นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยชื่นชมตำรวจตรวจเข้มละเมิดลิขสิทธิ์
ในความเห็นของตัวแทนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ผู้ที่ต่อต้านการตรวจค้นละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คือผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
กรุงเทพฯ วันที่ 24 ธันวาคม พ. ศ. 2553 – ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย
นับตั้งแต่การประกาศกวาดล้างซอฟต์แวร์เถื่อนทั่วประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้ดำเนินการเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ รวมถึงบริษัทธุรกิจอาหารทะเลที่มีสำนักงานตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งต้องสงสัยว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในคอมพิวเตอร์จำนวน 325 เครื่อง และจัดเป็นหนึ่งในการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในปีนี้
ในการดำเนินงานที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจมักเผชิญกับการต่อต้านเมื่อพยายามบังคับใช้กฏหมายลิขสิทธิ์ นาย สมพร มณีรัตนะกูล ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด มองว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีบทบาทสำคัญยิ่งในความพยายามพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของไทย และกล่าวว่าเสียงต่อต้านการตรวจค้นหรือการกำหนดให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องนั้น ล้วนเป็นเสียงของผู้ที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน
“เราต้องร่วมกันทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างงานคุณภาพ” นางสาว วารุณี รัชตพัฒนากุล ที่ปรึกษากลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ กล่าว “หากธุรกิจหรือองค์กรใดไม่ต้องการเป็นกังวลว่าจะถูกตรวจค้นก็ต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฏหมาย”
“องค์กรธุรกิจซึ่งใช้แต่ซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง จะปลอดภัยจากการถูกตรวจค้นและจับกุมอย่างแน่นอน” นายสมพรกล่าว “บริษัทต่างๆ ที่บ่นเรื่องการตรวจค้น ควรหันไปเร่งตรวจสอบให้แน่ใจว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้งานอยู่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องครบถ้วนแทนจะเป็นประโยชน์กว่า”
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ย้ำว่า การลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นเสาหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และความพยายามลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สมควรได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างยิ่ง
“ความพยายามให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศ อาจไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม แต่การลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย” นายสมพรกล่าวว่า “ความพยายามของตำรวจในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักพัฒนาซอฟต์แวร์เพราะตระหนักว่าความคิดของตนจะได้รับความคุ้มครอง และจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนของตนอย่างแน่นอน เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปอศ. กำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้วสำหรับประเทศไทย”
เมื่อก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2541 บริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ได้พัฒนาและผลิตซอฟต์แวร์พจนานุกรมไทยขึ้นมา ถึงวันนี้ บริษัทมีทีมงานโปรแกรมเมอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของบริษัทฯ กล่าวว่าความสามารถในการสร้างงานเพิ่มนั้นถูกจำกัดจากการที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ถูกละเมิดลิขสิทธิ์
“เราได้เห็นรายงานในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า โดยเฉลี่ยแล้วองค์กรธุรกิจที่ถูกตรวจค้นในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มีสินทรัพย์หลายพันล้านบาท และมีรายได้ต่อปีหลายร้อยล้านบาท” นายสมพร กล่าว “องค์กรธุรกิจเหล่านี้สามารถซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ได้ แต่กลับใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนเพียงเพราะคิดว่าคงรอดตัวไปได้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถบังคับใช้กฎหมายกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ได้”
แต่การดำเนินงานเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้านซอฟต์แวร์ของตำรวจ ที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งนี้กลับได้รับแรงกดดันจากภายนอก ทั้งจากภาคเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ ที่ร้องเรียนเรื่องการได้รับโทรศัพท์แจ้งเตือนให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง หรือไม่ก็พยายามร้องขอความคุ้มครองจากการเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
อย่างไรก็ตาม นายสมพร กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจควรได้การสนับสนุนให้ดำเนินการบังคับใช้กฏหมายได้อย่างเต็มที่
“ผู้บริหารขององค์กรธุรกิจหลายแห่งทำในสิ่งที่ถูกต้องและถูกกฎหมาย โดยการปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง แต่ผู้บริหารบางรายที่ยังละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ กลับร้องว่าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมเมื่อถูกตรวจค้น” นางสาว วารุณี กล่าว “การละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ไม่ต่างอะไรจากความผิดฐานลักทรัพย์ ดังนั้นจึงไม่ควรมีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น”
“ความพยายามของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมนั้น มีรากฐานอยู่บนความเคารพในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา” นายสมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความพยายามใดๆ ของภาคเอกชนเพื่อขอการคุ้มครองจากการตรวจค้นของตำรวจ เป็นการบั่นทอนความสามารถในการสร้างงานคุณภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่ต่อองค์กรธุรกิจรายใดรายหนึ่ง”
“องค์กรธุรกิจทุกแห่งควรเคารพกฎหมายไทย” นายสมพร กล่าว “ตำรวจต้องเผชิญกับงานยากในการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ชุมชนธุรกิจไทยควรให้ความร่วมมือเพื่ออนาคตที่สดใสของประเทศไทย”
เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ เปิดเผยข้อมูลเผยแพร่ต่อสาธารณะเกี่ยวกับการเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงินกลับใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์กันอย่างกว้างขวางในการดำเนินธุรกิจ จากการวิเคราะห์พบว่า การลงทุนในซอฟแวร์แท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.63 ของรายได้ประจำปีขององค์กรธุรกิจเหล่านี้
อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีในประเทศไทยคือร้อยละ 75 และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจซอฟต์แวร์มองว่า เป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปอศ. และการที่ประชาชนในสังคมไทยตระหนักรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มากขึ้น
ซอฟต์แวร์เพื่อการดำเนินธุรกิจได้รับการออกแบบมาให้ช่วยเพิ่มผลกำไร ลดค่าใช้จ่าย และเสริมประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ยุคต้นๆ ที่มีการนำมาใช้งาน ซอฟแวร์ได้สร้างผลกำไรมหาศาลให้กับธุรกิจในประเทศไทยและทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ CAD – CAM ซอฟต์แวร์บริหารโครงการ ซอฟท์แวร์ห่วงโซ่อุปทาน ซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยของข้อมูล หรือโปรแกรมประมวลผลคำแบบง่าย ซอฟต์แวร์มีบทบาทอย่างมากในกระบวนการผลิตและการดำเนินงานในสำนักงานและธุรกิจต่างๆ อย่างกว้างขวาง
“ซอฟต์แวร์ให้ประโยชน์มากมายแก่ชุมชนธุรกิจ” นางสาววารุณี กล่าว “ผู้ประกอบการเช่นคุณสมพร และพนักงานของบริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และใช้เวลาหลายพันชั่วโมงในการเขียนโปรแกรมและทำตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ สมควรได้รับผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนที่จะปฏิบัติตามกฎหมายและเคารพทรัพย์สินทางปัญญาและซอฟต์แวร์ในประเทศไทย”