OKMD ขยายผลการพัฒนาศักยภาพสมองเด็กไทยสู่โรงเรียนเทศบาลทุกภูมิภาคทั่วไทย
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD จับมือสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) เดินหน้าพัฒนาศักยภาพสมองของเด็กไทย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการขยายผลการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain–based Learning หรือ BBL) ให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนนำร่อง 25 แห่งในเขตเทศบาล หวังสร้างศักยภาพให้เป็น ‘โรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง’
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่มีผลต่อความคิดของนักเรียนและนักศึกษาในปัจจุบัน คือการวางรากฐานทางด้านการศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการสร้างพลังสมองตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยสำคัญที่สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีศักยภาพในการเรียนรู้สูง OKMD ในฐานะที่เป็นองค์กรนำในการพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญาของประชาชนผ่านกระบวนการเรียนรู้สาธารณะ จึงได้ศึกษาและพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL มาตั้งแต่ปี 2547 โดยดำเนินการทดลองในโรงเรียนนำร่อง 12 แห่ง ประกอบด้วยโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ทั้งสังกัดโรงเรียนของรัฐ เอกชน และท้องถิ่น และกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศ โดยในปีแรกเริ่มทดลองนำแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL จากระดับอนุบาลและชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และขยายเพิ่มขึ้นปีละชั้นเรียน จนถึงปัจจุบันในปีการศึกษา 2553 ได้ขยายมาถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6”
จากการดำเนินงานของโครงการฯ ที่ผ่านมา พบว่าพฤติกรรมของนักเรียนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น นักเรียนมีความสนใจ ใฝ่รู้ มีสมาธิในการเรียนและการฟัง อ่านหนังสือในช่วงเวลาว่าง ยืมหนังสือกลับบ้าน โดยกลับไปอ่านหนังสือให้ผู้ปกครองฟัง ขอให้คุณครูและผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ฟัง อ่านหนังสือได้คล่องขึ้นและมากขึ้น มีทักษะการเขียนดีขึ้น กล้าแสดงออกและกล้าซักถาม สามารถอธิบายและแสดงความคิดเห็น อยากมาโรงเรียน ไม่อยากหยุดเรียน มีวินัยในชั้นเรียนมากขึ้น
ผลสำเร็จของการดำเนินงานดังกล่าว จึงนำมาสู่การขยายผลมายังโรงเรียนเทศบาล โดย OKMD กับ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำแผน 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2554-2556 ซึ่งเป็นแผนดำเนินโครงการขยายผลการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL ร่วมกับโรงเรียนเทศบาล เพื่อพัฒนาศักยภาพโรงเรียนเทศบาล 25 แห่ง ให้เป็น ‘โรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL’ รวมทั้งมีกระบวนการให้คำปรึกษาแนะนำและติดตามผลการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL โดยในปี 2554 นี้ จะเริ่มดำเนินงานในระดับอนุบาลและขยายต่อไปในระดับประถมศึกษา
นายประสงค์ เรือนสอน ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงานเทศบาลนครลำปาง ผู้แทนสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ด้วยบทบาทสำคัญของ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยในการเป็นองค์กรที่ให้การพัฒนาและสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษาของประชาชนในหลากหลายรูปแบบ และการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กได้เติบโตเต็มศักยภาพสมองของแต่ละช่วงวัย ในปีที่ผ่านมา ทางสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมกับ OKMD นำแนวคิดการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL ไปขยายผลให้แก่ผู้บริหารและครูโรงเรียนเทศบาล โดยทางเทศบาลเมืองท่าข้าม เทศบาลนครลำปาง เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และเมืองพัทยา ได้เป็นเจ้าภาพในการจ้ดอบรมเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับธรรมชาติการทำงานของสมองรวม 4 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศไปแล้ว ในปีนี้เราจึงดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยร่วมมือกับ OKMD ในโครงการขยายผล BBL ในโรงเรียนเทศบาล 5 ภูมิภาคทั่วไทย เพื่อนำแนวคิดและแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL ที่ได้รับการยกระดับและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มาใช้ในโรงเรียนเทศบาล 25 แห่ง เพื่อสร้างให้เด็กไทยรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพในการแข่งขันระดับสากลต่อไป”
สำหรับกิจกรรมอมรมเชิงปฏิบัติภายใต้โครงการขยายผลการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่าง OKMD สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และเทศบาลในโครงการ ประกอบด้วยการสาธิตการสอนทางด้านพัฒนาการต่างๆ ในวัยเด็ก ทั้งพัฒนาการทางด้านภาษา พัฒนาการทางด้านความคิด พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว พร้อมสรุปสาธิตการสอนโดยวิทยากรผู้มากด้วยประสบการณ์ โดยมีครูและผู้บริหารโรงเรียนเข้าร่วมอบรมกว่า 350 ท่าน จากโรงเรียน 25 แห่งในเขตเทศบาลทั่วประเทศ
นายปราโมทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “โครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ เป็นจุดเริ่มต้นปูพื้นฐานความคิดและแนวปฏิบัติ ให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถร่วมกันพัฒนากระบวนการเรียนการสอน เพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบในการขยายผลการจัดการเรียนรู้ตามหลัก BBL ให้กับโรงเรียนเทศบาล และโรงเรียนในสังกัดอื่นต่อไป เพื่อให้การศึกษาไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยสามารถลดช่องว่างระหว่างครูและนักเรียน และดึงดูดให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียน และสนุกสนานกับการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากในห้องเรียน เด็กจะเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้สมองซีกซ้ายและซีกขวาทำงานอย่างเต็มที่และเกิดความสมดุล ทั้งนี้ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศและสังคมให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น”