MSN on October 07, 2011, 01:15:14 PM
ข่าวสมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ 4 บุคคล ผู้มีคุณูปการต่ออุตสาหกรรมจัดการลงทุนและประเทศชาติ ในงานพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ ประจำปี พ.ศ. 2554
 
เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม) ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริม และพัฒนามาตรฐานอันดีในการปฏิบัติงานและจรรยาบรรณในการบริหารจัดการกองทุน ได้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์และพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลที่มีคุณูปการต่ออุตสาหกรรมจัดการลงทุน ประจำปี พ.ศ. 2554 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกย่องเชิดชูบุคคลผู้มีคุณูปการ ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมจัดการลงทุนและตลาดทุน เพื่อให้เป็นที่รู้จักและร่วมสำนึกในพระคุณที่ช่วยนำพาให้อุตสาหรรมจัดการลงทุนไทย มุ่งสู่ความสำเร็จและพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

จุดเด่นของงานในค่ำคืนนั้น นอกจากการร่วมแสดงความยินดีกับบุคคลที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ทั้ง 4 ท่านแล้ว ยังได้รับเกียรติจากคุณวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน แสดงแนวคิดเรื่อง “โลกของการลงทุน” ต่อจากนั้น นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานได้กล่าวเปิดงาน และในช่วงท้ายของงานนี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ซึ่งทำให้ผู้ร่วมรับฟังประทับใจในมุมมองและแนวความคิดอันแยบยลของท่านเป็นอย่างมาก

นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคม เปิดเผยถึงเกณฑ์การพิจารณาตัดสินรางวัลเชิดชูเกียรติประจำปี พ.ศ.2554 โดยสมาคมได้เปิดโอกาสให้บริษัทสมาชิกจาก 3 กลุ่มธุรกิจ เสนอชื่อผู้ที่เห็นว่ามีความเหมาะสมและสร้างคุณูปการต่ออุตสาหกรรมจัดการลงทุน ซึ่งคัดเลือกโดยคณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล อันเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมจัดการลงทุน พิจารณามอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่บุคคลที่ประกอบคุณงามความดีและมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมจัดการลงทุน โดยบุคคลผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติของสมาคมประจำปีนี้ รวมทั้งสิ้น 4 ท่าน ทั้งนี้ แต่ละท่านได้สร้างคุณูปการต่ออุตสาหกรรมจัดการลงทุนและประเทศชาติในด้านต่างๆ ดังนี้

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดกองทุน Thailand Equity Fund ซึ่งเป็นกองทุนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐไทย สถาบันการเงินในประเทศไทย และสถาบันลงทุนต่างประเทศ ประสบความสำเร็จในปี 2544 ซึ่งอยู่ในช่วงที่ประเทศบอบช้ำจากวิกฤตต้มยำกุ้ง การก่อตั้งกองทุนด้วยการร่วมลงทุนจากต่างประเทศ อันมีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในประเทศไทยในสายตาชาวโลกได้มากขึ้นในภาวะยากลำบาก และกองทุนนี้กำลังจะครบกำหนดอายุกองทุนภายในสิ้นปี 2554  ประกอบกับ บทบาทสำคัญยิ่งของท่านที่ผลักดันให้เกิดกองทุน LTF ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก นับเป็นการสร้างสีสันให้ธุรกิจกองทุนรวมไทย ทั้งเป็นกลไกสำคัญที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทย โดยผู้ประกอบการทุกรายให้ความสำคัญและสนองตอบนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยปัจจุบันกองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมทั้งสิ้น 120,899.43 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ย. 2554)
 
คุณชาญชัย จารุวัสตร์  นักบริหารงานมืออาชีพ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานและผลักดันส่งเสริมธรรมาภิบาลของบริษัทเอกชน (Good governance) และทำให้ผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนไทยทุกภาคส่วน ทั้งบริษัทจดทะเบียน และผู้ประกอบการในตลาดทุนให้ความสำคัญต่อการบริหารงาน และการลงทุนอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งปัจจุบันท่านได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2554 ซึ่งในช่วงรับมอบรางวัลนั้น ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ให้เกียรติเป็นผู้แทนขึ้นรับรางวัลเชิดชูเกียรติในนามของคุณชาญชัย จารุวัสตร์

คุณดุสิต นนทะนาคร  ผู้นำองค์กรเอกชนที่ทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะการจัดตั้งภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่มีองค์กรภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมเป็นภาคีฯ กว่า 30 องค์กร ซึ่งได้สร้างความตื่นตัวให้ภาคเอกชนได้ตระหนักและเข้าใจถึงผลกระทบของการทุจริตในระดับมหภาค อันเป็นการสร้างแรงผลักดันและจุดประกายให้คนไทยทุกคนสานต่อเจตนารมณ์การต่อต้านคอร์รัปชั่นให้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันท่านได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2554 ซึ่งในช่วงรับมอบรางวัลนั้น คุณวิชัย อัศรัสกร กรรมการเลขาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นผู้แทนขึ้นรับรางวัลเชิดชูเกียรติในนามของคุณดุสิต นนทะนาคร

คุณวิเชฐ ตันติวานิช ผู้มีบทบาทสำคัญในด้านการเผยแพร่ความรู้ด้านการลงทุนในกองทุนรวม ภายใต้การริเริ่มโครงการสำคัญต่าง ๆ มากมาย อาทิ โครงการ “ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม” และงานด้าน Financial literacy โดยเป็นผู้วางรากฐานความรู้ทางด้านการออมและการลงทุนแก่เยาวชนไทย โดยเป็นผู้ริเริ่มการสร้างละครเวที เรื่อง “หมูอู๊ดอี๊ด กับกระปุกกายสิทธิ์” เพื่อสอนให้เด็กใส่ใจในการออม ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง นอกจากนี้ ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ เพื่อเศรษฐกิจและการลงทุน “Money Channel” ด้วย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานของงาน กล่าวถึงการเป็นผู้แทนของประเทศไทยในการเข้าร่วมประชุม Annual Meetings of the World Bank Group and the International Monetary Fund (IMF) 2011 Washington D.C. ว่า ภาคเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกายังคงมีสภาพคล่องสูง แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการลงทุนระยะยาว เน้นเพียงการลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากมีความกังวลในความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของท่านที่มีต่อประเทศไทยพบว่า ปัจจัยพื้นฐานของประเทศยังคงแข็งแกร่งโดยพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้ต่อทุน (Debt to equity) นับว่ายังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูง และในอนาคตเมื่อมีการเปิดเสรีการค้าเกี่ยวกับการลงทุน ความผันผวนของตลาดโลก จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมจัดการลงทุนไทย เพราะคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญและพิจารณาถึงความเสี่ยงเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ ทำให้ผู้ออมได้ตระหนักถึงการพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนที่มีการบริหารจัดการและมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี   
 
 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์  กล่าวปาฐกถาพิเศษถึง แนวทางในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจากความวิตกกังวลต่อวิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซ  แม้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจของโลกในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องการส่งออกก็ตาม แต่ว่า ประเทศจีน และญี่ปุ่น นับเป็นความหวังของประเทศไทย เพราะประชาชนในประเทศเหล่านี้มีเงินออมและมีกำลังซื้อสูง ดังนั้น สิ่งที่ไทยทำได้ในตอนนี้คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน ดูแลเรื่องสภาพคล่องและความผันผวนของค่าเงินให้มีเสถียรภาพ ซึ่งจะสามารถผ่านพ้นไปได้ สำหรับจุดแข็งของประเทศไทย คือ ภาระหนี้ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับความแข็งแกร่งของภาคธนาคารภายในประเทศ

นอกจากนี้ ดร.สมคิด กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ไปอีกหลายปี ดังนั้น จึงไม่ควรหวังพึ่งเพียงการบริโภคของภาคเอกชน (Consumption) เท่านั้น แต่ควรจะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศ โดยเน้นลงทุนเพื่อการสร้างความแข็งแกร่งให้กับชนบท ซึ่งจะสามารถสร้างอำนาจในการซื้อภายในประเทศได้ ขณะเดียวกัน อีกบทบาทสำคัญที่ประเทศไทยควรหันมาใส่ใจอย่างจริงจัง คือ การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย (Transforming) โดยที่ภาคเอกชนสามารถลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเองได้โดยไม่ต้องรอพึ่งภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น การปฏิรูปการศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ และวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ หยิบยกตัวอย่างความสำเร็จของ “Nandan Nilekani” จากหนังสือ Imagining India ด้วยคำกล่าวที่ว่า “แม้ว่าอินเดียจะไม่ส่องแสงไปทั้งประเทศ แต่ก็เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” นับเป็นความสำเร็จของภาคเอกชนที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศอินเดียกลายเป็น Back office ทางด้าน IT ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของโลก ทั้งเป็นต้นแบบให้บริษัทยักษ์ใหญ่อีกหลาย ๆ แห่ง เช่น Tata Groupฯ  ที่นำมาใช้เป็นต้นแบบในบริหารงานในปัจจุบัน