการสัมภาษณ์ซีไอโอแบบตัวต่อตัวกว่า 2,500 คน โดยดำเนินการในช่วงระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ เดือน มกราคม - เมษายน ในปี 2009 นอกเหนือจากรายละเอียดข้อคิดเห็นแล้ว ไอบีเอ็มยังได้ระบุดัชนีชี้วัดด้านการเงิน พร้อมด้วยข้อมูลวิเคราะห์เชิงสถิติสำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นในแต่ละประเด็น นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังประกอบด้วยคำแนะนำต่างๆ เช่น การดำเนินการทางด้านธุรกิจ และการใช้เทคโนโลยีสำคัญๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นของซีไอโอ ผลการศึกษาซีไอโอประจำปี 2009 ฉบับสมบูรณ์พร้อมบทสัมภาษณ์ สามารถเข้าดูได้ที่
www.ibm.com/ciostudy