YAHOO on November 19, 2010, 05:50:12 PM
ทรูรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 รายได้จากบริการเพิ่มขึ้น บริการบรอดแบนด์และ ทรูวิชั่นส์เติบโตต่อเนื่อง
 
          บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2553 รายได้จากการให้บริการโดยรวมเพิ่มขึ้น ทรูออนไลน์มีผลประกอบการที่ดี โดยรายได้จากบริการ บรอดแบนด์เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ทรูวิชั่นส์ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ ผ่านมา จากรายการ ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซั่น 7 และการเริ่มฤดูกาลใหม่ของรายการฟุตบอล พรีเมียร์ลีก ทำให้สามารถชดเชยผลการดำเนินงานของทรูมูฟที่อ่อนตัวลง อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ EBITDA ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา

          ในไตรมาส 3 ปี 2553 กลุ่มทรูมีรายได้จากค่าบริการโดยรวม (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.0 จากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ 0.8 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า เป็น 13.0 พันล้านบาท เป็นผลจากผลประกอบการของทรูมูฟชะลอตัวจากการแข่งขัน ในขณะที่ กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA โดยรวมลดลงร้อยละ 2.8 จากไตรมาสที่ผ่านมา และร้อยละ 9.9 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า เป็น 4.3 พันล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการขยายโครงข่ายและค่าใช้จ่ายด้านการตลาด อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ ทรูรายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 1.2 พันล้านบาท รวมกำไรอัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาทแข็งตัว

          นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า “รายได้โดยรวม ของกลุ่มทรูดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยภาพนอกโดยรวมปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับบริการ บรอดแบนด์และทรูวิชั่นส์เติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ผลการดำเนินงานโดยรวมอ่อนตัวลง เนื่องจากการแข่งขันที่ทรูมูฟ

          “เป็นที่น่ายินดีว่าการที่สมาร์ทโฟนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้จากบริการแบบรายเดือนและบริการที่ไม่ใช่เสียงของทรูมูฟเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4 จากยอดขาย iPhone 4 ที่เพิ่มขึ้น หลังประสบความสำเร็จในการเปิดตัวในเดือนกันยายนที่ผ่านมา”

          “สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี คาดว่ารายได้จากการให้บริการโดยรวมของกลุ่มทรูจะเติบโตต่อเนื่อง จากการเปิดตัวโปรโมชั่นใหม่ๆ ของทรูมูฟ และจากรายได้บริการโทรศัพท์ทางไกลข้ามแดนระหว่างประเทศ (International Roaming – IR) ที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ในขณะเดียวกัน โปรโมชั่นใหม่จากบริการบรอดแบนด์ และรายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาลใหม่ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ทรูออนไลน์และทรูวิชั่นส์ยังคงเติบโตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ บริษัทจะเน้นการควบคุมการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวดในไตรมาสที่ 4”

          สำหรับ ทรูมูฟ รายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่า IC) ในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เป็น 5.7 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้จากบริการแบบรายเดือนและบริการที่ไม่ใช่เสียงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำให้สามารถชดเชยรายได้จากบริการแบบเติมเงินที่ปรับตัวลดลง ซึ่งส่งผลให้รายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่า IC) ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม รายได้จากบริการแบบรายเดือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 7.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็น 1.6 พันล้านบาท โดยมียอด ผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น รายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียงโดยรวมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.1 และร้อยละ 12.1 ในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากบริการโมบายอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น รวมทั้งทรูมูฟขยายโครงข่ายข้อมูลอย่างต่อเนื่อง สำหรับไตรมาสนี้ ทรูมูฟมีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นประมาณ 181,000 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 16.5 ล้านราย ทั้งนี้ รายรับ ค่า IC สุทธิปรับตัวเข้าสู่ระดับสมดุลมากขึ้น โดยทรูมูฟยังคงมีรายรับค่า IC สุทธิจำนวนทั้งสิ้น 26 ล้านบาทในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับจำนวน 60 ล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา

          ทรูออนไลน์ มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 1.7 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 4.3 จาก ไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา เป็น 6.7 พันล้านบาท เนื่องจากบริการบรอดแบนด์เติบโตอย่างเป็นนัยสำคัญ ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ทรูออนไลน์เป็นผู้ให้บริการรายแรกที่กำหนดมาตรฐานความเร็วใหม่ของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ด้วยความเร็ว 6 Mbps ส่งผลให้รายได้จากบริการบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในอัตราร้อยละ 5.8 จากไตรมาส 2 และร้อยละ 9.9 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เป็น 1.7 พันล้านบาท และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.1 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 เทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ในไตรมาสนี้ มียอดผู้ใช้บริการ บรอดแบนด์รายใหม่สุทธิจำนวน 35,000 ราย เพิ่มขึ้น 2,200 ราย จากไตรมาส 2 โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิที่สูงสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มียอดผู้ใช้บริการบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นเป็น 788,000 ราย

          ผลประกอบการของทรูวิชั่นส์ ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากรายการ ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซั่น 7 และการเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ของรายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีก โดยทั้งสองรายการมีส่วนช่วยสนับสนุนให้รายได้จากการให้บริการของทรูวิชั่นส์เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 4.6 จากไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 2.4 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส เดียวกันปีก่อนหน้า รายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 โดยส่วนใหญ่มาจากการรับทำการโฆษณา ทั้งนี้ยอดผู้ใช้บริการโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 จากไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านราย

          บริษัทดำเนินนโยบายในการลดภาระหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการชำระคืนหนี้จำนวน 1.3 พันล้านบาทใน ไตรมาส นี้ และจำนวนรวมทั้งสิ้น 4.0 พันล้านบาท ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2553 ทำให้ปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA สุทธิ ปรับตัวดีขึ้นเป็น 3.1 เท่า เมื่อเทียบกับ 3.2 เท่าในไตรมาส 2

          นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน กล่าวเสริมว่า “ในปีนี้บริษัทจะยังคงให้ ความสำคัญกับการเพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเงินโดยการลดภาระหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมองหาโอกาสในการรีไฟแนนซ์ นอกจากนี้ บริษัทยังจะได้รับประโยชน์จากการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ทำสัญญาซื้อหุ้นทรูทั้งหมดจาก KfW การซื้อหุ้นดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2553 จะทำให้ข้อผูกพันของบริษัทในการจ่ายเงินปันผลสะสมค้างจ่ายจำนวน 5.6 พันล้านบาทให้กับ KfW สิ้นสุดลง รวมทั้งยังแสดงถึงความเชื่อมั่นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในศักยภาพการเติบโตของกลุ่มทรู และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยโดยรวม ทั้งนี้บริษัท ต้องขอขอบคุณ KfW ที่ร่วมมีส่วนในการพัฒนาธุรกิจของบริษัท จนมีความก้าวหน้าดังเช่นในปัจจุบัน”