นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้เพิ่มทางเลือกสำหรับการลงทุนให้กับนักลงทุน ในสัปดาห์นี้ จึงเปิดจำหน่าย 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดเคแทม โกลด์ ฟันด์ ( KTAM Gold Fund : KT-GOLD ) จำหน่ายช่วง IPO ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม - 7 กันยายน 2553 มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท ในราคา 10 บาทต่อหน่วย มูลค่าขั้นต่ำในการสั่งซื้อ 2,000 บาท เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน SPDR ® Gold Trust (กองทุนรวมหลัก) เพียงกองทุนเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน โดยกองทุนรวมหลัก จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และบริหารจัดการโดย World Gold Trust Services, LLC กองทุนรวมหลัก มีนโยบายมุ่งเน้นลงทุนในทองคำแท่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคำ
นอกจากนี้ กองทุนดังกล่าว ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นิวยอร์ก ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทจัดการจะทำการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าว ในตลาดหลักทรัพย์ ประเทศ สิงคโปร์ และใช้สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนที่เหลือลงทุนในตราสารหนี้ ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝาก หรือตราสารหนี้ทั่วไป หรือเงินฝากในสถาบันการเงินตามกฎหมายไทย ที่มีอายุตราสารหรือสัญญา หรือระยะเวลาการฝากเงิน แล้วแต่กรณี ต่ำกว่า 1 ปี เพื่อสำรองเงินไว้สำหรับดำเนินงานของกองทุน รอการลงทุนในต่างประเทศ หรือรักษาสภาพคล่องของกองทุน ตามที่คณะกรรมการก.ล.ต.กำหนด กองทุนจะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ
นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า ทองเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ได้รับความสนใจมากที่สุดประเภทหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาทองปรับตัวขึ้นมาก จากประมาณ $400/oz ในปี 2547 มาอยู่ที่ประมาณ $1,200/oz ในปัจจุบัน (7,500 บาท/ทอง 1 บาท มาเป็น 18,500 บาท/ ทอง 1 บาท) ซึ่งผู้ซื้อทอง หรือผู้ลงทุนในทองในช่วงเวลาดังกล่าวจะได้กำไรถึงร้อยละ 200 ซึ่งเป็นระดับกำไรที่สูงมาก เมื่อลองเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น (SET Index) ในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 40
อย่างไรก็ตาม ราคาทองได้ปรับตัวขึ้นมากแล้ว ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนมีความกังวลเกี่ยวกับราคาทองในอนาคต ราคาทองมักถูกผลักดันจากปัจจัยพื้นฐานหลายปัจจัย ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจ ค่าเงินดอลล่า ราคาสินค้าโภคพัณฑ์โดยรวม อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ ความต้องการลงทุนของนักลงทุน และความต้องการลงทุนเพื่อเป็นเงินทุนสำรองของธนาคารกลาง
ปัจจัยทางด้านภาวะเศรษฐกิจ โดยปรกติแล้วราคาทองจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ หรือความเสี่ยงของประเทศ (Economic and Sovereign Risks) ราคาทองปรับตัวขึ้นจาก$650/oz เป็น $950/oz ในปี 2550 จากความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะที่ราคาทองปรับขึ้นจาก $1,090/oz เป็น $1,230/oz ในช่วงต้นปี 2553 จากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ภาครัฐในยุโรป คาดการณ์ว่า ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจน่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาทองปรับตัวขึ้นได้อีกในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 และปี 2554
ปัจจัยทางด้านทางค่าเงิน ราคาทองมักจะปรับตัวผกผันกับค่าเงินดอลล่า ซึ่งเราคาดการณ์ว่าค่าเงินดอลล่ามีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาทองปรับตัวสูงขึ้นได้ในช่วงปี 2554-2555
ปัจจัยทางด้านดอกเบี้ย และเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับ 0-0.25% จนถึงปี 2554 ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินเฟ้อจากราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น สถานการณ์ ดังกล่าวส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ (Negative Real Interest Rate) โดยปรกติ เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวราคาทองจะปรับตัวขึ้นประมาณร้อยละ 20-40 ต่อปี
ปัจจัยจากความต้องการลงทุนในทองมีแนวโน้มที่จะปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความต้องการลงทุนในทองเป็นหนึ่งปัจจัยหลัก ที่ส่งผลให้ราคาทองปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการซื้อทองจากธนาคารกลางยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลให้ราคาทองปรับสูงขึ้นมาก โดยในปัจจุบันทองยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากในเงินทุนสำรองของธนาคารทั่วโลก ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นในอนาคต เนื่องจากค่าเงินดอลล่ามีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง ส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆต้องกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์อื่นๆรวมถึงทองคำ จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ราคาทองมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้ถึง $1,350 - $1,500 /oz ใน12-24 เดือน
นอกจากนี้ บริษัทยังเปิดจำหน่าย กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 16 ( KTFF16 ) อายุโครงการ 2 ปี 3 เดือน มูลค่า 900 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 25-31 สิงหาคม 2553 โดยกองทุนจะลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ในสัดส่วนสถาบันละ 25% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ประกอบไปด้วย พันธบัตรของธนาคาร First Gulf Bank เป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ใน UAE , ลงทุนใน TAQA Abu Dhabi National Energy เป็นบริษัทพลังงานในรัฐอาบู ดาบีโดยมีรัฐบาล อาบูดาบี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ผ่านหน่วยงานภาครัฐ , ลงทุนใน VTB Capital SA เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 2 ของรัสเซียโดยมีผู้ถือหุ้นเป็นรัฐบาลรัสเซีย และลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณการที่ 3.10% ต่อปี