enjoyjam.net

news & activity => news & activity => Topic started by: happy on December 06, 2015, 06:49:41 PM

Title: ไทยลุ้นติด 1 ใน 5 ส่งออกอาหารฮาลาลปี 2563
Post by: happy on December 06, 2015, 06:49:41 PM
ไทยลุ้นติด 1 ใน 5 ส่งออกอาหารฮาลาลปี 2563
เดินเครื่องดันยุทธศาสตร์ฮาลาลระยะ 5 ปี


                  กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม-สถาบันอาหาร เดินหน้าผลักดันแผนปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาลระยะ 5 ปี (พ.ศ.2559-2563) หลังได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2559 จากกระทรวงอุตสาหกรรมรวม 2 หน่วยงานราว 180 ล้านบาท จากงบรวมของทุกหน่วยงานจำนวน 303 ล้านบาท เร่งเครื่องเอสเอ็มอี-โอทอปด้วยกิจกรรมพัฒนาสินค้าและบริการในทุกมิติให้ยกระดับสู่มาตรฐานฮาลาล หวังขึ้นแท่น 1 ใน 5 ส่งออกอาหารฮาลาลโลกในปี 2563


นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์

                  นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวในงานเสวนาด้านการลงทุน และตลาดส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล และความสำคัญของมาตรฐานฮาลาล ซึ่งจัดโดย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กิจกรรมหนึ่งในงาน “NFI OPEN HOUSE Fine Cut Show Case อุตสาหกรรมก้าวล้ำด้วยนวัตกรรมอาหารไทย” ว่า จากการประเมินมูลค่าตลาดฮาลาลโลกโดย Dubai Chamber  พบว่าอยู่ที่ประมาณ 23 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทุกกลุ่มสินค้าไม่ว่าจะเป็นเคมี อาหาร ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน เครื่องสำอาง เสื้อผ้าและแฟชั่น ผลิตภัณฑ์ยา ถ้าคิดเฉพาะกลุ่มอาหารฮาลาลในปี 2557 จะมีมูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของมูลค่าการค้าอาหารของโลก  คาดว่าในปี 2561 มูลค่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

                  อาหารฮาลาลเป็นตลาดอาหารที่มีศักยภาพ ทั้งในเรื่องขนาดตลาดและการเติบโต ปัจจุบันขนาดตลาดอาหารฮาลาลมีขนาดค่อนข้างใหญ่จากจำนวนผู้บริโภคชาวมุสลิมที่มีมากเกือบ 2,000 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก  ล่าสุดในปี 2557 กลุ่มประเทศมุสลิม (Organization of Islamic Cooperation: OIC) ที่มีจำนวนสมาชิก 57 ประเทศ มีการนำเข้าอาหารมูลค่าสูงถึง 164,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตสูงถึงร้อยละ 16 ต่อปีในช่วง 5 ปีหลัง ซึ่งสูงกว่ามูลค่าตลาดอาหารโดยรวมที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปีเท่านั้น






                  “ด้วยศักยภาพด้านวัตถุดิบการเกษตร ความพร้อมของผู้ประกอบการไทย มีองค์กรศาสนาที่เข้มแข็งและมีเอกภาพทำหน้าที่ในการออกใบรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล รวมทั้งแรงสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เป็นปัจจัยที่ทำให้เราสามารถยกระดับสินค้าอาหารฮาลาลไปสู่การเป็นผู้นำในระดับโลกได้ ล่าสุดในปี 2557 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารไปยังประเทศมุสลิมอันดับที่ 10 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 200,000 ล้านบาท หรือประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือสัดส่วนราวร้อยละ 22 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม และมีอัตราขยายตัวร้อยละ 8 ต่อปีในช่วง 5 ปีหลัง

                  ส่วนปี 2558 คาดว่าการส่งออกน่าจะขยายตัวดีต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคยังคงเชื่อมั่นมาตรฐานสินค้าอาหารฮาลาลไทย ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดอาหารฮาลาลโลกมีแนวโน้มเติบโตดี ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของประชากรมุสลิม ซึ่งมีความตื่นตัวในการต้องการอาหารที่ปลอดภัยและคุณภาพสูง มีการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ช พัฒนาการของหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาลมีมาตรฐานและเป็นระบบมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐได้มีนโยบายสนับสนุนอย่างต่อเนื่องผ่านยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาลปี 2559 - 2563 ที่เริ่มนำมาใช้เป็นแผนงานในการพัฒนาฮาลาลในปีงบประมาณ 2559 จึงมั่นใจว่าไทยจะสามารถก้าวสู่เป้าหมาย 1 ใน 5 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลโลกได้ในปี 2563”


พลตำรวจตรีสุรินทร์ ปาลาเร่

                  ด้านพลตำรวจตรีสุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การผลิตรวมทั้งการรับรองอาหารฮาลาลของไทยนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับตลาดฮาลาลมากขึ้น โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลกว่า 5,000 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีสถานประกอบการในประเทศที่ขอรับการรับรองฮาลาล 2,188 ราย หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40  ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าในช่วงปี 2550 -2554  ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี

                  หากจำแนกสถานประกอบการที่ขอรับการรับรองฮาลาลตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจะพบว่า สถานประกอบการที่ขอการรับรองส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 90 (ผู้ผลิตอาหาร 72%, ร้านอาหาร 13%, โรงเชือดและชำแหละเนื้อสัตว์ 3% และผู้นำเข้าอาหาร 2% โดยประมาณในปี 2554) ส่วนที่เหลืออื่นๆ อีกร้อยละ 10 เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตและนำเข้าสินค้าอุปโภค เช่น ผู้ผลิตเครื่องสำอาง ยาสีฟัน ยาหรือสมุนไพร เป็นต้น

                  ปัจจุบันคาดว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองฮาลาลสูงกว่า 100,000 รายการ เพิ่มขึ้นจาก 64,588 รายการในปี 2554 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปีโดยประมาณ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองฮาลาลส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหาร


นางสุภา ตั้งกิตติคุณ

                  นางสุภา ตั้งกิตติคุณ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 2 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีบทบาทในฐานะเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาลแห่งชาติ ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2559-2563) โดยมีวิสัยทัศน์ “สรรค์สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลไทยให้มีมาตรฐานชั้นนำในตลาดฮาลาลโลก ภายใต้หลักการศาสนารับรองวิทยาศาสตร์รองรับ” ทั้งนี้มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบร่วมกันหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

                  ในปีงบประมาณ 2559 นี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวกระจายอยู่ในหลายหน่วยงานรวมจำนวน 303 ล้านบาท ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดสรรงบประมาณให้สถาบันอาหารรับไปดำเนินงานผ่านสำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจำนวน 120 ล้านบาท และจัดสรรให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 60 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนใหญ่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะจัดสรรให้กับการดำเนินงานของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย        ในการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลเพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

                  ทั้งนี้ทั้ง 2 หน่วยงานจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพด้านการรับรองฮาลาลในภูมิภาค การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชุนเพื่อเข้าสู่ระบบมาตรฐาน อุตสาหกรรมฮาลาล ตลอดจนการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล SMEs ที่มิใช่อาหาร ทั้งนี้ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจฮาลาล จำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพในการผลิตและการตลาด โดยมุ่งพัฒนาวัตถุดิบให้มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอต่อการใช้ในอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งทั้งด้านความรู้ความสามารถ ตลอดจนให้ความสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก

                  ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มเอสเอ็มอี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยสถาบันอาหารจะเน้นจะรับผิดชอบในส่วนสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ชณะที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะดูแลสินค้าหรืออุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหาร และเกษตรแปรรูป อาทิ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ สมุนไพร ร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม สถานพยาบาล สปา เป็นต้น