Grab : จับเทรนด์ดิจิทัลไฟแนนซ์มาแรงแห่งปี 2020
นวัตกรรมด้านการเงินเป็นสิ่งที่ตลาดและผู้บริโภคให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในหลายด้าน ทั้งการจับจ่ายใช้สอย ไปจนถึงการวางแผนธุรกิจส่วนตัว แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจด้านการเงินของ แกร็บ ผู้นำด้านซูเปอร์แอปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตอบสนองทุกความต้องการในทุกวันของผู้บริโภค มองว่าในปี 2020 จะมีบริการด้านการเงินดิจิทัลออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยมีนวัตกรรมจากบริษัทฟินเทคเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญ และนี่คือ 3 เทรนด์แห่งวงการฟินเทคที่น่าจับตามอง
1. โมบายวอลเล็ต แรงขับเคลื่อนสำคัญสู่สังคมไร้เงินสด
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าจำนวนธุรกรรมผ่านมือถือและอินเทอร์เน็ตระหว่างปี 2557 – 2561 เพิ่มขึ้นถึง 116% ต่อปี และแกร็บ ไฟแนเชียล กรุ๊ป เชื่อว่า อัตราการใช้บริการด้านโมบายแบงก์กิ้งจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในบริการที่น่าจับตามอง คือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีวอลเล็ต (e-wallet)
ปัจจุบัน อีวอลเล็ตได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินของประเทศไทย และเป็นอีกทางเลือกสำคัญสำหรับการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ทั้งบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และร้านค้าในหลากหลายหมวดหมู่ นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถรับสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น ส่วนลดพิเศษ และการสะสมแต้ม ซึ่งถือเป็นแรงจูงใจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริโภคหันมาชำระเงินแบบไร้เงินสดมากขึ้นอีกด้วย
นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย
กล่าวว่า “ในปี 2020 การใช้งานอีวอลเล็ตจะครอบคลุมไม่เพียงแค่ภายในประเทศเท่านั้น แต่จะขยายไปสู่การทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เนื่องจากเราจะเริ่มเห็นความร่วมมือระหว่างธนาคารในภูมิภาค เพื่อเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้การชำระเงินระหว่างประเทศมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น และแน่นอนว่า พันธมิตรระหว่างธนาคารและผู้ให้บริการเทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาบริการโมบายวอลเล็ตในประเทศไทยต่อไป”
2. ดิจิทัลนาโนไฟแนนซ์ ทางเลือกใหม่ เพื่อการเข้าถึงสินเชื่อรายย่อยที่ครอบคลุม
สินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่เปิดให้สถาบันการเงินสามารถนำข้อมูลอื่น ๆ (Alternative Data) มาประกอบการวิเคราะห์คุณสมบัติของผู้กู้ยืมได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ (Underbanked) เช่น พนักงานรายวัน และฟรีแลนซ์
ปี 2020 จะเป็นปีที่เราได้เห็นนวัตกรรมนี้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากเทคโนโลยีมีความพร้อม และภาครัฐเองได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายและกว้างขึ้น โดยการแข่งขันในตลาดจะอยู่ที่การพัฒนารูปแบบการประเมินคะแนนเครดิตที่เหมาะสม และการมอบประสบการณ์ที่สะดวกและไร้รอยต่อให้กับผู้ใช้งาน
สำหรับแกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้เริ่มให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบการอาชีพ หรือนาโนไฟแนนซ์ แก่พาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา นายวรฉัตร กล่าวเสริมว่า “อีกหนึ่งเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นควบคู่กันกับการปล่อยสินเชื่อดิจิทัล ก็คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการติดตามหนี้ ซึ่งจะทำให้ระบบโดยรวมมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้กู้สามารถเลือกวิธีชำระค่างวดที่สะดวกและเหมาะสมกับความสามารถในการชำระคืนของตนเองอีกด้วย”
3. เสริมศักยภาพ MSMEs ด้วยโซลูชันทางการเงินที่ครบวงจร
การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้มักมีประวัติธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ชัดเจน จึงไม่ได้เป็นเซ็กเมนต์ที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ให้ความสำคัญ ดังนั้น โซลูชันทางการเงินสำหรับเอสเอ็มอีจึงมักถูกออกแบบมาเพื่อธุรกิจขนาดกลาง ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยสูญเสียโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปอย่างน่าเสียดาย
นายวรฉัตร กล่าวว่า “บริษัทฟินเทคมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถช่วยเติมเต็มความต้องการของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ เนื่องจากผู้ให้บริการเทคโนโลยีมีความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคบนโลกดิจิทัลและมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทำให้สามารถออกแบบโซลูชันที่เหมาะสม อีกทั้งยังสามารถนำเสนอบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การชำระเงิน การทำบัญชียอดขาย ไปจนถึงการจัดแคมเปญการตลาด”
จากการสำรวจโดย Bain & Company พบว่า ผู้ประกอบการในประเทศไทยถึง 93% สนใจที่จะใช้โซลูชันการเงินที่ครบวงจร โซลูชันสำหรับ MSMEs จึงถือเป็นเทรนด์ที่มีโอกาสเติบโตสูงในปี 2020 อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างฐานข้อมูลระดับประเทศที่จะสร้างความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับผู้ประกอบการรายย่อยได้ในอนาคต
ปี 2020 ถือเป็นอีกปีที่น่าจับตาของธุรกิจการเงินดิจิทัล โดยบริษัทฟินเทค รวมถึงนอนแบงก์ทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างมองหาโอกาสที่จะเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดซึ่งเปิดกว้างขึ้นในด้านโครงสร้างกฎระเบียบ และอุปสงค์มีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ “เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการตอบโจทย์ความต้องการบริการทางการเงินของกลุ่มคนได้หลากหลาย สำหรับ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้พัฒนาโซลูชั่นการเงินดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ เราจะมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งพาร์ทเนอร์และผู้ใช้งานของเรา ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” นายวรฉัตร กล่าวทิ้งท้าย