happy on October 15, 2012, 01:54:07 PM
กสทช.จัดสัมมนาเตรียมความพร้อม “ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 2015 อาเซียนร่วมใจ
ไทยจะรุกหรือรับ” เลขาธิการอาเซียนชี้ “ไทยถอยไม่ได้”



พิธีเปิดงานสัมมนาฯ

               ในารสัมมนา “ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 2015 อาเซียนร่วมใจไทยจะรุกหรือรับ” ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว วานนี้ (11 ต.ค.) เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมร่วมกันในการกำหนดทิศทางของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของไทยก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2015 นั้น


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ กล่าวรายงาน


พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี กล่าวเปิดสัมมนาฯ

               พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) และประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 2015 อาเซียนร่วมใจไทยจะรุกหรือรับ” (Competitive Position towards ASEAN 2015) กล่าวว่า “กสทช. ตระหนักถึงความสำคัญของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกอาเซียน และได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่มุ่งพัฒนากิจการโทรคมนาคม ลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งหวังจากการสัมมนาในครั้งนี้คือการร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งข้อกังวล มุมมอง โอกาส และความท้าทายต่างๆ จากความรู้และประสบการณ์ของเลขาธิการอาเซียนและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนข้อคิดเห็นที่ได้รับจากผู้ร่วมสัมมนาที่มาจากทุกภาคส่วน  จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำกลับไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในการทำงาน สอดคล้องกับแผนการดำเนินงาน  เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่มีศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน   รวมทั้งมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เกิดการไหลเวียนของเงินทุน บริการ สินค้าและแรงงานฝีมือในภูมิภาคอาเซียน”


ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ

               ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ผลกระทบและการเตรียมความพร้อมของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมสู่ประชาคมอาเซียน”  ว่า  ประเทศไทยอยู่ในฐานะของผู้คิดริเริ่มการก่อตั้งประชาคมอาเซียน ตั้งแต่ปี 1967 หรือ พ.ศ. 2510  ปัจจุบันนี้ทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญที่จะร่วมช่วยกันทำให้การก่อตั้งประชาคมอาเซียนประสบความสำเร็จ เป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลก ซึ่งจะมีผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนกว่า 600 ล้านคนใน 10 ประเทศสมาชิก การขยายตลาดสู่ 10 ระบบเศรษฐกิจที่จะผนึกกำลังเป็นตลาดเดียวกันอย่างแข็งแกร่ง และจะเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งทุกฝ่ายกำลังมองไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกัน โดยประเทศไทยจะถอยไม่ได้  เพราะผลประโยชน์ของชาติอยู่ในกระบวนการนี้  ทั้งนี้ เรื่องพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งคือ ต้องทำให้ คนไทย 64 ล้านคนต้องเชื่อมโยงเข้าหากันได้ก่อน โดยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารคมนาคมต่างๆ อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และมีศักยภาพในการสร้างประชาคมที่ตรึงเข้าด้วยกันเป็น Virtual Community หรือ Cyber Community ได้ก่อนจากระบบการสื่อสารไร้พรมแดนที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วกว่าระบบอื่นๆ

               “นอกจากนี้ ประเทศไทยควรมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการกระจายถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนออกไปให้โลกได้รับรู้  ซึ่งต้องมีความพร้อมในระบบการบริหารจัดการทั้งด้านเนื้อหาสาระและเทคนิคที่ดี   มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สำหรับทุกประเทศ ที่ให้ความสนใจกับประชาคมอาเซียน  ดังนั้น บทบาทของผู้ประกอบการ ฝ่ายกำกับดูแล สื่อมวลชน และทุกภาคส่วนจึงต้องทำงานด้วยความร่วมมือกันอย่างมีเอกภาพ ไม่บั่นทอนขัดแย้งกัน โดยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของเราให้มีศักยภาพในการแข่งขัน มีความรู้ความสามารถในการค้นคว้าวิจัยและสร้างเทคโนโลยีต่างๆ ได้เอง เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมีศักดิ์ศรี มีรากฐานที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” เลขาธิการอาเซียน กล่าว


การอภิปราย


ผนึกกำลังสู้ AEC

               ในส่วนของการสัมมนาในหัวข้อ “เส้นทางและโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม : เอกชนต้องการอะไร? ภาครัฐรับได้หรือไม่?” นั้น มีมุมมองที่น่าสนใจจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายพยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เข้มแข็ง สำหรับธุรกิจโทรคมนาคมหากได้มีการพัฒนาจนเกิดการยอมรับ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่ธุรกิจอื่นๆ ตามไปด้วย ทั้งยังจะมีส่วนส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ โดยคนรุ่นใหม่ขึ้นอีกมาก  ส่วนการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านนั้นควรใช้วิธีค่อยๆ ขยายฐานการลงทุน โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีกับนักลงทุนในประเทศนั้นๆ

               ด้าน นายจาฤก  กัลย์จาฤก ที่ปรึกษาสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ แสดงความคิดเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการที่มีต่อการรุกตลาดอาเซียน ว่า “นอกจากจะต้องมี Know How แล้ว ยังจะต้องมี Know Who อีกด้วย โดยการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศนั้น ต้องเลือกดูพันธมิตรรายที่มีความแข็งแรงที่สุดที่จะนำพาธุรกิจไปให้ถึงเป้าหมาย ทั้งเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอาศัย connection ที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน

               นอกจากนี้ เราควรนำเสาหลักเรื่องประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน มาเป็นตัวนำในการสื่อสารออกไป คนทำสื่อต้องมีบทบาทในการเชื่อมโยงวัฒนธรรม ไม่สร้างปัญหาความรุนแรงและข้อขัดแย้ง เพราะต่อไปอาเซียนจะกลายเป็น one community มีความมั่นใจว่าผู้ประกอบการของไทยมีครีเอทีฟดี มีความตั้งใจ มีพัฒนาการดี ซึ่งการใช้วัฒนธรรมเป็นตัวนำนี้ต้องทำร่วมกัน เดินไปด้วยกันให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่รุกมากเกินไป เพราะมีตัวอย่างให้เห็นในหลายประเทศที่ต้องการปกป้องการรุกล้ำทางวัฒนธรรม  เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว และหากภาครัฐมียุทธศาสตร์ให้ใช้วัฒนธรรมเป็นตัวนำ ภาครัฐต้องเป็นแกนนำช่วยภาคเอกชน ควรมีการตั้งกองทุนเพื่อผลักดันให้เกิด Content ที่สร้างสรรค์ ส่วนภาคเอกชนก็ควรมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือตนเองด้วยเช่นกัน”  

               นางปรีญาภรณ์  ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการบริหาร และประชาสัมพันธ์ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนมีข้อเรียกร้องต่อภาครัฐหลายประการ ได้แก่ การต้องการให้ภาครัฐกำหนดทิศทางของกิจการโทรคมนาคมที่ชัดเจน กำหนดแบบระยะยาวและสืบเนื่องต่อไปในทุกรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ควรปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ให้ทันเหตุการณ์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่อง Cyber law เนื่องจากต่อไปเมื่อเปิดเสรี การเซ็นเซอร์เนื้อหาจะทำได้ยาก เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องมีความรู้ ซึ่งควรหารือภาคเอกชนถึงแนวทางการเซ็นเซอร์ตัวเอง ดูแลเนื้อหาก่อนเผยแพร่  ทั้งนี้ควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนเกิดการแข่งขัน ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกของตลาด โดยผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ต้องการเงินทุนอีกมากจึงอยากให้ภาครัฐผลักดันและสนับสนุนให้มีการระดมเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งต้องการให้ภาครัฐลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนประกอบ ของสินค้าโทรคมนาคม ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็น 0 เปอร์เซ็นต์ มิฉะนั้นไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะต้องเผชิญคู่แข่งสำคัญอย่างประเทศจีน

               ขณะที่การอภิปรายในหัวข้อ “มุมมองกสทช.ต่อการรวมเป็นประชาคมอาเซียน 2015: โอกาสและความท้าทาย” นั้น พันเอก นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. กล่าวว่า สำหรับกิจการโทรทัศน์ของไทยนั้น หากการปรับเปลี่ยนระบบจากอนาล็อคเป็นดิจิตอลแล้วเสร็จ มั่นใจว่าจะสามารถขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนได้ เนื่องจากระบบจะมีส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจโดยรวมของประเทศ ที่จะสามารถส่งออก content ไปสู่ตลาดอาเซียนและทั่วโลกได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลง และเชื่อว่า content ของไทยไม่แพ้ใคร โดยภายในสิ้นปี 2555 นี้จะออกใบอนุญาตโครงข่ายช่องทีวีสาธารณะให้แล้วเสร็จ เพิ่มช่องทีวีสาธารณะจาก 6 ช่องเป็น 48 ช่อง เพิ่มโอกาสไปสู่ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ให้ได้ทุกกลุ่ม

               พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. ให้ความเห็นว่า การปรับปรุงกฎหมายไม่ให้ขัดขวางการลงทุนเมื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งกสทช.เองก็ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ตามยุทธศาสตร์ที่อยู่ในแผนแม่บท และจะมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าหากการประมูล 3G ลุล่วงด้วยดี รวมถึงการสามารถปลดล็อคสัดส่วนผู้ถือครองหุ้นเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นด่านแรกสู่ความสำเร็จด้านธุรกิจโทรคมนาคมของไทยในประชาคมอาเซียนได้ไม่ยาก

               ด้าน ดร.พิสิฐ  ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจโทรคมนาคมนั้น มีประเด็นที่ต้องคำนึงถึง คือผู้ประกอบการรายที่แข็งแรงกว่า ใหญ่กว่า จะได้เปรียบ จะเกิดการกินรวบ จะทำให้เหลือ Operator รายใหญ่เพียงไม่กี่ราย เป็นธุรกิจเชิงผูกขาด ดังนั้นภาครัฐต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ มีบทบาทดูแลไม่ให้เกิดปัญหาการฮั้วกันทางธุรกิจ อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องภูมิศาสตร์ เป็นศูนย์กลางอาเซียน ทั้งทางการบิน และเส้นทางการขนส่ง โครงข่ายที่เชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาค แต่ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ศักยภาพในการทดสอบมาตรฐานสินค้า เพื่อรองรับภาคการผลิตที่อยู่ในไทยและให้บริการประเทศอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ควรให้การสนับสนุนตั้งกองทุนเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจภาคบริการโทรคมนาคม การกระจายเสียงและโทรทัศน์ ซึ่งสถาบันการเงินทั่วไปมักมองว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและไม่ให้การส่งเสริม กลายเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์

*******************************************************
             
« Last Edit: October 15, 2012, 02:09:10 PM by happy »