happy on July 03, 2012, 01:18:43 PM
เรียกร้องสร้างมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เผยการผลิตรถโดยสารสาธารณะของไทยทั้งรถขนาดเล็กขนาดใหญ่ ยังไร้ระเบียบบังคับการทดสอบมาตรฐานโครงสร้างรถ เป็นอีกสาเหตุความเสี่ยงภัยของผู้โดยสารที่ไม่มีสิทธิ์เลือก ความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะจึงสำคัญมากกว่าค่าโดยสาร เรียกร้องเร่งสร้างมาตรฐาน 3 องค์ประกอบ โครงสร้างรถ เบาะที่นั่ง เข็มขัดนิรภัย เพิ่มความปลอดภัย ช่วยลดความสูญเสีย




ดร.สุเมธ องกิตติกุล

               เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยจากการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ เป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดกันมากทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุความสูญเสีย ซึ่งที่ผ่านมาผู้เกี่ยวข้องมีความพยายามแก้ไขมาต่อเนื่อง แต่ระเบียบและข้อกำหนดยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ทำให้มาตรฐานและความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการอยู่ยังมีปัญหา จุดเริ่มต้นควรอยู่ที่มาตรฐานตัวรถหากอยู่ในสภาพแข็งแรงได้มาตรฐานมีการทดสอบต่อเนื่อง จะช่วยลดความสูญเสียจากความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้

               ในเรื่องมาตรฐานรถจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลักของรถ คือ ขั้นตอนออกแบบ ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องมีกระบวนการขออนุญาตแบบเหมือนกับการสร้างบ้าน ขั้นที่สองคือการผลิตรถซึ่งต้องมีการตรวจสอบ  ขั้นที่สามคือการตรวจสภาพรถ[size=1-pt]หลังจากมีการอนุญาตให้รถนั้น ๆ นำไปใช้งานแล้ว ทั้งสามขั้นตอนอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมการขนส่งทางบก ที่ผ่านมายังไม่อาจตอบได้ว่ามีการตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานได้อย่างเพียงพอหรือยัง เพราะจากอุบัติเหตุเล็กใหญ่ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้น หลายครั้งมีสาเหตุมาจากสภาพตัวรถที่ไม่ได้มาตรฐาน  ทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่าที่ควรจะเป็น[/size]

               ดร.สุเมธ กล่าวว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะของไทยกับต่างประเทศ โดยดูสองขั้นตอนแรกเป็นหลัก พบว่ามาตรฐานของไทยก็ไม่ได้น้อยไปกว่าของต่างประเทศ แต่ในรายละเอียดบางกรณี การกำหนดข้อกำหนดมาตรฐานของไทยอาจไม่เทียบเท่า จึงทำให้ยังไม่เกิดความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งประเด็นที่การศึกษาสนใจในเรื่องความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ ได้แก่ เรื่องมาตรฐานโครงสร้างรถ ความแข็งแรงของโครงสร้างรถ ซึ่งในปัจจุบันมาตรฐานของต่างประเทศมีการกำหนดให้มีการทดสอบมาตรฐานโครงสร้างรถ  แต่ปัจจุบันของไทยยังไม่มีระเบียบในการทดสอบบังคับใช้ เนื่องจากอุปสรรคหลายประการของหน่วยงานที่รับผิดชอบ   รถโดยสารสาธารณะทั้งหมดที่มีการจดทะเบียนไปแล้วจนถึงปัจจุบันจึงเป็นรถที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงการให้บริการรถโดยสารสาธารณะควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
             ปัญหาของรถโดยสารสาธารณะ คือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารขนาดใหญ่ ความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะมาจาก 1.โครงสร้างรถที่ไม่แข็งแรง หลังคายุบ หรือฉีกขาดเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ 2. เก้าอี้โดยสาร ไม่แข็งแรง มั่นคง 3.เข็มขัดนิรภัย   ความแข็งแรงของโครงสร้างรถ ความแข็งแรงของเบาะที่นั่ง และการมีไม่มีของเข็มขัดนิรภัยจะอยู่ในสองกระบวนการแรกของมาตรฐานคือกระบวนการอนุญาตแบบรถและกระบวนการจดทะเบียนรถครั้งแรก แต่ทั้ง 3 ตัวก็เป็นผลของความที่รถอาจจะด้อยมาตรฐาน เมื่อเกิดการชน ทำให้โครงสร้างรถบิดเบี้ยว เบาะที่นั่งที่หลุด เกิดความสูญเสีย   การมีเข็มขัดนิรภัยช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือการมีโครงสร้างรถที่แข็งแรงได้มาตรฐานจะช่วยลดความสูญเสียได้มากกว่า เพราะเก้าอี้และเข็มขัดนิรภัยเป็นส่วนประกอบภายใน ที่ต้องยึดติดกับโครงสร้างที่แข็งแรงของตัวรถ หากเบาะที่นั่งไม่แข็งแรงติดเบาะนิรภัยไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก  เนื่องจากเข็มขัดนิรภัยจะทำการยึดรั้งของคนกับเบาะที่นั่ง และที่นั่งก็ยึดติดกับโครงสร้าง  หากทำทั้งสามส่วนนี้ให้ได้มาตรฐานก็จะช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุนั้นได้
             ดร.สุเมธ กล่าวว่า เมื่อยังไม่เคยมีการทดสอบ รถโดยสารสาธารณะในบ้านเราจึงมีปัญหาค่อนข้างเยอะ มีหลายมาตรฐาน ตั้งแต่ ผลิตดัดแปลงเองภายในประเทศโดยไม่ได้สนใจอะไร กับมาตรฐานที่อาจจะนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งก็มีหลายมาตรฐานอีกโดยมีทั้งที่นำเข้ามาทั้งคัน (ประกอบเสร็จ) หรือนำชิ้นส่วนเข้ามาแล้วนำมาประกอบภายใต้มาตรฐานของประเทศที่นำเข้า  การดูแลในจุดนี้ยังมีช่องว่างเรื่องการกำหนดมาตรฐานกับเรื่องของการผลิต และส่วนใหญ่ก็คือมาตรฐานที่รัฐกำหนดก็มักเป็นมาตรฐานเชิงพินิจและตรวจสอบความแข็งแรงการตรวจสอบด้วยตาเปล่า โดยไม่ได้มีการทดสอบความแข็งแรงเชิงวัสดุ แต่ ปัจจุบันกรมขนส่งทางบกก็มีการศึกษร และพยายามกำหนดระเบียบด้านนี้ออกมา แต่ก็ยังมีข้อขัดข้องที่ทำให้ดำเนินการได้ล่าช้า
             เมื่อไม่มีการกำหนดมาตรฐานและการบังคับใช้ที่ชัดเจน การผลิตรถโดยสารขนาดใหญ่ในบ้านเราจึงขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ที่จะคำนึงถึงปลอดภัยสูงสุดหรือการมีต้นทุนต่ำสุดเพื่อแข่งขันได้ในตลาด และอยู่ในเกณฑ์ความปลอดภัยที่รัฐกำหนดค่อนข้างต่ำมากและยังขาดการทดสอบที่เข้มงวด  มาตรฐานที่ต่ำก็คือ หากเห็นว่าวิ่งได้ก็หมายความว่ามั่นคงแข็งแรง แต่ถ้าของต่างประเทศเขาก็จะมีการทดสอบการพลิกคว่ำ (Rollover Test) เพื่อทดสอบโครงสร้างหลักของรถโดยสารเมื่อเกิดการพลิกคว่ำ รวมกับความแข็งแรงของเก้าอี้รถโดยสาร ซึ่งพิจารณาสามส่วนหลักได้แก่ ความแข็งแรงของเฟรมที่นั่ง ความแข็งแรงของจุดต่อที่นั่งกับโครงสร้างรถ และความแข็งแรงของจุดต่อที่นั่งกับเข็มขัดนิรภัย
             “สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราตอนนี้คือ มีมาตรการบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยออกมาก่อน โดยตอนนี้เริ่มบังคับใช้กับรถตู้โดยสารและสิ้นปีนี้กับรถโดยสารทุกชนิด แต่คำถามที่เกิดคือการบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยก่อนไม่ได้ช่วยลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ  หากยังไม่ได้มีการแก้เรื่องโครงสร้างและกับความแข็งแรงของที่นั่งรถโดยสารด้วย การแก้จึงต้องมาแก้ที่การกำหนดมาตรฐานตั้งแต่แรก ซึ่งที่ผ่านมารัฐก็มีมาตรการแต่ยังดำเนินการช้าเกินไปทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากมีรถจดทะเบียนมากขึ้นทุกวัน เราก็ควรมีการเร่งดำเนินการมากขึ้น”


               นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทั้งจากความประมาท  บังเอิญ  หรือเหตุสุดวิสัย โครงสร้างรถที่แข็งแรงและปลอดภัยก็สามารถที่จะลดความสูญเสียได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงต้องแก้ไขจากการกำหนดมาตรฐานของรัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างรถ เบาะที่นั่ง และเข็มขัดนิรภัย  ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้เร็วหรือช้ามากจากความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะให้ความสำคัญกับ “ความปลอดภัย” ของผู้โดยสารรถสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนลำดับแรก ๆ หรือไม่.