happy on March 20, 2021, 07:54:58 PM
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเปิดตัวแคมเปญสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน
ผ่านการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม
นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ฟาร์มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณมหาศาล โดยมีสัตว์อยู่ในฟาร์มอุตสาหกรรมมากกว่า 7 หมื่นล้านตัว ที่ต้องมีชีวิตอย่างทุกข์ทรมานเนื่องจากได้รับการดูแลที่ไม่มีสวัสดิภาพ ส่งผลให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น เพื่อให้สัตว์ทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างรุนแรง ผ่านการปนเปื้อนบนเนื้อสัตว์และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างสู่คนจำนวนมากอย่างคาดไม่ถึง ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและถูกจุด อีกทั้งยังเป็นระบบอาหารที่กำลังทำลายตัวเองอยู่ โดยมีสัตว์ คนและโลกเป็นตัวประกัน ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัวภายใน 50 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่เคยบริโภคเนื้อสัตว์อยู่ที่เฉลี่ยคนละ 23.1 กิโลกรัมต่อปีในช่วงปี พ.ศ.2504 มาเป็น 43 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปีพ.ศ. 2557 เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทำให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จำเป็นต้องเร่งการผลิตเนื้อสัตว์ให้ได้ปริมาณมากที่สุด ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด แต่ยังคงรักษาต้นทุนให้ต่ำที่สุดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้นอย่างมหาศาล ด้วยวิธีการเร่งผลิตจำนวนเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดการจัดการสัตว์ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมที่เลวร้ายและส่งผลกระทบในหลายๆด้านให้กับสัตว์ คนและโลกใบนี้ฟาร์มอุตสาหกรรม ระบบที่เป็นภัยต่อสุขภาพมนุษย์ เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าแนวคิดเชิงธุรกิจในฟาร์มอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกับการทารุณสัตว์ในฟาร์มมากขึ้น ขั้นตอนในการเลี้ยงสัตว์หลายอย่างสร้างความทรมานอย่างยิ่งให้กับสัตว์ฟาร์ม เช่นการตัดตอนอวัยวะในลูกหมู การเลี้ยงแม่หมูในคอกทั้งชีวิต หรือไก่ที่ถูกคัดเลือกสายพันธุ์ที่โตเร็วจนมีหน้าอกที่ใหญ่โตผิดปกติ รวมไปถึงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น มีพื้นที่คับแคบจนไม่สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้สัตว์ในฟาร์มเกิดความเครียดและเจ็บป่วยได้ง่าย ฟาร์มจึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะเป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เหล่านั้นเกิดความเครียดหรืออาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายแบบนี้ไปตลอดจนกว่าจะถูกนำไปผลิตเป็นอาหาร ผลกระทบจากวิธีการเลี้ยงดังกล่าวไม่ได้หยุดที่สัตว์ฟาร์มเท่านั้น แต่ยังส่งต่อไปยังสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย อันสืบเนื่องมาจากการเกิดเชื้อดื้อยาอันเป็นผลมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินความจำเป็นในฟาร์มอุตสาหกรรม จากรายงาน Fueling the Pandemic Crisis จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเผยว่า มีการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนกว่า 75% ถูกใช้ในฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมทั่วโลก ยาปฏิชีวนะเหล่านี้จะถูกผสมลงไปในอาหารและน้ำให้กับสัตว์เพื่อให้ป้องกันอาการเจ็บป่วยจากระบบการเลี้ยงที่ขัดต่อหลักสวัสดิภาพสัตว์อย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ซุปเปอร์บั๊กส์ (Superbugs)” ที่สามารถปนเปื้อนและแพร่กระจ่ายไปยังแหล่งน้ำและสภาพแวดล้อมรอบๆ ฟาร์มอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ นี่คือภัยเงียบที่ส่งต่อมายังสุขภาพของคนอย่างรุนแรง เพราะหากคนได้รับเชื้อนี้เข้าไปก็จะส่งผลให้เกิดการดื้อยาและส่งผลให้ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ได้ผลเลย นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขวิกฤติเชื้อดื้อยาในภาคปศุสัตว์ว่า “แม้ว่าในประเทศไทยจะมีการจัดตั้งแผนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเชื้อดื้อยาอย่างจริงจัง โดยมีแผนเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์ก็ตาม แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่การพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมกลับไม่ถูกให้ความสำคัญ เราเชื่อว่ายาปฏิชีวนะยังมีความจำเป็นโดยเฉพาะการใช้เพื่อรักษาสัตว์ป่วยแบบรายตัว แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะแบบรวมกลุ่มเพื่อป้องกันโรคในสัตว์ ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนของการแก้ไขวิกฤติเชื้อดื้อยา ซึ่งมีต้นตอจากสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มที่ย่ำแย่” ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากแบคทีเรียดื้อยากว่า 700,000 คนต่อปี โดยในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิต ปีละกว่า 38,000 คนหรือทุกๆ 15 นาทีจะมีผู้เสียชีวิต 1 คน รวมถึงการสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าปีละ 46,000 ล้านบาท อันสืบเนื่องจากการรักษาตัวและการนอนโรงพยาบาลนานขึ้นเพราะเชื้อดื้อยาเมื่อสัตว์ในฟาร์มได้รับสวัสดิภาพที่ดี ระบบอาหารก็ยั่งยืนตาม หากในวันนี้เราไม่สามารถหยุดความต้องการบริโภคเนื้อสัตวอย่างมหาศาลในชั่วข้ามคืนได้ ดังนั้นหัวใจสำคัญจึงอยู่ที่การดูแลสัตว์ฟาร์มให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงประเด็นนี้ หรือมองข้ามความสำคัญของการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มได้อีกต่อไป องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย จึงได้เปิดตัวโครงการ “ยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรม ผ่านการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) โดยการกำหนดนโยบายและมาตรฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์อย่างยั่งยืน “เพียงเพราะสัตว์ฟาร์มถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่สมควรมีชีวิตที่ดี เราทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่าผลกระทบจากการเลี้ยงสัตว์โดยไม่ใส่ใจสวัสดิภาพ ไม่ได้ส่งผลต่อตัวสัตว์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนและโลกใบนี้ด้วย ปัญหาเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มไม่ได้ไกลตัวเราอีกต่อไป ดังนั้นเราจึงต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนทุกคนในการร่วมกับเราเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเร่งด่วน” โชคดีกล่าวทิ้งท้าย ระบบอาหารที่ยั่งยืนควรเป็นระบบที่เป็นมิตรต่อทั้งสัตว์ คนและโลกใบนี้ ฟาร์มอุตสาหกรรมที่มีการเลี้ยงสัตว์อย่างทารุณได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นตัวทำลายระบบดังกล่าวและสร้างผลกระทบในระยะยาวอย่างประเมินความเสียหายไม่ได้ ดังนั้นการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน ร่วมสนับสนุนแคมเปญเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มในระบบอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืนของระบบอาหารได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/#####
เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ - ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th /
« Last Edit: March 21, 2021, 01:01:26 PM by happy »
Logged