ON THE ROAD
ภาพยนตร์โดย วอลเตอร์ ซัลเลส
ดัดแปลงจากนิยายของแจ๊ค เครูแอค
เรื่องย่อ หลังจากที่พ่อเสียชีวิต ซัล พาราไดซ์ (แซม ไรลีย์) นักเขียนหนุ่มชาวนิวยอร์ค ได้รู้จักกับดีน มอริอาร์ตี้ (แกร์เร็ท เฮดลันด์) อดีตนักต้มตุ๋นเจ้าเสน่ห์ และได้แต่งงานกับสาวสวยรักอิสระ แมรีลู (คริสเซน สจ๊วร์ต) ซัลและดีนผู้กลายมาเป็นเพื่อนสนิท ไม่ยอมให้สังคมที่เคร่งครัดมากักขังหน่วงเหนี่ยวพวกเขาไว้ สองหนุ่มและหนึ่งสาวได้แหกกฎเกณฑ์ทั้งปวง โดยการออกไปใช้ชีวิตเสรีบนท้องถนน เพื่อค้นหาความหมายของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ และแสวงหาตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเมื่อเรื่องจริง..กลายเป็นหนังสือและภาพยนตร์
นีล คาสซาดี้ กลายเป็น “ดีน มอริอาร์ตี้” (รับบทโดย แกร์เร็ท เฮดลันด์) นีล คาสซาดี้ หนุ่มเนื้อหอมแห่งกลุ่ม “กวีขบถ” ผู้บูชาเสรีภาพและอิสตรีเหนือสิ่งอื่นใด ร่วมตระเวนไปทั่วสหรัฐอเมริกากับนักเขียนหนุ่ม แจ๊ค เครูแอค ซึ่งในเวลาต่อมา นีลก็กลายมาเป็นตัวละครชื่อดีน มอริอาร์ตี้ ใน On the Road นิยายเรื่องดังของแจ๊ค ในส่วนของภาพยนตร์ บทดีน มอริอาร์ตี้เหมาะสมกับนักแสดงฝีมือเยี่ยมอย่าง มาร์ลอน แบรนโด หรือแบรด พิทท์เป็นที่สุด แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนถึงยุคปัจจุบัน บทนี้จึงตกเป็นของนักแสดงหนุ่มดาวรุ่งอย่าง แกร์เร็ท เฮดลันด์แจ๊ค เครูแอค กลายเป็น “ซัล พาราไดซ์” (แซม ไรลีย์) “ราชาแห่งกวีขบถ” แจ๊ค เครูแอค ยืนโดดเด่นอยู่ท่ามกลางเหล่านักคิดนักเขียนคนสำคัญของศตวรรษที่ 20 ใน On the Road ผลงานชิ้นเอก ตัวตนของแจ๊คปรากฏอยู่ในตัวละคร ซัล พาราไดซ์ นักประพันธ์หนุ่มผู้ถูกชะตากับอดีตนักต้มตุ๋น ดีน มอริอาร์ตี้ จนถึงขั้นเดินทางออกไปเผชิญโลกกว้างด้วยกัน บทซัล พาราไดซ์แสดงโดย แซม ไรลีย์ นักแสดงหนุ่มผู้สร้างชื่อขึ้นมาจากบทนำในภาพยนตร์เรื่อง Controlลูแอนน์ เฮนเดอร์สัน กลายเป็น “แมรีลู” (คริสเซน สจ๊วร์ต) ลูแอนน์แต่งงานกับนีล คาสซาดี้ ตอนที่เธออายุเพียง 15 ปี และภายหลังหย่าขาดกัน เธอก็ยังเป็นชู้รักของเขาต่อไปอีกหลายปี ลูแอนน์ร่วมเดินทางท่องอเมริกาไปกับนีลและแจ๊ค เครูแอค จนเมื่อแจ๊คเขียนนิยายเรื่อง On the Road ลูแอนน์ก็กลายมาเป็นแมรีลู ซึ่งในภาพยนตร์นั้น รับบทโดย คริสเซน สจ๊วร์ต นักแสดงสาวผู้โด่งดังจาก Twilightแคโรลีน คาสซาดี้ กลายเป็น “คามิลล์” (เคิร์สเทน ดันสท์) ตัวละคร คามิลล์ (รับบทโดย เคิร์สเทน ดันสท์ จาก The Virgin Suicides, Marie Antoinette, Melancholia) หรือแคโรลีน คาสซาดี้ ในชีวิตจริง ปัจจุบันอายุ 88 ปี เธอคือแม่ผู้เข้มแข็ง ที่ก้มหน้าก้มตาเลี้ยงดูลูกๆ ซึ่งเกิดจากนีล คาสซาดี้ ขณะที่ฝ่ายชายเที่ยวตะลอนไปกับสาวๆ มากมายวิลเลียม เอส. เบอร์โรส์ กลายเป็น “โอลด์ บูล ลี” (วิกโก มอร์เทนเซน) วิลเลียม เอส. เบอร์โรส์ คือคนที่มีอายุมากที่สุด และหม่นหมองที่สุดในบรรดาสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มกวีขบถ เขาเป็นผู้เขียนนิยายเรื่อง Naked Lunch ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะของมนุษย์ที่ตกเป็นทาสยา ใน On the Road โอลด์ บูล ลี ที่รับบทโดย วิกโก มอร์เทนเซน (The Road, A History of Violence) คือคนที่ให้กำลังใจซัลและดีน ในการออกไปใช้ชีวิตอิสระเสรีอัลเลน กินสเบิร์ก กลายเป็น “คาร์โล มากซ์” (ทอม สเตอร์ริดจ์) ทอม สเตอร์ริดจ์ นักแสดงหนุ่มชาวอังกฤษ วัย 26 ปี จาก Twilight, The Boat that Rocked รับบทเป็นอัลเลน กินสเบิร์ก อีกหนึ่งเสาหลักของกลุ่มกวีขบถ ผู้กลายมาเป็นคาร์โล มากซ์ ในนิยายและภาพยนตร์เรื่อง On the Roadโจแอน โฟลเมอร์ กลายเป็น “เจน” (เอมี อดัมส์) โจแอน โฟลเมอร์ คือคนรักของวิลเลียม เอส. เบอร์โรส์ เธอคือหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มกวีขบถในนิวยอร์ค และสมัยเรียน เธอก็พักอยู่ห้องเดียวกับอีดี้ พาร์คเกอร์ ภรรยาคนแรกของแจ๊ค เครูแอค น่าเศร้าที่โจแอนเสียชีวิตในเม็กซิโก ด้วยน้ำมือของเบอร์โรส์ ที่ฆ่าเธอโดยไม่เจตนาขณะเล่นเกมยิงธนู เอมี อดัมส์ นักแสดงสาวฝีมือเยี่ยมจาก Julie & Julia, The Fighter รับบทเป็นโจแอน โฟลเมอร์อัล ฮิงเกิล กลายเป็น “เอ๊ด ดุงเคิล” (แดนนี มอร์แกน) อัล ฮิงเกิล เกิดเมื่อปี 1926 เขาเป็นเพื่อนกับนีล คาสซาดี้ ก่อนจะได้รู้จักกับแจ๊ค เครูแอค ผู้ปลูกฝังให้เขาสนใจการแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา เรื่องที่อัลเสียใจที่สุดในชีวิตคือการที่เขาไม่คาดคิดว่านีล เพื่อนรักจะมาด่วนจากไปในปี 1968 แดนนี มอร์แกน นักแสดงหน้าใหม่ในวงการภาพยนตร์ รับบทเป็นเอ๊ด ดุงเคิล หรืออัล ฮิงเกิลบนหน้ากระดาษหนังสือเฮเลน ฮิงเกิล กลายเป็น “กาลาเทีย ดุงเคิล” (เอลิซาเบธ มอสส์) ภรรยาของอัล ฮิงเกิล ผู้เสียชีวิตในปี 1994 เฮเลนเป็นคนดูแลสามีระหว่างที่เขาเรียนหนังสืออยู่ในเมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งไม่ไกลจากบ้านของครอบครัวคาสซาดี้ ที่เป็นเพื่อนกันมาอย่างยาวนาน เมื่อกลายมาเป็นกาลาเทียในนิยาย ผู้หญิงหัวรั้นคนนี้ถูกสามีของเธอ และดีนทิ้งไว้กลางทาง เมื่อเป็นภาพยนตร์ บทกาลาเทียตกเป็นของเอลิซาเบธ มอสส์ นักแสดงสาวจากซีรีส์โทรทัศน์เรื่องดัง Mad Menบี ฟรังโก กลายเป็น “เทอร์รี” (อลิซ บรากา) แจ๊ค เครูแอคเขียน Terry, the Mexican Girl in Road บนจดหมายมากมายหลายฉบับ ที่บี ฟรังโกส่งให้เขาในปี 1947 ความรักของทั้งคู่ดำเนินไปในระยะเวลาสั้นๆ บียังเด็กและหวังจะไปอยู่กับแจ๊คที่นิวยอร์ค ในจดหมายฉบับหนึ่ง เธอตัดพ้อว่า “ถ้าเพียงแต่ฉันได้เกิดเป็นผู้ชาย” บีกลายมาเป็นเทอร์รีในนิยายและภาพยนตร์ ซึ่งรับบทโดย อลิซ บรากา นักแสดงสาวสวยชาวบราซิล ผู้มีผลงานเรื่องดังอย่าง City of God, Predators และ I Am Legendย้อนรอยเส้นทางอดีต On the Road คือนิยายเรื่องที่สองของแจ๊ค เครูแอค นิยายเรื่องแรก The Town and the City ได้รับอิทธิพลการเขียนมาจากนักประพันธ์ที่เขาชื่นชอบอย่าง มาร์ค ทเวน, โทมัส วูล์ฟ และวอลท์ วิทแมน เมื่อเริ่มลงมือเขียน On the Road เครูแอคตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะสร้างสรรค์วิธีการประพันธ์แบบใหม่ ทว่าในสมุดบันทึกของเขายังเต็มไปด้วยถ้อยคำและสำนวนของบรรดานักเขียนคนโปรด เครูแอคใช้เวลานานหลายเดือน เขียนร่างแรกของ On the Road ในหลายรูปแบบ บางแบบยาวแค่หน้าเดียว แต่บางแบบก็ยาวเป็นร้อยหน้า บางครั้งเขาเล่าเรื่องโดยใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 แต่บางครั้งก็เปลี่ยนไปใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 พูดง่ายๆ ก็คือ เครูแอคทดลองเขียนมันทุกแบบ เท่าที่เขาจะทำได้ หลังจากช่วงเวลาทรมานอันยาวนานผ่านพ้นไป เมื่อนีล คาสซาดี้, ลูแอนน์ และอัล ฮิงเกิล ชักชวนให้เขาออกเดินทางอีกครั้ง เครูแอคตอบตกลงทันที และในปี 1949 เขาก็กลับไปยังอีสต์โคสท์ ลงมือเขียน On the Road โดยคิดไว้ว่าจะใช้เวลาไม่กี่เดือน เครูแอคอยากให้มันพูดถึงประเทศอเมริกา, มิตรภาพ และการบรรลุสัจธรรม เขาอยากเขียนนิยายเกี่ยวกับผู้คนในยุคสมัยของเขา ศึกษาชีวิตของคนหนุ่มสาวผู้ “ปฏิเสธการทำงาน” และออกท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ เครูแอคประสบความสำเร็จในการจุดประเด็นความคิดเรื่องยุคสมัยของคนที่เป็นขบถสังคม แต่เขาก็ยังต้องค้นหาวิธีที่จะเล่ามันออกมาให้ดีที่สุด
“คุณคิดนานไหมว่าจะเขียน On the Road?” สตีฟ อัลเลน พิธีกรรายการทอล์คโชว์ทางโทรทัศน์ เอ่ยถามแจ๊ค เครูแอค ในปี 1959 “สามสัปดาห์” เครูแอคตอบ “คุณใช้ชีวิตอยู่บนถนนนานแค่ไหน?” อัลเลนถามต่อ “เจ็ดปี” คำตอบของเครูแอค เรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมในห้องส่ง แต่เรื่องจริงคือ เครูแอคเริ่มเขียน On the Road ในฤดูร้อน ปี 1948 ไม่ใช่ 1951 อย่างที่เขาอ้าง และเขียนจบเมื่อปี 1957 เมื่อกลับจากการตระเวนท่องเที่ยวครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ปี 1948 เขาเขียนไว้ในสมุดบันทึกลงวันที่ 23 ว่า “ผมมีนิยายเรื่องหนึ่งอยู่ในหัว On the Road ซึ่งทำให้ผมคิดถึงผู้ชายสองคนที่โบกรถไปแคลิฟอร์เนีย เพื่อตามหาบางสิ่งที่พวกเขาไม่มีวันเจอ ทั้งคู่สูญเสียความเป็นตัวเองระหว่างการเดินทาง แต่ก็ได้พบสิ่งอื่นที่มอบความหวังให้พวกเขาแทน” หลังจากใช้เวลาอยู่บนท้องถนนนาน 9 ปี On the Road ก็ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 5 กันยายน 1957 น่าเสียดายที่นิยายเรื่องนี้เป็นที่รู้จักช้าเกินไป ซึ่งทำให้เครูแอครู้สึกเจ็บปวดอยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากคำพูดของเขา “คุณไปอยู่ไหนมาในวันที่ผมเขียนจบ เราน่าจะได้พบกัน”จากหน้ากระดาษสู่แผ่นฟิล์ม “เอา On the Road มาทำเป็นหนังน่ะเหรอ? ผมไม่เคยนึกถึงเรื่องนี้เลย จนทำ The Motorcycle Diaries เสร็จ” ผู้กำกับ วอลเตอร์ ซัลเลส ย้อนรำลึก “ผมว่ามันเป็นหนังสือที่โดดเด่น แต่ก็ไม่เคยคิดจะทำมันเป็นหนัง จนกระทั่ง The Motorcycle Diaries ได้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ ปี 2004 ความคิดเรื่องนี้ก็เริ่มเข้ามาในหัวผม” ฟรานซิส คอปโปลา ที่ประทับใจ The Motorcycle Diaries มาก คือผู้นำเสนอไอเดียนี้แก่ซัลเลส เป็นเวลานานหลายปีแล้ว ที่บทประพันธ์เรื่อง On the Road ถูกส่งผ่านไปยังผู้กำกับชั้นยอดมากมาย ช่วงปลายทศวรรษที่ 70 คอปโปลาได้แนะนำให้ฌอน-ลุค โกดาร์ด นำมันมาทำเป็นภาพยนตร์ แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า จนกระทั่งชื่อของกัส ฟาน ซองต์ เข้ามาเกี่ยวข้องกับโปรเจคท์ดังกล่าว ตามคำบอกเล่าของแบร์รี กิฟฟอร์ด ผู้เขียนบทภาพยนตร์ (Wild at Heart) “ฟรานซิสจ้างผมเขียนบทหนังในปี 1995 แล้วจะให้กัส ฟาน ซองต์เป็นคนกำกับ แต่มีเหตุผลเยอะแยะมากมาย ที่ทำให้เราไม่สามารถสานต่อโครงการนี้ได้ ผมดีใจมากที่วอลเตอร์ ซัลเลสทำสำเร็จ เขาเชิญผมไปเป็นที่ปรึกษา และผมก็ตอบรับด้วยความยินดี เรากลายเป็นเพื่อนกัน เพราะเรามีอะไรหลายอย่างคล้ายๆ กัน วอลเตอร์เคารพนิยายของแจ๊ค พอๆ กับคัมภีร์ไบเบิลเลย มันคือวัตถุดิบแรกที่เขาใช้ในการดัดแปลง เป็นสารคดีชีวประวัติ เปรียบเสมือน ‘หนังวรรณกรรม’ อย่างที่แจ๊คเคยพูดไว้ เราอาจดัดแปลงนิยายเรื่องนี้ ให้ออกมาเป็นหนังได้สารพัดแบบ แต่ผมมั่นใจว่า On the Road ของวอลเตอร์ คือแบบที่เป็นจริงที่สุด”
บุคลิกที่ละเอียดลึกซึ้งของซัลเลส คือกุญแจสำคัญที่ทำให้โปรเจคท์นี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และชาร์ลส จีลแบรต์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ของบริษัท MK2 คือหัวเรี่ยวหัวแรงหลักที่ช่วยผลักดันให้กระบวนการผลิตเดินหน้าต่อไป “ต้นเดือนมกราคม ปี 2010 แมริน คาร์มิทซ์, นาธาเนล คาร์มิทซ์ และผม ไปประชุมเรื่องโปรเจคท์น่าสนใจกับวอลเตอร์ ซัลเลส ที่สำนักงาน MK2 ในปารีส หลังจากพูดคุยกันเสร็จสรรพจนได้เวลาแยกย้าย วอลเตอร์ก็ยื่นซองเอกสารมาให้ บนหน้าซองเขียนว่า On the Road ผมถาม ‘On the Road หนังสือใช่ไหม?’ เขาตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง ‘ใช่’ เมื่อวอลเตอร์กลับไปบราซิล พวกเราก็ปรึกษากัน และรู้สึกว่าเรื่องนี้มันสำคัญกว่าที่เราคิดไว้มาก วันรุ่งขึ้นเราโทรหาเขา และอีกสองสัปดาห์จากนั้น เขาก็บินมาปารีสพร้อมคาร์ลอส คอนติ ผู้ออกแบบงานสร้าง และวัตถุดิบมากมาย เราได้ดูการทดสอบบทของแกร์เร็ท เฮดลันด์ ผู้ไม่ยอมรับงานอื่นเลยตลอดสองปี เพราะกลัวจะพลาดบทใน On the Road แล้วก็ได้ดูแซม ไรลีย์ทดสอบบทด้วย นอกจากนี้ เรายังได้คุยกับคริสเซน สจ๊วร์ต ซึ่งเราเคยพบเธอมาแล้ว ก่อนที่ Twilight ภาคแรกจะออกฉาย และก็มีภาพถ่ายต่างๆ, วิดีโอการประชุมทีมงาน, สิ่งของสารพัดสารพัน วอลเตอร์ถูก On the Road เข้าสิงเรียบร้อยแล้ว เขาเดินทางตามรอยแจ๊ค เครูแอค เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลตามที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ หนังเรื่องนี้เกิดขึ้นนานแล้ว เราแค่หามันให้เจอ สิบวันต่อมา ผมกับนาธาเนลเดินทางไปลอส แองเจลิส เพื่อเจรจาเรื่องลิขสิทธิ์กับโรมัน คอปโปลา และรีเบคกา เยลแธม (ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Motorcycle Diaries และ Linha de Passe ของวอลเตอร์ ซัลเลส) พวกเรามีเวลาหนึ่งสัปดาห์สำหรับการทำข้อตกลง ก่อนที่ On the Road จะเริ่มถ่ายทำในช่วงฤดูร้อน”