โครงการ อาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัด มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัทแปลน ฟอร์ คิดส์ นิตยสาร Mother&Care สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ ไทยแลนด์ และสถาบันราชานุกูล
หลักการและเหตุผล
การอ่านเป็นกระบวนการในการรับข้อมูลและเรียนรู้ ที่ผู้อ่านได้ใช้สายตามองดูตัวอักษร แล้วสื่อไปยังสมองที่จะคอยลำดับเป็นถ้อยคำ เป็นประโยค และเป็นเรื่องราวต่าง ๆ กระทั่งเกิดเป็นองค์ความรู้และประสบการณ์ของผู้อ่าน ที่ถือเป็นความจำเป็นต่อชีวิตที่ต้องเรียนรู้ ของคนทุกคนในปัจจุบัน
นอกจากการอ่านมีความสำคัญต่อตัวผู้อ่านเองแล้ว การอ่านยังมีความสำคัญต่อคนอื่น ๆ ในสังคมที่จะได้รับประโยชน์ ความรู้และความเพลิดเพลินจากการอ่านไปด้วย ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและช่วยให้เกิดความงอกงามทางปัญญา รู้จักคิดและมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล นั่นหมายถึง การอ่านจะก่อเกิดประโยชน์สูงสุดถ้าผู้อ่านได้ทำหน้าที่ส่งผ่านเรื่องราวที่ได้รับจากการอ่านที่ตัวเองเข้าใจไปยังผู้ฟัง ด้วยเสียงที่สื่อให้ผู้ฟังรับรู้และเข้าใจเรื่องราวตามไปด้วย ซึ่งการอ่านเช่นนี้ ผู้อ่านต้องเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่อ่านเป็นอย่างดี มีบุคลิก ลักษณะของผู้อ่านที่ดี อ่านถูกอักขระ อ่านชัดถ้อยชัดคำ มีทักษะการใช้ภาษาไทยที่ชัดเจนในการถ่ายทอดเรื่องราว
มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก มีแผนการดำเนินการ โครงการอาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัด เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ผู้มีชื่อเสียงในสังคมและผู้ที่สนใจทั่วไป ฝึกฝนการอ่านด้วยการออกเสียงให้ถูกต้อง ชัดเจน แล้วร่วมกันสร้างจิตสาธารณะด้วยการทำกิจกรรมการอ่านเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษที่เข้ามารับบริการที่สถาบันราชานุกูล คือเด็กกลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม เด็กออทิสติคและเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งน่าจะเป็นกระบวนการในการเสริมสร้างพื้นฐานที่ดีด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญาและและการเรียนรู้ให้กับเด็กในกลุ่มนี้ โดยใช้หนังสือนิทานภาพเป็นสื่อสำคัญ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมและฝึกฝนการอ่านแก่เด็ก เยาวชน ผู้มีชื่อเสียงในสังคมและผู้ที่สนใจทั่วไปให้อ่านภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง และชัดถ้อยชัดคำ
2. เพื่อส่งเสริมและสร้างนิสัยรักการอ่านแก่คนทุกเพศทุกวัย
3. เพื่อส่งเสริมและสร้างจิตสาธารณะให้เกิดในเด็ก เยาวชน ผู้มีชื่อเสียงในสังคมและผู้ที่สนใจทั่วไป ด้วยการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัดเพื่อการเป็นพลังสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษโดยใช้หนังสือภาพสำหรับเด็กเป็นเครื่องมือ
กลุ่มเป้าหมาย
1. เด็ก เยาวชน ผู้มีชื่อเสียงในสังคมและผู้ที่สนใจทั่วไป จำนวน 50 คน
2. กลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม เด็กออทิสติคและเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา วัย 0 – 6 ปี ที่เข้ารับบริการที่สถาบันราชานุกูล 30 คน
3. กลุ่มพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กดาวน์ซินโดรม เด็กออทิสติคและเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา วัย 0 – 6 ปี ที่เข้ารับบริการที่สถาบันราชานุกูล 100 ครอบครัว
การดำเนินงาน
1. ประกาศรับสมัคร เชิญและคัดเลือก เด็ก เยาวชน ผู้มีชื่อเสียงในสังคมและผู้ที่สนใจทั่วไปที่สนใจในการพัฒนาทักษะการอ่าน แล้วเข้าร่วมกิจกรรมโครงการอาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัดจำนวน 50 คน
2. นักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กพิเศษ นักพัฒนาการเด็กและผู้เชี่ยวชาญคัดเลือกหนังสือเพื่อใช้ในการฝึกฝนการอ่าน โดยใช้หนังสือชุดหนังสือดีสำหรับเด็กวัย 6 เดือน – 6 ปี ในโครงการหนังสือเล่มแรกที่คัดเลือกโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และขอความอนุเคราะห์หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย 0 – 6 ปีจากสำนักพิมพ์ต่างๆเพื่อนำมาพิจารณาเพิ่มเติม
3. จัดอบรมทักษะการอ่านแก่เด็ก เยาวชน ผู้มีชื่อเสียงในสังคมและผู้ที่สนใจทั่วไปอย่างเข้มข้นและสม่ำเสมอโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่าน
4. อาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัดร่วมใจกันไปอ่านหนังสือให้พ่อแม่และกลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม เด็กออทิสติคและเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา วัย 0 – 6 ปี จำนวน 100 คน ที่เข้ารับบริการที่สถาบันราชานุกูลฟัง ในกระบวนการดังนี้
4.1 อ่านให้กลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม เด็กออทิสติคและเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา วัย 0 – 6 ปี ฟัง
4.2. ฝึกทักษะการอ่านให้พ่อแม่กลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม เด็กออทิสติคและเด็กที่มีความบกพร่องทาง สติปัญญา วัย 0 – 6 ปี เพื่อนำไปใช้ในการอ่านให้ลูกฟังด้วยตนเอง
5. อาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัด บันทึกเสียงการอ่านหนังสือแล้วนำไปมอบให้สถาบัน ราชานุกูล เพื่อใช้ในสถาบันและให้พ่อแม่กลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม เด็กออทิสติค และเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา วัย 0 – 6 ปีนำไปใช้
6. ประเมินพัฒนาการเด็กโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กดาวน์ซินโดรม เด็กออทิสติคและเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา วัย 0 – 6 ปี จากสถาบันราชานุกูล
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. เด็ก เยาวชน ผู้มีชื่อเสียงในสังคมและผู้ที่สนใจทั่วไป จำนวน 50 คนเป็นอาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัดที่มีความสามารถด้านการอ่าน เป็นต้นแบบที่ดีของเด็ก เยาวชน และสังคม
2. เกิดกระบวนการในการสร้างจิตสาธารณะให้เกิดในเด็ก เยาวชน ผู้มีชื่อเสียงในสังคมและผู้ที่สนใจทั่วไปด้วยการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัด
3. อาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัด ร่วมกันอ่านหนังสือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม เด็กออทิสติคและเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา วัย 0 – 6 ปี
หมายเหตุ
หลังจากเปิดแถลงข่าว จะมีการทำงานคู่ขนานในเรื่องพัฒนาเด็กด้วยหนังสือกับครอบครัว คืออาสาสมัครจะไปอ่านหนังสือให้เด็กกลุ่มนี้ฟังทั้งสิ้น 6 ครั้ง พ.ค. - ก.ย. เดือนละ 1 ครั้ง ขณะเดียวกันจะพยายามให้อาสาสมัคร ได้อ่านหนังสือนิทานและบันทึกเสียงในชุดหนังสือที่ใช้ในโครงการให้ได้มากที่สุด และจะมอบให้สถาบันราชานุกูลต่อไปค่ะ
ตารางการพบครอบครัวเพื่ออ่านหนังสือให้น้องฟัง
30 พ.ค.พบครอบครัว ครั้งที่2
27 มิ.ย. พบครอบครัว ครั้งที่ 3
25 ก.ค.พบครอบครัว ครั้งที่4
29 ส.ค. พบครอบครัว ครั้งที่ 5
26 ก.ย.พบครอบครัว ครั้งที่6