วช. จับมือ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มก. วางมาตรฐานตู้กดน้ำดื่มทั่วประเทศ
ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำดื่ม ได้จัดให้มีบริการน้ำสะอาดแก่ประชาชนทั้งในพื้นที่เขตเมืองและเขตชนบท นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำในชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดด้วยตนเอง แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ถึงการปนเปื้อนของน้ำดื่มในพื้นที่ต่างๆ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เห็นความสำคัญของการจัดการน้ำดื่มสะอาดเพื่อประชาชน ได้สนับสนุนทุนการวิจัยโครงการ "การบริหารจัดการคุณภาพน้ำดื่ม" แก่ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร. สุชาติ เหลืองประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย "การบริหารจัดการคุณภาพน้ำดื่ม" เปิดเผยว่า ในขั้นต้น โครงการฯ ได้เข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้บริการน้ำดื่ม และตู้บริการน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปติดตั้งเพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามที่มาของแหล่งน้ำที่ใช้้ทำน้ำดื่ม คือ ในพื้นที่ปกติ เป็นตู้น้ำดื่มที่ใช้น้ำจากการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค สำหรับในพื้นที่พิเศษ ตู้กดน้ำจะใช้น้ำจาก บ่อบาดาลทั้งของราชการ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการกันเองในรูปแบบของประปาหมู่บ้าน การเก็บข้อมูลทดลองดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ และนครราชสีมา โดยเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้บริการน้ำดื่มประมาณ 300-500 จุด จากการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำในขั้นต้นพบว่าคุณภาพน้ำไม่ค่อยดี มีการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ เช่น เกลือค่อนข้างสูง โดยเฉพาะตู้กดน้ำดื่มจากพื้นที่พิเศษจะพบการปนเปื้อนสูงกว่าตู้กดน้ำในพื้นที่ปกติ คือมีความเสี่ยงในเรื่องคุณภาพ แต่ยังสามารถบริโภคได้ เพราะยังไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด สาเหตุของการปนเปื้อนก็อาจจะเป็นไปได้หลายทาง เช่น คุณภาพของแหล่งน้ำ ขาดการดูแล ขาดการบำรุง รักษาอุปกรณ์ตามระยะเวลา อุปกรณ์ชำรุด เกิดปัญหาในระบบท่อ หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ การดำเนินงานในขั้นตอนถัดไปคือ โครงการฯ กำลังออกแบบตัวเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพน้ำเพื่อนำไปติดตั้งที่ตู้กดน้ำดื่ม เพื่อตรวจวัดในเบื้องต้นว่าน้ำดื่มจากตู้นั้นมีการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ สารเคมี หรือเชื้อโรคเกินค่ากลางที่เซ็นเซอร์กำหนดไว้หรือไม่ หากเซ็นเซอร์ตรวจจับได้ว่าน้ำดื่มจากตู้กดมีค่าเกินว่าที่กำหนด ก็จะหยุดการทำงานของตู้บริการน้ำดื่มโดยอัตโนมัติ แต่ค่าดังกล่าวยังต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัยของน้ำดื่มที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเป็นการเตือนในขั้นต้นให้แก่ผู้ดูแลระบบลงไปตรวจสอบและไล่ย้อนระบบว่าปัญหาเกิดขึ้น ณ จุดใด ด้วยระบบนี้จะช่วยให้การวิเคราะห์คุณภาพน้ำดื่มได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อนำกลับไปวิเคราะห์ ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการทำงานของเซ็นเซอร์ หลังจากนั้นก็จะผลิตต้นแบบนำไปติดตั้งที่ตู้กดน้ำประมาณ 10 ชุด เพื่อทดสอบและปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป สำหรับข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย ในส่วนของการควบคุมมาตรฐานน้ำดื่มจากตู้กดด้วยระบบเซ็นเซอร์อัตโนมัติจะขยายผลการดำเนินงานออกไปทั่วประเทศ โดยเสนอให้มีการออกกฎหมายกำหนดให้ตู้กดน้ำดื่มติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพน้ำ และกำหนดให้ผู้ที่ให้บริการตู้น้ำดื่ม หรือผู้ติดตั้งระบบ ลงไปตรวจสอบ แก้ไขในกรณีที่น้ำดื่มเกิดมีปัญหา หรือเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค สำหรับการมีส่วนร่วมของชุมชน แม้ที่ผ่านมาจะมีการโอนถ่ายภารกิจเกี่ยวกับการจัดการน้ำบางส่วนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล แต่ในทางกฎหมายกลับไม่มีบทบัญญัติว่าท้องถิ่นจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง จึงเกิดเป็นช่องว่าง ดังนั้น ควรจะกำหนดในกฎหมาย หรือเทศบัญญัติให้ชัดเจนว่าท้องถิ่นจะต้องดูแล รับผิดชอบในเรื่องใด รวมถึงการสนับสนุนให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อท้องถิ่นจะสามารถดำเนินการเองได้ในอนาคต ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนและเป็นประเด็นที่ วช.ให้ความสำคัญและสนับสนุนทุนการวิจัย เพื่อพัฒนาและสนับสนุนให้เกิดระบบติดตาม ประเมินสถานการณ์คุณภาพน้ำบริโภคในประเทศไทย เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคให้สะอาดปลอดภัยจากการปนเปื้อนของแบคทีเรีย สารเคมีและโลหะหนัก จากแหล่งน้ำบริโภคทุกประเภท ร่วมกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องในระดับการผลิต การควบคุมคุณภาพและผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำสะอาดทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน