MSN on May 04, 2018, 08:19:20 PM
บล.แอพเพิล เวลธ์คาดSETพ.ค.อ่อนแรง นักลงทุนผวาสงครามการค้าจีนกับสหรัฐฯ หวั่นเว้นค่าฟีโอนเงินกดกำไรแบงก์วูบ

บล.แอพเพิล เวลธ์  มอง  SET INDEX เดือน พ.ค. ส่อแววอ่อนแรงลง คาดขยับอยู่ในกรอบ 1,700 – 1,860 จุดชี้นักลงทุนยังผวาสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ  แถมประเด็นฟรีค่าธรรมเนียมโอนเงิน เสี่ยงฉุดกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์ปีนี้วูบ กดดันให้ Fund Flow จากต่างชาติชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า แนะซื้อหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว AOT, ERW ส่งออกไก่ CPF, GFPT, TFG และชิ้นส่วนยานยนต์ AH, SAT ไว้ปลอดภัยสุด
 

นายอภิชัย เรามานะชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินภาวะตลาดหุ้นไทยในเดือน พ.ค. 2561  มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 1,700 – 1,860 จุด  และจากการประเมินสัญญาณทางเทคนิคพบว่า ดัชนี ตลาดหุ้นไทย มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในระยะ 1-2 เดือน จากปริมาณการซื้อขายที่ชะลอตัวลงสู่ระดับเฉลี่ย 5หมื่น ลบ./วัน โดยปัจจัยกดดันที่สำคัญ มาจากประเด็นมาตรการกีดกันการค้าสหรัฐ – จีน ดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงความกังวลต่อผลประกอบการกลุ่มธนาคารจากมาตรการฟรีค่าธรรมเนียมโอนเงิน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวในข้างต้นนี้ อาจส่งผลให้ Fund Flow จากต่างชาติยังชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า

" ดัชนี SET ณ สิ้นเดือน เม.ย.2561 ถูกต่างชาติและพอร์ตโบรกเกอร์ขายสุทธิ 2.14 หมื่น ลบ. และขาย 1.36 พัน ลบ. ตามลำดับ ส่วนสถาบันซื้อสุทธิ 1.55 หมื่นลบ. โดยแรงขายมาจากหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในประเด็นกำไรสุทธิปีนี้มีโอกาสชะลอตัวลง จากการฟรีค่าธรรมโอนเงินและภาระกันสำรองเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชี TFRS 9 ส่วนปัจจัยลบจากต่างประเทศ ยังเป็นมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐ – จีน ที่ยังไม่สามารถเจรจาหาบทสรุปได้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี เริ่มปรับขึ้นที่ระดับ3% อีกครั้ง" นายอภิชัยกล่าว

สำหรับ กลยุทธ์การลงทุน ในเดือน พ.ค. หากดัชนีฯผ่านแนวต้าน 1,805 จุดได้ พร้อมปริมาณซื้อขาย 7 – 8 หมื่น ลบ./บาท เป็นสัญญาณบวกดัชนีมีโอกาสปรับขึ้นทดสอบแนวต้าน1,840 – 1,850  แต่หากหลุดแนวรับ 1,750 จุด ถือว่าเป็นสัญญาณลบ ดัชนีมีโอกาสลงสู่ระดับแนวรับ 1,700 – 1,720 แนะนำซื้อหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว AOT, ERW กลุ่มส่งออกไก่ CPF, GFPT, TFG และชิ้นส่วนยานยนต์ AH, SAT

ส่วนประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ในเดือน พ.ค. นี้ คือการเจราจามาตรการค้าสหรัฐ – จีน  การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 16 พ.ค.นี้ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% และวันที่ 21 พ.ค.2561 ติดตามรายงาน GDP ไทยไตรมาส1/2561 คาดขยายตัวที่ 4% ส่วนแนวโน้มผลประกอบการกลุ่มธนาคารในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 5% ลดลงจากประมาณการณ์เดิมที่ 10% ส่งผลให้คาดการณ์  EPS ของตลาดปีนี้ปรับลดลงจากเดิมที่ 111 บาท สู่ระดับ 109.50 บาท