enjoyjam.net

handbill และของที่ระลึกเกี่ยวกับหนัง => ประวัติ handbill & handbill ยุคแรก => Topic started by: dangjung on March 23, 2009, 03:35:49 PM

Title: ความเป็นมาของแฮนด์บิล
Post by: dangjung on March 23, 2009, 03:35:49 PM
                                   ความเป็นมาของแฮนด์บิล

แฮนด์บิลคืออะไร เป็นคำถามที่ฟังแล้วดูเหมือนตอบง่าย แต่จะให้ตอบให้ถูกต้องจริงๆ ไม่ง่ายนัก เมื่อเปิดพจนานุกรมดู แปลว่า ใบปลิวที่ใช้คนแจก ซึ่งให้ความหมายที่เห็นภาพพจน์พอสมควร แต่ในที่นี้เราจะสนใจแต่เฉพาะ Movie Handbill หรือ ใบปลิวที่เกี่ยวกับหนังเท่านั้น

ลักษณะทั่วไป
ลักษณะโดยทั่วไปจะคล้ายกับโปสเตอร์ภาพยนตร์ ที่ติดตามโรงหนังทั่วๆไป ต่างกันที่ขนาดเท่านั้น โดยแฮนด์บิลจะมีขนาดเล็กกว่าเยอะ เพื่อให้สะดวกแก่การพกพา และเก็บรักษา ขนาดที่พบเห็นโดยทั่วไป จะมีขนาด A4 , A5 , A6, และ B5 แต่จะมีขนาดนอกเหนือจากนี้ แต่พบไม่มากนัก สิ่งที่แฮนด์บิลมีความพิเศษกว่าโปสเตอร์หนังก็คือ ด้านหลังมักจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบ ทำให้นอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ก็ยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้วย จึงทำให้คนมีความนิยมหันมาสะสมแฮนด์บิลกันมากขึ้น

จุดมุ่งหมาย
จุดมุ่งหมายดังเดิมของการแจกแฮนด์บิลนั้น จุดประสงค์หลักคือ ต้องการลดปัญหาการขโมยโปสเตอร์หนังที่ติดตามโรง เพราะสร้างความเสียหายให้แก่ทางบริษัทเป็นอย่างมาก แทนที่จะได้ติดเพื่อประชาสัมพันธ์หนัง แต่กลับตกไปอยู่ในมือของคนเพียงบางคนเท่านั้น ครั้งจะให้มานั่งเฝ้า ก็คงไม่มีใครเขาทำกัน ทางบริษัทก็เลยตัดปัญหาด้วยการพิมพ์แจกซะเลย แต่ทำเป็นขนาดเล็กเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้พิมพ์ได้จำนวนที่มากขึ้น จะได้กระจายกันอย่างทั่วถึง ผลประโยชน์อีกทางหนึ่งก็คือ ใช้เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ ซึ่งถือว่าเป็นสื่อที่มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ อีกทั้งสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงกว่า เพราะมักจะแจกกันตามโรงภาพยนตร์ โดยจะวางให้หยิบกันได้โดยเสรี บริเวณหน้าเคาท์เตอร์ขายตั๋ว

ประวัติเล็กน้อย
อย่างที่ทราบๆกันว่าแฮนด์บิลเรื่องแรก ที่ถือว่าออกแบบเป็นทางการคือ Robinhood จากค่าย Major   หลังออกแฮนด์บิลอยู่เจ้าเดียวกว่า 20 เรื่อง



Robinhood จากค่าย Major   

ในที่สุดก็มีค่ายอื่นเริ่มผลิตออกมาบ้าง เจ้าที่ 2 คือ สหมงคล โดยส่งแฮนด์บิลเรื่อง Chistopher Columbus  เป็นเรื่องเเรก


Chistopher Columbus  จากค่าย สหมงคล

ตามสหมงคลมาติดๆก็คือค่าย UIP โดยเรื่องแรกคือ Patriot Game ช่วงแรกๆทำออกมาไม่สวยเท่าไหร่ แต่เมื่อเริ่มทำแล้ว ก็ผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง เพิ่งมาสะดุดหยุดทำ เมื่อไม่นานมานี่เอง ปล่อยให้สปอนเซอร์เป็นฝ่ายทำให้แทน




Patriot Game จากค่าย UIP

หลังจากนั้นค่าย ทั้ง นนทนันท์ ที่ส่ง Jason Go To Hell ออกมาเป็นเรื่องแรก




Jason Go To Hell จากค่าย นนทนันท์

และกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันไปว่า ค่ายหนังต้องผลิตแฮนด์บิลออกมาเพื่อประชาสัมพันธ์หนังของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นหนังฝรั่ง หนังจีน หรือแม้แต่หนังไทยเองก็ตาม พวกเราเลยมีแฮนด์บิลให้สะสมกันมากมาย จนถึงปัจจุบัน

เมื่อเวลาผ่านไป
เพราะความสวยงามแถมมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่ง เห็นคุณค่าของมัน แม้แรกเริ่มจะเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความนิยมที่มีต่อการสะสมแฮนด์บิลมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันความนิยมน่าจะเรียกได้ว่ามาถึงจุดสูงสุด เพราะความนิยมได้แพร่หลายไปในคนหลายกลุ่ม ตั้งแต่เด็กจนผมหงอก ก็มีให้เห็นกันในงานแลกเปลี่ยนแฮนด์บิลต่างๆ แม้กระทั่งดารานักร้องหลายคน ก็หันมานิยมสะสมแฮนด์บิลกัน ทำให้วัยรุ่นบางคนที่มีนิสัยเลียนแบบดารา ก็หันมาสะสมกันมากขึ้น
เหตผลอีกประการหนึ่งที่แฮนด์บิลได้รับความนิยมมากขึ้น เกิดจากกระแสความนิยมในภาพยนตร์ที่สั่งตรงมาจาก Hollywood เพราะในระยะหลายปีที่ผ่านมา วงการภาพยนตร์ของ Hollywood ได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก ภาพยนตร์ที่สร้างหลายๆเรื่อง ทำได้ดี สนุก สมจริง จึงเกิดมีกระแสนิยมการพักผ่อน โดยการชมภาพยนตร์มากขึ้น
แต่ใช่ว่าหลายคนจะสะสมเพราะชอบดูหนังจริงๆ เพราะกระแสความนิยม ทำให้แฮนด์บิลที่แจก เริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักสะสม และหาได้ยากขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาของการ ซื้อ-ขาย แฮนด์บิลกันเกิดขึ้น ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ เพราะมีหลายคนที่สะสมแฮนด์บิล เพราะมันมีราคา หาได้ชอบดูหนังหรือรักการสะสมจริงๆ คนกลุ่มนี้เปลี่ยนพฤติกรรมที่เรียกว่า "การสะสม" มาเป็นคำว่า "การกักตุน" เพราะจะเก็บแฮนด์บิลไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อขาย ทำให้แฮนด์บิลหายากขึ้นอีก หลายคนก็อดใจไม่ไหว หันไปซื้อแฮนด์บิลอีก ยิ่งซื้อมาก คนก็ยิ่งกักตุนกันมาก เลยยิ่งหายากขึ้นไปกันใหญ่
นอกจากนั้น บริษัทหนังมองเห็นช่องทางทางการตลาด เปลี่ยนแนวคิดจากการใช้แฮนด์บิลเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ กลายมาเป็นใช้เพื่อเป็นการส่งเสริมการขายแทน เช่น จะต้องซื้อตั๋วชมภาพยนตร์เรื่องนั้น เรื่องนี้เท่านั้น จึงจะได้แจกแฮนด์บิล โรงภาพยนตร์บางโรงก็ใช้แฮนด์บิลเป็นจุดดึงดูดให้ไปชมภาพยนตร์ของตนเอง ยิ่งกว่านั้นสินค้าบางชนิดก็ทำเช่นเดียวกัน เช่นต้องซื้อครบเท่าไหร่ตามที่กำหนด ก็จะได้แจกแฮนด์บิลเช่นกัน นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่เจตรมย์ดั้งเดิมถูกทำให้บิดเบือน
จากเดิมที่ทำแฮนด์บิลออกมาเพียงเรื่องละ 1 แบบ นานๆทีจึงจะมี 2-4 แบบ แล้วแต่โอกาส แต่มาในปัจจุบัน กลับกลายเป็นว่า เป็นเรื่องยาก ที่จะเห็นแฮนด์บิลทำออกมาเพียงแบบเดียว ส่วนมากจะเป็น 2 แบบขึ้นไป บางเรื่องทำถึง 8 แบบก็มี ส่วน 4-5 แบบต่อเรื่องก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ ต้องยอมรับกันว่ามากเกินกว่าความจำเป็น เนื่องจากจุดประสงค์การทำมันเปลี่ยนไป

**ขอขอบคุณข้อมูลที่คัดลอกมาจากบทความที่ผู้เขียนลงไว้ web ที่ผมจำไม่ได้ไว้มีโอกาศถ้าจำได้เเล้วจะกลับมาขอบคุณอีกครั้งครับ**
***เนื้อหาข้อความที่กล่าวมาข้างต้นหวังว่าผู้อ่านคงได้รับความรู้ไม่มากก็น้อยนะครับ***
Title: Re: ความเป็นมาของแฮนด์บิล
Post by: happy on March 23, 2009, 03:59:58 PM
 :D ก็คงต้องเก็บต่อไป ไม่รู้เหมือนกันว่าจะอีกนานแค่ไหน หรือว่าสังขารจะไม่เอื้ออำนวยแล้ว  :D
Title: Re: ความเป็นมาของแฮนด์บิล
Post by: pooklook on March 23, 2009, 06:34:32 PM
จริงๆ ก็อยากให้ออกมาเป็นขนาดเดียวกันนะจะได้เก็บง่ายๆ
แต่ที่ออกมาเป็นแปลกๆ บางทีก็สวยน่าเก็บดีเหมือนกัน
Title: Re: ความเป็นมาของแฮนด์บิล
Post by: kingpopeye on March 30, 2009, 10:10:56 PM
ชอบแผ่นขนาดA4มากที่สุด คอนเฟริม+ฟันธง