DSI MAP : นวัตกรรมพิสูจน์สิทธิ์ “ป่ารุกคน- คนรุกป่า”
ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.)
ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) กระทรวงยุติธรรม โดยศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการแผนที่และภูมิสารสนเทศ สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ นำผลงานนวัตกรรม“DSI MAP” โปรแกรมการตรวจสอบขอบเขตการครอบครองพื้นที่ในประเทศไทย มาใช้ในการพิสูจน์สิทธิ์ “ป่ารุกคน- คนรุกป่า” ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์เบื้องต้นผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ใช้ง่าย ตรวจสอบรวดเร็ว ก่อนตรวจสอบเชิงลึกในพื้นที่แนวเขตทับซ้อน/ไม่ชัดเจน เชื่อเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ลดการบุกรุกผืนป่า คืนความเป็นธรรมให้ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในคดีเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งแวดล้อม และป้องกันการถูกหลอกซื้อ-ขายในพื้นที่ต้องห้ามตัวอย่างการสืบค้นดีซี่แมพ สถานการณ์ปัญหาคนรุกที่ป่า ป่ารุกที่คน และความไม่เป็นธรรมในการดำเนินคดีเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งแวดล้อม สาเหตุใหญ่มาจากแนวเขตที่ไม่ชัดเจน และข้อจำกัดในการพิสูจน์สิทธิ์ที่มักเป็นระบบปิดเข้าถึงได้ยาก ใช้เวลานาน กระทรวงยุติธรรม โดยศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญช่วยเหลือคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากปัญหาคดีการบุกรุกที่ดินและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพิสูจน์หลักฐานการครอบครองพื้นที่ซึ่งมีความซับซ้อน เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน จึงต้องอาศัยการทำงานในรูปแบบเฉพาะและเครื่องมือที่สามารถทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน ได้ผลรวดเร็ว พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เปิดเผยว่า "แม่ข่ายแผนที่ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือ DSI MAP(ดีซี่ แม็พ)” เป็นนวัตกรรมในการตรวจสอบที่ถูกพัฒนาขึ้นเป็นเครื่องมือในการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่คดีพิเศษและยังเกิดประโยชน์กับประชาชนทั่วไปที่สามารถเข้ามาใช้โปรแกรมดังกล่าวได้ฟรีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพียงมีพิกัด GPS ของพื้นที่ก็สามารถตรวจสอบได้ว่าพื้นที่นั้นอยู่ในเขตพื้นที่อะไร ซึ่งปัจจุบันการหาพิกัดGPSสามารถทำได้ง่าย เช่น ตรวจสอบได้จากโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ไอแพด เป็นต้น และยังบอกด้วยว่าพื้นที่นั้นมีกฎหมาย/ประกาศอะไรที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือวันที่ประกาศเป็นเขตสงวนหวงห้าม เพื่อเป็นฐานในการวิเคราะห์เบื้องต้น ซึ่งวิธีการนี้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง การปฎิบัติงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายให้ความช่วยเหลือประชาชนของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) ในการตรวจสอบแนวเขตการครอบครองพื้นที่ของประชาชนเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยโปรแกรม DSI MAP ใช้งานผ่านระบบอินเทอร์เนต ทำให้สามารถตรวจสอบได้รวดเร็วกว่าวิธีการเดิมซึ่งเป็นระบบปิดใช้เฉพาะภายในหน่วยงาน การเข้าถึงของประชาชนโดยทั่วไปทำได้ยากและใช้เวลานาน สำหรับโปรแกรม DSI MAP ดังกล่าวศูนย์ปฏิบัติการแผนที่และภูมิสารสนเทศ สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ได้พัฒนาร่วมกับนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันการศึกษาของรัฐ และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ พัฒนาต่อยอดจนกระทั่งเป็นรูปแบบที่สามารถใช้งานได้ง่ายสำหรับประชาชนทั่วไปให้เข้าถึงข้อมูลทางภูมิศาสตร์ “DSI MAP ที่จัดทำขึ้นเป็นโปรแกรมรองรับการตรวจสอบและค้นหาแนวขอบเขตเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงโปรแกรมได้ง่ายเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อนหน้านี้การตรวจสอบทำได้ยาก และใช้เวลานาน เพราะมักเป็นระบบปิดใช้เฉพาะภายในหน่วยงาน แต่ DSI MAP ทำให้การตรวจสอบเบื้องต้นทำได้ง่ายและรวดเร็ว เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทำให้รู้สิทธิและยอมรับต่อหลักฐานเชิงประจักษ์นี้ และนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาในคดีเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบันได้ ” ทั้งนี้ DSI MAP ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวด “นวัตกรรมการสำรวจทางภูมิศาสตร์ (GIS)”ในงาน“ถนนเทคโนโลยี ประจำปี 2555” โดยโปรแกรม DSI MAP สามารถใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต http://www.dsi-map.go.th เมื่อระบบขึ้นมาบนจอคอมพิวเตอร์จะเป็นรายละเอียดของแม่ข่ายแผนที่ทั่วประเทศ โดยผู้ใช้สามารถตรวจสอบรายละเอียดของพื้นที่ ทั้งเขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวน เขตป่าชายเลน พื้นที่ สปก.ฯลฯ ด้วยการใส่ค่าพิกัดตำแหน่งจีพีเอสในช่องตำแหน่งพิกัด หรือใส่ชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ในช่องค้นหาสถานที่ แล้วกดค้นหา จากนั้นระบบจะบอกว่าพิกัดที่ต้องการตรวจสอบอยู่ในพื้นที่อะไร เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตป่าสงวน หรือไม่ ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวนอกจากช่วยให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลในการตรวจสอบกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าแล้วประชาชนทั่วไปยังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในกรณีตรวจสอบการซื้อ-ขายที่ดินว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่เพื่อป้องกันการถูกหลอก โดยในปีที่ผ่านมาศูนย์ปฏิบัติการแผนที่และภูมิศาสตร์ฯได้มีการอบรมการใช้โปรแกรมดังกล่าวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ราชบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต ซึ่งมีข้าราชการและประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และในปีงบประมาณ 2556 นี้จะเร่งเผยแพร่ ให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานยุติธรรม ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ หนองบัวลำภู อุดรธานี เลย หนองคาย และภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช และ สงขลา เป็นต้น นายเรวัต แสงโชติ. นายเรวัต แสงโชติ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ ศูนย์ปฏิบัติการแผนที่และภูมิศาสตร์ สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวเสริมว่า DSI MAP เป็นการจัดฐานข้อมูลทางภูมิศาสตร์ และการประกาศพื้นที่แนวเขตของป่าที่มีความเกี่ยวพันด้านกฎหมายโดยใช้งบประมาณในการลงทุนน้อยมาก เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่ต้องการให้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติลดน้อยลงและหมดไปจากประเทศไทย “เราแปลงข้อมูลเอกสารทางภูมิศาสตร์เบื้องต้นที่เป็นพื้นฐานมาใส่ในโปรแกรมนี้ และกฎหมายที่ชาวบ้านต้องรู้ว่าตรงไหนที่เป็นเขตป่าสงวน เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นว่าห้ามเข้าไปรุกล้ำหรือยึดครองมาเป็นที่ทำกิน ขณะเดียวกันประชาชนสามารถเป็นหูเป็นตากรณีการแสวงประโยชน์ในทางมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐและการบุกรุกทำลายป่าของผู้มีอิทธิพล ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เอ็นจีโอหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆ ให้มาตรวจสอบ การเผยแพร่ DSI MAPไปสู่ประชาชนในวงกว้างจึงมีความสำคัญเพราะจะทำให้เกิดการเฝ้าระวังและป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าได้อย่างกว้างขวาง สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงยุติธรรมในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน” DSI MAP จึงเป็นนวัตกรรมในการคลี่คลายปัญหาเกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงรายละเอียดข้อมูลพื้นที่ได้รวดเร็ว จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กระทรวงยุติธรรม นำมาใช้ตรวจสอบ แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ สิทธิครอบครองอันชอบธรรม สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนโดยเฉพาะในส่วนของที่ดินทำกิน ว่าอยู่ในพื้นที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ขณะเดียวกันสำหรับประชาชนทั่วไปการเข้าถึง DSI MAP เป็นการยับยั้งการบุกรุกทำลายป่าโดยไม่ตั้งใจ และไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกหลอกซื้อ-ขายที่ดินในพื้นที่แนวรอยต่อพื้นที่ป่า เป็นต้น การตรวจสอบแนวเขตสงวนหวงห้ามผ่าน DSI MAP เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อให้ประชาชนที่เฝ้าระวังการบุกรุกได้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่เข้ามาตรวจสอบและยับยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างทันท่วงที อันเป็นการช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ และเชื่อว่าหากมีผู้ใช้เครื่องมือดังกล่าวในการตรวจสอบมากเท่าไร ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง.