happy on March 29, 2012, 12:49:13 PM

มจธ. ดึงกูรูอุตฯอาหารนานาชาติ
ปันความรู้สู่การแข่งขันในตลาดโลก

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)



มจธ.ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมอาหารจากทั่วโลก จัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ จับคู่นักวิจัย-นักธุรกิจ แชร์ประสบการณ์การพัฒนาด้านวิศวกรรมอาหารและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องชี้การปฏิวัติจีโนมทำให้มนุษย์เข้าใจความสำคัญในการผลิตอาหารปลอดภัย คุณภาพสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้านผู้บริหารเบทาโกรเชื่อเทคโนโลยีคือปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร






               รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)Prof.SakarindrBhumiratana, President of King Mongkut’s University of Technology Thonburi (KMUTT). กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Impact of Genomic Revolution on Food Engineering for the Greener and Healthier Food Industry” ในการประชุมนานาชาติด้านวิศวกรรมอาหารและเทคโนโลยี International Congress on Food Engineering and Technology  (IFET 2012)ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ อาคารคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์อิมแพค เมืองทองธานี ว่า วิวัฒนาการและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจีโนมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาทำให้มนุษย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตมากขึ้น และสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ประโยชน์ในการผลิตอาหารและสารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์และนำมาซึ่งความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์ อาหารและคน นำไปสู่การผลิตอาหารเพื่อสุขภาพของมนุษย์ได้หลากหลาย และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

               ตลอดจนสามารถลดต้นทุนการผลิตและช่องว่างทางสังคมได้ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องประสานความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์คู่กับชีววิทยาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่สอดคล้องและนำไปใช้ประโยชน์ต่อมนุษย์และภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารได้จริง  จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องเดินไปสู่การปฏิวัติจีโนม


               ด้านนายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกรMr. VanusTaepaisitphongse, CEO of the Betagro Group ได้กล่าวถึงความท้าทายและการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมอาหารของโลกว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ที่ผ่านมาเบทาโกรและมจธ. ร่วมมือกันส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยนักวิจัยชาวไทย เพื่อให้ได้ผลงานที่สามารถนำมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรของประเทศให้มีศักยภาพสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2548 อย่างไรก็ตามท่ามกลางการเติบโตของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี อาหารถือเป็นเรื่องสำคัญ ตนเห็นด้วยกับ ดร.ศักรินทร์ ที่ว่าภาคอุตสาหกรรมต้องหาวิธีที่จะทำให้กระบวนการผลิตอาหารไม่เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม


               ด้านรศ.ดร.สักกมน  เทพหัสดิน ณ อยุธยา  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)Prof.SakamonDevahastin,Congress Chair Department of Food Engineering, KMUTTประธานการจัดการประชุม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารเพื่อให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแข่งขันทั้งในเรื่องการพัฒนาคุณภาพอาหารให้มีความปลอดภัยและมีคุณภาพสูงมากขึ้น ในฐานะที่ มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยที่ทำงานวิจัยสร้างความรู้และส่งต่อความรู้ไปยังภาคอุตสาหกรรม ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความรู้และการส่งต่อความรู้ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง การประชุมครั้งนี้จึงเกิดขึ้น โดยเชิญผู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน  จากประเทศต่างๆ อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน เยอรมัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา มาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่ได้ศึกษามายาวนานกับผู้เข้าร่วมประชุมชาวไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม

               “ความรู้ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยมีหลายระดับ ทั้งความรู้พื้นฐาน และความรู้เชิงประยุกต์ จึงจำเป็นต้องจัดเวทีเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้และปัญหาต่างๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้นักวิจัยเข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องมาเรียนรู้ว่ามหาวิทยาลัยหรือนักวิจัยมีความรู้ความชำนาญด้านไหนบ้าง เพื่อให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ”
« Last Edit: March 29, 2012, 01:43:01 PM by happy »