happy on August 18, 2013, 03:29:07 PM
นศ.มจธ.เจ๋ง! ตัวแทนไทยเข้าแข่งรถ Formula
ในรายการ JSAE Auto Challenge 2013 ที่ประเทศญี่ปุ่น


.......................................................................................

นศ. KMUTT Formula Student จากรั้ว มจธ. เจ๋ง! พัฒนาและออกแบบรถ BLACK PEARL ETERNITY RACING TEAM หลังได้เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมแข่งขันรถ Formula ระดับนานาชาติในรายการ JSAE  Auto Challenge 2013 ที่ญี่ปุ่น ระหว่าง 3 – 7 กันยายนที่จะถึงนี้  ตั้งเป้าติดอันดับ 1 ใน 10 ของตารางการแข่งขันก่อนกลับมาป้องกันแชมป์รายการในประเทศ

.......................................................................................


รศ.ดร.สุรเชษฐ์ ชุติมา

               รศ.ดร.สุรเชษฐ์ ชุติมา หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมออกแบบเชิงกล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ KMUTT Formula Student กล่าวถึงการแข่งขัน Formula Student ว่า เกิดจาก SAE - Society of Automotive Engineers  หรือสมาคมวิศวกรยานยนต์จัดให้มีการแข่งขันดังกล่าวขึ้น โดยทำเลียนแบบรถ Formula One (F1) แต่ย่อขนาดเครื่องยนต์ลง เพื่อนำมาแข่งขันในรายการ TSAE Auto Challenge 2012-2013 โดยรถ Formula Student ไม่ได้มีแข่งขันเฉพาะในประเทศไทย แต่มีการแข่งขันกันทั่วโลกวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้และพัฒนาทักษะทางวิศวกรรมยานยนต์ของนักศึกษา สามารถพัฒนา ออกแบบรถ สามารถคำนวณระบบต่างๆ ของรถ และสร้างรถขึ้นเองได้ อีกทั้งนี้เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และเทคโนโลยียานยนต์โดยฝีมือนักศึกษา

               ทั้งนี้ ผลจากการแข่งขัน TSAE Auto Challenge ที่ผ่านมา ทีม KMUTT Formula Student จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มจธ. ที่สามารถคว้าแชมป์รายการระดับประเทศ ล่าสุดเตรียมเดินทางเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติในฐานะตัวแทนประเทศไทยในรายการ JSAE  Auto Challenge 2013 ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 3 – 7 กันยายน 2556

               สำหรับรถที่จะนำไปแข่งขันในปีนี้ เป็นรถที่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดใหม่คือ BLACK PEARL ETERNITY RACING TEAM จะเป็นรถที่มีการตอบสนองและควบคุมได้ดีโดยใช้ผู้ขับเป็นต้นแบบหลักในการออกแบบ ทำให้ผู้ขับสามารถควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรถคันนี้ยังมีจุดเด่นคือ มีน้ำหนักเบา เครื่องยนต์มีการโอเวอร์ฮอลล์ ทำให้รถมีสมรรถนะที่ดียิ่งขึ้น ถือเป็นหัวใจหลักในการเร่งของเครื่องยนต์ ประหยัดน้ำมัน และการควบคุมของผู้ขับ เชื่อว่า จะทำให้ทีม มจธ. สามารถคว้ารางวัลประเภทใดประเภทหนึ่งจากการแข่งขันครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมา ทีม มจธ.มักติดอันดับต้นๆ ของตาราง ถือเป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ โดยเฉพาะการเป็นต้นแบบที่ดีในด้านการจัดทำเสื้อทีมที่เป็นรูปแบบเฉพาะ หรือการตั้งแท่นซ่อมรถเมื่อเกิดปัญหา ทำให้ทีมอื่นๆ นำมาใช้เป็นมาตรฐาน เป็นต้น

               ที่ปรึกษาโครงการ KMUTT Formula Student กล่าวว่า โครงการนี้ สามารถสร้างคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมได้หลากหลายจากโมเดลการออกแบบรถFormulaเพราะเป็นเรื่องที่ทำให้คนมีวิธีการคิดอย่างเป็นระบบ รู้จักการทำงานเป็นทีม ประเด็นสำคัญคือ ความเสียสละ นักศึกษาที่เข้ามาร่วมในกิจกรรมนี้ ถือว่าเป็นคนที่มีจิตสาธารณะที่อุทิศตัวให้กับส่วนร่วม และนักศึกษาที่จบออกไปก็ไม่จำเป็นต้องทำงานทางด้านวิศวกรรมยานยนต์เท่านั้น แต่สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้มากมาย

               “ กิจกรรมนี้นักศึกษาที่เข้าร่วมส่วนใหญ่มักสนใจเกี่ยวกับรถยนต์ จึงเป็นความสมัครใจ นอกจากคณะวิศวกรรมฯ สาขาต่างๆ  ที่เข้ามาร่วมในการออกแบบด้านวิศวกรรมยานยนต์แล้ว ยังมีคณะสถาปัตย์ฯซึ่งจะช่วยในด้านการออกแบบรูปลักษณ์ของตัวรถให้ดูดี เป็นต้น เป็นการร่วมมือแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน เพราะรถ 1 คันไม่สามารถทำขึ้นได้โดยคนเพียงคนเดียว จะต้องพึ่งพาอาศัยกัน มีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน การจัดแบ่งหน้าที่รับผิดขอบ รู้จักการยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นรู้จักทำงานร่วมกับคนอื่นได้ การฝึกและการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องต่อๆกันไป ถือเป็นการฝึกการเป็นผู้นำที่ดีให้กับนักศึกษาในตัว”


นายนิวิฐ ลิวนานนท์ชัย

               นายนิวิฐ ลิวนานนท์ชัยหัวหน้าทีม BLACK PEARL IV กล่าวว่า หลังจากคว้าแชมป์รายการในประเทศและเป็นตัวแทนไปแข่งที่ญี่ปุ่น ขณะนี้ได้ทำรถคันใหม่ขึ้น ชื่อ BLACK PEARL ETERNITY RACING TEAM พร้อมสมาชิกกว่า 30 คน ต่างทุ่มเทพัฒนาและฝึกซ้อมอย่างหนัก เพราะการไปแข่งขันครั้งนี้ เป็นสิ่งที่เราได้ตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มแข่งระดับประเทศ โดยครั้งนี้ตนจะให้คำปรึกษาในฐานะพี่เลี้ยงและร่วมเดินทางไปญี่ปุ่นด้วย ยอมรับว่ารู้สึกดีใจและตื่นเต้น แม้จะกดดัน เพราะจากได้ติดตามดูการแข่งขันและการทำรถมาหลายๆสนามกว่าจะทำรถที่ได้เป็นแชมป์ประเทศไทย ทำให้ได้เรียนรู้ว่าเทคโนโลยีด้านยานยนต์ของต่างประเทศนั้นมีความเจริญก้าวหน้ากว่าไทยมาก ทั้งเรื่องทุนสนับสนุนหรือความพร้อมด้านเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่มีความทันสมัย รวมถึงความสามารถในการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนที่เหนือกว่า แต่ก็เชื่อว่าในปีนี้ ทีม มจธ.จะสามารถติดท็อปเท็นของตารางการแข่งขัน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เรามั่นใจว่าจะทำให้ได้

               “ ภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการไปแข่งขันในระดับนานาชาติญี่ปุ่นครั้งนี้ และทีมฯ จะคว้าตำแหน่งในอันดับต้นๆกลับมาได้อย่างแน่นอน เพราะได้เตรียมตัวล่วงหน้ามากว่า 2 ปีก่อนการแข่งขันรายการในประเทศ จึงมีความพร้อมด้านในต่างๆ เริ่มจากเมื่อรุ่นผมทำรถเสร็จแล้วรุ่นน้องจะมีการพัฒนารถอย่างไร มีการฝึกซ้อมอย่างไร และมีการวางคะแนนในประเภทไหน เท่าไหร่ ที่ผ่านมามีการนำคะแนนการแข่งขันจากปีที่แล้วเทียบกับคะแนนที่เคยทำมาหลายๆสนามจึงมั่นใจว่าทำได้ ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยฯ ให้การสนับสนุนอย่างดี ทั้งด้านงบประมาณบางส่วนและการจัดพาหนะเพื่อใช้ในการเดินทางไปฝึกซ้อมยังสนามต่างๆ ขณะที่ทีมอื่นๆ ต้องเหมารถไปกันเอง รู้สึกประทับใจและต้องขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยฯ ที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมนี้”

               นายนิวิฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ ในฐานะนักศึกษาได้รับประโยชน์จากโครงการนี้หลายอย่าง ไม่เพียงแค่นำความรู้ที่ได้จากการเรียนในห้องมาใช้ ยังช่วยเรื่องของการเข้าสังคม การทำงานร่วมกัน เพราะการทำรถ Formula เหมือนการบริหารธุรกิจ ไม่ใช่แค่นำความรู้มาพัฒนารถเท่านั้น แต่ยังต้องรู้จักการแบ่งทีมทำงาน เช่นนอกจากทีมประกอบรถแล้ว ยังต้องมีทีมหาสปอนต์เซอร์ ทีมการตลาดและประชาสัมพันธ์ การเตรียมแผนธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องการนำเสนอผลงานที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย และการบริหารทีม เพราะทุกคนในทีมมีความสำคัญเท่าๆกัน ไม่แบ่งว่าใครเก่งกว่าใคร ถือเป็นการฝึกทั้งเรื่องความรอดทน เสียสละ การทำงานเป็นทีม การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง”

               Auto Challenge เป็นรายการแข่งขันรถ ที่เน้นความปลอดภัยที่มีกฎกติกาเคร่งครัดทั้งในส่วนของการออกแบบและอุปกรณ์ เป็นการแข่งขันในแบบล้อปิด หรือ Open Wheel ที่นั่งเดียวใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 จังหวะ ขนาดไม่เกิน 610 cc ใช้ก๊าซโซฮอลล์ 95 เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุดจากการทดสอบรายการต่างๆ จะเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ประเภท Static Competition แบ่งเป็นด้านการออกแบบ การจัดการ และการนำเสนอผลงาน และ2.ประเภท Dynamic Competition แบ่งออกเป็นด้านการทดสอบอัตราเร่งของรถ การทดสอบการทรงตัวของรถแบบวิ่งเป็นวงกลมซ้ายขวา การทดสอบการวิ่งแข่งในสนามหนึ่งรอบ การทดสอบประสิทธิภาพความทนทาน และการทดสอบอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ซึ่งหลังจากเดินทางไปร่วมแข่งขันในรายการ JSAE Auto Challenge 2013 ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 3 – 7 กันยายน 2556 ในฐานะตัวแทนประเทศไทยแล้ว รถ BLACK PEARL ETERNITY RACING TEAM ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.)จะต้องกลับมาแข่งขัน TSAE Auto Challenge ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้  เพื่อป้องกันแชมป์ในรายการดังกล่าวต่อไป