happy on May 10, 2014, 02:49:23 PM
กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับ มจธ. พัฒนาผ้าทอ OTOP ภาคเหนือนำร่องอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน


ผ้าทอOTOP ในภาคเหนือ  เป็นสินค้าเชิงวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เช่น ผ้าทอมือผ้าฝ้ายผ้าลายพื้นเมืองเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความประณีตเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น รวมทั้งมีประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกเรื่องราวในอดีตได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากสินค้าผ้าทอ OTOP นี้ได้รับการยกระดับให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าช่วยเพิ่มรายได้ชุมชนให้สูงขึ้นได้

               นางสาวเสาวณี  มุสิแดง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวว่ากรมวิทยาศาสตร์บริการได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับผ้าทอOTOP ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ เริ่มที่อำเภอแม่สะเรียงจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป้าหมายพัฒนาการผลิตผ้าทอตั้งแต่การตรวจสอบลักษณะผ้า ชนิดเส้นใย การวัดขนาด การเย็บ การย้อมสีด้วยวัสดุธรรมชาติและสีสังเคราะห์การทดสอบความเป็นกรดด่างของผ้า การตรวจสอบทางเคมีและความปลอดภัยของการใช้สารเคมี รวมทั้งถ่ายทอดเทคนิคการบำบัดน้ำเสียจากการฟอกย้อมด้วย ส่งเสริมผ้าทอพื้นบ้านให้มีคุณภาพและสามารถยื่นขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.)ประเภทผ้าทอได้ ซึ่งเมื่อได้รับการรับรองจะทำให้สินค้าได้รับการยอมรับสามารถจำหน่ายในราคาที่เพิ่มขึ้นได้ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าสินค้าผ้าทอ ที่มีปัญหาไม่ผ่านมาตรฐานมผช. มีสาเหตุจากการผลิตที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน อีกทั้งมีการย้อมสีเส้นด้ายด้วยสีสังเคราะห์มากขึ้นเพราะให้สีสันที่สดใสและกรรมวิธีการย้อมรวดเร็วไม่ยุ่งยากซึ่งการย้อมสีสังเคราะห์สีย้อมประเภทเอโซเมื่อสัมผัสผิวหนังแล้วเข้าสู่ร่างกายสีเอโซบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้




               ผศ.ดร.วรนุช  เกิดสินธ์ชัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีหัวหน้าโครงการฯได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าผ้าทอOTOP สู่การรับรองมาตรฐานในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ 5 จังหวัดได้แก่ ราชบุรีสุพรรณบุรีแพร่อุทัยธานีโดยเริ่มที่แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดแรกเพื่อคัดเลือกกลุ่มผู้ประกอบการผ้าทอ OTOP ประเภทผ้าทอในจังหวัดที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เข้าร่วมโครงการฯพร้อมจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสินค้าสอดคล้องตามสภาพปัญหาของชุมชน  โดยจำแนกเป็นรายกลุ่ม และรายผลิตภัณฑ์ ตั้งเป้าหมายไว้จำนวนไม่น้อยกว่า 50 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งการพัฒนาคุณภาพของผ้าทอมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพให้คำปรึกษาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต  วิธีการทดสอบผ้าเบื้องต้นเช่นทดสอบความเป็นกรด-ด่างทดสอบความคงทนของสีต่อการซักถ่ายทอดความรู้การย้อมเส้นด้ายด้วยสีธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการผลิตผ้าทอย้อมสีธรรมชาติซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าและมีราคาสูงแล้วยังปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้ใช้ เป็นที่นิยมของตลาดในประเทศและต่างประเทศด้วย  รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการผลิตการขยายตลาดต่อไป โดยการเปิดสัมมนาชี้แจงโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทผ้าทอในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าผ้าทอ OTOP ที่เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย  กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านศรีดอนชัย กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงพะมะลอ  กลุ่มทอผ้าบ้านโป่งหมู่ 12 บ้านโป่งดอยช้าง  บ้านห้วยโพ  บ้านแพะคะปอง  บ้านป่าแป๋บ้านไร่

               นางโชติธา  ไชยชนะ  หัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผนอุตสาหกรรมผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้กล่าวในการสัมมนาฯ ว่า การตรวจสินค้าผ้าทอแต่ก่อนตรวจดูด้วยตา  แต่ปัจจุบันมาตรฐาน มผช. สินค้าผ่านยากขึ้นตรวจดูด้วยตาอย่างเดียวไม่ได้  และพบว่าสินค้าไม่ผ่านจำนวนมากเกิดจากเรื่องของสารเคมีจากการย้อม  ทำให้เมื่อตรวจไม่ผ่านผู้ผลิตเกิดการท้อทั้งๆ ที่ฝีมือการผลิต ลวดลายผ้ามีความสวยงามผ่านมาตรฐาน  ดังนั้นการที่กลุ่มผู้ผลิตได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาสินค้าผ้าทอฯ นี้ เป็นโอกาสที่ทำให้แก้ไขปัญหาได้  ลดเวลา ลดต้นทุนในการขอ มผช.ได้

               นางพรทิพย์  ไชยวัฒน์  พัฒนาการอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ได้กล่าวในการสัมมนาฯ ว่าพัฒนาชุมชนจังหวัดมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการนำข้อมูลเบื้องต้นในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถช่วยแก้ปัญหาได้จากฐานข้อมูล   และจัดกลุ่มเพื่อพัฒนาได้ตรงความต้องการ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในการเพิ่มรายได้ชุมชน

               นางยูเชอ  บูเน่  ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านศรีดอนชัยให้ข้อมูลว่ากลุ่มมีสมาชิก 20 คน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 40 ปีขึ้นไปจนถึง 70 ปี  ผลิตภัณฑ์ผ้าทอของกลุ่มมีทั้งเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายอื่นๆ  คาดหวังว่าการช่วยพัฒนาสินค้าผ้าทอของชุมชนจะทำให้จำหน่ายสินค้าได้ดีขึ้น  และสินค้ามีคุณภาพเพิ่มขึ้น การย้อมสีได้สวยมีความปลอดภัยต่อตนเอง และผู้ซื้อไปใช้