YAHOO on December 13, 2019, 01:48:35 PM
เรือใบบังคับวิทยุ กีฬาอันทรงเกียรติแห่งสายน้ำที่เป็นมากกว่าของเล่น การแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 33 บรรจุกีฬาเรือใบบังคับวิทยุเป็นส่วนหนึ่งของรายการเป็นครั้งแรก ดึงนักกีฬาชั้นนำจากทั่วโลกร่วมสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ โดยมีเรือร่วมลงแข่ง 24 ลำ ตั้งแต่วันที่ 4-7 ธันวาคม 2519
 

บรรยายภาพ: มร.เฟร็ด โรชา (แถวหน้าที่ 3 จากซ้าย) ประธานจัดการแข่งขันเรือใบบังคับวิทยุ (International One Meter Class: IOMC) พร้อมด้วยคุณวิภาต พรหมสุนทร (แถวหน้าที่ 4 จากซ้าย) เลขานุการเรือใบบังคับวิทยุไทย และนักกีฬาเรือใบบังคับวิทยุ ถ่ายภาพร่วมกันก่อนการแข่งขัน ในรายการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 33 ณ ท่าเทียบเรือแหลมพันวา ทรภ. 3


สำหรับคนทั่วไปโดยเฉพาะคนไทยแล้ว เรือใบบังคับวิทยุอาจดูเป็น “ของเล่น” มากกว่า “เกมกีฬา” ที่จริงจัง เพราะสิ่งที่เรามักเห็นกันก็คือ ผู้ถือเครื่องบังคับวิทยุที่ยืนนิ่ง ๆ คอยควบคุมเรือใบลำจิ๋วอยู่บนฝั่งเท่านั้น “ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะก็ดูคล้ายแบบนั้นจริงๆ” พลเรือเอกวรงค์ ส่งเจริญ ประธานชมรมเรือใบบังคับวิทยุไทย ภายใต้สมาคมกีฬาเรือใบเเห่งประเทศไทยในพระบรมราชาชูประถัมภ์ กล่าว “แต่แท้จริงแล้ว เรือใบบังคับวิทยุถือเป็นกีฬาเรือใบชนิดหนึ่งซึ่งใช้กฎกติกาสากลของสมาพันธ์เรือใบนานาชาติ (International Sailing Federation - ISAF ปัจจุบันคือ World Sailing) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อังกฤษ โดยในการแข่งขันต้องใช้กติกาเหมือนเรือใบใหญ่เกือบทั้งหมด และที่สำคัญ เรือใบบังคับวิทยุไม่ได้ใช้เครื่องยนต์ในการแล่นเรือ” ดังนั้น นักกีฬาเรือใบบังคับวิทยุจึงต้องมีทักษะในการอ่านกระแสลมและกระแสน้ำในการบังคับหางเสือและใบเรือ ไม่ว่าจะเป็นการแล่นอ้อมทุ่น วิ่งตามลม วิ่งขวางลม การแซง และเทคนิคอื่น ๆ เหมือนกับเรือใบใหญ่ “ทำให้การแข่งขันเรือใบบังคับวิทยุต้องมีเจ้าหน้าที่ควบคุมการแข่งขันและคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งใช้กฏกติกาสากลเหมือนการแข่งขันเรือใบใหญ่ทุกประการ”


Admiral Varong Songcharoen


Brazilian Fred Rocha


สำหรับเรือใบบังคับวิทยุที่ทำการแข่งขันตามกฎของสมาพันธ์เรือใบนานาชาติมีหลายแบบ แต่แบบมาตรฐานยาว 1 เมตร น้ำหนักรวมทุกส่วนประกอบไม่ต่ำกว่า 4 กิโลกรัม (เนื่องจากน้ำหนักเรือที่เบากว่าอาจสร้างความได้เปรียบในการแข่ง ทำให้ต้องมีตะกั่วถ่วงและตะกั่วถ่วงห้ามหนักกว่า 2.5 กิโลกรัม) โดยก่อนการแข่งขันต้องมีการวัดขนาดใบเรือและตรวจสอบส่วนประกอบต่าง ๆ อย่างละเอียด ซึ่งนักกีฬาต้องมีความซื่อสัตย์ที่จะไม่ดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ในเรือก่อนการแข่งขัน ส่วนสนามแข่งขันจะมีระยะห่าง+ระหว่างทุ่นตั้งแต่ 120 เมตรขึ้นไป และอยู่ในระยะที่สายตามองเห็น

ด้วยเป้าหมายในการสร้างความเติบโตที่ยั่งยืนแก่วงการเรือใบไทยและร่วมพัฒนาทักษะของนักกีฬาเรือใบรุ่นใหม่ ทำให้การแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าปีนี้ได้ผนวกกีฬาเรือใบบังคับวิทยุเข้าเป็นครั้งแรก ซึ่งดึงดูดนักกีฬากีฬาเรือใบบังคับวิทยุชั้นนำทั้งจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย และแน่นอน นักกีฬาท็อป 5 ของเมืองไทยให้มาร่วมสร้างปราฏการณ์ครั้งสำคัญนี้ โดยการแข่งขันรายการเรือใบบังคับวิทยุ (International One Meter Class: IOM) เปิดโอกาสให้สมาชิกเรือใบบังคับวิทยุทั่วไปรวมทั้งคนพิการสามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้

ปัจจุบัน กีฬาเรือใบบังคับวิทยุมีการแข่งขันในระดับโลก เช่น รายการเวิลด์คัพที่ประเทศบราซิล อเมริกันคัพ ฯลฯ โดยในปีหน้า มาเลเซียจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเรือใบบังคับวิทยุรายการเอเชียนคัพที่ลังกาวี ซึ่งนับเป็นประเทศแรกของเอเชียที่จัดการแข่งขันในระดับภูมิภาค

คุณวิภาต พรหมสุนทร เลขานุการชมรมเรือใบบังคับวิทยุไทย กล่าวถึงการแข่งขันรายการเรือใบบังคับวิทยุในภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 33 นี้ว่า “สำหรับการแข่งขันในงานคิงส์คัพรีกัตต้า มร.เฟร็ด โรชา ประธานจัดงานเวิลด์คัพที่บราซิล เล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยอย่างมาก และให้เกียรติเดินทางมายังภูเก็ตเพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วยตนเอง เพราะนอกจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการแข่งขันเรือใบ ประเทศไทยยังมีศักยภาพสูงในด้านการผลิตเรือใบบังคับวิทยุ โดยมีโรงงานในจังหวัดระยองซึ่งรับผลิตเรือใบตามออร์เดอร์และมีนักออกแบบเรือใบระดับโลกหลายคนมาใช้บริการ จนทำให้วงการกีฬาเรือใบบังคับวิทยุระดับสากลยอมรับว่าไทยเป็นอีกหนึ่งแหล่งผลิตเรือใบที่มีคุณภาพสูงมาก กล่าวได้ว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพเต็มที่ทั้งสนามแข่งขันและการผลิต” 

คุณณรงค์ฤทธิ์ สิงหเสนี หนึ่งในนักกีฬาเรือใบบังคับวิทยุท็อป 3 ของเมืองไทยซึ่งเข้าร่วมในการแข่งขันรายการเรือใบบังคับวิทยุของภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 33 ในปีนี้ เล่าถึงวงการเรือใบบังคับวิทยุในเมืองไทยว่า “กีฬาเรือใบบังคับวิทยุเริ่มเข้ามาในประเทศไทยกว่า 20 ปีแล้ว แต่จำกัดในกลุ่มผู้สูงอายุที่ชื่นชอบและมักเป็นนักกีฬาเรือใบเก่าที่ยังมีความสุขกับการเล่นเรือใบ ปัจจุบัน เริ่มมีนักกีฬาเยาวชนมากขึ้น เช่น กลุ่มนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารและนักเรียนนายเรือ ซึ่งมีการฝึกฝนและจัดการแข่งขันอย่างเป็นรูปธรรม”

สำหรับผู้ที่สนใจและต้องการฝึกฝนกีฬาเรือใบบังคับวิทยุสามารถเริ่มต้นด้วยเรือใบมือสองซึ่งมีราคาไม่สูงมากราว 1-2 หมื่นบาท และเพิ่มระดับขึ้นเป็นเรือใบคุณภาพสูงราคาประมาณ 4 หมื่นขึ้นไปสำหรับการแข่งขัน โดยในอนาคตอันใกล้ ชมรมเรือใบบังคับวิทยุไทยยังมีแผนการเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมโดยเสียค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก เพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงกีฬาชนิดนี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น

“กีฬาเรือใบบังคับวิทยุเป็นกีฬาเรือใบที่คนทั่วไปเข้าถึงง่ายที่สุดในบรรดากีฬาเรือใบทั้งหมด และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำความเข้าใจเพื่อให้ดูการแข่งขันเรือใบรู้เรื่องและสนุกสนานขึ้น เพราะการแข่งขันเรือใบบังคับวิทยุจะมีผู้พากย์อธิบายกฎกติกาการแล่น เสมือนการจำลองสนามแข่งขันเรือใบใหญ่ซึ่งอยู่ห่างไกลจากฝั่งให้มาอยู่ในพื้นที่จำกัดที่ผู้ชมสามารถเห็นภาพรวมทั้งหมดและทำความเข้าใจได้ง่าย อีกทั้งกีฬาเรือใบบังคับวิทยุยังไม่จำเป็นต้องเล่นที่ทะเลเท่านั้น หากสามารถเล่นตามแหล่งน้ำ เช่น บึงขนาดใหญ่ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย และยังถือเป็นการสร้างสีสันให้กับสถานที่นั้น ๆ อีกด้วย เพราะเวลาเรือใบบังคับวิทยุมาร่วมแข่งกันจำนวนมาก ๆ จะดูสวยงามมาก” พลเรือเอกวรงค์ ส่งเจริญ กล่าวเสริม

เฉกเช่นกีฬาเรือใบประเภทอื่น ๆ กีฬาเรือใบบังคับวิทยุถือเป็นกีฬาสุภาพบุรุษที่ผู้เล่นต้องมีเกียรติและความสุจริต เพราะเป็นกีฬาที่ไม่มีอัฒจรรย์หรือกองเชียร์ใด ๆ หากอาศัยเพียงความมุ่งมั่น ทักษะเฉพาะตัว และการเคารพในกติกาอย่างเคร่งครัด กีฬาชนิดนี้ยังเปิดกว้างแก่บุคลที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านกลุ่มอายุ เพศ และสภาพร่างกาย โดยเฉพาะคนพิการ ให้ร่วมแข่งขันได้อย่างเสมอภาคกัน จึงนับเป็นกีฬาที่เหมาะสำหรับทั้งผู้เริ่มต้นเล่นเรือใบไปจนถึงนักกีฬาสูงวัยที่ยังหลงรักเกมกีฬาเรือใบและการชิงชัยบนผืนน้ำและสายลมอย่างแท้จริง


การแข่งขันรายการเรือใบบังคับวิทยุ (International One Meter Class: IOMC) ซึ่งกำหนดจัดแข่งขันระหว่างวันที่ 4-7 ธันวาคม 2562 ดำเนินการแข่งขันโดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ภายใต้การอำนวยการของชมรมเรือใบบังคับวิทยุ (Tharcorat) โดยการสนับสนุนจากทัพเรือภาคที่ 3 สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต รวมทั้ง Thailand RC Sailboat และสมาคมเรือใบบังคับวิทยุสากล (International One Meter Class Association-IOMICA)
« Last Edit: December 13, 2019, 01:50:19 PM by YAHOO »