แรงสั่นสะเทือนระหว่างบิน - เที่ยวบินเซ้าธ์เจ็ท #227
ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เดินหน้าไปได้ ก็คือฉากบนเครื่องบินที่แสนน่ากลัวที่ติดตามกัปตันวิป วิเทเกอร์ ไปขณะที่เขาควบคุมเครื่องบินเจ็ทผ่านอุปสรรคในการบินที่มีอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง จนถึงความล้มเหลวของระบบกลไก หลังจากเดินทางผ่านสภาพอากาศเลวร้ายที่สุดมาจนได้ เครื่อง JR-88 (เป็นโมเดลเครื่องบินตามท้องเรื่อง) ต้องเสียทั้งระบบไฮโดรลิค และการควบคุม และเริ่มดิ่งหัวลงอย่างรวดเร็วจนควบคุมไม่อยู่ เพื่อจะควบคุมเครื่อง วิเทเกอร์ต้องพึ่งประสบการณ์ และทักษะที่โดดเด่นเพื่อนำเครื่องบินร่อนลงจอดด้วยวิธีการที่ทั้งเสี่ยงและโลดโผน
มือเขียนบท แกตินส์กล่าวว่าฉากดังกล่าวในตัวบทภาพยนตร์ ได้มาจากเหตุการณ์จริงที่เขาได้รู้มาจากการค้นคว้า
“นักบินอาชีพที่ผมไปขอคำปรึกษา ได้เล่าให้ผมฟังถึงอุบัติเหตุในอดีตที่ปีกตรงหางเครื่องบิน เกิดล็อคและติดอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้หัวเครื่องบินดิ่งลงด้านล่าง พวกเขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขให้เครื่องบินกลับสู่ภาวะปกติ และมีอยู่จุดหนึ่งที่ต้องบังคับให้เครื่องบินบินในสภาพหงายท้อง พวกเขารู้ดีว่าโอกาสเดียวที่พวกเขาจะนำเครื่องลงจอดได้ ก็คือการบินในสภาพพลิกกลับหัว และนำเครื่องบินลดระดับลงใกล้พื้นดินให้มากพอ จากนั้นพวกเขาพลิกเครื่องบินกลับและปล่อยเครื่องลงกับพื้น ซึ่งก็คือสิ่งที่วิปทำในภาพยนตร์ของเรา”
ฉากที่น่ากลัว ซึ่งได้มีการสร้างภาพจำลองขึ้นล่วงหน้า และยังมีการวางแผนอย่างละเอียดในขั้นตอนการเตรียมงาน ต้องใช้ความสามารถของทีมสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ และวิชวลเอฟเฟ็กต์ รวมถึงทีมสตั๊นต์ ควบคู่ไปกับงานกล้องที่สุดสร้างสรรค์ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำที่สุด
เริ่มจากตัวเครื่องบินก่อน โค้ทส์ทำงานร่วมกับ โรเบิร์ต เซเมคคิส เป็นเวลานานหลายเดือน เพื่อพัฒนาตัวเครื่องบิน ตั้งแต่โลโก้ จนถึงหนังสือแม็กกาซีนบนเครื่อง ที่นั่ง จนถึงห้องนักบินที่มีลักษณะโดดเด่น ทีมงานของเขาได้ปรับแต่งเครื่องบินที่มีอยู่จริงๆ เพื่อสร้างเครื่องบินเซ้าธ์เจ็ทตามที่บรรยายเอาไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ โค้ทส์อธิบายว่า “เราอยากให้มันมีความรู้สึกคุ้นเคย แต่เพราะธรรมชาติและประเด็นที่อ่อนไหวของเรื่องนี้ เราจำต้องมีผู้ผลิตเครื่องบิน มีบริษัทสายการบินของเราเอง”
ฉากบนเครื่องบินที่ใช้งานได้จริง ถูกสร้างขึ้นบนแท่นเวทีที่ตั้งอยู่บนฐานสลิงในโรงถ่าย 5 ที่ศูนย์คอมเพล็กซ์โรงถ่าย EUE/Screen Gems ที่แอตแลนต้า เพื่อสร้างเครื่องบินที่มีความโดดเด่นให้กับบริษัทเซ้าธ์เจ็ท แอร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ โค้ทส์ได้สร้างเครื่องบินเจ็ทที่ได้แบบอย่างมาจากเครื่องบินหลายลำที่ใช้กันในสายการบินในภูมิภาคนั้น อาทิเช่น เครื่อง MD-80 และ 737 สำหรับฉากนี้ เครื่องบินลำดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนฟูกลมที่สามารถสร้างการเคลื่อนไหวสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงได้ แต่ละมุมของฟูกลม ทีมสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ จะติดตั้งสปริงขนาดสามฟุตเอาไว้ ซึ่งสามารถยืดหรือหดเพื่อขยับเครื่องบินขึ้นหรือลง ขยับไปด้านข้าง หรือเข้าจอด ซึ่งควบคุมโดยช่างเทคนิคสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ ที่คอยควบคุมสลิง ขณะเดียวกัน ผู้กำกับภาพ ดอน เบอร์เกสส์ และทีมงานของเขา ได้ใช้เครนกล้องหลายตัว และยังใช้อุปกรณ์พิเศษอีกหลายอย่างเพื่อถ่ายทำฉากที่มีความซับซ้อนนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่เรียกว่าเทคโนเครน, ฟีลิกซ์ เครน, ลิบรา เฮด และกรงที่มุนได้ 360 องศา
สำหรับช่วงเวลาของการบินที่วิเทเกอร์จะต้องพลิกเครื่องบินหงายท้อง 180 องศา เพื่อให้สามารถควบคุมเครื่องบินได้ ส่วนห้องผู้โดยสารของเครื่องบินถูกติดเอาไว้ภายในวงแหวนทรงกลมที่สามารถหมุนห้องผู้โดยสารนั้นได้ถึง 360 องศา แท่นที่ได้รับการออกแบบมา ต้องมีความแข็งแกร่งและมั่นคงมากพอที่จะพยุงรับน้ำหนักกว่า 11,500 ปอนด์ของส่วนนั้นของเครื่องบินและผู้โดยสารได้ ด้วยตัวถังเครื่องบินที่ติดตั้งอยู่กับแท่นหมุน ทำให้ช่างเทคนิคสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ของภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถควบคุมส่วนนี้ของเครื่องบิน และหมุนมันไปรอบๆ และยังพลิกเครื่องบินกลับหงายท้องได้ แต่เพราะแท่นไม่สามารถรับน้ำหนักของเครื่องบินทั้งลำที่มีผู้โดยสารอยู่เต็มลำได้ จึงต้องใช้วิธีถ่ายทำส่วนห้องผู้โดยสารในส่วนที่แบ่งเป็น 14 แถวที่นั่ง สองส่วน โดยแต่ละส่วนจะมีผู้โดยสาร 25 คน จากนั้นก็จะผสมรวมภาพเข้าด้วยกันด้วยทีมวิชวล เอฟเฟ็กต์ เพื่อสร้างภาพภายในเครื่องบินทั้งหมด “เราได้ออกแบบแท่นที่หมุนได้ 360 องศาเพื่อทำให้เครื่องบินสามารถกลับลำหงายท้อง และฉากแอ็กชั่นทั้งหมดเกิดขึ้นขณะที่เครื่องบินหงายท้องขึ้น” ไมเคิล แลนเทียรี่ สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ ซึ่งร่วมงานกับเซเมคคิสมานาน เล่า
เอฟเฟ็กต์ซูเปอร์ไวเซอร์ และทีมของเขา ต้องออกแบบแท่นสลิงที่จะรับน้ำหนักของเครื่องบินได้ โดยเป็นในส่วนของห้องผู้โดยสารที่ถูกนำมาจากเครื่องบิน MD-80 ที่มีน้ำหนัก 7800 ปอนด์ บวกกับน้ำหนักของผู้โดยสาร การออกแบบแท่นสลิงที่เคลื่อนไหวได้ จำต้องให้ส่วนห้องผู้โดยสารเปิดออกตรงปลายทั้งสองด้าน เพื่อให้เครนของกล้องสามารถเข้าออกขณะที่ห้องผู้โดยสารหมุนกลิ้งไปได้
ในช่วงเวลาหลายวันที่ถ่ายทำฉากเครื่องบินพลิกกลับหงายท้องนั้น ผู้โดยสาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทีมสตั๊นต์ จะต้องอยู่ในสภาพกลับหัวหลายครั้งโดยแต่ละเทกจะกินเวลานานสองนาที ชาร์ลี ครัฟเวลล์ ผู้ประสานงานสตั๊นต์ ได้เปรียบเทียบการถ่ายทำฉากการบินกับ “การเล่นรถไฟเหาะ” เขากล่าวว่า “เราต้องหาคนที่สามารถเล่นรถไฟเหาะได้วันละแปดชั่วโมง เป็นคนที่สามารถอยู่ในสภาพกลับหัวได้ตลอดทั้งวัน และทำให้มันตื่นเต้นได้ด้วย”
เพราะเที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินระยะสั้นที่เดินทางจากออร์แลนโด้ ไปยังแอตแลนต้า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทีมงานสตั๊นต์จะต้องดูเหมือนคนธรรมดาทั่วไป “ความท้าทายสูงสุดก็คือ บ็อบ เซเมคคิส ไม่อยากให้ทีมสตั๊นต์ดูเหมือนทีมสตั๊นต์ทั่วไป” เขากล่าวเสริมต่อ “พวกเขาควรจะมีลักษณะที่หลากหลายที่ดูคล้ายพวกเขามาจากดิสนีย์เวิลด์”
นักแสดงสตั๊นต์อาชีพไม่ใช่เพียงคนกลุ่มเดียวที่ต้องอดทนต่อฉากเครื่องบินบินหงายท้อง ครัฟเวลล์กล่าวว่า เดนเซล วอชิงตัน เองก็ต้องเข้าฉากเหล่านี้เช่นกัน “เดนเซลเก่งมาก เขาอยากแสดงฉากสตั๊นต์ด้วยตนเอง” ครัฟเวลล์เล่า “เขาไม่อยากให้คนอื่นมาแสดงฉากสตั๊นต์แทนเขา ซึ่งมันก็ดีที่เขาแสดงจากมุมมองแบบนั้น เห็นได้ชัดว่าถ้าเรารู้สึกว่างานนั้นอันตรายเกินไปสำหรับเขา เราก็จะพูดคุยกับเขา แต่เขาเป็นคนกล้าหาญมาก”
เพื่อให้แน่ใจว่าทีมนักแสดงสตั๊นต์ที่มีหน้าตาท่าทางเหมือนคนธรรมดา จะสามารถทนทานต่อการถ่ายทำนานหลายวัน ครัฟเวลล์และทีมงานของเขาได้ทำการทดสอบความปลอดภัยก่อนการถ่ายทำ “เราได้ทดสอบโดยให้คนขึ้นไปห้อยหัวลงมาเพื่อดูถึงระยะเวลาที่ปลอดภัยที่สุด และยังสังเกตถึงผลของการต้องห้อยหัวกลับลงมาด้วย” เขาอธิบาย “เลือดทั้งหมดจะไหลสู่สมองของคุณอย่างรวดเร็ว และหลังจากนั่งอยู่บนเครื่องบินมาแปดชั่วโมง จะเกิดปัญหาเรื่องระบบการหมุนเวียนโลหิต ดังนั้นเราจึงต้องจัดการกับปัญหาทางด้านร่างกายเหล่านั้นทั้งหมด”
นักแสดงที่ต้องขึ้นไปห้อยตัว นักแสดงสตั๊นต์ และฉากที่อยู่ในสภาพท้าแรงดึงดูด ขณะที่มีการติดตั้งกล้องและอุปกรณ์ เป็นการออกแบบฉากที่ต้องใช้กลเม็ด ซึ่งต้องทำให้สำเร็จอย่างเร็วที่สุด การเตรียมงานในทุกส่วนจึงมีความสำคัญมากกว่าปกติ
“เรานำทุกคนขึ้นไปห้อยกลับหัวด้วยเข็มขัดนิรภัยจริงๆ ผมคิดว่าที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย เคยบอกว่าเราสามารถห้อยคนในท่าแบบนั้นนานหนึ่งนาที ดังนั้นเราจึงถ่ายทำทุกอย่างที่ทำได้ในเวลา 60 วินาที จากนั้นเราต้องให้ทุกคนกลับลงมานั่งเป็นปกติอีกครั้ง จากนั้นเราก็ให้พวกเขาขึ้นไปกลับหัว และทำแบบเดิมอีกรอบ ทุกอย่างต้องทำแยกเป็นส่วนๆ แน่นอนว่าเราไม่อยากให้ใครบาดเจ็บ ฉากนั้นเป็นฉากที่มีความซับซ้อน และการสร้างภาพพรีวิสขึ้นมาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้รู้ว่าจะวางกล้องเอาไว้เตรงไหน และเราต้องการอะไร เราศึกษาว่าตรงไหนคือมุมกล้องที่ดีที่สุดที่จะให้ภาพเครื่องบินกลับหัว และดิ่งลงหาพื้น เราจำต้องสร้างภาพเครื่องบินกำลังดิ่งลงผ่านท้องฟ้าโดยมีกล้องติดอยู่ภายในห้องนักบิน และยังต้องอาศัยงานกล้องที่ทำให้มันดูน่าตื่นเต้น และต้องจับคนขึ้นไปห้อยในสภาพกลับหัวนานครั้งละหนึ่งนาที” เซเมคคิสบอก