happy on April 28, 2013, 03:42:03 PM

ชื่อไทย      จูราสสิค พาร์ค กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์
วันที่เข้าฉาย     30 พฤษภาคม 2556
จัดจำหน่าย      บริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์อีสต์)
ในระบบ 3 มิติ ระบบ 4DX และ ระบบจอยักษ์ IMAX 3D



3D Conversion Production Information

          ขอต้อนรับกลับสู่ จูราสสิค พาร์ค
     เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของภาพยนตร์ที่เป็นหนึ่งในผลงานฮิตที่คงความนิยมมายาวนานที่สุดของยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ทางสตูดิโอตัดสินใจนำภาพยนตร์ดังเรื่องนี้กลับเข้าโรงฉายทั่วโลกอีกครั้ง โดยมีการแปลงภาพยนตร์ผจญภัยซึ่งเป็นที่ชื่นชอบและโปรดปรานของยูนิเวอร์แซลเรื่องนี้ให้กลายเป็นภาพยนตร์ 3D ด้วยความละเอียดและคมชัดของภาพระดับ 4K
     ขณะที่เทคโนโลยีปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงรูปแบบจนทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์สามารถเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ เทคโนโลยี 3D สามารถนำคนดูก้าวเข้าสู่โลกของ Jurassic Park ที่ สตีเว่น สปีลเบิร์ก เคยจินตนาการงานถ่ายทำเอาไว้ในหัว รูปแบบของการออกแบบนี้ไม่เพียงแต่ทำให้คนดูได้ก้าวสู่การเดินทางผจญภัยที่เหมือนหวนรำลึกถึงอดีตอย่างคาดไม่ถึงสำหรับคนที่เคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในปี 1993 แต่ยังเป็นโอกาสให้คนดูรุ่นใหม่ได้ร่วมผจญภัยเกินคาดฝันไปพร้อมกับเหล่าไดโนเสาร์ที่เหมือนจริงจนสุดมหัศจรรย์ที่เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ สแตน วินสตัน และอินดัสเทรียล ไลท์ แอนด์ เมจิค 
     ถึงแม้คนรุ่นใหม่อาจเคยได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ทางจอเล็กๆ ของทีวี เมื่อ เล็กซ์และทิม ต้องหลอกล่อกับเจ้าเวโลซีแร็พเตอร์จอมเจ้าเล่ห์ และเคยต้องนั่งมองด้วยความยำเกรงเมื่อดร.แซ็ทท์เลอร์ และดร.แกรนท์ เดินไปเจอเข้ากับฝูงแบร็คซิโอซอรัสที่ดูงดงามตระการตาอย่างยิ่ง แต่ถึงกระนั้นพวกเขาไม่สามารถที่จะดื่มด่ำไปกับภาพและเสียงของเกาะอิสลา นูบลาร์ที่เต็มไปด้วยอันตรายในแบบที่ ไมเคิล ไครชตัน และเดวิด โค๊ปป์ ได้เคยฝันเอาไว้ จนกระทั่งบัดนี้
     เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องแน่ใจว่า Jurassic Park ยังคงสร้างความสนุกสนานให้กับคนทุกวัย อันที่จริงเมื่อถูกสร้างออกมาเป็นอย่างดี เทคนิค  3D ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าสู่โรงภาพยนตร์อย่างสมบูรณ์แบบ คนดูไม่ควรจะมุ่งหน้ากลับบ้านพร้อมกับพูดว่า “ฉากนั้นมีเอฟเฟ็กต์ 3D ที่ยอดเยี่ยมมาก!” แต่คุณควรได้รับประสบการณ์ที่โอบล้อมความคิดของคุณในจินตนาการที่ทรงพลัง เสียงดนตรีและเสียงสภาพแวดล้อมที่พุ่งทะยาน เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อภาพยนตร์ถูกแปลงไปเป็น 3D ทางทีมผู้สร้างได้ตั้งคำถามไว้ข้อหนึ่งว่า มันจะให้ความรู้สึกเช่นไรเมื่อนั่งอยู่ ณ ใจกลางวงออร์เคสตร้า 
     เมื่อสปีลเบิร์กจับมือร่วมงานกับ สเตอริโอ ดี (STEREO D) ทีมที่เคยออกแบบให้กับงานแปลง 3D ของภาพยนตร์ Titanic พวกเขาได้นั่งพิจารณาภาพในภาพยนตร์ Jurassic Park แบบชอตต่อชอต เพื่อหาวิธีที่จะพัฒนาภาพยนตร์เรื่องนี้ และขยายประสาทสัมผัสของคุณออกไปในทิศทางใหม่ บัดนี้ เมื่อคุณได้ยินเสียงผีเท้าของทีเร็กซ์ และได้เห็นแก้วน้ำขยับสั่นกระเพื่อม เฝ้ารอให้ลูกแร็พเตอร์ฝักออกจากไข่ และได้เห็นรถเอ็กซ์พลอเรอร์พลัดตกจากที่กั้น คุณจะรู้สึกราวกับคุณได้ก้าวเข้าสู่ Jurassic Park เป็นครั้งแรก 
     ยูนิเวอร์แซลหวังว่าคนดูคงจะเพลินเพลินไปกับ Jurassic Park ในรูปแบบ 3D เช่นเดียวกับที่ทีมงานที่ประกอบไปด้วยสมาชิกกว่า 700 คน ได้ทุ่มเทให้กับการปรับปรุงหนังให้เยี่ยมขึ้น สำหรับเพื่อนๆ ผู้รักภาพยนตร์ของเรา เราเฝ้ารอเวลาอย่างใจจดใจจ่อถึงวินาทีที่คุณจะได้ยินงานดนตรีที่ยิ่งใหญ่ของ จอห์น วิลเลี่ยมส์ ที่นำพาเราย้อนกลับคืนสู่จุดที่ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้น ในฐานะของผู้แสวงหาการผจญภัยและนักโบราณคดี เราได้ร่วมแบ่งปันความมหัศจรรย์ของการได้เห็นไดโนเสาร์เดินท่องไปบนโลกอีกครั้ง...และในความยำเกรงเมื่อมนุษย์บุกไปที่นั่นเพื่อทักทายพวกมัน


เบื้องหลังการแปลงภาพยนตร์ให้เป็น 3D

          เมื่อตอนที่ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park นั้น ทั้งทีมนักแสดงและทีมงานของเขาต่างโชคดีที่ได้อยู่ท่ามกลางฉากหลังเหล่าไดโนเสาร์ที่เป็นงาน 3D ที่น่าตื่นตาจากฝีมือของ สแตน วินสตัน และพวกมันได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาในกองถ่าย ผสมรวมเข้ากับงานซีจีระดับสุดยอดของไอแอลเอ็ม และการแสดงอันสุดเข้มข้นของเหล่านักแสดงที่เป็นมนุษย์ จึงเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่ Jurassic Park จะกลายเป็นประสบการณ์การแปลงงานให้เป็น 3D ในแบบที่ทุกคนทุ่มเทสุดตัว
     ไม่ว่าจะเป็นในฉากที่อัดแน่นไปด้วยแอ็กชั่น อย่างเช่นฉากที่เวโลซีแร็พเตอร์ต่อสู้กับทีเร็กซ์อย่างยิ่งใหญ่ หรือจะเป็นฉากเงียบๆ ที่ต้องใช้ความคิด เมื่อดร.แซ็ทท์เลอร์และจอห์น แฮมมอนด์ คุยกันเหนือถ้วยไอศกรีมเกี่ยวกับปัญหาด้านวิสัยทัศน์ของแฮมมอนด์ สปีลเบิร์กได้สร้างเฟรมชอตภาพต้นฉบับเหล่านี้เพื่อทำให้รู้สึกเหมือนเป็นภาพที่มีหลายมิติอยู่แล้ว เมื่อถึงเวลาต้องลงมือแปลงภาพให้เป็น 3D การตัดสินใจเลือกในอดีตของสปีลเบิร์ก ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นองค์ประกอบที่ช่วยทาง สเตอริโอ ดี ได้มาก เมื่อทางสตูดิโอได้แปลงเนื้อหาของ Jurassic Park ให้กลายเป็นภาพ 3D อันยิ่งใหญ่
     เพื่อพัฒนาภาพยนตร์แอ็กชั่นผจญภัยที่ยิ่งใหญ่เรื่องนี้ ต้องใช้ศิลปินกว่า 700 ชีวิตเพื่อจัดการกับรายละเอียดเล็กๆ แต่ละอย่างภายในทุกเฟรมภาพ เพิ่มความลึกให้กับชอตภาพ จากนั้นก็สร้างมิติให้กลายเป็นงาน 3D เพื่อขยายจอภาพ.
     งานนี้เดินหน้าลุยกันแบบไม่กลัวเกรงใดๆ ในระหว่างการแปลงภาพ สปีลเบิร์กคอยระมัดระวังที่จะไม่ปรับเปลี่ยนความหมายของฉากต่างๆ หรือเพิ่มซาวน์เอฟเฟ็กต์ให้กับตัวภาพยนตร์ต้นฉบับ เป้าหมายของเขาคือการปรับฟอร์แม็ตภาพให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเม็ดฝนเข้าไปในส่วนของโฟร์กราวน์เมื่อเราได้เห็นทีเร็กซ์ครั้งแรก หรือการเพิ่มความเร็วเข้าหาดวงตาของเราเมื่อรถเอ็กซ์พลอเรอร์ไถลตกไปตามต้นไม้ เป้าประสงค์ของสปีลเบิร์กก็เพื่อทำให้เรามุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าและหลังกล้อง
     การแปลง Jurassic Park ให้กลายเป็นภาพยนตร์ 3D ใช้เวลาทำงานนานกว่าเก้าเดือน ทีมงานต้องทำงานกันเช่นไร สเตอริโอ ดี ได้รับงานมาในรูปแบบของภาพยนตร์สองมิติ และได้ใส่ข้อมูลเข้าไปในงานและระบบจัดการ
     หลังจากกระบวนการเสร็จสิ้นลง ทีมโรโตสโคปปิ้งและทีมสร้างความลึกของ สเตอริโอ ดี เริ่มต้นทำงานของพวกเขา โดยได้วิเคราะห์องค์ประกอบที่อยู่ภายในแต่ละเฟรมภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทีมสร้างความลึกของภาพได้ใช้ซอฟต์แวร์ของ สเตอริโอ ดี ที่เรียกว่า วีดีเอ็กซ์ จากนั้น ถ้าชอตไหนมีความจำเป็น ทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ภายในของบริษัทจะเพิ่มกำลังขยายของปัจจัยต่างๆ อาทิเช่น (แต่ไม่จำกัด) ควัน ประกายไฟ ฝน หรือแม้แต่เศษธุลีเล็กๆ
     สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด ทีมสีของ สเตอริโอ ดี ได้ขัดสีฉวีวรรณชอตภาพเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อใหแน่ใจว่าจะได้ผลลัพธ์สุดท้ายที่มีความสวยงาม โดยได้ใส่รายละเอียดที่หายไปที่ถูกเผยให้เห็นด้วยการทำให้ชอตภาพนั้นๆ เป็น 3D   
     กับภาพยนตร์ในปัจจุบัน  บ่อยครั้งที่การแปลงภาพยนตร์ให้เป็น 3D จะเกิดขึ้นในช่วงหลังการถ่ายทำ และสเตอดิโอ ดีจะได้รับองค์ประกอบต่างๆ ในทุกชั่วโมงหรือทุกวัน กับภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่อย่าง Jurassic Park ความยาวนานของเวลาในการดัดแปลง ขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย อาทิ สภาพของฟิล์มเนกาทีฟต้นฉบับ ความยาวของภาพยนตร์ และความยากหรือรายละเอียดในเนื้อหา
     เพราะองค์ประกอบด้านธรรมชาติ อย่างเช่น ฝนและใบไม้ในป่า ถูกมองว่าเป็นงานที่ยากที่สุดที่จะสร้างขึ้นในการแปลงให้เป็นภาพ 3D Jurassic Park ในเวอร์ชั่น 3D จึงกลายเป็นแบบฝึกหัดที่น่าสนใจสำหรับสมาชิกในทีมหลายร้อยคน อันที่จริง เม็ดฝนที่ถูกแปลงให้เป็น 3D ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีมากกว่าที่เคยถูกสร้างกันมาในงาน 3D เพื่อให้แน่ใจว่าคนดูจะรู้สึกเหมือนพวกเขาย่ำไปในการผจญภัยนี้พร้อมกับเหล่าฮีโร่ของเราจริงๆ
     การเพิ่มภาพแนวระนาบให้กับภาพโฟร์กราวน์ มิดเดิลกราวน์ และแบ็คกราวน์ ให้กับภาพยนตร์ Jurassic Park ในเวอร์ชั่น 3D จะทำให้คุณรู้สึกเหมือนคุณอยู่ในรถกับทิมและเล็กซ์ เมื่อทีเร็กซ์โจมตีรถของพวกเขา อันที่จริง การแปลงภาพเป็น 3D กลับทำให้ขนาดรายละเอียดของไดโนเสาร์ดีขึ้นจนถึงจุดที่คุณรู้สึกราวกับว่าคุณอาจเอื้อมมือออกไปและสัมผัสตัวของพวกมันได้เลยทีเดียว
     การนำคนดูบุกเข้าไปใน Jurassic Park เสียงมีความสำคัญมากพอๆ กับภาพ เสียงฝีเท้าของทีเร็กซ์ขณะวิ่งเข้าหาคนดูในภาพยนตร์เวอร์ชั่นสามมิตินี้ จะให้เสียงที่อลังการมากกว่าในเวอร์ชั่นสองมิติ ดังนั้น ทีมออกแบบเสียงจึงใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีในปัจจุบัน และโรงภาพยนตร์สมัยใหม่เพื่อให้เสียงมีความลึกและมีความแตกต่างของระดับเสียงมากขึ้น 
     สำหรับคนดู ไม่เพียงแต่เสียงร้องระดับต่ำของแบร็คชิโอซอว์รัสจะฟังดูระรื่นหูมากขึ้นเท่านั้น แต่เสียงคำรามก้องของทีเร็กซ์ที่กำลังโกรธ ก็ฟังดูน่าสยดสยองมากขึ้นด้วย สำหรับเสียงคำรามของทีเร็กซ์ ผู้ออกแบบเสียงได้ทำการปรับแต่งการบันทึกเสียงร้องของลูกช้าง เมื่อนำมาตัดต่อ เปิดถอยหลังกลับและยืดเสียงออก เสียงที่ได้ก็คือการสร้างมิติของเสียงให้กับไดโนเสาร์ตัวเอกของเรา และเพื่อกระชากคนดูให้เข้าไปอยู่กลางฉาก 3D เสียงจะพุ่งเข้าหาคนดูมากขึ้นกว่าเดิม 
     บัดนี้ ขอพาทุกคนย้อนกลับไปในเวลาที่ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้น


เบื้องหลังงานสร้าง Jurassic Park ต้นฉบับ: วันที่ 7 พฤษภาคม 1993

“นี่ไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ แต่มันคือเรื่องราวผลของวิทยาศาสตร์”

—สตีเว่น สปีลเบิร์ก

“คุณตัดสินใจจะควบคุมธรรมชาติ นับจากวินาทีนั้น
คุณถลำลึกสู่ปัญหา เพราะคุณไม่มีทางทำได้
คุณสร้างเรือได้ แต่คุณสร้างทะเลไม่ได้
คุณสร้างเครื่องบินได้ แต่คุณสร้างท้องฟ้าไม่ได้
อำนาจของคุณมีน้อยกว่าที่ความฝันทำให้คุณเชื่อนัก”

—ไมเคิล ไครชตัน

          ลองจินตนาการว่าคุณคือหนึ่งในแขกกลุ่มแรกที่ได้มาเยือน Jurassic Park ซึ่งเป็นการผสมรวมการค้นพบทางวิทยาศาสตร์เข้ากับจินตภาพ คุณมาถึงในสภาพที่ไม่ต่างไปจากเด็ก หลุดพ้นจากอคติใดๆ และพร้อมที่จะเผชิญกับทุกอย่าง การผจญภัยของคุณกำลังจะเริ่มต้น
        เมื่อก้าวผ่านประตูของพาร์ค ประสาทสัมผัสของคุณรู้สึกเต็มตื้นเพราะโลกรอบตัว เสียง กลิ่น แม้แต่ความรู้สึกของพื้นดินก็ต่างออกไปจนชวนให้อยากรู้อยากเห็น ในบางแห่งระยะไกลๆ คุณได้ยินการเคลื่อนไหวของสัตว์ขนาดใหญ่ พื้นสั่นสะเทือนเมื่อพวกมันเดินผ่าน คุณคือคนแปลกหน้าในโลกที่แสนประหลาด
        คุณมองดูท้องฟ้ามืดมิด มองดูดวงดาวที่ก่อกำเนิดแสงขึ้นนานก่อนมนุษย์จะมีตัวตน เมื่อเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตเดินอยู่บนโลก เป็นสัตว์ที่ทรงพลัง เป็นผู้ปกครองโลกมานานกว่า 160 ล้านปี เช่นเดียวกับดวงดาวที่แสนเก่าแก่เหล่านี้ จูราสสิคเหลือทิ้งไว้เพียงร่องรอย ในซากฟอสซิล รอยเท้า เซลล์เลือดที่ติดค้างอยู่ในอำพัน แคปซูลกาลเวลาที่ยังคงเหลืออยู่มานานเป็นพันปี
       บัดนี้ แคปซูลกาลเวลาถูกเปิดออก มนุษย์และไดโนเสาร์ สองผู้ปกครองโลก จะได้มาเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรก
        แหล่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดของเราอุทิศให้กับการนำ Jurassic Park มาสู่ความเป็นจริง จินตนาการในวัยเด็กเป็นจริง สถานที่ที่ความมหัศจรรย์มีชีวิต มันถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสวนสนุกสุดอัศจรรย์ แต่ใครบางคนหลงลืมที่จะบอกพวกไดโนเสาร์
        การเผชิญหน้ากับไดโนเสาร์ในสภาพแวดล้อมของพวกมัน เรารู้ดีว่าพวกมันไม่ใช่สัตว์ประหลาด แต่เป็นสัตว์ที่มีความว่องไวมีความเฉลียวฉลาด และมีอันตรายเกินกว่าที่เราคาดคิด เราสามารถให้กำเนิดไดโนเสาร์ได้ แต่ไม่มีสิ่งใดเตรียมเราให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อไข่ไดโนเสาร์ฟักตัว
       Jurassic Park คือที่ที่วิทยาศาสตร์สิ้นสุด และสิ่งที่คาดเดาไม่ได้เริ่มต้นขึ้น
        ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย สตีเว่น สปีลเบิร์ก จากหนังสือเบสต์เซลเลอร์ของ ไมเคิล ไครชตัน  Jurassic Park นำแสดงโดย แซม นีลล์ ในบท ดร.อลัน แกรนท์ นักโบราณคดีชื่อดังที่ได้รับการขอร้องให้มาเป็นผู้สำรวจตรวจสอบสวนสนุกอันน่าตื่นตา ลอร่า เดิร์น รับบทเพื่อนร่วมงานของเขา ดร.เอลลี่ แซ็ทท์เลอร์, เจฟฟ์ โกลด์บลัม รับบทเป็นนักคณิตศาสตร์ผู้เก่งกาจแต่นิสัยแปลกประหลาด เจ้าของทฤษฎีความวุ่นวายที่อธิบายถึงอันตรายที่สุ่มซ่อนอยู่ในโครงการนี้ และเซอร์ ริชาร์ด แอ็ทเทนเบอโรห์ ในบท จอห์น แฮมมอนด์ ผู้สร้างสุดทะเยอทะยานของสวนสนุกแห่งนี้, อาเรียน่า ริชาร์ดส์ และโจเซฟ มาซเซลโล่ รับบทหลานชายและหลานสาวของแฮมมอนด์ ที่ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ก็คือ บ็อบ เพ็ค, มาร์ติน เฟอร์เรโร่, บีดี หว่อง, ซามวล แอล แจ็คสัน และเวย์น ไนท์
        แคธลีน เคนเนดี้ และเจอรัลด์ อาร์ โมเลน อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เป็นผลงานของแอมบลิน เอนเตอร์เทนเม้นต์ ที่สร้างให้กับยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ลาทา ไรอันคือแอสโซซิเอท โปรดิวเซอร์ ไมเคิล ไครชตัน และเดวิด โค๊ปป์รับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์ งานหลังกล้องประกอบไปด้วย ผู้กำกับภาพ ดีน คันดี้, โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ ริค คาร์เตอร์ และผู้ลำดับภาพ ไมเคิล คาห์น
        นอกเหนือจากทีมนักแสดงที่มีความสามารถแล้ว Jurassic Park ยังเต็มไปด้วยดาราผู้ยิ่งใหญ่ต่างกันไป เป็นเวลานานมากกว่า 18 เดือนก่อนหน้าการถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น ทีมออกแบบระดับคว้ารางวัล ได้คิดสร้างสรรค์และลงมือสร้างไดโนเสาร์ที่จะอาศัยอยู่ในสวนสนุกแห่งนี้ขึ้นมา ตั้งแต่ไทแรนโนซอว์รัสตัวใหญ่ยักษ์ จนถึงเวโลซีแร็พเตอร์ที่แสนดุร้าย Jurassic Park มีทั้งระดับความสมจริงและการคิดประดิษฐ์เชิงเทคนิคในแบบที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนในภาพยนตร์
        ทีมออกแบบที่มีพรสวรรค์ ซึ่งรวมถึง สแตน วินสตัน ที่ได้รับคำชมอย่างสูงที่รับผิดชอบดูแลงานสร้างไดโนเสาร์ที่มีตัวตนสัมผัสได้จริงๆ, เดนนิส มูเรน จากไอแอลเอ็ม ที่รับผิดชอบสร้างไดโนเสาร์ที่เคลื่อนที่ได้, ฟิล ทิปเป็ตต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ที่ดูแลงานสร้างไดโนเสาร์, ไมเคิล แลนเทียรี่ ผู้ดูแลสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ไดโนเสาร์ และงานวิชวลเอฟเฟ็กต์โดย อินดัสเทรียล ไลท์ แอนด์ เมจิค ความสำเร็จของพวกเขาทั้งแต่ละคนและโดยส่วนรวม ยังรวมถึงความสำเร็จทางด้านรายได้อย่างมหาศาลจากภาพยนตร์อย่าง Star Wars จนถึง Terminator 2: Judgment Day
« Last Edit: April 28, 2013, 03:52:06 PM by happy »

happy on April 28, 2013, 03:54:10 PM



เบื้องหลังงานสร้าง

          ในเดือนพฤษภาคม ปี 1990 ยูนิเวอร์แซลได้รับหนังสือที่เพิ่งพิมพ์ออกจากแท่นพิมพ์ของนักเขียนขายดี ไมเคิล ไครชตัน เรื่อง “Jurassic Park” และภายในเวลาแค่ชั่วโมงเดียว ยูนิเวอร์แซลในฐานะตัวแทนของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ได้เจรจาเพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้
“มันคือหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่เห็นได้ชัดเลยว่าคือภาพยนตร์ของสปีลเบิร์ก” ผู้อำนวยการสร้าง แคธลีน เคนเนดี้ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับสปีลเบิร์กมานานกว่า 14 ปี บอก “ถ้าคุณลองพิจารณางานของสตีเว่น บ่อยครั้งที่เขามีความสนใจในธีมเกี่ยวกับเรื่องพิเศษๆ ที่เกิดขึ้นกับคนธรรมดา”
       “สำหรับผม สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับโปรเจ็กต์นี้โดยเฉพาะ ก็คือ มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากพอๆ กับที่มีการผจญภัยและเรื่องน่าตื่นเต้น” สปีลเบิร์กกล่าว “Jurassic Park เป็นลูกผสมระหว่างสวนสัตว์กับสวนสนุก เป็นเรื่องเกี่ยวกับไอเดียที่ว่ามนุษย์สามารถที่จะนำไดโนเสาร์กลับคืนสู่โลกในอีกหลายล้านปีต่อมา และสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเรามาร่วมมือกัน”
        นักเขียน ไมเคิล ไครชตัน ผู้ใช้เวลาสองปีในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ได้เห็นการประมูลและการเจรจาจากสตูดิโอยักษ์ใหญ่ทั้งสี่ที่แย่งชิงลิขสิทธิ์ของหนังสือเล่มนี้ แต่เขาพอใจที่ได้รู้ว่าสปีลเบิร์กสนใจจะมากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ในเวลาไม่ถึงอาทิตย์ ยูนิเวอร์แซลประกาศว่า Jurassic Park จะเป็นผลงานการกำกับของ สปีลเบิร์ก ผู้ประสบความสำเร็จในการผสมรวมศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันในงานสร้างภาพยนตร์อย่าง Close Encounters of the Third Kind และ E.T. The Extra-Terrestrial
        ความเป็นมาอันโดดเด่นของไครชตัน ในฐานะผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด และยังเป็นนักเขียนนิยาย ผู้เขียนบทภาพยนตร์ และผู้กำกับภาพยนตร์ เคยนำสายตาอันเฉียบคมของเขามาสู่การสร้างสรรค์ภาพยนตร์แนวเทคโน ทริลเลอร์ อย่าง “The Andromeda Strain” และ “The Terminal Man”  เรื่องราวนี้ที่พูดถึงสวนสนุกที่เต็มไปด้วยไดโนเสาร์ที่เป็นการตัดต่อทางพันธุกรรม เกิดมาจากความเป็นกังวลที่เขามีต่อความรุ่งโรจน์ของ “ความเชื่อทางวิทยาศาสตร์” “ผมเชื่อว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ทรงอำนาจนะ แต่ก็เป็นเครื่องมือที่มีขอบเขตจำกัด” ไครชตันกล่าว
       ด้วยการจินตนาการภาพของ จอห์น แฮมมอนด์ เศรษฐีพันล้านผู้ลงทุนสร้างสวนสนุก เป็นเสมือน “วอลท์ ดิสนีย์ ด้านมืด” เรื่องราวของไครชตันวางการผจญภัยเอาไว้ในงานด้านชีวพันธุกรรมที่กำลังกลายเป็นกระแสโต้แย้งในเรื่องของผลดี
       “มีคำถามสำคัญอยู่ในเรื่องนี้” สปีลเบิร์กกล่าว “การโคลนนิ่งจากดีเอ็นเออาจใช้งานได้ แต่มันเป็นที่ยอมรับหรือไม่ ถูกต้องหรือเปล่าที่มนุษย์จะทำเช่นนี้ หรือไดโนเสาร์ปิดฉากของพวกมันลงไปแล้วเมื่อหนึ่งล้านปีก่อน”
        สปีลเบิร์กที่เป็นแฟนไดโนเสาร์มาตั้งแต่เด็ก เล่าว่า “คำยาวๆ คำแรกๆ ที่ผมหัดพูด ก็คือชื่อพันธุ์ของไดโนเสาร์ และเมื่อแม็กซ์ ลูกชายของผมอายุสองขวบ เขาไม่เพียงแต่แยกพันธุ์ไดโนเสาร์ได้ แต่ยังออกเสียง “อิกัวนาดอน’ ได้ด้วย”
        “ผมคิดว่าอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ สนใจ ก็คือ พวกไดโนเสาร์มีความลึกลับ มีคำกล่าวจากนักจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ดที่ถูกถามว่าทำไมเด็กๆ ถึงชอบไดโนเสาร์มาก เขาตอบว่า  ‘ง่ายมากเลย พวกมันตัวใหญ่ พวกมันดุร้าย และพวกมันตายหมดแล้ว’”
        “แต่ตอนนี้พวกมันกลับมาแล้ว” สปีลเบิร์กหัวเราะ ทั้งไครชตันและสปีลเบิร์กต่างมองงานโบราณคดีว่าเป็นเสมือนผลงานการสืบสวน เป็นเหมือนการคิดสรุปอนุมานเหตุการณ์แบบเชอร์ล็อค โฮล์มส์
        “เมื่อตอนที่ผมเห็นงานขุดซากไดโนเสาร์ครั้งแรก มันดูเหมือนฉากอาชญากรรมเลย” สปีลเบิร์กเล่า “มีริบบิ้นกั้นเต็มพื้นที่ไปหมด มีคนทำงานเหมือนพวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่คอยพิสูจน์หลักฐาน ที่มีแปรงคอยปัดหารอยนิ้วมือ ผมชอบที่ได้ใช้เวลาในช่วงฤดูร้อนอยู่ในมอนทาน่าเพื่อทำเช่นนั้น”
        ในช่วงฤดูร้อนของปี 1990 เคนเนดี้และสปีลเบิร์กเริ่มต้นระดม “ทีมในฝัน” ที่จะช่วยสร้างรากฐานในงานสร้างสรรค์ให้กับ “Jurassic Park” คนแรกที่เข้ามาร่วมทีม ได้แก่ โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ที่มีพรสวรรค์ ริค คาร์เตอร์ ผู้เคยสร้างสรรค์ผลงานให้กับ Back to the Future Part II และ III ความร่วมมือครั้งแรกระหว่างเขากับแอมบลินเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาออกแบบโปรดักชั่นให้กับ Amazing Stories ทั้ง 42 ตอน
        ขณะที่ ไมเคิล ไครชตัน เริ่มต้นดัดแปลงหนังสือที่มีความซับซ้อนของเขาให้กลายเป็นบทภาพยนตร์ที่มีความยาวเท่าภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง คาร์เตอร์ได้เริ่มต้นทำงานกับเหล่าศิลปินวาดภาพประกอบและศิลปินวาดภาพสตอรี่บอร์ด ที่ช่วยกันแปลงถ้อยคำของไครชตันให้กลายเป็นภาพขึ้นมา เป้าหมายของคาร์เตอร์คือการค้นหาส่วนผสมที่ดูสมจริงของวิทยาศาสตร์ เรื่องแฟนตาซี และความเป็นจริงที่เขาเปรียบเทียบว่าเป็น Close Encounters of a Prehistoric Kind
        หนึ่งในความท้าทายของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือการลดจำนวนสายพันธุ์ไดโนเสาร์ของไครชตันจาก 15 ชนิดให้เหลือแค่ 6 ชนิดที่เหมาะกับการทำงาน ขั้นตอนต่อไป มีการค้นคว้าเพื่อหารูปแบบการเคลื่อนไหวของไดโนเสาร์ในภาพยนตร์  ลาทา ไรอัน แอสโซซิเอท โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้ามาร่วมงานด้วยในเดือนกันยายน ปี 1990 โดยได้เผชิญกับความท้าทายในการช่วยสร้างทีมเอฟเฟ็กต์ระดับหัวกะทิของวงการ ที่จะมอบชีวิตให้กับไดโนเสาร์ ในอีกหลายเดือนข้างหน้า ไรอันได้กลายมาเป็นนักออกแบบที่มีภารกินอันน่าหวั่นเกรง เป็นการช่วยสื่อสารและสร้างความชัดเจนให้กับทีมเอฟเฟ็กต์สี่ทีมที่แยกกันทำงาน
        ในประวัติศาสตร์ ฉากสัตว์ที่มีขนาดใหญ่นั้น มักถูกสร้างออกมาได้ดีที่สุดด้วยการถ่ายภาพโดยใช้เทคนิคสต็อป-โมชั่นรูปแบบเก่า แต่สปีลเบิร์กคาดหวังว่าจะผลักดันขอบเขตของงานเอฟเฟ็กต์ออกไป และพัฒนาเทคโนโลยีที่ยังไม่เคยถูกใช้มาก่อน หลังจากได้ศึกษาพูดคุยกับบริษัทเอฟเฟ็กต์ทุกแห่งในเมือง ทีมผู้อำนวยการสร้างได้เลือกกลุ่มคนทำเอฟเฟ็กต์ระดับปรมาจารย์ที่ได้รับความท้าทายให้เดินไปยังจุดที่ยังไม่มีมนุษย์คนใดเคยเดินถึงมาก่อน
        เคนเนดี้เล่าว่า “มันคือความฝันที่กลายเป็นความจริงที่ได้ตัว สแตน วินสตัน, ฟิล ทิปเป็ตต์, เดนนิส มูเรน และไมเคิล แลนเทียรี่มาอยู่ในภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน”
        สแตน วินสตัน สตูดิโอ ได้รับการติดต่อให้สร้างไดโนเสาร์ที่จับต้องได้จริงๆ เป็นสัตว์ขนาดเท่าตัวจริงที่ทั้งรวดเร็วและเคลื่อนไหวได้ วินสตันซึ่งเป็นผู้สร้างปาฏิหาริย์ทั้งในงานเม้คอัพเอฟเฟ็กต์ และเอฟเฟ็กต์สัตว์ และยังเคยได้รับคำชมมาแล้วจากภาพยนตร์ดังๆ อย่าง The Terminator, Aliens และ Terminator 2 เขาได้แบ่งโปรเจ็กต์นี้ออกเป็นสามส่วน นั่นก็คือการค้นคว้า การออกแบบ และการสร้าง
        ด้วยการอุทิศตัวให้กับการสร้างตัวละครที่มีความเข้มข้นที่ทั้งน่าตื่นตาและยิ่งใหญ่ วินสตันและทีมงานของเขาใช้เวลาหนึ่งปีเต็มในขั้นตอนของการค้นคว้า ด้วยการปรึกษากับนักโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ และศึกษาหนังสือเป็นร้อยๆ เล่ม ศิลปินของวินสตันได้เตรียมภาพสเก็ตช์ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ต่อมาได้กลายมาเป็นรูปปั้น และสุดท้ายได้กลายมาเป็นไดโนเสาร์ตัวใหญ่ยักษ์ เช่น ไทแรนโนซอว์รัส เร็กซ์ ที่สูง 20 ฟุต
         เพื่อจัดการกับความยิ่งใหญ่ของโปรเจ็กต์นี้ที่รออยู่เบื้องหน้า วินสตันได้รวบรวมทีมที่มีทั้งศิลปินและวิศวกร เพื่อให้คุณเข้าใจถึงความรับผิดชอบที่มีความซับซ้อนของทีมงานแต่ละทีม เชิญพบกับ “ทีมเร็กซ์” ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่  12 คนที่ทำหน้าที่หลากหลายแตกต่างกันไป ทีเร็กซ์ที่สูง 20 ฟุต ถูกสร้างจากโครงที่เป็นไฟเบอร์กลาส และดินเหนียวจำนวน 3,000 ปอนด์ ที่ถูกหุ้มไว้ด้วยผิวที่ทำจากลาเท็กซ์ที่มีความอ่อนตัวแต่ทนทาน จากนั้นก็ได้ทีมศิลปินอีกทีมเข้ามาเป็นคนทาสี ศิลปินกลุ่มนี้จะผสมผสานโทนสีต่างๆ เพื่อทำให้ร่างกายของไดโนเสาร์ดูมีชีวิตขึ้นมา จากนั้น ทีเร็กซ์จะถูกติดตั้งเอาไว้กับเครื่อง “ไดโน-ซิมูเลเตอร์” ซึ่งเป็นระบบกลไกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเทคโนโลยีไฮโดรลิค และสร้างโดยอิงจากเครื่องซิมูเลเตอร์จำลองการบินที่กองทัพอากาศใช้ เมื่อได้รากฐานแล้ว ทั้งตัวแท่นและตัวทีเร็กซ์ก็สามารถที่จะเดินหน้าโดยผ่านการควบคุมที่แผงควบคุมคอมพิวเตอร์
        ขณะเดียวกัน ทีเร็กซ์ในเวอร์ชั่นสเกลลำดับที่ 5 ได้ถูกสร้างขึ้น ดังนั้น การเคลื่อนไหวที่เหมือนจริงของไดโนเสาร์จึงเกิดขึ้นจากการบังคับด้วยมือของผู้บังคับหุ่นสี่คน เมื่อทีเร็กซ์ตัวเล็ก (มีชื่อว่า วัลโด้) ได้ซักซ้อมการเคลื่อนไหวและแอ็กชั่นต่างๆ ตามที่ฉากหนึ่งๆ ต้องการ คอมพิวเตอร์จะบันทึกการเคลื่อนไหวนั้นไว้ และตั้งโปรแกรมให้กับทีเร็กซ์ตัวใหญ่เพื่อให้ไดโนเสาร์สามารถเคลื่อนที่ได้เหมือนกันทุกอย่าง ขณะที่ทีมผู้บังคับควบคุมวัลโด้ เป็นผู้ควบคุมส่วนหัว ลำตัว หาง และมือของทีเร็กซ์ ทีมนักบังคับหุ่นอีกทีมหนึ่งจะหมอบอยู่ใกล้ๆ เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา ปาก ฟัน และกรงเล็บของทีเร็กซ์
        สแตน วินสตัน สตูดิโอ ที่ว่าจ้างศิลปิน วิศวกร และนักบังคับหุ่นมากกว่า 60 ชีวิตในขั้นตอนงานสร้าง Jurassic Park ยังได้สร้าง ไทแรนโนซอว์รัสขนาด 20 ฟุต, เวโลซีแร็พเตอร์สูง 6 ฟุต, แบร็คชิโอซอว์รัสคอยาว, ไทรเซราท็อปที่กำลังป่วย, กัลลิไมมัส, ดิโลโฟซอว์รัส (ฉายา “สปิตเตอร์”) และลูกแร็พเตอร์ที่กำลังฟักออกจากไข่
        เพราะความท้าทายในการสร้างไดโนเสาร์ “ที่มีชีวิต” ได้ สแตน วินสตัน มาจัดการให้แล้ว สปีลเบิร์กจึงได้หันเหความสนใจของเขาไปที่ความสำคัญของการถ่ายภาพแบบจำลองสำหรับมุมกว้างหรือในชอตที่มีความยาวเต็มที่ เขานำความคิดที่มีไปมอบหมายงานให้กับ ฟิล ทิปเป็ตต์ แอนิเมเตอร์และพ่อมดเอฟเฟ็กต์เจ้าของรางวัลออสการ์ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบระบบที่เรียกว่า โก-โมชั่น ซิสเต็ม (เป็นเทคนิคสต็อปโมชั่นที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น) ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ ทิปเป็ตต์ ซึ่งเคยทำงานให้กับไอแอลเอ็มมาก่อน ตั้งฐานทัพอยู่ในเบิร์กลี่ย์, แคลิฟอร์เนีย และเขาได้เริ่มต้นระดมทีมงานที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบสร้างชอตภาพแบบโก-โมชั่นมากกว่า 50 ชอต
       นอกจากการออกแบบท่าทางการเคลื่อนไหวของไดโนเสาร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ทิปเป็ตต์ยังต้องเป็นผู้รับผิดชอบจัดสร้าง “แอนิเมติคส์” ซึ่งเป็นหนทางที่จะช่วยให้ทางผู้สร้างภาพยนตร์ได้เตรียมตัวและซักซ้อมในฉากที่มีทีเร็กซ์และเวโลซีแร็พเตอร์ที่มีความซับซ้อนอย่างมาก
        ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน สปีลเบิร์กได้ปรึกษากับอินดัสเทรียล ไลท์ แอนด์ เมจิค บริษัทเอฟเฟ็กต์ที่ก่อตั้งโดย จอร์จ ลูคัส และเคยร่วมงานกันมาในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง เดนนิส มูเรน ซึ่งเป็นเอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ของบริษัทไอแอลเอ็ม และเคยได้รับรางวัลออสการ์มาแล้วถึง 6 รางวัล รู้สึกกระตือรือร้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมทำงานกับ Jurassic Park แต่เพราะสปีลเบิร์กหวังจะใช้ไดโนเสาร์ขนาดเท่าของจริงและเทคนิคโก-โมชั่น เขาจึงไม่แน่ใจเกี่ยวกับบทบาทของไอแอลเอ็มในโปรเจ็กต์นี้
        แต่หนึ่งปีต่อมา เมื่อสปีลเบิร์กทำงานประสานอย่างใกล้ชิดกับไอแอลเอ็มในฐานะผู้กำกับของภาพยนตร์เรื่อง Hook การสนทนาได้เริ่มต้นขึ้นใหม่ ไอแอลเอ็มที่เป็นผู้นำในด้านการสร้างภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิคให้กับภาพยนตร์ เพิ่งจะคิดสร้างรูปแบบการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ และเทคนิคที่น่าทึ่งในระหว่างสร้างภาพยนตร์เรื่อง Terminator 2: Judgment Day สมาชิกหลายคนในทีมคอมพิวเตอร์กราฟฟิคของไอแอลเอ็ม จึงได้ทดลองแนวคิดให้กับ Jurassic Park โดยพวกเขาได้สร้างกระดูกและโครงกระดูกไดโนเสาร์ขึ้นในคอมพิวเตอร์ นับจากนั้นพวกเขาจึงได้สร้างทีเร็กซ์ที่เดินได้ขึ้นมา
        ด้วยความประทับใจที่มีต่อผลลัพธ์ในการทดลองครั้งนี้ ในไม่ช้า บริษัทแอมบลิน เอนเตอร์เทนเมนต์ได้เปิดไฟเขียวให้ไอแอลเอ็มเพื่อสร้างชอตภาพเพิ่มเติมหลายฉาก โดยเฉพาะฉากการวิ่งแตกตื่นอลหม่านของเหล่าไดโนเสาร์ และฉากมุมกว้างที่แสดงภาพฝูงไดโนเสาร์ที่ยืนอยู่ด้านหน้าฉากวิวอันกว้างใหญ่ เมื่อมูเรนกลับมาหาแอมบลินอีกครั้ง เขาทำให้ทีมผู้สร้างภาพยนตร์ที่นั่นต้องตื่นตะลึงด้วยฉากที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์ที่เป็นภาพทีเร็กซ์กำลังเดินอยู่ในตอนกลางวันแสกๆ กลับกลายเป็นว่าการถือกำเนิดของภาพที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ ในไม่ช้าเทคนิคโก-โมชั่นอาจต้องสูญพันธุ์ไป
        ถึงแม้ว่าผลงานของทิปเป็ตต์จะถูกส่งมอบให้กับไอแอลเอ็ม แต่เขาได้กลายมาเป็นสมาชิกที่ทรงคุณค่าของ “ทีมเปลี่ยนถ่าย” และเขาได้สร้างขั้นตอนการฝึกให้กับเหล่ากราฟฟิค ดีไซเนอร์ของไอแอลเอ็มเพื่อสอนพวกเขาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของไดโนเสาร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในระหว่างดำเนินงานสร้าง
        ไมเคิล แลนเทียรี่ ซึ่งเป็นผู้นำทีมเอฟเฟ็กต์ทีมที่ 4 ได้ร่วมงานกับแอมบลินมาแล้วในภาพยนตร์หลายเรื่อง เขาเคยทำงานกับ โรเบิร์ต เซเมคคิส ในภาพยนตร์เรื่อง Who Framed Roger Rabbit? และ Back to the Future Part II และ III และยังได้ร่วมงานกับสปีลเบิร์กในภาพยนตร์เรื่อง Indiana Jones and the Last Crusade และ Hook ทีมของเขาเป็นผู้รับผิดชอบงานระบบกลไก ซึ่งรวมถึงการสร้างเครนกลางแจ้ง และระบบไฮโดรลิคขนาดใหญ่ที่จะเป็นตัวขยับขับเคลื่อนไดโนเสาร์ตัวมหึมาไปรอบๆ กลุ่มของแลนเทียรี่ยังรับผิดชอบงานเคลื่อนกล้องด้วยสายสลิงที่ถูกปรับแต่งเพื่อให้เคลื่อนกล้องตามไดโนเสาร์ของ สแตน วินสตัน ได้อย่างไหลลื่น
        ในช่วงระหว่างสองปีที่เตรียมงานถ่ายทำ Jurassic Park สปีลเบิร์ก, เคนเนดี้ หรือผู้อำนวยการสร้าง เจอร์รี่ โมเลน ไม่เคยได้หยุดพัก โดยพวกเขายังต้องรับผิดชอบดูแลงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง Hook ซึ่งเป็นเรื่องราวการผจญภัยในจินตนาการที่อิงจากเรื่องราวของ ปีเตอร์ แพน
   ขณะเดียวกันนั้น การทำงานในส่วนของบทภาพยนตร์ยังคงดำเนินไป โดยเริ่มต้นจากโครงร่างบทฉบับแรกของ ไมเคิล ไครชตัน ต่อมา เดวิด โค๊ปป์ นักเขียนบทหนุ่มไฟแรงที่เคยร่วมเขียนบทให้กับภาพยนตร์ตลกเสียดสีเรื่อง Death Becomes Her ได้ถูกดึงตัวเข้ามาร่วมงานด้วย และเขาได้เครดิตร่วมกับไครชตัน
        ถึงตอนนี้งานก่อสร้างดำเนินไปในฮอลลีวู้ดในโรงถ่ายที่ใหญ่ที่สุดของยูนิเวอร์แซลถึงสองแห่ง และต่อมา ได้ขยายไปยังโรงถ่ายอีกสามแห่ง รวมถึงโรงถ่ายขนาดใหญ่ยักษ์ที่วอร์เนอร์ บราเธอร์ส สตูดิโอ
        ขั้นตอนการคัดเลือกตัวนักแสดงใช้เวลาน้อยมาก เริ่มจากการได้ตัว เซอร์ ริชาร์ด แอ็ทเทนเบอโรห์ เจ้าของผลงานภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมในฐานะผู้กำกับ ซึ่งเป็นงานที่ทำให้เขาต้องเลิกรับงานแสดงมาตั้งแต่ปี 1979
        “ผมคิดว่าสตีเว่นคืออัจฉริยะ” แอ็ทเทนเบอโรห์ ซึ่งก่อนหน้านั้นเพิ่งจะกำกับภาพยนตร์เรื่อง “Chaplin” เสร็จ บอก “และที่ผ่านๆ มาเขาก็เคยขอให้ผมทำงานให้กับเขามาหลายรอบแล้ว หลังจากผมได้อ่านหนังสือเรื่องนี้ ผมคิดว่าถ้าจะมีใครสักคนบนโลกที่สามารถสร้างภาพยนตร์อย่างเรื่องนี้ได้ ก็ต้องเป็น สตีเว่น สปีลเบิร์ก นี่แหละ”
        ผู้มารับบท ดร.อลัน แกรนท์ ก็คือ แซม นีลล์ ผู้สวมวิญญาณเป็นนักโบราณคดีด้านธรณีวิทยาที่ไม่ค่อยพอใจสักเท่าไหร่ที่เขาต้องมาทัวร์สวนสนุก Jurassic Park ร่วมกับเด็กเสียงดังสองคน, ลอร่า เดิร์นรับบท ดร.เอลลี่ แซ็ทท์เลอร์ นักโบราณคดีด้านพืชที่เป็นทั้งผู้ร่วมงานและคนรักของดร.แกรนท์, เจฟฟ์ โกลด์บลัม ซึ่งแต่งตัวด้วยชุดสีดำตั้งแต่หัวจรดเท้า รับบท เอียน มัลคอล์ม นักคณิตศาสตร์เพี้ยนที่ทำนายชะตากรรมของสวนสนุกแห่งนี้เอาไว้ล่วงหน้า
        เมื่อ Jurassic Park เริ่มต้นงานถ่ายทำบนเกาะ Kauai ในวันที่ 24 สิงหาคม 1992 มันกินเวลาสองปีกับหนึ่งเดือนพอดีนับแต่ที่พวกเขาเริ่มเตรียมงานสร้างกัน เกาะที่เต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียวใกล้ๆ กับ Lihue คือฉากที่เหมาะที่สุดสำหรับฉากกลางแจ้งของ Jurassic Park แต่หลังจากถ่ายทำภายใต้แสงอาทิตย์ของเขตร้อนไปได้สามอาทิตย์ ชีวิตสุดเข้มข้นก็มาเยือนภาพยนตร์เรื่องนี้
         พายุเฮอร์ริเคน Iniki มุ่งหน้ามายัง Kauai อย่างรวดเร็ว และทางโรงแรมได้ขอให้ทีมงานเก็บเสื้อผ้าลงกระเป๋า และเปิดน้ำลงอ่างอาบน้ำให้เต็ม เผื่อเอาไว้ในกรณีที่เกิดขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าและน้ำ ต่อมา พวกเขายังได้รับคำแนะนำให้เก็บกระเป๋าสำหรับใช้หนึ่งวัน และลงไปพบกันที่ห้องบอลรูมของโรงแรมที่อยู่ที่ชั้นล่างสุด
        เวลา 9 นาฬิกา พายุมุ่งตรงมาที่เกาะแห่งนี้ เคธี่ เคนเนดี้เล่าว่า “พวกเราเริ่มลากข้าวของลงมาที่ห้องบอลรูม โดยทีมงานกล้องได้เก็บอุปกรณ์ของพวกเขาลงหีบอย่างรวดเร็ว ถ้าคุณจะต้องไปติดเกาะอยู่กับใครละก็ ขอให้ไปติดเกาะอยู่กับทีมสร้างหนังนี่แหละ” เคนเนดี้บอก “เรามีเครื่องปั่นไฟ และมีอาหารและน้ำตุนไว้มากมาย เราสามารถดูแลตัวเองได้เพราะพวกเราต้องย้ายโลเกชั่นเพื่อทำงานอยู่ตลอดเวลา”
        พวกเขาต้องตั้งแค้มป์อยู่ที่ชั้นล่างของโรงแรม ขณะนั้นทั้งทีมนักแสดงและทีมงานต้องนั่งฟังเสียงลมที่มาถึงในเวลา 16 นาฬิกา และถล่มใส่พวกเขาด้วยความเร็วเกือบๆ 120 ไมล์ต่อชั่วโมง “เสียงมันเหมือนรถไฟด่วนวิ่งผ่านตึกไปเลย” เคนเนดี้เล่า
   เมื่อน้ำเริ่มไหลซึมเข้ามาในด้านหนึ่งของห้องบอลรูม ทีมงานต่างไปกระจุกตัวอยู่ที่อีกด้านหนึ่งของห้อง แต่ในเวลา19.30 นาฬิกา เคนเนดี้และ แกรี่ ไฮมส์ ผู้ประสานงานสตั๊นต์ ได้ก้าวออกไปด้านนอกสู่ความเงียบงัน “มันเป็นเรื่องที่ชวนขนลุกที่สุดที่ฉันเคยเห็นมาเลย” เคนเนดี้เล่า “ในตอนเช้าวันนั้นเรายังยืนอยู่บนถนนสวยที่มีต้นไม้เรียงเป็นทาง ซึ่งอยู่ติดกับสนามกอล์ฟ และตอนนี้ต้นไม้พวกนั้นทุกต้นล้มลงแบนราบไปกับพื้นจนหมด”
        ถึงแม้พวกเขายังมีกำหนดจะต้องถ่ายทำกันอีกหนึ่งวัน แต่พลังของพายุ Iniki ได้จู่โจมใส่ฉากทั้งหมดไปแล้ว ไม่มีไฟฟ้าหรือโทรศัพท์ที่ใช้งานได้บนเกาะแห่งนี้ ดังนั้นในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น เคนเนดี้จึงต้องวิ่งไปที่สนามบินเป็นระยะทางสองไมล์เพื่อดูว่าพวกเขายังมีทางเลือกอื่นเหลือหรือไม่
        “ที่สนามบินพบความเสียหายอย่างมาก” เธอเล่า “หน้าต่างตรงทางเดินแตกหมด และตัวตึกก็เต็มไปด้วยต้นปาล์ม ต้นไม้ ทรายและน้ำ เฮลิคอปเตอร์ทุกลำโดนพัดจนเอียงกะเท่เร่”
        ต้องขอบคุณความพยายามอย่างยิ่งยวดของเธอ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของสนามบินและของกองทัพใน Lihue ทำให้เคนเนดี้สามารถเดินทางไปยังฮอนโนลูลู ด้วยเครื่องบิน Salvation ของกองทัพ และเริ่มต้นจัดการงานทุกอย่างผ่านโทรศัพท์สาธารณะ ตลอด  24  ชั่วโมงต่อมา เธอไม่เพียงแต่ประสานงานเพื่อให้ทีมงานทุกคนเดินทางกลับมาได้อย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่เธอยังได้จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวน 20,000 ปอนด์ที่ถูกขนส่งจากฮอนโนลูลูและลอสแอนเจลิส เพื่อส่งมายัง Kauai อีกด้วย
        เมื่อกลับมายังลอสแอนเจลิส  Jurassic Park กลับมาเดินหน้าถ่ายทำกันต่อที่ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ โรงถ่าย 24 กลายเป็นห้องครัวที่มีขนาดเท่ากับโรงงานให้กับศูนย์นักท่องเที่ยวของจูราสสิคพาร์ค ซึ่งจะต้องโดนสองเวโลซีแร็พเตอร์บุกถล่ม ขณะที่ทีมของวินสตันเป็นผู้จัดการงานที่เกี่ยวข้องกับแร็พเตอร์ที่เคลื่อนไหวได้ตั้งแต่หัวถึงหาง อาเรียน่า ริชาร์ด และโจเซฟ มาซเซลโล่ สองนักแสดงเด็ก นั่งหลบอยู่ที่มุมห้อง เพื่ออินไปกับการรับบทสองเด็กที่ติดอยู่ในความฝันที่โหดร้ายที่สุด
        จากตรงนั้น ทีมงานเก็บข้าวของและยกขบวนเคลื่อนย้ายไปยังอุทยานแห่งชาติเร็ด ร็อค แคนย่อน ซึ่งอยู่ตรงปลายด้านตะวันตกของทะเลทรายโมจาวี เร็ดร็อคที่ถูกเลือกเป็นสถานที่ถ่ายทำเนื่องจากมีความละม้ายคล้ายกับจุดขุดพบซากไดโนเสาร์ในมอนทาน่า ได้ต้อนรับทีมนักแสดง ลอร่า เดิร์น และแซม นีลล์ โดยทั้งคู่ได้รับการชี้แนะจากหนึ่งในนักโบราณคดีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศแจ็ค ฮอร์เนอร์ ฮอร์เนอร์ที่เป็นโปรเฟสเซอร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมอนทาน่า และเป็นหัวหน้าภัณฑารักษ์ด้านโบราณคดีอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ร็อคกี้ส์ในโบซแมน ได้กลายมาเป็นสมาชิกอันทรงคุณค่าของทีมงานชุดนี้ และยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านโบราณคดีอย่างเป็นทางการให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย
        กลับมาที่โรงถ่าย 27 กองถ่ายเริ่มต้นทำงานกับฉากที่มีความซับซ้อน โดยเป็นการเผชิญหน้าระหว่างมนุษย์กับทีเร็กซ์ตัวมหึมา ขณะมันพยายามจะจัดการกับรถฟอร์ด เอ็กซ์พลอเรอร์ จนทำให้รถห้อยติดอยู่กับกิ่งของต้นไม้ขนาดใหญ่ รถทั้งคันที่ทีมงานของ ไมเคิล แลนเทียรี่ นำไปห้อยไว้ด้วยสายเคเบิ้ลโลหะ จะต้องค่อยๆ ลื่นไถลมาตามกิ่งไม้จนตกลงสู่พื้นด้วยแรงกระแทกอย่างแรง เมื่อสิ้นสุดการถ่ายทำ ป่าในโรงถ่าย 27 ต้องถูกตกแต่งใหม่เพื่อถ่ายทำเพิ่มอีกสามฉาก ได้แก่ ฉากที่แบรคชิโอซอว์รัสมาเยือนพวกเขาแต่เช้าตรู่, ฉากการโจมตีมัลดูน (บ็อบ เพ็ค) อย่างไม่ทันตั้งตัว และฉากที่ เดนนิส เนดรี้ (เวย์น ไนต์) จะต้องเผชิญหน้ากับไดโนเสาร์สปิตเตอร์
        ที่โรงถ่าย 28 เป็นที่ตั้งของหัวใจของจูราสสิค พาร์ค นั่นก็คือห้องควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ และห้องฟักไข่ไดโนเสาร์ ห้องควบคุมที่อยู่ภายใต้การนำทีมของ ไมเคิล แบ็คส์ ผู้ออกแบบคอมพิวเตอร์เอฟเฟ็กต์ คือสำนักงานใหญ่ที่มีอุปกรณ์ไฮเทคมูลค่าหนึ่งล้านดอลล่าร์ โดยพวกเขาได้ขอยืมมาจากบริษัทที่เป็นผู้นำของวงการ อย่างเช่น ซิลิค่อน กราฟฟิคส์, ซูเปอร์แม็ค, แอ๊ปเปิ้ล และธิงกิ้ง แมชชีนส์
        เมื่อการบ่อนทำลายของเนดรี้ส่งผลให้ห้องควบคุมต้องอลหม่าน คนดูจะได้เห็นจอทีวีเพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาที่แขกผู้มาเยือนสวนไดโนเสาร์แห่งนี้ต้องเผชิญระหว่างที่เขาออกทัวร์ภายในพาร์คในฐานะแขกพิเศษ
        เมื่อพิจารณาจากขนาดและความยิ่งใหญ่  ฉากที่อยู่ในความทรงจำมากที่สุดของ Jurassic Park ก็คือศูนย์นักท่องเที่ยวที่ถูกสร้างขึ้นที่โรงถ่าย 12 แต่ที่สูสีกันก็คือ ทีเร็กซ์ แพ็ดด็อค ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงถ่ายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส สตูดิโอส์ แลนเทียรี่และทีมงานของเขาได้สร้างเคเบิ้ลสลิงที่สามารถเคลื่อนไหวไดโนเสาร์ขนาด  3,000 ปอนด์ ซึ่งต้องร่วมแสดงกับนักแสดงที่เป็นคน ในการถ่ายทำที่ยาวนานท่ามกลางลม ฝน และโคลน
        ฉากสุดท้ายที่เป็นไคลแม็กซ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำกันที่โรงถ่าย 12 ในห้องโถงที่มีหลังคาโดมขนาดใหญ่ ซึ่งตามที่บทภาพยนตร์บรรยายเอาไว้นั้น มันยังคงอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เมื่อ จอห์น แฮมมอนด์ พาแขกผู้มาเยือนเข้าไปในล็อบบี้หลัก สิ่งแรกที่พวกเขามองเห็นก็คือโครงกระดูกไดโนเสาร์ขนาดใหญ่สองโครงที่ถูกจัดแสดงเอาไว้ตรงกลางโดม
        โครงกระดูกไดโนเสาร์ที่ถูกสร้างขึ้นโดย รีเซิร์ช แคสติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งตั้งอยู่ที่โตรอนโต้ มีขนาดเท่ากับทีเร็กซ์ตัวจริง เท่ากับมันต้องมีความยาวประมาณ 40 ฟุต และอลาโมซอว์รัส ที่มีความยาว 45 ฟุต
        ขณะที่ทีมงานและทีมนักแสดงยกแก้วที่มีแชมเปญขึ้นเพื่อฉลองกันในค่ำคืนสุดท้ายของการถ่ายทำ สปีลเบิร์กที่สีหน้าเหนื่อยอ่อนแต่ยังคงมีท่าทีกระตือรือร้น ได้ประกาศว่า Jurassic Park โปรเจ็กต์สุดทะเยอทะยานซึ่งใช้เวลาในการวางแผนนานสองปี และใช้เวลาถ่ายทำนานสี่เดือน ได้เสร็จสิ้นลงแล้วโดยงบไม่บานปลายและยังเสร็จล่วงหน้ากว่าที่กำหนดไว้ถึง 12 วัน

   ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอ ผลงานการสร้างของ แอมบลิน เอนเตอร์เทนเม้นต์  Jurassic Park นำแสดงโดย แซม นีลล์, ลอร่า เดิร์น, เจฟฟ์ โกลด์บลัม, ริชาร์ด แอ็ทเทนเบอโรห์, บ็อบ เพ็ค, มาร์ติน เฟอร์เรโร่, บีดี หว่อง, ซามวล แอล แจ็คสัน, เวย์น ไนท์, โจเซฟ มาซเซลโล่, อาเรียน่า ริชาร์ดส์, งานสร้างหุ่นไดโนเสาร์เป็นฝีมือของ สแตน วินสตัน, ไดโนเสาร์ที่เคลื่อนที่ได้ เป็นฝีมือของ เดนนิส มูเรน, เอเอสซี, ไดโนเสาร์ ซูเปอร์ไวเซอร์ ได้แก่ ฟิล ทิปเป็ตต์, ผู้ดูแลงานสเปเชียลเอฟเฟ็กต์เกี่ยวกับไดโนเสาร์ ได้แก่ ไมเคิล แลนเทียรี่ ดนตรีประกอบเป็นฝีมือของ จอห์น วิลเลี่ยมส์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ลำดับภาพโดย ไมเคิล คาห์น เอซีอี โปรดักชั่นดีไซเนอร์ ได้แก่ ริค คาร์เตอร์ ผู้กำกับภาพ ได้แก่ ดีน คันดี้, เอเอสซี ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากนิยายของ ไมเคิล ไครชตัน บทภาพยนตร์เป็นฝีมือของ ไมเคิล ไครชตัน และเดวิด โค๊ปป์ ภาพยนตร์เรื่องนี้อำนวยการสร้างโดย แคธลีน เคนเนดี้ และเจอรัลด์ อาร์ โมเลน กำกับโดย สตีเว่น สปีลเบิร์ก งานวิชวล เอฟเฟ็กต์ เป็นฝีมือของ อินดัสเทรียล ไลท์ แอนด์ เมจิค ผลงานการสร้างของ Universal Picture  050793
« Last Edit: April 28, 2013, 03:55:51 PM by happy »