MSN on October 13, 2014, 03:14:34 PM
“เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งฯ-เทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่” คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นปี 57 มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

“เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งฯ-เทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่” คว้ารางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2557” ด้านประธานคณะกรรมการรางวัลฯ ระบุ สิ่งสำคัญที่ทำให้ไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางคือ“การสร้างสมรรถนะและความสามารถของประเทศ” จากการสร้างนักวิจัยเพื่อผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ภาคการผลิต

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงการจัดให้มีการมอบรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น” และรางวัล “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่” ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ว่า เพื่อให้คนในสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์ และหวังว่ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ จะเป็น“แรงกระตุ้น”ให้นักวิจัยไทยมีกำลังใจในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆของประเทศ รวมถึงเป็นเป้าหมายให้เยาวชนไทยมุ่งพัฒนาตนให้เป็นกำลังสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไปในอนาคต

รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผงาดตัวจากประเทศรายได้ปานกลาง(Middle Income Trap)  ขึ้นมาเป็นประเทศฐานะร่ำรวยและดีดตัวหลุดพ้นจากกับดักได้สำเร็จ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันโดยเน้น “การสร้างสมรรถนะและความสามารถของประเทศ” โดยเฉพาะตอบโจทย์ภาคการผลิตในธุรกิจ SME ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 90% ของประเทศ ที่อยู่ในรูปแบบของเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ ซึ่งนอกจากการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนที่จะเอื้อต่อการพัฒนา SME ของไทยแล้ว การผลิตงานวิจัยสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์ภาคการผลิตของธุรกิจ SME เป็นสิ่งสำคัญอีกประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ควรมองข้าม

ทั้งนี้ ปัญหาหลักของภาคการผลิตของไทยในปัจจุบันคือ การขาดหน่วยงานบริการด้านองค์ความรู้ที่เข้มแข็งเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงการผลิตนวัตกรรมที่สามารถลดต้นทุนและส่งเสริมผลิตภาพ (Productivity) ภายใต้แบรนด์นักวิจัยไทย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งในทุกภาคส่วนของการผลิต ส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและสร้างทางรอดอันยั่งยืนในตลาดอาเซียน ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การมอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ จึงเป็นแรงผลักดันอีกช่องทางหนึ่ง ที่ต้องการขับเคลื่อนงานวิจัยให้มีบทบาทในยุทธศาสตร์การสร้างสมรรถนะและความสามารถของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้นักวิจัยมีเป้าหมายในการทำงานมากยิ่งขึ้น โดยมีความเป็นเลิศในงานวิจัยทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ 

สำหรับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2557 ประเภทกลุ่ม ได้แก่ ดร.วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมง และคณะ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพื่อความมั่งคงและความปลอดภัยทางด้านอาหาร เข้ามาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงต้นแบบกลุ่ม“ปลากะรัง” 3 ชนิด ได้แก่ ปลากะรังจุดฟ้า ปลากะรังเสือ และปลาหมอทะเล เพื่อให้มีอัตราการรอดตายสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรลดปริมาณนำเข้าลูกพันธุ์จากต่างประเทศ หลังพบว่าปลาในกลุ่มนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นที่นิยมในตลาดประเทศค่อนข้างสูง  ส่วนรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2557 ประเภทบุคคล ได้แก่ รศ.ดร.เจษฎา วรรณสินธุ์ ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยนำเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ ซึ่งเป็นกระบวนการหล่อโลหะที่ช่วยลดปัญหาเรื่องอายุแม่พิมพ์และเวลาที่ใช้ในการผลิตน้อยลง เพื่อตอบโจทย์ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมของเล่น ซึ่งการนำเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ มาใช้ในอุตสาหกรรมโลหะจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่โรงงานไม่ต่ำกว่า 10 % โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้มีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์และส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย

ขณะที่รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2557 ประเภทบุคคล ได้แก่ 1.ดร.ปราการเกียรติ ยังคง สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากผลงานวิจัยเรื่อง SensibleTAB หุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขน และ 2. ดร.บรรพท ศิริเดชาดิลก หน่วยเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จากผลงานวิจัยเรื่อง วิธีการสร้างไวรัสจำพวก positive-sense RNA ที่ง่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ทางพันธุกรรม

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การก้าวกระโดดขึ้นเป็นผู้นำในแวดวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการนำยุทธศาสตร์และองค์ความรู้ของนักวิจัยที่มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการตอบโจทย์ความต้องการของทิศทางการเคลื่อนไหวในตลาดโลกมาใช้ในเชิงพาณิชย์ให้ได้มากที่สุด อันเป็นการส่งเสริม SME ไทยและภาคการผลิตให้ก้าวเข้าสู่ตลาดการแข่งขันทางการค้าอย่างแข็งแรงได้ รวมทั้งการที่ทุกฝ่ายช่วยกันเสริมจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็ง ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือการเกิดความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยและการดีดตัวหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จ
« Last Edit: October 13, 2014, 09:45:43 PM by MSN »

MSN on October 13, 2014, 09:50:05 PM
นักวิจัย BIOTEC ใช้เทคนิค Gibson Assembly ดัดแปลงพันธุกรรมไวรัส มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

นักวิจัย BIOTEC ประสบความสำเร็จนำเทคนิค Gibson Assembly ตัดต่อพันธุกรรมไวรัสเด็งกี่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนายา-วัคซีนที่ควบคุมการระบาดโรคไข้เลือกออก พบสามารถสร้างไวรัสจาก DNA ได้กว่า 10 ชิ้นในครั้งเดียว ช่วยย่นระยะเวลาและขั้นตอนที่ซับซ้อน รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในงานวิจัย

ดร.บรรพท ศิริเดชาดิลก นักวิจัยหน่วยเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) เจ้าของรางวัล “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประเภทบุคคล ประจำปี 2557” จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรม (recombinant DNA technology) โดยระบุว่า มีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาชีววิทยาของไวรัสรวมทั้งการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัส ซึ่งการใช้เทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรมในการเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมของไวรัสอย่างจำเพาะเจาะจง เพื่อศึกษาว่ายีนของไวรัสที่ถูกเปลี่ยนไปมีบทบาทอย่างไรต่อวงจรชีวิตของไวรัสในแง่ต่างๆ เช่น การเพิ่มจำนวนของไวรัส การหลบหลีกหรือต่อสู้กับการโจมตีของระบบภูมิคุ้มกัน การต้านยาชนิดต่างๆ และการแพร่กระจายและวิวัฒนาการของไวรัส

ซึ่งงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันเป็นการศึกษาการตัดต่อพันธุกรรมของไวรัสเด็งกี่ (Dengue virus) ซึ่งเป็นเชื้อต้นเหตุที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกโดยมียุงลายเป็นพาหะสำคัญ ข้อมูลในด้านสาธารณสุขของไทยในแต่ละปีพบว่ามีอัตราผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และถูกจัดให้เป็น 1 ใน10 โรค ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากการดัดแปลงพันธุกรรมของไวรัสเด็งกี่ทำได้ยาก ทำให้เป็นอุปสรรคในการนำเทคนิคมาใช้พัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหานี้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการศึกษาไวรัสเด็งกี่และการพัฒนาวัคซีน

ทางทีมวิจัยได้มีการนำเทคนิค Gibson Assembly มาทดลองประยุกต์ใช้กับการตัดต่อพันธุกรรมของไวรัสเด็งกี่ โดยนำมาใช้ประกอบชิ้น DNA ของไวรัสดังกล่าว เมื่อ DNA ที่ถูกประกอบขึ้น แล้วนำเข้าสู่เซลล์เจ้าบ้าน ส่งผลให้ DNA ของไวรัสถูกแปลงเป็น viral RNA หรือสารพันธุกรรมของเด็งกี่ไวรัส ที่สามารถเพิ่มจำนวนและสร้างอนุภาคไวรัสใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งการทดสอบเบื้องต้นพบว่าเทคนิค Gibson Assembly มีประสิทธิภาพสูง สามารถสร้างไวรัสจาก DNA ได้ถึง 11 ชิ้น ในขั้นการตัดต่อครั้งเดียว โดยไม่ต้องใช้ E. coli (Escherichia coli) ในการสร้าง infectious-clone plasmid ทำให้สามารถลดขั้นตอน ความซับซ้อนของการตัดต่อพันธุกรรม ย่นระยะเวลาให้ทำได้ภายใน 2 สัปดาห์ จากวิธีการเดิมที่ใช้ระยะเวลานานนับเดือนรวมทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายในงานวิจัย ซึ่งเทคนิคนี้สามารถนำไปต่อยอดในการใช้วิเคราะห์หรือต้องการผลในปริมาณมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ จากความสำเร็จของทีมวิจัยกับการพัฒนาการใช้เทคนิค Gibson Assembly ในการดัดแปลงพันธุกรรมไวรัส ทีมวิจัยจึงได้นำเทคนิคดังกล่าวไปสร้างไวรัสลูกผสมระหว่างไวรัส 2 สายพันธุ์โดยการสลับชิ้นยีนของไวรัสทั้งสอง เพื่อวิเคราะห์ว่ายีนไหนที่กำหนดลักษณะเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์ โดยพบว่าสามารถสร้างและวิเคราะห์ไวรัสลูกผสมขึ้น 64 ตัวในระยะเวลา 3-4 เดือน ซึ่งการวิเคราะห์ไวรัสจำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากไวรัสเหล่านี้สามารถถูกสร้างได้จากการใช้ชิ้น DNA สองชุดของไวรัสแต่ละชนิดมาประกอบกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างไวรัสลูกผสมได้หลากหลายโดยไม่ต้องอาศัยการออกแบบหรือเพิ่มขั้นตอนที่ซับซ้อนอย่างในอดีต จากเทคนิคดังกล่าว นำไปสู่การวิจัยศึกษาไวรัสเด็งกี่ในแง่มุมต่างๆ อาทิ การพัฒนาเทคนิคการสร้างเชื้ออ่อนฤทธิ์แบบใหม่เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนไข้เลือดออก การศึกษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างภูมิคุ้มกันและไวรัส การศึกษากลไกของสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ดร.บรรพท กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตอยากต่อยอดงานวิจัยในด้านนี้ด้วยการเก็บรวบรวมสร้างเป็น virus libraries เพื่อง่ายต่อการค้นหารหัสพันธุกรรมของไวรัสแต่ละตัว ซึ่งตนคาดหวังว่าเทคนิคเหล่านี้จะทำให้นักไวรัสวิทยาเข้าใจในธรรมชาติของไวรัสมากขึ้น และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนายาหรือวัคซีนที่ควบคุมการระบาดของโรคได้ในอนาคต

MSN on October 13, 2014, 09:52:15 PM
นักวิจัย มอ.คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นปี 57 จากเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอรี่ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

นักวิจัย มอ.ใช้เวลากว่า 11 ปี คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอรี่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมโลหะ เพื่อแก้ปัญหาและลดข้อจำกัดขั้นตอนการหล่อโลหะแบบเดิม พร้อมระบุช่วยลดต้นทุนให้โรงงานไม่ต่ำกว่า 10%

รศ.ดร.เจษฎา วรรณสินธุ์ ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ และอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น ประเภทบุคคล ประจำปี 2557” จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอรี่ (Slurry Metal Casting Technology) ว่า เป็นงานวิจัยที่มีการคิดค้นและพัฒนามากว่า 11 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาและลดข้อจำกัดของกระบวนการหล่อโลหะแบบเดิม ที่ใช้วิธีหล่อด้วยน้ำโลหะที่มีอุณหภูมิสูงและการหล่อโลหะแบบกึ่งของแข็ง ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถประยุกต์ใช้กับเครื่องหล่อฉีดชิ้นส่วนอะลูมิเนียม (Aluminum Die Casting) ได้อย่างง่าย โดยไม่ต้องทำการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร แม่พิมพ์ และกระบวนการผลิตที่ใช้อยู่แล้ว เพื่อช่วยให้สามารถหล่อฉีดชิ้นส่วนอะลูมิเนียมได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำลงและมีคุณภาพสูงขึ้น

ทั้งนี้ การหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ใช้อุณหภูมิหลอมเหลวที่ต่ำ ทำให้พลังงานที่ใช้ในการหลอมโลหะลดลงประมาณ 25% ทำให้ประหยัดต้นทุนการผลิตเนื่องจากช่วยยืดอายุแม่พิมพ์ที่ใช้ในการหล่อเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า รวมทั้งช่วยลดปัญหาเรื่องการเกิดการไหลปั่นป่วน (Turbulent flow) และลดปัญหาการเกิดโพรงหดตัวในตอนสุดท้าย (Shrinkage) ทำให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพสูง และอัตราการผลิตเพิ่มขึ้น 25% ส่งผลให้ใช้เวลาในการผลิตแต่ละชิ้นสั้นลง นอกจากนี้ความหนืดของสเลอร์รี่ที่มากกว่าน้ำโลหะทำให้การไหลราบเรียบขึ้นและการหดตัวลดลง ส่งผลให้ชิ้นงานโลหะที่ผลิตได้มีคุณภาพดีขึ้นและมีของเสียลดลง ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับโลหะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น โลหะบริสุทธิ์ หรือ โลหะผสมทุกเกรด เช่น โลหะผสมกลุ่มที่ประกอบไปด้วยดีบุก สังกะสี อะลูมิเนียม ทองแดง เหล็ก หรือ เงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถผลิตชิ้นส่วนจากโลหะชนิดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในราคาต้นทุนที่ต่ำลง

รศ.ดร.เจษฎา ระบุว่า จากอัตราการเติบโตในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ยังมีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมของเล่น ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เช่น ล้อแม็ก พวงมาลัย ชิ้นส่วนมอเตอร์ ชิ้นส่วนปั้ม ฝาครอบโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ทำให้ผู้ผลิตต้องมีการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งการนำเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอรี่มาใช้ในอุตสาหกรรมโลหะจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่โรงงานไม่ต่ำกว่า 10 % ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้ยื่นจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว 

ในปัจจุบันวงการอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้นำผลงานจากเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์แล้ว โดยผ่านทางบริษัท กิสโค จำกัด บริษัทที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในการผลิตแล้ว ได้แก่ บริษัท P.C.S. Die Casting (PCSGH Group) กลุ่มบริษัทซัมมิท บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของญี่ปุ่น และบริษัทผลิตชิ้นงานอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น นอกจากนี้เทคโนโลยีนี้กำลังขยายตลาดไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปอีกด้วย

นอกจากนี้ รศ.ดร.เจษฎา ยังได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในวงการแพทย์ โดยร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยการพัฒนาและผลิตขาเทียมใต้เข่าที่มีน้ำหนักเบาคุณภาพสูงให้แก่ผู้พิการขาขาด โดยขาเทียมที่ผลิตได้ผ่านการทดสอบแบบ Cyclic จำนวน 2,000,000 รอบ ซึ่งปัจจุบันได้มีการผลิตและบริจาคให้กับผู้พิการใช้งานได้จริง สามารถลดการนำเข้าขาเทียมจากต่างประเทศเป็นมูลค่าหลายล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เจษฎา กล่าวทิ้งท้ายว่า การก้าวกระโดดขึ้นเป็นผู้นำในแวดวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้งเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของทิศทางการเคลื่อนไหวในตลาดโลกที่จะนำเทคโนโลยีไทยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยด้วย

MSN on October 13, 2014, 09:59:46 PM
นักวิจัย FIBO ใช้ สหศาสตร์ พัฒนา SensibleTAB มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

นักวิจัยFIBOประสบความสำเร็จนำสหศาสตร์หุ่นยนต์ผนึกเทคนิคทางการแพทย์ พัฒนา SensibleTABหุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขนของผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวอันเนื่องมาจากความผิดปกติของระบบประสาทและการฝึกคลำวัตถุเสมือนตามแนวทางการฟื้นฟูแบบ cognitive sensory motor training therapy เป็นวิธีการฟื้นฟูแบบใหม่ตามหลักวิชาประสาทสรีระวิทยาช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูการรับรู้และสั่งการแขนลดการพิการทางสมองลดการนำเข้าหุ่นยนต์ฟื้นฟูประเภทเดียวกันจากต่างประเทศราคาแพงจาก 10 ล้านเหลือเพียง 4 ล้าน

การฟื้นฟูความสามารถในด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย หลังการได้รับบาดเจ็บทางสมอง หรือหลังการป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่เป็นสาเหตุของความพิการถาวร และพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ประกอบกับสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าการฟื้นฟูโดยการฝึกการเคลื่อนไหวให้ตรงลักษณะการเคลื่อนไหวให้ตรงลักษณะการใช้งานในชีวิตประจำวัน (high repetition, task specific training therapy)เป็นทางที่ได้ผลดีที่สุด แต่การฝึกโดยใช้คนช่วยฝึกมีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถช่วยฝึกแบบซ้ำๆ ได้มากพอ และไม่สามารถป้อนกลับผลการเคลื่อนไหวในรายละเอียดได้เท่าที่ต้องการ จึงได้มีการผลิตเครื่องหุ่นยนต์ช่วยฝึกการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ออกมาสู่ตลาดโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ถึงแม้จะมีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าหุ่นยนต์บางแบบให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการฝึกหัดฟื้นฟูการเคลื่อนไหวโดยใช้คนช่วย แต่ทว่าเครื่องที่นำเข้ามามักมีราคาสูงถึงสิบล้านบาทและยังไม่มีหุ่นยนต์แบบใดที่สามารถทำการฝึกเพื่อฟื้นฟูการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อต่างๆ

ดร.ปราการเกียรติ ยังคง อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)เจ้าของรางวัล “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประเภทบุคคล ประจำปี 2557” จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์เปิดเผยถึงงานวิจัยเกี่ยวกับ“SensibleTAB”หุ่นยนต์ฟื้นฟูเพื่อการเคลื่อนไหวแขนอันเนื่องมาจากระบบประสาทผิดปกติว่า เครื่องมือทางการแพทย์ที่นำเข้ามาใช้งานด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูทางสมอง นอกจากปัญหาเรื่องของราคาแพงแล้วยังมีข้อจำกัดไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการฟื้นฟูในระดับสูงที่มีความจำเพาะเจาะจงได้ เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งซีก แขนข้างที่ไม่ดีจะไม่มีความรู้สึก เมื่อความรู้สึกไม่มีการจะฝึกเรื่องการเคลื่อนไหวย่อมไม่เกิดผลดี จำเป็นต้องฝึกการรับรู้ความรู้สึกก่อน แต่ก็ยังไม่มีเครื่องมือใดที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อฝึกการรับรู้ความรู้สึก จึงได้มีการผลิตนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยการฝึกการเคลื่อนไหวแขนด้วยวิธีการฟื้นฟูแบบใหม่ตามหลักวิชาประสาทสรีระวิทยาสมัยใหม่ซึ่งแนวคิดนี้ทางทีมงานได้รับโจทย์มาจาก ผศ.นพ.ภาริส วงศ์แพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่เล็งเห็นความจำเป็นของการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูโดยเฉพาะการฟื้นฟูทางสมอง จึงนำมาสู่การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวขึ้นร่วมกัน

“ โดย SensibleTAB ที่คิดค้นขึ้นนี้ใช้ระยะเวลาในการออกแบบและพัฒนานานกว่า 5 ปี ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ฝีมือคนไทยที่เกิดจากการนำศาสตร์หลายสาขา ที่เรียกว่า สหศาสตร์ มาพัฒนาเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย ศาสตร์ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า เครื่องกลและวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Advanced Control ผนึกกับการออกแบบ และวิทยาการด้านการแพทย์ ถึงแม้ว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นนี้จะไม่ใช่ศาสตร์ความรู้ใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการประยุกต์นำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”  ดร.ปราการเกียรติ กล่าว

นอกจากนี้ ดร.ปราการเกียรติ ยังได้อธิบายถึงหลักการทำงานของ “SensibleTAB” ว่า หุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขนนี้ได้รับการออกแบบให้มีโครงสร้างที่มีความซับซ้อนต่ำ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น สามารถปรับแก้ไขได้ง่ายและใช้งบประมาณในการพัฒนาได้อย่างคุ้มค่า จึงได้เลือกที่จะสร้างเครื่อง SensibleTAB ให้มีลักษณะของโครงสร้างเป็นหุ่นยนต์บนโต๊ะระนาบแบบ 3  Degree of Freedom (DOF) ที่สามารถปรับให้เอียงได้ตามรูปแบบการฝึก โดยทีมงานซึ่งประกอบด้วย แพทย์ วิศวกรและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้ร่วมกันคิดค้นจนได้แนวทางการพัฒนาหุ่นยนต์ฟื้นฟูให้มีฟังก์ชั่นการฟื้นฟูได้ตามต้องการและหลากหลาย รองรับการฝึกการเคลื่อนไหวแขนของผู้ป่วยได้ทั้งในแบบ Passive, Assistive และ Resistive ทำให้สามารถใช้งานกับผู้ป่วยได้เกือบทุกระดับความรุนแรง

ลักษณะเด่นของ SensibleTAB อยู่ที่ระบบตรวจวัดแรงกระทำของมือผู้ป่วยที่มีความไวสูง และความสามารถในการจำลองสภาพแวดล้อมเสมือน (Virtual Environment) ต่างๆ ที่ใช้ในการฝึกผู้ป่วยได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การจำลองสภาพไร้น้ำหนักและแรงเสียดทาน การจำลองวัตถุเสมือนและอุปกรณ์ต้านการเคลื่อนที่ เช่น สปริง แดมป์เปอร์ แรงเสียดทานคงที่ขนาดต่างๆ ทั้งนี้ยังได้ออกแบบส่วนต่อประสานกราฟฟิกกับผู้ใช้ผ่านหน้าจอสัมผัส ทำให้นักกายภาพบำบัดสามารถทำงานได้อย่างสะดวก ปลอดภัยและสามารถทำการประเมินและเก็บบันทึกค่าการเคลื่อนไหวที่ต้องการได้โดยละเอียด เช่น ระยะเอื้อมและความเร็วในการเคลื่อนไหวแขน เป็นต้น

“SensibleTAB เป็นโต๊ะหุ่นยนต์ที่ใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวแขนของผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวอันเนื่องมาจากความผิดปกติของระบบประสาท และเป็นอุปกรณ์ที่สามารถตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวตามหลักการ Sensory Retraining ควบคู่กับการฝึกการรับความรู้สึกแบบ Perfetti ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวแขนของผู้ป่วย หุ่นยนต์ตัวนี้จึงเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้นักกายภาพบำบัด สามารถทำการฟื้นฟูผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความแม่นยำสูง สิ่งที่ทำให้ SensibleTAB พิเศษและแตกต่างจากหุ่นยนต์ฟื้นฟูที่มีอยู่เดิม คือ การช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฝึกคลำวัตถุเสมือนได้ตามแนวทางการฟื้นฟูแบบ Cognitive Sensory Motor Training ซึ่งเป็นวิธีการฟื้นฟูแบบใหม่ที่ได้มีผลงานวิจัยยืนยันถึงประสิทธิภาพในการรักษาฟื้นฟูและลดความพิการของผู้ป่วยทางสมอง ช่วยกระตุ้นให้สมองมีการทำงานเพิ่มขึ้นได้ดีกว่าวิธีปกติ จึงถือได้ว่าเป็น “นวัตกรรมระดับโลก”

ทั้งนี้ SensibleTAB ได้รับการยอมรับจากทางการแพทย์ โดยได้มีการตีพิมพ์ลงในวารสารนานาชาติถึงผลการทดลองใช้งานจริงกับผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของระบบประสาทเฉลี่ย 9 – 10 เดือน ซึ่งทางการแพทย์ถือเป็นผู้ป่วยเรื้อรังหรือผู้ป่วยถาวรที่แพทย์ยอมรับว่ายากต่อการฟื้นฟูจำนวน 12 คน  โดย 9 คน ใน 12 คนที่ใช้บริการแล้วเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ในทางการแพทย์จึงเชื่อว่า การฟื้นฟูด้วยหุ่นยนต์ในลักษณะนี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ SensibleTAB ถูกไปใช้จริงกับผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ครั้ง ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ในช่วงระยะเวลาพียง 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสังคม ปัจจุบัน คณะผู้วิจัยมีแผนที่จะนำ SensibleTAB ไปขยายผลการใช้งานเพิ่มเติมกับสถานพยาบาลอื่นๆ อีก เช่นสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย บางปู จังหวัดสมุทรปราการ

ผลงานวิจัยนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการตอบโจทย์ของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตเรื้อรัง และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือบาดเจ็บทางสมองที่มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีกนอกจากผลงานวิจัยพัฒนา SensibleTAB หุ่นยนต์ฟื้นฟูเพื่อการเคลื่อนไหวแขนอันเนื่องมาจากความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาตแล้ว ดร.ปราการเกียรติและทีมงาน ยังคงเดินหน้าพัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของมนุษย์ต่อไป อาทิ TailGait และ GaitTrack ซึ่งเป็นระบบวิเคราะห์การเดินที่ช่วยให้แพทย์สามารถอ่านค่าแรงและตัวแปรเชิงระยะและเวลาที่เกี่ยวข้องกับการเดิน ไม่ว่าจะเป็นระยะก้าว เวลาที่ใช้ในการก้าว และอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตรวจวัดค่าทางไกลได้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถส่งข้อมูลความผิดปกติมายังแพทย์ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาด้วยตนเอง

MSN on October 13, 2014, 10:01:28 PM
คณะนักวิจัยประมงคว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นปี 57 จากเทคนิคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

คณะนักวิจัยประมงประสบผลสำเร็จพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เผยเทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้มีผลผลิตสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ระบุช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมง และคณะ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าของรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น ประเภทกลุ่ม ประจำปี 2557” จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพื่อความมั่งคงและความปลอดภัยทางด้านอาหาร โดยระบุว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นการมุ่งปรับปรุงและพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยง “ปลากะรัง” หรือที่รู้จักกันในชื่อของ“ปลาเก๋า”ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจที่ตลาดต่างประเทศในแถบเอเชียอย่างจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ มีความต้องการบริโภคสูงแต่การเพาะพันธุ์ตลอดจนการอนุบาลลูกปลาในกลุ่มนี้เป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากปลาส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มีการเปลี่ยนเพศ โดยในช่วงแรกของชีวิตจะเป็นเพศเมีย เมื่อมีอายุ 4-6 ปีจะเปลี่ยนเพศเป็นเพศผู้ ขึ้นอยู่กับชนิดของปลากะรัง และปากของลูกปลาวัยอ่อนมีขนาดเล็ก ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรนิยมนำลูกปลากะรังจากธรรมชาติมาเลี้ยง แต่ลูกปลาที่ได้มีปริมาณไม่แน่นอน มีหลายขนาด และการรวบรวมลูกปลาต้องใช้ระยะเวลาทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่แน่นอน ส่งผลให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

ด้วยเหตุผลดังกล่าวคณะนักวิจัยจึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาต้นแบบการผลิตพันธุ์กลุ่มปลากะรัง 3 ชนิด ได้แก่ ปลากะรังจุดฟ้า ปลาเก๋าเสือ และปลาหมอทะเล ให้มีอัตราการรอดตายสูงขึ้นเพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรและลดปริมาณนำเข้าลูกพันธุ์จากต่างประเทศโดยได้ศึกษาปัจจัยต่างๆทั้งด้านการจัดการด้านเทคนิค และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมโดยมีขั้นตอนงานวิจัยเริ่มตั้งแต่ 1. การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้สมบูรณ์พร้อมที่จะเพาะพันธุ์ 2. การพัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์ปลาแต่ละชนิด 3. การพัฒนาเทคนิคการอนุบาล ลูกปลาแต่ละชนิด และ 4. การพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคที่เกิดจาก Viral Nervous Necrosis (VNN) ด้วยเทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโนดะ (Nodavirus) โดยเชื้อดังกล่าวมีผลทำลายเซลล์ประสาทของปลา รวมทั้งให้บริการเกษตรกรในการตรวจวินิจฉัยโรคที่เกิดจาก VNN เนื่องจากไวรัสชนิดนี้มีการแพร่เชื้อในแนวดิ่งจากพ่อแม่สู่ลูก การป้องกันโรคจึงต้องใช้พ่อแม่พันธุ์ปลาที่ไม่เป็นพาหะของโรค การคัดเลือกลูกปลาที่ปราศจากเชื้อไวรัส จึงควรตรวจสอบสุขภาพปลาและตรวจหาเชื้อไวรัส VNN ก่อนนำไปเลี้ยง

นอกจากนี้ ดร.วารินทร์และคณะ ยังมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งโดยได้วิจัยและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งงานวิจัยที่ทำควบคู่กันไปมีหลายอย่าง อาทิ 1. เทคโนโลยีการผลิตลูกพันธุ์ปูม้า ซึ่งเป็นการฟักไข่ปูม้าจากตับปิ้งของแม่ปูไข่นอกกระดอง หลังพบว่า ไข่นอกกระดองของปูม้าที่ชาวประมงจับมาได้จะถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์เป็นการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำไปอย่างน่าเสียดาย คณะวิจัยยังได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพันธุ์ปูม้าค่อนข้างสมบูรณ์ เนื่องจากมีการศึกษาปัจจัยต่างๆเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการอนุบาลลูกปูม้าอย่างเป็นระบบทั้งในเรื่องอาหารการให้อาหาร  การจัดการด้านเทคนิค การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนต้นทุนการผลิตลูกปูระยะ young crab เชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆมากมาย 2. การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต Surrogate broodstocks ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คณะนักวิจัยไทย โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการถ่ายเซลล์สืบพันธุ์ของปลาชนิดหนึ่งไปสู่ปลาอีกชนิดหนึ่งเพื่อให้เป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับการเพาะเลี้ยง โดยคณะวิจัยได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้ในการถ่ายเซลล์สืบพันธุ์ของปลาหมอทะเลให้กับปลากะรังเสือ เพื่อให้ปลากะรังเสือทำหน้าที่เป็นพ่อแม่พันธุ์แทนปลาหมอทะเล เนื่องจากปลากะรังเสือเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก ใช้ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์น้อยกว่าปลาหมอทะเล เทคโนโลยีนี้จะช่วยย่นระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงปลาหมอทะเลให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ 3. การปรับปรุงพันธุ์ปลากะพงขาว โดยการรวบรวมสายพันธุ์จากแหล่งต่างๆทั้งหมด 91 ตัว โดยมีข้อมูล DNA และถูกฝัง microchip ทุกตัว แล้วเลี้ยงรวมกัน เพื่อให้เกิดการผสมพันธุ์และวางไข่ในปริมาณมาก ลูกพันธุ์ที่ได้จะถูกนำไปทดสอบคุณสมบัติต่างๆที่ต้องการ  จากการตรวจ DNA ของลูกพันธุ์ทำให้ตรวจย้อนไปถึงพ่อแม่พันธุ์  คุณลักษณะที่ปรับปรุงในอันดับแรก คือ ความทนทานต่อสภาพออกซิเจนต่ำ 4. การปรับปรุงพันธ์กุ้งขาวแวนนาไม โดยรวบรวมกุ้งที่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมจากแหล่งต่างๆมาเลี้ยง ภายใต้สภาพปลอดเชื้อเพื่อสร้างความหลากหลายของสายพันธุ์และคัดเลือกสายพันธุ์กุ้งที่มีคุณลักษณะที่ดี ซึ่งการวิจัยและพัฒนายังอยู่ระหว่างดำเนินการ และ 5. การพัฒนาวิธีการตรวจสอบสารเคมีอันตรายเพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนในสินค้าประมง ภายใต้เทคนิคที่รวดเร็วและค่าใช้จ่ายต่ำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกโดยลดข้อกีดกันทางการค้าจากการผลิตสินค้าสัตว์น้ำที่มีความปลอดภัยต่อการบริโภคโดยเฉพาะการเฝ้าระวังการใช้สารเคมี Malachite green (MG) ซึ่งเป็นสารเคมีที่เคยใช้ในกิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการกำจัดโปรโตซัว เชื้อรา และแบคทีเรีย โดยสารดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็งและมีความเป็นพิษสูง จึงมีการห้ามใช้กับสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค

อย่างไรก็ตาม ดร.วารินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันปริมาณสัตว์น้ำจากทะเลลดน้อยลง ดังนั้นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญของเกษตรกรที่จะเพิ่มผลผลิตทดแทนและเกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ โดยคาดว่าเทคโนโลยีจากงานวิจัยดังกล่าวจะทำให้มีผลผลิตสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้นประมาณ 5% และเป็นการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ