วช. มอบ “เตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้า” ป้องกันแผลกดทับ
ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ศิริราช รับมือผู้ป่วยติดเตียง
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบ “นวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้าพร้อม Software อัตโนมัติ Smart Bed” ป้องกันแผลกดทับ นวัตกรรมทางการแพทย์ ฝีมือนักวิจัยไทย ให้แก่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์รับมือกับผู้ป่วยติดเตียง โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนลินี โกวิทวนาวงษ์ หัวหน้าโครงการวิจัย เป็นผู้ส่งมอบฯ และมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และนางชไมพร เจริญไกรกมล หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล เป็นผู้รับมอบฯดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ตลอดจนสนับสนุนกลไกการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์สำคัญของประเทศ ปัจจุบันและอนาคตของประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย วช. จึงสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้โครงการ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัย และนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2564 ให้กับ “นวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้าพร้อม Software อัตโนมัติ Smart Bed” แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนลินี โกวิทวนาวงษ์ แห่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อช่วยลดภาระของพยาบาลหรือญาติผู้ป่วยซึ่งสอดรับกับสถานการณ์ที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยและมีผู้ป่วยสูงวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นรองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวว่า จากโจทย์ปัญหาที่สังคมต้องพบเจอ สู่การค้นคว้าวิจัย การนำองค์ความรู้ที่เรามีในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ จนสามารถตอบโจทย์สังคมของเรา ที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือสังคมอายุยืน ที่มีร้อยละของจำนวนประชากรมากกว่าวัยอื่น ๆ โรงพยาบาลศริราช และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้รับมือและดูแลปัญหานี้มาโดยตลอด เกือบทั้งประเทศ ผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวจำนวนมาก และไม่สามารถดูแลตนเองได้ จำเป็นต้องใช้บุคลากรในการดูแลจำนวน 1-2 คน ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณภาพชีวิตผู้ที่ดูแลผู้สูงวัย โจทย์ที่นักวิจัยทำนั้นมีความยอดเยี่ยมตรงที่ สามารถใช้งานผ่าน Smartphone ได้ สามารถช่วยดูแลผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงได้หลายคน นับว่าใช้งานได้จริง หากในอนาคตมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างมากผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนลินี โกวิทวนาวงษ์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า นวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้าพร้อม Software อัตโนมัติ Smart Bed ช่วยผ่อนแรงผู้ดูแลในการพลิกตะแคงเปลี่ยนท่าผู้ป่วย และยังป้องกันการเกิดแผลกดทับได้เป็นอย่างดีทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาวะที่ดี การออกแบบเตียงพลิกตะแคงพร้อม software smart bed สามารถทำให้ผู้ดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยได้รับการพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมงอย่างสะดวกขึ้น เนื่องจากสามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนทำให้ผู้ดูแลสามารถสั่งการทำงานของเตียงได้สะดวกขึ้น ส่วนการเชื่อมต่อ software แบบ central control เหมาะกับการใช้งานในโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยหลาย ๆ เตียง พยาบาลสามารถควบคุมเตียงหลายเตียงผ่านหน้าจอเดียว เป็นการลดการเข้าไปหาผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นเหมาะกับการดูแลผู้ป่วยในยุคนี้ได้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนลินี โกวิทวนาวงษ์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวทิ้งท้ายว่า นวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้าพร้อม software อัตโนมัติ smart bed จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านนวัตกรรมได้ เนื่องจากกำลังได้รับมาตรฐานทางการแพทย์ เป็นใบเปิดทางสู่การจำหน่ายในต่างประเทศทั้งนี้ วช. ได้มอบนวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงระบบไฟฟ้าพร้อม software อัตโนมัติ จำนวน 6 เตียง แก่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เพื่อนำไปติดตั้งในหน่วยเคมีบำบัดและการให้เลือด เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลต่อไป